ผู้เขียน หัวข้อ: ประชาชนสองฝ่ายต้องออกมาทะเลาะกันเนื่องจาก กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำตามบทบาทหน้าที่  (อ่าน 2275 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ประชาชนสองฝ่ายต้องออกมาทะเลาะกันเนื่องจาก
กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำตามบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและควบคุมคุณภาพมาตรฐานทางการการแพทย์และสาธารณสุข
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย
ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
กสธ.เพื่อปฏิรูประบบการแพทย์และสาธารณสุข
http://www.thaitrl.org/
24 กรกฎาคม 2553

ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงเท่า เรื่องที่มีผู้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเพื่อรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งร่างของกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอผ่านค.ร.ม.ด้วย รวมเป็น 6 ร่าง โดยผู้เสนอและประชาชนก็คิดว่าจะได้คุ้มครองประชาชน แต่กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาอาชีพ ที่จะต้องอยู่ในข่ายมีส่วนเสียจากพ.ร.บ.นี้ ที่ได้ทราบเรื่อง (ส่วนมากยังไม่ทราบเรื่องนี้) ต่างก็ไม่เห็นด้วยและคัดค้านทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย
 การที่แพทย์ออกมาคัดค้าน ไม่ใช่เพราะแพทย์ไม่รักประชาชน ไม่อยากให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายต่างๆ แต่ทำไมกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล ไม่หาทางป้องกันความเสียหาย โดยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทางการแพทย์ให้ดี โดยจัดบุคลากรให้เพียงพอ อาคารสถานที่เหมาะสม เทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ทันสมัยมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย บุคลากรก็สามารถทำงานอย่างมีความสุข และสามารถระมัดระวังในการรักษามาตรฐาน ไม่ใช่ทำงานมากเกินไป ต้องรีบเร่ง ทั้งๆที่ประชาชนก็ต้องเสียเวลารอคอยนานจนล้นโรงพยาบาลเช่นนี้
แต่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายคุ้มครองหลังจากเกิดความเสียหายแล้ว แต่จะคุ้มครองประชาชนคนป่วยอย่างเดียว โดยไม่เหลียวแลประชาชนคนทำงานเพื่อคนป่วยเลย
 ถ้าใครก็ตามที่ได้อ่านพ.ร.บ.นี้ (ที่เสนอเข้าสภา เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมายนั้น) โดยละเอียดตั้งแต่เจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย ไปจนถึง 50 มาตรา และบทเฉพาะกาลแล้ว จะเห็นว่ารายละเอียดในแต่ละมาตรา และบทเฉพาะกาลนั้น ขัดแย้งกับเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง และจะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เกิดการบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาประชาชน เจตนารมณ์เขียนว่า จะช่วยลดการฟ้องร้อง แต่ผลจะออกมาตรงกันข้าม
มาตราที่ขัดแย้งกันเอง เช่นม. 5บอกว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด แต่จะไปขัดแย้งกับมาตรา 6  ว่า ถ้าหมอไม่ผิดจะไม่ได้รับเงินชดเชย ฉะนั้นหมายความว่าต้องพิสูจน์ว่าผิดก่อนจึงจะได้เงิน
แต่การตัดสินว่าแพทย์ทำผิดหรือไม่ กลับจะใช้กรรมการจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ แต่ให้คนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจวิชาการแพทย์มาตัดสินว่าแพทย์ทำผิดหรือถูก ทำให้แพทย์ถูกเลือกปฏิบัติ มาตรฐานการแพทย์ไทยก็เสียหาย ไม่สามารถยึดถือตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพได้อีกต่อไป
ถ้าพิจารณาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ ทั้งหมด ก็จะสรุปได้ว่า
1.พ.ร.บ.นี้ขัดกับกม.รัฐธรรมนูญ ในแง่ที่ "ให้" ประชาชนมากเกินสัดส่วน ในขณะที่แพทย์ได้รับน้อยเกินไป คือไม่คุ้มครองแพทย์เลย รัฐธรรมนูญมาตรา 80(2) ให้คุ้มคองบุคลากรสาธารณสุขด้วย
