ผู้เขียน หัวข้อ: มะเร็งปากมดลูก ต้นเหตุคร่าชีวิตหญิงไทย สธ.ชง ครม.ไฟเขียววัคซีนป้องกัน  (อ่าน 957 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 มะเร็งปากมดลูก เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้หญิงไทยปีละกว่า 5,000 ราย ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละ 10,000 ราย สธ.เตรียมเสนอฉีดวัคซีนป้องกัน เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศเป็นนโยบายใหม่ของชาติ ในการควบคุมป้องกันโรคระยะยาว เบื้องต้นใช้งบลงทุน 600 ล้านบาท โดยฉีดให้เด็กหญิงชั้น ป. 6 ทุกคน คนละ 3 เข็ม มีผลป้องกันโรคมะเร็งชนิดนี้ได้ตลอดชีวิต มั่นใจเป็นการลงทุนคุ้มค่า เพราะถูกกว่าค่ารักษา 17 เท่าตัว คาดภายใน 5-10 ปี จำนวนผู้ป่วยจะลดลงร้อยละ 70
       
       วันนี้ (7 เม.ย.) นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และโรงพยาบาลนครราชสีมา หรือโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แห่งที่2 จังหวัดนครราชสีมา ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงสุขภาพของหญิงไทย เนื่องจากในแต่ละปี มีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,216 ราย มากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 พบในกลุ่มอายุ 15-59 ปี และพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 ราย ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหานี้ลดลงอย่างชัดเจน แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ยังพบโรคนี้เป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้หญิง องค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกปีละ 275,000 ราย สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ ร้อยละ 80 เกิดมาจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเอชพีวี (HPV: Human Papilloma virus) ที่ติดจากการมีเพศสัมพันธ์
       
       ที่ผ่านมา อัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุม ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 10 ล้านคนได้ร้อยละ 70 ทำให้การควบคุมป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกของไทย ยังได้ผลดีไม่เท่าที่ควร เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณีความเชื่อ และความเขินอายของผู้หญิง จึงไม่กล้าพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขมีแนวคิดจะนำวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV: Human Papilloma vaccine) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ นำมาฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปีที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) และยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทั่วประเทศมีปีละประมาณ 400,000 คน ฉีดคนละ 3 เข็ม จะป้องกันได้โรคมะเร็งปากมดลูกได้ตลอดชีวิต ซึ่งจะลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ และลดการเสียชีวิตในระยะยาวอย่างได้ผล ขณะนี้มีหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปานามา รวมถึงประเทศมาเลเซียด้วย ได้บรรจุการฉีดวัคซีนดังกล่าวเป็นนโยบายวัคซีนแห่งชาติ และฉีดให้เด็กหญิงอายุ 12-13 ปีทุกคน พบว่า ได้ผลดี ทำให้โรคลดลงอย่างชัดเจน

   
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้กรมอนามัยจัดทำโครงการดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่า จะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 1,500 บาท จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆนี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายใหม่ของชาติ ซึ่งจะเป็นการพลิกโฉมระบบการประกันสุขภาพของประเทศไทย และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า เพราะหากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก 1 ราย จะต้องใช้เวลารักษาติดต่อกัน 4-5 ปี ค่ารักษาประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย โดยหากมีผู้ป่วย 10,000 ราย จะต้องใช้งบรักษามากถึง 10,000 ล้านบาท และบางรายอาจไม่ได้ผล เพราะรักษาเมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามแล้ว แต่หากลงทุนโดยฉีดวัคซีนป้องกัน จะถูกกว่ากันถึง 17 เท่าตัว
       
       ทั้งนี้ แนวคิดการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก 6 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) อย่างไรก็ตาม วัคซีนดังกล่าวขณะนี้ราคาประมาณเข็มละ 1,000 บาท แต่หากใช้ในปริมาณมาก ราคาน่าจะจะถูกลงเข็มละประมาณ 500 บาท
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า อัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทยจะพบมากที่สุดในอายุ 40-45 ปี หลังจากติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จะใช้เวลาก่อโรคมะเร็งอย่างค่อยเป็นค่อยไปประมาณ 10-15 ปี และปัจจุบันนี้อายุการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของหญิงไทยน้อยลงเรื่อยๆ ความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะสูง โดยวัคซีนที่จะนำมาฉีดป้องกันไวรัสมะเร็งปากมดลูกในไทยครั้งนี้จะป้องกันได้ 2 สายพันธุ์คือสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นไวรัสที่พบเป็นต้นเหตุมะเร็งปากมดลูกหญิงไทยมากถึงร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูกที่พบทั้งหมด โดยในระยะแรกจะทำควบคู่กับการตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกในกลุ่มหญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) และวีไอเอ ซึ่งยังมีความจำเป็น ทำให้ได้ผลคุ้มค่าขึ้น เพราะเป็นวิธีที่จะตรวจพบความผิดปกติได้รวดเร็วและให้การรักษาเร็วก่อนที่เซลล์มะเร็งจะลุกลาม โอกาสหายขาดจะมีสูงขึ้น มั่นใจว่า ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เราจะสามารถลดปัญหาโรคมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 เมษายน 2555