ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อสังเกตและความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสธ.  (อ่าน 2938 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ข้อสังเกตและความคิดเห็นเกี่ยวกับ
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ….

นายแพทย์วิสุทธิ์ ลัจฉเสวี
วท.บ.พบ.วว.(ศัลยศาสตร์)
นบ.(เกียรตินิยม), ประกาศนียบัตรวิชาว่าความสภาทนายความ
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร
           
1.  องค์กรวิชาชีพทางสาธารณสุขที่จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างชัดเจน ก็คือแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ และอื่นๆ ตามประกาศรัฐมนตรีและกฏกระทรวงที่จะกำหนดเพิ่มเติม และบุคลากรที่สังกัดทั้งในภาครัฐทุกกระทรวง กรม กองทัพ ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ สภากาชาดไทย และในภาคเอกชนรวมถึงโรงพยาบาล คลินิค ร้านขายยาและสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์
       2. ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 80 (2) ที่บัญญัติว่า “........ และการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” จึงเห็นได้ว่ากฎหมายที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาให้ความคุ้มครองผู้ให้บริการทางสาธารณสุข ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ไม่มีข้อความใดในรัฐธรรมนูญที่ให้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการทางสาธารณสุขเลย
         ประเด็นนี้เป็นบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่อ้างถึงว่าต้องเร่งรัดดำเนินการร่างก.ม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยอ้างว่าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ..... เป็นร่างกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ทำไมคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงตีความเช่นนั้น? ซึ่งถ้าดูในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีข้อความใดกล่าวอ้างถึงเลย
                3.   ในบทหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวถึงว่า “...........ทำให้มีการฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งทางแพ่งและอาญาและทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุขเปลี่ยนไปจากเดิม อันส่งผลร้ายมายังผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข ตลอดจนกระทบถึงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงระบบบริการสาธารณสุขด้วย สมควรจะได้แก้ปัญหาดังกล่าว ..........” แต่พบว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กลับเป็นเพียงการตั้งกองทุนเพื่อจ่ายให้ผู้อ้างเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข (เนื่องจากไม่พิสูจน์ถูกผิด จึงยังเรียกว่าผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่ได้) โดยรวดเร็ว โดยคณะกรรมการที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาการแพทย์อย่างแท้จริง และยังได้กล่าวนำถึงการฟ้องร้องทางอาญาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการชี้นำไปในตัว จึงเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องที่กระทบต่อวิชาชีพทางการแพทย์เป็นอย่างมากเลยแต่เป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อแจกจ่ายเงินที่บังคับเรียกมาเป็นกองทุนกันอย่างง่ายดายโดยไม่มีเพดานและเปิดช่องให้เกิดการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญามากขึ้น (ร่างก.ม.ฉบับนี้ถ้าผ่านเป็นก.ม.ถือเป็นกฏหมายเฉพาะฉบับแรกที่บัญญัติถึงการฟ้องร้องทางอาญาต่อบุคคลากรทางสาธารณสุขอย่างชัดเจนที่สุด) ซึ่งไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขแต่อย่างใด

     4.   มาตรา7 ข้อสังเกตเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พบว่า ไม่มีผู้แทนจากแพทยสภา หรือสภาวิชาชีพทางสาธารณสุข หรือราชวิทยาลัยวิชาชีพสาขาต่างๆ เป็นกรรมการอยู่เลย ทั้งๆ ที่องค์กรวิชาชีพดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวแทนอันชอบธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย มีการเลือกตั้งผู้บริหารจากสมาชิกทั่วประเทศ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับไปให้สัดส่วนของผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) แทน ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นตัวแทนของใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร ลักษณะขององค์กรมีความชัดเจนแค่ไหน มีสมาชิกเท่าใด มีการเลือกตั้งผู้แทนหรือไม่ รวมทั้งลักษณะกิจกรรมที่ดำเนินงานเป็นไปเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงหรือไม่ และประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเหตุใดจึงมีหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อยืนยันให้กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการฯให้ เป็นไปตามร่างเดิมเมื่อปี พ.ศ.2550 และให้คงชื่อร่างแบบเดิมด้วยโดยให้เหตุผลว่าเพราะมีหนังสือคัดค้านมาจากกลุ่มNGO (ร่างที่เสนอและแก้ไขโดยส.ส.และคณะกรรมการกฤษฎีกา กำหนดสัดส่วนคณะกรรมการฯที่มาจากสภาวิชาชีพต่างๆ แต่ถูกตัดทิ้งไป)