2.พ.ร.บ.นี้ เขียนเจตนารมณ์ว่าจะลดการฟ้องร้อง แต่ผลที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้าม หรือเขียนว่าไม่พิสูจน์ถูก/ผิด แต่ม. 6 ต้องพิสูจน์ก่อนว่าหมอทำผิดจึงจะได้รับเงิน
3.กรรมการที่มาตัดสินถูก/ผิดนั้นมาจากคนที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ทำให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่เป็นธรรมเหมือนวิชาชีพอื่น เช่นวิศวกรรม บัญชี หรือสถาปัตยกรรม
4. การเรียกเก็บเงินจากรพ.ของรัฐทำไม่ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบแทน โรงพยาบาลของรัฐ
5.การเรียกเก็บเงินจากเอกชนก็ทำไม่ได้ เพราะเอกชนเขาต้องรับผิดชอบการกระทำต่อผู้ป่วยของตนเองแล้ว
6.มีพ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 และมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ศาลแพ่ง ศาลอาญา
7 .    การ พิจารณาค่าเสียหาย  ใช้หลักความรับผิดทางละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามเดิมทุกประการ ยกเว้นเป็นการขยายอายุความจาก 1 ปี เป็น 3 ปี
8.     คณะ กรรมการฯ จะต้องพิจารณาในเนื้อหาของการกระทำ เพื่อประกอบการจ่ายเงินชดเชย    แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการ มิได้บังคับว่าคณะกรรมการทั้งหมดจะ ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านการสาธารณสุข  และตัดสินโดยการลงมติ  จะมีปัญหาในเรื่องการยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกตัดสิน(ให้กองทุนจ่ายเงิน)  เพราะไม่จำต้องยึดถือตามหลักวิชา 
9.     ไม่ มีบทบัญญัติใดที่ห้ามมิให้กองทุนเรียกร้องหรือไล่เบี้ยจาก บุคลากรทางสาธารณสุข และหน่วยงานที่สังกัด  เมือกองทุนได้จ่าย ค่าสินไหมให้แก่ผู้เสียหายแล้ว   ก็จะไปไล่เบี้ยกับบุคลากรได้อีก
10.    บุคลากร ต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ  ใน ฐานะเป็นคำสั่งทางปกครอง    หากไม่เห็นด้วยต้องใช้สิทธิฟ้องคดี ต่อศาลปกครอง ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้เสียหายไม่เห็นด้วย  ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นกัน      การฟ้องร้องจะไม่ลดลงอย่างแน่นอน 
11.    บุคลากร ทางการแพทย์ยังต้องรับผิดทางอาญาเช่นเดิม ตามขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
12.  อำนาจ การแต่งตั้งผู้เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการ มีครอบคลุมมากเกินไป โดยไม่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการนั้นๆอย่างชัดเจน
13. โค รงสร้างทางกฎหมายของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ มีอำนาจทั้งตัดสินและรับอุทธรณ์จากประชาชน จะไม่เกิดความยุติธรรม .ในขณะเดียวกันก็ไม่กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์มีสิทธิอุทธรณ์ได้
14.  กฎหมาย ฉบับนี้ ออกมาโดยเกินความจำเป็น  และไม่เหมาะสม แต่จะสร้างความสับสนและบั่นทอนกำลังใจบุคคลากรด้าน สาธารณสุขและซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่แล้ว   เป็นการ สร้างภาระให้กับสถานพยาบาลมากเกินไป
15. อาจมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง และวิธีการงบประมาณ ในกรณีให้กองทุนมีอำนาจเรียกเก็บเงินจาก หน่วยงานของรัฐ และเอกชน มาเข้ากองทุนและบริหารจัดการเองโดยเอง
16. บทเฉพาะกาล กำหนดกรรมการจากภาคประชาชนมากกว่าครึ่ง ทั้งๆที่ผู้มารักษาการในบทเฉพาะการนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแนวทางการดำเนินการต่อไป และการเลือกกรรมการ
สาระสำคัญของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจาการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....นี้  เป็นการให้เจ้าหน้าที่สั่งให้จ่ายเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 41  ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545   และให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของผู้ให้ บริหาร เข้าด้วยกัน ขณะที่องค์ประกอบ ของคณะกรรมการผู้มีอำนาจพิจารณา มิได้มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขทั้งหมด       ทำ ให้ไม่ได้การยอมรับจากบุคลากรสาธารณสุข และเป็นช่องทางให้เกิดการต่อสู้ทางคดีได้ง่าย  ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความคุ้มครอง (ออกคำสั่งมา  ก็ มีการไปฟ้องเพิกถอนคำสั่งว่าไม่ชอบ เพราะผู้ออกคำสั่งไม่มีความรู้ความสามารถที่จะพิจารณาเรื่องการ สาธารณสุข อันเป็นกรณีเฉพาะทางวิชาชีพ ได้โดยง่าย)   พรบ.ฉบับนี้ จะสร้างปัญหาความสับสนในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น เป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลต้องจัดให้ประชาชน เหมือนกับการบริการด้านการศึกษา คมนาคม ตำรวจ(ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน) ศาล อัยการ (รักษาความยุติธรรม) ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ควบคุม กำกับ ส่งเสริมสนับสนุน ให้บริการสาธารณะเหล่านี้ มีคุณภาพมาตรฐานและประชาชนทั่วไป ต้องได้รับความสะดวกและปลอดภัยจาก บริการสาธารณะนั้นๆ ถ้ารัฐบาลอยากจะออกกฎหมายคุ้มครองบริการสาธารณะแบบนี้ ก็สมควรต้องออกกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจาการรับการศึกษา(นักเรียนสอบตก)  จากการบริการตำรวจ (จับคนติดคุกผิดคน) จากอัยการ ศาล(ส่งฟ้องผิด ตัดสินจำคุกผิดคน) ฯลฯ ด้วย
 แต่สำหรับบริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขเริ่มเกิดความเสื่อม เพราะรัฐบาลหลงทาง ปล่อยให้มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ออกมา โดยกระทรวงสาธารณสุขที่มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล แต่ต้องไปของบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยที่กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาสปสช. แม้แต่เงินเดือนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ฏ็ยังต้องไปขอแบ่งมาจากงบประมาณที่รัฐบาลส่งผ่านไปให้สปสช. รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข จะมีนโยบายสร้างรพ.สต. ก้ต้องไปอ้อนวอนของบสนับสนุนจากสปสช.
ในขณะที่สปสช.มีงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี สปสช.ใช้อำนาจเงินในมือ สั่งให้โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขทำโครงการตามแต่สปสช.จะเห็นสมควร ถ้ารพ.ของสธ.ไม่ทำตามแผนของสปสช. รพ.ก็จะไม่มีเงินมารักษาประชาชน (สปสช.ทำผิดกฎหมายของสปสช.เอง ที่กำหนดให้สปสช.มีหน้าที่จ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขเท่านั้น)
 การที่ประชาชนไม่มีส่วนรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพเลย แต่มีสิทธิในการมารับการรักษาโดยไม่มีกำหนดจำนวนครั้ง ทำให้ประชาชนมาเรียกร้องสิทธิและมารับการรักษาเพิ่มขึ้นตลอด จนเป็น 200,000,000 ครั้งต่อปี  (คนจนจริง อาจไม่มีค่ารถมารับการรักษา แต่คนไม่จนจริง มาเรียกร้องมากขึ้น) แต่บุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ฯลฯ ต่างก็ขาดแคลน ทนงานหนักไม่ไหว ลาออกไปตลอดเวลา (เพราะมีทางเลือกไปอยู่รพ.เอกชน ที่มีความสุขในการทำงาน เพราะงานเบากว่า รายได้ดีกว่า) ทำให้บุคลากรที่เหลือต้องทำงานหนัก หมอต้องทำงานติดต่อกันคราวละ 32-48 ชั่วโมง พยาบาลต้องควงเวรเช้า-บ่าย 16 ชั่วโมง (รวมทั้งเทคนิคการแพทย์/และอื่นๆที่ต้องควงเวรครั้งละ24 ชั่วโมงเหมือกัน) ทั้งนี้ เพราะโรงพยาบาลต้องทำงาน 24 ชั่วโมงใน 365 วัน
การทำงานติดต่อกันยาวนานโดยไม่มีเวลาพัก ทำให้บุคลากรเกิดความเหนื่อยล้า เกิดความเครียด ยิ้มไม่ออก เสี่ยงต่อความผิดพลาด ประชาชนเสี่ยงต่อความเสียหายมากขึ้น
