ผู้เขียน หัวข้อ: สธ. เปิดบริการทางด่วนผู้สูงวัย 70 ปีขึ้นไปไม่ต้องรอคิว  (อ่าน 885 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวเนื่องในวันอนามัยโลก ประจำปี 2555 ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เม.ย.ทุกปี ในปีนี้องค์การอนามัยโลกเน้นเรื่องผู้สูงอายุกับสุขภาพ (Ageing and Health) เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ โดยกำหนดคำขวัญว่า “ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน” (Good Health adds life to years ) ว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในศตวรรษที่ 21 นี้ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มประชากรที่เพิ่มจำนวนรวดเร็วที่สุดระหว่างปี พ.ศ. 2543- 2593

ทั้งนี้ จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 11 หรือจำนวน 605 ล้านคน เป็นร้อยละ 22 หรือประมาณ 2,000 ล้านคนใน พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ.2050 กล่าวง่ายๆ ว่า ในประชากรโลกทุก 4 คน จะพบผู้สูงอายุได้ 1 คน ส่วนประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วเช่นกัน เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์ลดลง เด็กเกิดน้อยลง จากอดีตที่หญิงไทย 1 คน จะมีบุตรเฉลี่ย 2.1 คน แต่ขณะนี้หญิงไทย 1 คน มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรเสียสมดุล จากการทำสำมะโนประชากรประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2553 ไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 8.5 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรที่มีทั้งหมด 65.9 ล้านคน หากอัตราการมีบุตรยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าในปี พ.ศ.2593 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 30

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ได้จัดเตรียมระบบดูแลเป็นพิเศษ ตามยุทธศาสตร์ 6 ประการดังนี้ 1. ปรับโครงสร้างการบริการให้รองรับผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้พิการ เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม บันได ทางลาดชัน โดยจัดทำป้ายมองเห็นได้ง่าย 2. จัดระบบบริการผู้สูงอายุแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว ให้โรงพยาบาลเปิดช่องทางด่วนผู้สูงอายุที่อายุ 70 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุที่ป่วยหนัก และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 3. สนับสนุนให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยรวมตัวเป็นชมรม เช่น ชมรมผู้สูงอายุ 4. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ในลักษณะจิตอาสา เช่น การดูแลเด็ก 5.จัดสรรงบประมาณสนับสนุนด้านสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน และ 6.ผลักดันการบูรณาการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนร่วมกันทั้งหน่วยบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตดี

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่ง จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการทั้งในสถานบริการและในชุมชน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 เป็นต้นไป โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งปรับปรุงอาคารสถานที่ ทั้งห้องน้ำ ทางลาด ที่จอดรถ ให้ผู้สูงอายุใช้ได้อย่างปลอดภัย และให้เปิดช่องบริการทางด่วน “70 ปีไม่มีคิว” ทุกจุดบริการ ทั้งห้องบัตร ห้องตรวจ ห้องยา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และมีหน่วยบริการพิเศษผู้สูงอายุ ได้แก่ บริการให้คำปรึกษา ชมรมผู้สูงอายุ และบริการตรวจประเมินสุขภาพ ส่วนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เน้นทำงานเชิงรุก ดูแลทั่วถึง โดยให้สถานบริการทุกแห่ง สำรวจจำนวนผู้สูงอายุทุกหมู่บ้าน ชุมชนทุกแห่ง และให้ตรวจคัดกรองสุขภาพกาย ประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานแต่ละคน และตรวจประเมินภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม ให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. 2555 และขึ้นทะเบียนให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อออกติดตามเยี่ยมให้การดูแลต่อเนื่อง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และจัดหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจ มีเจ้าหน้าที่ออกไปดูแลสุขภาพกาย-จิตที่บ้าน (Home Health Care) รวมทั้งจัดช่องทางให้บริการดูแลปรึกษาทางโทรศัพท์กรณีป่วยฉุกเฉินและจะจัดบริการสายด่วน 1669 จัดรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลฟรีทั้งหมด.

ไทยรัฐออนไลน์  10 เมย 2555