     5.   แพทยสภาและสภาวิชาชีพต่างๆเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมของสมาชิกทุกคนตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมและพ.ร.บ.ของแต่ละวิชาชีพ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนนานแล้ว แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  จะสร้างองค์กรใหม่ขึ้น(คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข) มาเป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินแทน  ถือเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่ยังมีผลบังคับอยู่ สภาวิชาชีพต่างๆก็จะหมดความหมายไปทันทีที่ร่างก.ม.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้

      6. คำว่า “ผู้แทนผู้รับบริการสาธารณสุข” ตามมาตรา 12 และ 13 มีความหมายกว้างขวางเพียงใด เพราะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และคณะอนุกรรมการต่างๆ เพราะผู้รับบริการสาธารณสุขในประเทศไทย ก็คือ ประชาชนคนไทยทุกคน แล้ว NGO ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันไม่ว่าเครือข่ายนั่น เครือข่ายนี่ สามารถอ้างเป็นตัวแทนผู้รับบริการสาธารณสุขได้เลยหรืออย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ขนาด ส.ส. ส.ว. ยังเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตใดหรือจังหวัดใด ยังต้องผ่านการเลือกตั้งตามวิถีทาง แต่ NGO สามารถอ้างว่าเป็นตัวแทนถาวรของประชาชนทุกคนได้เลยหรือ ใครเป็นผู้เลือกเข้ามาเป็นตัวแทน มีวาระการเป็นตัวแทนหรือไม่ เห็นมีรายชื่อบางคนอ้างเป็นตัวแทน NGO เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด บางคนก็มีคดีฟ้องร้องกับทางผู้ให้บริการสาธารณสุขและสภาวิชาชีพต่างๆเป็นจำนวนมากอย่างนี้จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

               7. ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ครั้งแรกคือ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ19 มิถุนายน2550 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ เมื่อกันยายน พ.ศ.2550 ในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นคือ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับเอ็นจีโอ  โดย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นกรรมการ และที่ปรึกษาของมูลนิธิ กลุ่มเอ็นจีโอนี้ และของหน่วยงานจัดตั้งตามกฎหมายซึ่งเสนอโดยเอ็นจีโอกลุ่มนี้ เช่น เป็นประธานกรรมการกำลังคนของ สช. เป็นต้น   ทำให้มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้น

   8.      ตามมาตรา 6 (1) (2) (3) ที่บัญญัติว่าความเสียหายใดเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติหรือไม่นั้น ผู้ที่พิจารณาควรจะเป็นองค์กรวิชาชีพนั้นๆ ในแต่ละสาขา หรือราชวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้มีความรู้และประสบการณ์อย่างลึกซึ้งระดับปรมาจารย์ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ได้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างแท้จริงมาเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแจกจ่ายเงินซึ่งบังคับเก็บจากระบบบริการสาธารณสุขเข้ากองทุน อย่างสนุกมือ
         