  แทนที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรให้ได้ เพื่อให้บุคลากรได้มีเวลาทำงานตามมาตรฐาน กลับจะไปออกกฎหมายมาคอยลงโทษบุคลากร บุคลากรยิ้มไม่ออก (เพราะงานหนัก เหนื่อย เครียด) รัฐมนตรีว่าการสธ.กลับมีไอเดีย(ความคิด)บรรเจิดที่จะไปจ้างนักประชาสัมพันธ์มาทำหน้าที่ยิ้มแทนบุคลากร
  ที่จริงก็ไม่อยากจะว่ารัฐมนตรีเท่าไรนัก เพราะท่านมาไม่นานท่านก็ไป (ตั้งแต่มีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมานี้ รัฐมนตรีสธ.เปลี่ยนไปมากกว่า 10คนแล้ว) กว่าท่านจะมาเรียนรู้งาน ก็ถึงเวลาต้องไปแล้ว คนใหม่มาก็ยังไม่รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง
 นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการสธ.คนก่อนหน้านี้ ไปพูดที่หอประชุมโรงพยาบาลนครศรีธรรมราช หลังจากท่านพ้นหน้าที่รัฐมนตรีไปแล้วว่า ท่านมาเป็นรมว.สธ.อยู่ 1 ปี แต่เพิ่งมาเข้าใจงานของกระทรวงสธ.อย่างแจ่มแจ้งและถ่องแท้ ก็ในวันที่ท่านลาออกจากตำแหน่งรมว. สธ. หลังจากอยู่มาครบ 1 ปี (ผู้เขียนยังได้บอกว่าท่านควรจะมาเป็นรมว. สธ.ใหม่ เพราะตอนนี้ท่านรู้เรื่องกระทรวงสธ.ดีแล้ว คงจะทำให้กระทรวงสธ.มีคุณภาพมาตรฐาน บุคลากรมีความสุข มีบุคลากรเพียงพอ งบประมาณ อาคารสถานที่ เทคโนโลยีเพียงพอ ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาดี มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยมีความเสียหายน้อยและเมื่อเสียหายก็ได้รับการช่วยเหลือตามกลไกเดิมที่มีอยู่ดีแล้ว ไม่ต้องมาออกกฎหมายใหม่ ประชาชนคนป่วยและประชาชนคนรักษาคนป่วยก็ไม่ต้องมาทะเลาะกัน ไม่ต้องมาชุมนุมประท้วง เสียเวลา เสียความรู้สึก
 และรัฐมนตรีว่าการสธ.คนปัจจุบัน ก็เพิ่งมารับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุขไม่ถึงปี ท่านคงจะยังไม่รู้ว่า บทบาทของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ที่เหมาะสมควรทำอย่างไร
 แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ข้าราชการประจำสูงสุด คือปลัดกระทรวง ที่ทำงานอยู่กระทรวงสธ.มา30 กว่าปี จนจะเกษียณอายุราชการแล้ว ไม่ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดี ที่จะต้องรายงานถึงปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีปัญหาขาดงบประมาณ ขาดบุคลากร สุขภาพชาวบ้านไม่ดี ต้องเจ็บป่วยบ่อยๆ ต้องไปรอรับการรักษาจนล้นโรงพยาบาลของรัฐบาลทุกๆแห่ง ประชาชนเสี่ยงความเสียหาย บุคลากรเสี่ยงถูกฟ้อง ปลัดกระทรวงกลับไม่เสนอทางแก้ที่เหมาะสมให้รัฐมนตรีเข้าใจ กลับมาสนับสนุนการออกกฎหมายมาคอยลงโทษบุคลากร ที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงจากความพิการหรือตายโดยไม่สมควรตาย บุคลากรสับสน ท้อแท้ หมดกำลังใจ เพราะพยายามทำความดีจนสุดความสามารถในภาวะที่ขาดแคลนทุกอย่างแล้ว
แทนที่ปลัดกระทรวงจะรายงานรัฐมนตรีว่า ควรจะป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายอย่างไร และสนับสนุนให้บุคลากรมีความสุข  มีจำนวนพอเพียง มีเวลาทำงานตามมาตรฐาน  มีเทคโนโลยีและเวชภัณฑ์และเตียงรองรับผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้บุคลากรไม่เหนื่อย ไม่เครียด ยิ้มได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปจ้างนักประชาสัมพันธ์มาฉีกยิ้มปลอมๆ รับหน้าประชาชน โดยไม่ต้องไปร่างพ.ร.บ.มาคอยคุ้มครองผู้เสียหายและทำร้ายบุคลากรเช่นนี้
 โดยสรุป ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกเป็นเหยื่อ ความไม่เอาไหนของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข
ตอนนี้ได้ข่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ก็จะมาชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้ และฝ่ายประชาชนก็จะเอาคนบาดเจ็บ พิการมาชุมนุมเห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้
รัฐบาลควรรีบแก้ปัญหานี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้