ผู้เขียน หัวข้อ: ปีกสองข้างของปัญหาการสาธารณสุขไทย‏-ตอนที่ 1-นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระวงศ์  (อ่าน 1783 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ผมมีความเห็นใจ ผู้ที่ประสบความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่บกพร่อง
และผู้เกี่ยว ข้องที่ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่และมีจริยธรรมที่บกพร่อง

ผมไม่เห็นใจ ผู้เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ และมีจริยธรรมที่บกพร่อง

ผมไม่ต้องการให้มีการปกป้อง ผู้เกี่ยวข้องกับการบ ริการทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่และมีจริยธรรมที่บกพร่อง

ผมเห็นใจและต้องการให้มีการปกป้อง ผู้เกี่ยวข้องกับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่และมีจริยธรรมที่ครบถ้วน

เช่นเดียวกับต้องการให้มีการปกป้องดูแล ผู้ที่ประสบความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขทั้งที่บกพร่อง และไม่บกพร่องโดยความใส่ใจของรัฐบาล มากกว่าการให้อยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง

ดังนั้นการแก้ปัญหาปกป้องดูแลประชาชน ไม่ให้ได้รับความเสียหาย และดูแลผู้ที่ประสบความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่บกพร่องจึงจะเป็นเหตุผลที่จะไม่ทำให้ ผู้บริหารหน่วยบริการ, แพทย์และบุคลากรผู้ให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข (ที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบในหน้าที่และมีจริยธรรมที่ครบถ้วน)ไม่ต้องเดือดร้อนจากการปกป้องดูแลประชาชน

ซึ่งการดูแลประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข น่าจะเป็นคำตอบ แทนการออกพรบ.ที่ส่อเค้าปัญหาจากผลกระทบที่ผู้ออกพรบ.คิดไม่ออก หรือคิดนอกเหนือเหตุผลที่อ้างไว้ในเจตนารมณ์ของพรบ.ฉบับนี้

รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนกลุ่มนี้ได้โดยไม่ จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหาย ที่กำลังมีปัญหาซ่อนเงื่อน

วิธีการที่บริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาปกป้องดูแลประชาชน ไม่ให้ได้รับความเสียหาย และดูแลผู้ที่ประสบความเสียหาย จากการบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่บกพร่องนั้น ประกอบด้วย

๑.การปกป้องไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหาย
๒.การจัดการแก้ไข การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่บกพร่อง
๓.การดูแลประชาชนผู้ที่ประสบความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่บกพร่อง
๔.การดูแลประชาชน ผู้ที่ประสบความเสียหายจาก การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ไม่บกพร่องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการจัดตั้งกระบวนการใหม่ให้แก่องค์กรของรัฐที่มีอยู่ทำหน้าที่ทั้ง๔ข้อดังกล่าว

จึงไม่ใช่สิ่งที่แพทย์ และบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่กับประชาชน ที่จะต้องออกมาทะเลาะกัน
และไม่ใช่หน้าที่ของเอ็นจีโอที่จะมาเสนอกฎหมายที่มีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง
แล้วตนเองไปนั่งควบคุมกำกับการใช้เงินกองทุน ที่มาจากภาษีประชาชน และเงินของผู้ที่ถูกระบุในกฎหมาย

http://www.consumerthai.org/old/complain/complain1.htm

เว็บนี้แม้จะมีคำด่าว่าแพทย์และโรงพยาบาลมากมาย แต่ก็สะท้อนให้เห็นความบกพร่อง ของรัฐ และ ทัศนคติเชิงลบที่มีต่อความบกพร่องของรัฐที่มีหน้าที่ต่อประชาชน ซึ่งมองเพียงที่เห็นก็ได้ความโกรธเคืองกัน
แต่ มองให้ชัดกว่านั้น ก็จะเห็นว่าเป็นการสะท้อนความไม่พึงพอใจและความโกรธที่ได้รับสิ่งไม่สมควรจากรัฐและการกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการภาครัฐส่วนหนึ่ง และการควบคุมมาตรฐานขององค์กรวิชาชีพส่วนหนึ่ง

แต่ทำไมองค์กรวิชาชีพจึงต้องถูกประนามหยามเหยียด เพียงลำพัง? ทั้งที่ หน้าที่ทั้ง ๔ ข้อข้างต้น เป็นหน้าที่ของรัฐร่วมกับองค์กรวิชาชีพ และทำไมประชาชน ยังต้องเดือดร้อนกันต่อไป?