            9. ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 5 นั้น สามารถตีความได้ว่าถ้าคณะกรรมการฯพิจารณาตกลงจ่ายเงินค่าเสียหายทั้งสองประเภทคือเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยแก่ผู้เสียหายแล้ว ในทางรูปคดีแปลว่าผู้ให้บริการทางสาธารณสุขมีความผิดแล้วเพราะถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดตามปกติธรรมดาของโรคและสามารถหลีกเลี่ยงได้และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติซึ่งผู้เสียหายสามารถนำไปใช้ต่อสู้ในศาลได้และสามารถมีหมายเรียกให้คณะกรรมการฯไปเป็นพยานได้ด้วย
           10.   ตามมาตรา 10 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข
         (1) กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย .............
         (2) ...................
         (3) ...................
จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความใดในมาตรานี้และมาตราอื่นๆ ที่กล่าวถึงการคุ้มครองผู้ให้บริการทางสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองไว้โดยตรงจากผลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ซึ่งอาจมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่และรัฐธรรมนูญ มาตรา28 วรรค2ยังได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”
    11.   ตามมาตรา 21 “หากสถานพยาบาลใดไม่จ่ายเงินสมทบ........... ให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อชำระเงินดังกล่าว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าการให้ชำระเงินนั้นชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาและบังคับคดีให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ชำระเงินนั้นได้”
         ตามมาตรา 46 “ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
         คำสั่งตามมาตรา 18 คือ “สั่งให้สถานพยาบาล ผู้เสียหายหรือทายาท บุคคล หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำด้วยตนเอง หรือส่งข้อมูล หรือเอกสารหลักฐานตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร”
         จะเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทกำหนดโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และโทษทางปกครองต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายด้วย ในก.ม.ฉบับเดียวกัน
         คาดได้ว่าต่อไปทุกคน ทุกองค์กร ทุกสถาบันในระบบบริการสาธารณสุข จะตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการชุดต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และกฎหมายยังได้กำหนดให้คณะกรรมการทุกคณะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
         เป็นที่น่าสังเกตุว่าแม้ เงินจากกองทุนส่วนใหญ่จะมาจากสถานพยาบาลและองค์กรต่างๆ ที่เป็นผู้ให้บริการทางสาธารณสุข แต่คณะกรรมการฯ บริหารกองทุนซึ่งได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งค่าเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และประโยชน์ตอบแทนอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ จากเงินของกองทุน ซึ่งเปรียบได้กับลูกจ้างของกองทุน กลับมีสิทธิลงโทษทั้งทางแพ่ง และอาญา ต่อผู้ที่จ่ายเงินเข้ากองทุน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นนายจ้างหรือเจ้าของกองทุนได้ ซึ่งเป็นหลักการที่แปลกประหลาด

   12.   ตามมาตรา 34 ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชยกฎหมายให้อำนาจในการฟ้องร้องผู้ให้บริการสาธารณสุขได้
         ถ้าศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง กรรมการฯ อาจพิจารณาจ่ายเงินค่าเสียหายแก่ผู้ที่ฟ้องร้องหรือไม่ก็ได้
         ถ้าศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าสินไหมแก่ผู้เสียหาย กรรมการอาจจะเอาเงินจากกองทุนจ่ายแทนตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ได้
         กรณีผู้เสียหายขอรับเงินค่าเสียหายและได้ฟ้องคดีต่อศาลร่วมด้วย ให้คณะกรรมการฯ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้
         กรณีผู้เสียหายตกลงรับเงินชดเชยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ต่อมาตามมาตรา 37 ถ้ามีความเสียหายปรากฏขึ้นภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินค่าชดเชยได้อีกภายใน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี( นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย) คณะกรรมการฯ พิจารณาจ่ายเพิ่มได้อีก ซึ่งตามหลักหลังการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่มาตรานี้กลับยินยอมให้ฝ่ายผู้เสียหายไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการขัดกับหลักเจตนาและความศักดิ์สิทธิ์ของการทำสัญญา

   13.   ตามมาตรา 38 เรื่องการไกล่เกลี่ยมีข้อความว่า “เป็นการไกล่เกลี่ย...............เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเงินค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.นี้” ซึ่งก็เป็นที่สงสัยว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยในเรื่องใดถ้าไม่ใช่เรื่องค่าเสียหายหรือก.ม.มีเจตนาห้ามไกล่เกลี่ยในเรื่องเงินโดยสงวนไว้เป็นอำนาจของกรรมการฯเท่านั้น และในมาตรานี้ยังกำหนดให้องค์กรเอกชน (NGO) สามารถจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยได้ และผู้ไกล่เกลี่ยมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน

   14.   ตามหลักการถ้ามีการจัดตั้งกองทุน ซึ่งมีที่มาจากการบังคับเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นควรเป็นการฟ้องร้องต่อกองทุน ไม่ควรมีการฟ้องร้องต่อตัวบุคคล ยกเว้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (ซึ่งก็ควรเป็นหน้าที่วินิจฉัยโดยสภาองค์กรวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่ควบคุมมาตรฐาน และจริยธรรมของสมาชิกตามกฎหมาย)

   15.   ตามมาตรา 45 ได้เขียนนำในเชิงให้สิทธิผู้รับบริการฟ้องผู้ให้บริการสาธารณสุขในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้มีการฟ้องร้องในคดีอาญามากขึ้น ในประเด็นการฟ้องอาญานี้มีข้อสังเกตุว่ามีการบัญญัติไว้ในอีกร่างหนึ่งที่เสนอโดยส.ส.สุทัศน์ เงินหมื่นและพวกในมาตรา44. “ผู้ให้บริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครองจากการถูกฟ้องคดีอาญาอันเนื่องมาจากการประกอบวิชาชีพ เว้นแต่เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา”แต่ก็ถูกตัดทิ้งไปโดยอ้างว่าขัดต่อหลักกฏหมายทั่วไปโดยไม่ได้พิจารณาเลยว่าการบริการทางสาธารณสุขจัดเป็น “บริการสาธารณะ”(Public service)ตามหลักการในกฏหมายมหาชนถือเป็นบริการอันจำเป็นที่รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนและยังมีบัญญัติรับรองสิทธิการได้รับความคุ้มครองไว้ในก.ม.รัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกับการจัดการศึกษา หรือกิจการเกี่ยวกับความมั่นคงฯหรือการยุติธรรมเป็นต้น รัฐจึงสามารถบัญญัติเพื่อจำกัดสิทธิบางอย่างในกฏหมายเฉพาะได้เพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ลองคิดดูว่าถ้าการช่วยชีวิตคนแล้วมีโอกาสติดคุกได้แล้วต่อไปใครที่ไหนจะอยากช่วยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้จึงเห็นได้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการฟ้องร้องทางการแพทย์แล้วยังส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องมากขึ้นทั้งทางแพ่งและอาญา

   16.   ในบทเฉพาะกาล มาตรา 50 วรรค 2 ได้กล่าวว่า “ในกรณีที่ยังไม่มีคณะกรรมการฯ ...... ให้รัฐมนตรี แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน11คนโดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพจำนวน 6 คน .........” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้


สรุปข้อเสนอแนะ
1.   ยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งฉบับ
2.   หน่วยงานและองค์กรทางสาธารณสุขทุกภาคส่วนควรมาร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อระดมสมองในการหาทางแก้ปัญหาการฟ้องร้องทางการแพทย์และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ อาจตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำไม่ชักศึกเข้าบ้าน ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายจนเกิดกลียุคในระบบสาธารณสุขของไทย
3.   กฎหมายแรกที่ควรช่วยกันเร่งผลักดันให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 (2) ก็คือ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและสาธารณสุข พ.ศ. .......”
4.   ข้อสรุปการแก้ปัญหาเบื้องต้นตามแนวทางข้อเสนอและเค้าโครงวิทยานิพนธ์ทางนิติศาสตร์ของผู้เขียนก็คือ
               4.1) มีกฏหมายลักษณะพิเศษที่แยกคดีทางการแพทย์และสาธารณสุขออกต่างหากจากกฏหมายทั่วๆไปเช่น ก.ม.ลักษณะละเมิด ประมาท หรือก.ม.ผู้บริโภค และให้มีการคุ้มครองทางอาญา
               4.2) มีกฏหมายวิธีพิจารณาความคดีทางการแพทย์และสาธารณสุขแยกต่างหากรวมถึงการมีศาลทางการแพทย์และสาธารณสุขและใช้ระบบผู้พิพากษาศาลสมทบเช่นเดียวกับคดีแรงงานหรือคดีเยาวชนและครอบครัว



                               
                                 ***********************************************************