ผู้เขียน หัวข้อ: กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัย  (อ่าน 2171 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัย
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง (Citizens Rights Watch, Thailand)
ก.สธ.เพื่อปฏิรูปและพัฒนาการสาธารณสุขไทย
http://www.thaitrl.org/
 
กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยในการรับบริการสาธารณสุข โดยมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้ปลอดภัย มีมาตรฐานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีหน้าที่เสนอออกพ.ร.บ.ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายบุคลากรที่ทำงานบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข
หน้าที่ของรัฐบาลที่ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการนั้น พอจะสรุปในหลักการใหญ่ๆได้ดังนี้
 
1.กำหนดนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ประชาชนทั้งประเทศมีสุขภาพดี และจัดการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายนั้นๆ
(ไม่ต้องดัดจริตเรียกว่า "สุขภาวะ" เพราะความหมายมันก็เหมือนกัน)
2.จัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้ปลอดภัยและมีมาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานต่างๆและระบบโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล       โดยมีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องคน เงิน สิ่งของ เทคโนโลยี อาคารสถานที่ เวชภัณฑ์และระบบการทำงาน รวมทั้งคุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และปลอดภัยทั้งประชาชนและบุคลากรที่ทำงานรับใช้ประชาชน
ส่วนการควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้สภาวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ควบคุมการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐาน ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.วิชาชีพต่างๆ
3.ช่วยเหลือประชาชนทุกคน ให้สามารถไปรับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยคนจนและยากไร้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
4.ควบคุมป้องกันและกำจัดโรคติดต่ออันตรายและโรคระบาด
5.จัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชน และกำจัดมลภาวะในสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตราย
6.ส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่สร้างเสริมสุขภาพ โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติที่ถูกต้องในการดูแลรักษาสุขภาพ และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง เช่นจัดสถานที่ในการออกกำลังกาย นันทนาการ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง
7.ควบคุมการนำเข้า ผลิตและจำน่ายยาและอาหาร เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคยาและอาหารที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน และทันสมัย มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
8.ส่งเสริมการบริการสาธารณสุขที่สร้างสุขภาพ ป้องกันโรค โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพ  และคุ้มครองผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ได้ปฏิบัติวิชาชีพตามมาตรฐานตามม. 80(2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
 กระทรวงสาธารณสุขไม่มีหน้าที่ออกกฎหมายมาจ่ายเงินคุ้มครอง ความเสียหายจากการ รับบริการสาธารณสุข เพราะส่วนหนึ่งของความเสียหายที่ประชาชนได้รับนั้น เกิดจากความบกพร่องที่กระทรวงจะต้องรับผิดชอบ และสมควรถูกพิจารณาก่อน เช่นขาดกำลังคนทำงาน ขาดเตียงให้ผู้ป่วยนอน ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขาดเงินซื้อยาและเวชภัณฑ์ และขาดการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง
รัฐบาล และสส.ที่เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ หรือประชาชนพลเมืองไทยทุกคน ควรตรวจสอบว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ทำหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณ สุขให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ตามสมควรหรือไม่? หรือจัดบริการที่ขาดแคลน ทั้งกำลังคน เงินงบประมาณ ขาดอาคารสถานที่(แออัดยัดเยียด ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล) ขาดเตียง ขาดผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทาง ขาดเทคโนโลยีทันสมัย ขาดเครื่องมือเครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ ฯลฯ จนทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความเสียหาย จากการไปรับบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขในโรงพยาบาลของรัฐบาล?
ถ้ารัฐบาลอยากจะออกพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ก็ควรออกพ.ร.บ.เหล่านี้ด้วยคือ
1.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับการศึกษา
เพราะเรียนจบก็อ่านไม่ออก สอบไม่ผ่าน พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เรื่อง ทั้งๆที่เรียนภาษาอังกฤษมาหลายปี
2.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจาการรับบริการตำรวจ
เพราะจับผิดตัวบ้าง ไม่สามารถจับคนที่ทำร้ายประชาชนบ้าง ไปแจ้งความของถูกโจรกรรม ก็จับผู้ร้ายไม่ได้บ้าง
3.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากรถไฟ  รถเมล์ อัยการ ศาล และคุ้มครองความเสียหายจากบริการสาธารณะทุกอย่างที่รัฐบาลเป็นผู้ควบคุม ดูแล และให้บริการ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่า ประชาชนจะไม่ได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย และบุคลากร ผู้ทำงานบริการสาธารณะ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
กฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้วช่วยคุ้มครองประชาชนได้หรือไม่?
 
ประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.นี้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่?
 
 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขหลายคน ไม่เคยทราบเรื่องความไม่เป็นธรรมของพ.ร.บ.คุ้มครองฯนี้มาก่อน และประชาชนอีกหลายสิบล้านคน ก็คงยังไม่ทราบรายละเอียดของพ.ร.บ.นี้อีกเช่นกัน
แต่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้อย่างละเอียดครบทุกมาตรา ตั้งแต่เจตนารมณ์ ไปจนถึงบทเฉพาะกาลแล้ว ต่างมีความเห็นตรงกันว่าเราไม่ต้องการไปแก้พ.ร.บ.นี้ในสภา เพราะมันจะแก้ไม่ได้  จะเหมือนกับตอนไปแก้ในคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีสภาวิชาชีพเข้าไปประชุมแค่ 1 เสียง จึงไม่สามารถคัดค้าน การเขียนพ.ร.บ.ที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้
เราต้องการให้มาทำประชาพิจารณ์ว่า สมควรจะต้องออกกม.นี้หรือไม่
หรือไปบังคับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้บังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนทั้งสองฝ่าย คือผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับประชาชนที่ไปใช้บริการ
 
เราไม่ต้องการไปแก้พ.ร.บ.นี้ในสภา เพราะมันจะเหมือนกับตอนไปแก้ในคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีสภาวิชาชีพเข้าไปประชุมแค่ 1 เสียง จึงไม่สามารถคัดค้าน การเขียนพ.ร.บ.ที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้
ในขั้นตอนการพิจารณาพ.ร.บ.นี้ในคณะกรรมการกฤษฎีกา มีผู้แทนสภาวิชาชีพไปให้ความเห็นเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงไม่สามารถชนะความเห็นกรรมการอื่นๆได้
แต่เมื่อแพทยสภาทำความเห็นคัดค้านไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว คณะกรรมการได้แก้ไขใหม่ตามความเห็นแพทยสภา
แต่รมว.สธ. ยังใช้เอกสิทธิ์ของรัฐมนตรี แก้กลับไปตามเดิม ไม่สนใจความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาวิชาชีพ
 
เพราะฉะนั้น อย่าไปเชื่อว่า จะสามารถไปแก้ไขข้อความในพ.ร.บ.ให้เป็นธรรมและถูกต้องตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามที่หลายคนกล่าวอ้าง เพราะในกรรมาธิการก็อาศัยเสียงข้างมาก ที่จะมีผู้ไม่ใช่สภาวิชาชีพมากกว่าอยู่แล้ว คงไม่สามารถแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ทุกฝ่าย
เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ในการหลงเชื่อนักการเมืองที่เป็นรมว.สธ.ว่า จะยกเลิกมาตรา 42 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ให้ ในขั้นกรรมาธิการในสภา แต่ขอมาตรา 41 ไว้  และก็ปรากฎว่า กรรมาธิการในสภาไม่ยอมแก้ และนักการเมืองก็อ้างได้ว่า แพ้คะแนนเสียงในสภา
และเราจะยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกครั้งใช่ไหม?

เราต้องการให้มาทำประชาพิจารณ์ว่า สมควรจะต้องออกกม.นี้หรือไม่
หรือไปบังคับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้บังคับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนทุกภาคส่วน คือผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข กับประชาชนที่ไปใช้บริการ
ไปพิจารณาว่ากฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้วเพียงพอที่ช่วยคุ้มครองประชาชนได้หรือไม่?
 
ประชาชนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.นี้หรือไม่?
หรือต้องไปพิจารณาแก้ไขระบบบริหารจัดการกระทรวงสาธารณสุขเสียใหม่ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้ประชาชนทั้งผู้ป่วยและผู้รักษา เพื่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชนทุกภาคส่วนดังกล่าวแล้ว