รัฐ (อ่านว่ารัฐฐะ) ก็คือ สิ่งประกอบด้วย พื้นที่ตั้ง ประชาชน และองค์กรที่ควบคุมดูแลให้ประชาชนและพื้นที่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้มีความเป็นอยู่ร่วมกันโดยสงบร่มเย็นเป็นสุข

ผู้ที่รับผิดชอบการดูแลพื้นที่ และประชาชน นั้นคือ รัฐบาลการบริหารจัดการภาครัฐ คือการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองเพื่อประโยชน์ของรัฐให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข

ทำไมรัฐบาลต้องรอให้ประชาชนกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชน ผลัดกันขอเข้าพบเพื่อขอความเห็น ใจ? มันตลกไม่น้อย แต่หัวเราะไม่ออก
หากผมเป็นรัฐมนตรี ผมจะเชิญตัวแทนผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องมาพบ หรือ ไม่ทันใจก็จะเป็นฝ่ายไปขอพบ
ผมจะไม่ให้ตัวแทนผู้ที่ เกี่ยวข้องต้อง คอตกเพราะไม่ได้พบ หรือไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเหลื่อมล้ำ

แพทย์ที่เคยเขย่ารัฐบาลพบได้ แต่แพทย์ผู้ทำงานปฏิบัติหน้าที่ ดูแลประชาชนพบไม่ได้

ผมจะไม่ตะคอกหรือวางอำนาจบาตรใหญ่กับผู้บริหารระดับสูงจนถึงระดับล่างสุด เพราะทุกคนทำงานให้ประชาชนของผม
คนใกล้ชิดของผมซึ่งเป็นรัฐมนตรี หากไปตะคอกข่มขู่ใครไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าเอายี่ห้อผมไป ข่มขู่ตะคอก
ไม่รู้จะมองอย่างไรเลยเวลานี้ นอกจากสมเพช ในความเขลาของมนุษย์

ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากอะไร? จะกล่าวถึงปัญหาดังเช่น การนำปฏิจจสมุปบาทมาแสดง
นกจ้าว ปัญหา(-คือ การบริการสุขภาพและการสาธารณสุข- ไม่ใช่เจ้าปัญญาหรือจ้าวเวหา) มีปีกสองข้างปัญหามีปีกสองด้าน

ด้านหนึ่ง การบริหารจัดการภาครัฐที่บกพร่องนำมาสู่

๑.การบริหารที่บกพร่อง 
ทำให้ผู้ปฏิบัติ ไม่สามารถใช้ศักยภาพของตน และหน่วยงานใช้ศักยภาพของหน่วยงาน ได้อย่างเต็มศักยภาพ

ในการช่วยเหลือประชาชนผู้รับบริการและบั่น ทอนคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน

  ---  การบริหารงานที่ บกพร่องเริ่มจากรัฐบาลจนถึงผู้บริหารของหน่วยบริการ

คุณภาพ ชีวิตของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการ ไม่เคยอยู่ในแผนตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

   --- แม้แต่ผู้ปฏิบัติงานยังเข้าไม่ถึงความเป็นธรรมและความเสมอภาค แล้วจะหาความเสมอภาคให้ประชาชนได้อย่างไร?

๒.การปฏิบัติงานที่บกพร่อง ด้านการบริหารจัดการ
ทำให้การช่วยเหลือประชาชน ไม่เป็นไปโดยสมควร จึงเกิดเรื่องแก่ประชาชน

๓.ผลการปฏิบัติงานที่ไม่พึงปรารถนา จึงเกิดเรื่องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
ผู้บริหารสูงกว่าหน่วยงานนั้น หามีผู้ใดไม่ที่จะรับผิดชอบ ตั้งแต่รัฐบาลลงมา


อีกด้านหนึ่ง การควบคุมมาตรฐานที่บกพร่อง นำ มาสู่

๑.การบริการบกพร่องที่มาตรฐานทางวิชาการ
มาตรฐานทางวิชาการเป็นความรับผิดชอบขององค์กรวิชาชีพ และสถาบันการฝึกอบรม
ร่วมกับการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงาน จากผู้บริหารทุกระดับ ในการพัฒนาองค์ความรู้ และสมรรถนะของบุคลากรผู้บริการประชาชน

๒.การบริการบกพร่องที่มาตรฐานจริยธรรม
มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน ที่จะบริการประชาชน 
มันน่าขัน ที่ผู้เดือดร้อน คือ ผู้ปฏิบัติ ผู้ควบคุมมาตรฐาน และประชาชนผู้รับบริการ ต่างหันหน้าเข้าทะเลาะกัน

ผู้ที่บกพร่องตัวจริงหุ้นใหญ่ที่สุด คือ รัฐบาล กลายเป็นพระเอก และลอยนวล

รัฐบาลบกพร่องที่ไหน?

๑.แยกเงินออกจาก ภารกิจการบริการสุขภาพและการสาธารณสุข
โดยให้สปสช.ผู้ถือเงินมหาศาลไปคิดโครงการที่นึกสนุก ไปสั่งหน่วยบริการของกระทรวงและ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขทำ และไม่ได้ถามประชาชนเลย ว่าต้องการไหม?
นอกจากถามคนใน สปสช.กับถามคนที่ สช.(สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ แห่งชาติ)เชิญมา ไม่ตอบสนองปัญหาที่หน่วยบริการต้องการแก้ไข

๒.ลดจำนวนผู้ให้บริการประชาชนในขณะที่ความต้องการของประชาชนเพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น
สร้างปัญหาเพิ่มให้หน่วยบริการประชาชน

๓.บริหารจัดการโดยคิดเอาแต่ได้ หามีสติปัญญาไม่
เพราะการคิดว่าสปสช.ยอมซูฮกรัฐบาลกะรัฐมนตรีทุกอย่างจะดี เพราะมีงบหาเสียง การออกกฎหมายโดยอ่านแต่ใบปะหน้าแจงแต่ข้อดี ไม่อ่านเนื้อใน ไม่ศึกษาผลกระทบ เพราะคิดว่าจะได้คะแนนเสียง

๔.การบริหารจัดการที่ไม่รู้จริง
ผู้บริหารคิดแต่ส่วน ของตนเองจะ ได้อะไร ไม่ได้ถามผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาและถามประชาชน เชื่อแต่สมัชชาสุขภาพของสช.ที่ประกาศธรรมนูญ สุขภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับรู้
นำมาซึ่งสิ่งไม่พึงปรารถนา คือ กระทรวงที่กลวง แหล่งเงินที่โง่ หน่วยปฏิบัติที่ง่องแง่งกับประชาชน และ ผู้ปฏิบัติกับประชาชนที่รันทด  ผู้ให้บริการเดือดร้อนแล้วประชาชนไม่เดือดร้อนหรือ? ผู้ปฏิบัติงานขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่จะให้บริการ
แล้วได้รับคำตอบว่า ไม่มีเครื่องมือ ไม่มียา ไม่มีงบประมาณ ไม่มีคนทำงานเพิ่มให้
ประชาชนเดือดร้อนแล้วผู้ให้บริการไม่เดือดร้อนหรือ? การปฏิบัติงานที่มาตรฐานบกพร่อง
ผู้ปฏิบัติงานคิดว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบโยนกลองให้ ความขาดแคลน จนลืมคำว่าจริยธรรมและมาตรฐานวิชาการ

ตนเองไม่ต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรอย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้น

มุมมองนี้ ทำให้ผมอยากนำเรียนทุกท่าน หากท่านมีส่วนเกี่ยวข้องใด ขอได้ช่วยกันแก้ไขโดยคิดถึงสังคมทั้งหมดด้วยเถิด
ช่วยกันบอก ประชาชนกับผู้ให้บริการ

กรุณาอย่าแย่งผ้า ห่มที่มีเพียงผืนเดียวเลย (คนสองคนผ้าห่มผืนเดียว ทั้งเตะทั้งถีบแย่งผ้าห่มกัน แต่หากกอดกันห่มผ้าด้วยกันมันก็ หายหนาวได้)

ผ้าห่มทั้งหลายอยู่ที่ รัฐบาล สปสช. สสส. สวรส. สช. สปรส. และสารพัดส.

หรือสถาบันที่ถือเงินมหาศาลจน หน่วยบริการของรัฐขาดแคลน และ กพ.ที่มุ่งเน้นการลดจำนวนข้าราชการจนจะคนทำงานขาดแคลน

คนที่หนาวนั้น คือ ประชาชนกับผู้ปฏิบัติงานให้บริการประชาชน

การออกกฎหมายเพื่อให้มีผลลงโทษผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
การออกกฎหมายให้มีกองทุน เพื่อให้คนบางกลุ่มมาจากไหนไม่รู้
แต่กำหนดให้ มีบทบาทในการควบคุมและมีอำนาจการใช้เงิน จำนวนมหาศาลนั้น
ไม่สามารถสร้างสิ่งที่ประชาชนต้องการได้
การนำความไม่พึงพอใจของคนกลุ่มหนึ่ง มาออกกฎหมายบังคับคนที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี
ไม่ใช่หลักธรรมาภิบาลที่รัฐบาลกำลังกล่าวอ้าง แต่เป็นอธรรมาภิบาล

ขอให้หยุดการออกกฎหมายที่มีการซ่อนเงื่อนปม ที่ไร้ความเป็นธรรม เสียเถิด
และโปรดอย่าออกกฎหมายโดยไม่ได้ศึกษาผลกระทบ โปรดอย่าทำเช่นนั้น ขอเรียกร้อง

หมายเหตุ ผ้าห่มนั้นหมายถึงสิ่งที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดผลการดูแลประชาชนด้านสุขภาพ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กรกฎาคม 2010, 18:51:42 โดย pradit »