ผู้เขียน หัวข้อ: คณะผู้ประกอบวิชาชีพฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี  (อ่าน 1944 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด

ผู้แทนสภาวิชาชีพ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่พรรคประชาธิปัตย์ ถกเรื่องปัญหาร่าง พรบ.คุ้มครองความเสียหายฯ นายกรัฐมนตรี รับปากจะให้ทุกส่วนได้ประชุมหาทางออกต่อปัญหานี้ร่วมกัน 

วันที่ 22 กค 2553  เวลา 14.15 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทนสภาวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประกอบด้วย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา  นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา นายแพทย์ชนาธิปฯ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา  นายแพทย์พินิจ หิรัญโชติ กรรมการแพทยสภา  นายแพทย์เอื้อชาติ กรรมการแพทยสภา  ทันตแพทย์ธรณินทร์ฯ และทันตแพทย์ จาก ทันตแพทยสภา  ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์  เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์  ดร.สมจิตร ฯ นายกสภาการพยาบาล  เภสัชกรเสน่ห์ฯ เภสัชกรหญิงพัชรี ศิริศักดิ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม   แพทย์หญิงพจนา กองเงิน  แพทย์หญิงสุธัญญา บรรจงภาค แพทย์หญิงประชุมพร บูรณ์เจริญ  นายแพทย์ประดิษฐ์ ไชยบุตร ทันตแพทย์หญิงสุขุมาลย์ จาก สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป  พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา  ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กับ ทนพ.วัฒโนทัย ไทยถาวร จากคณะกรรมการศึกษาและปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย ได้เข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่อง ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย จาก การรับบริการสาธารณสุข พศ.... ที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขกำลังวิตกกังวลต่อการถูกฟ้องร้องอยู่ในขณะนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า   ตนเองก็เติบโตมาในครอบครัวแพทย์   เนื่องด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประชาชนตื่นตัวในเรื่องสิทธิเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีปัญหาระหว่างแพทย์และคนไข้  เจตนาที่จะออกกฎหมายนี้  ต้องการให้มีคนกลางไกล่เกลี่ยและช่วยเหลือทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ    หากกลุ่มแพทย์แลบะผู้ให้บริการสาธารณสุขมีข้อเสนอเพื่อจะทำให้ร่างกฎหมายนี้ดีขึ้นอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่เสนอมาแก้ไขได้  จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนสภาวิชาชีพต่างๆ แสดงความเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อร่าง พรบ.ฉบับนี้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ๊งถาวร  อุปนายกแพทยสภา กล่าวเรียน นายกฯว่า  ร่าง พรบ.ค้มครองฯ  ตามชื่อร่าง ก็เพื่อจะคุ้มครองประชาชน ซึ่งแพทย์เองก็คุ้มครองประชาชนด้วยการรักษาพยาบาลตามหน้าที่อยู่แล้ว  และหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็ประสงค์ให้ผู้ป่วยได้รับการค้มครองเช่นกัน   แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระในมาตราต่างๆ ของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว  กลับไม่เป็นไปเพื่อจะค้มครองผู้ป่วย  และด้วยเป็นพรบ.เกี่ยวกับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข  การพิจารณาถูก-ผิด ควรต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งจำเป็นต้องที่ผู้เชี่ยวชาญดูแลในทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับนโยบาย  ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ  ควรที่จะได้ทำให้รอบคอบยิ่งขึ้น

ด้านทันตแพทย์ธรณินทร์ ผู้แทนทันตแพทยสภา กล่าวว่า คณะกรรมการของ ร่าง พรบ.นี้  โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล  กำหนดให้มี เอ็นจีโอ 6  คน และผู้ทรงคุณวุฒิ อีก 3 รวมเป็น 9 คน ใน 11 คน  จะทำให้คณะกรรมการชุดนี้  อาจมีผู้เสนอร่างนี้เข้าไปเป็นกรรมการใช้เงินกองทุนนี้ด้วยเสียงข้างมากตั้งแต่เริ่มต้น  จะทำให้มีการผิดรูปผิดแบบคณะกรรมการ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดผลดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้

ศ.ดร.สมจิตร  นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ด้วยเป็นร่าง พรบ.ที่เกี่ยวพันกับสาธารณชน กระทบถึง สถานีอนามัย ควรที่จะได้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ทราบ และมีความเห็นต่อ ร่าง พรบ.นี้อย่างถ้วนทั่วก่อน 

ขณะที่ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์  เห็นว่าร่าง พรบ.นี้ ยังไม่ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ อย่างดีพอ ว่ากลไก ที่กำหนดไว้ จะแก้ไขปัญหา หรือ จะมีผลทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น   จึงควรมีการศึกษา วิเคราะห์ให้รอบคอบ เสียก่อน

ด้าน พญ.พจนา  กองเงิน ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. กล่าว ถึงการทำงานภายใต้ข้อจำกัด ซึ่ง สปสช.กำหนดมากมาย ทำให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปต้องทำงานหนักอย่างมาก  สปสช.ได้สร้างปัญหาภาระงานให้กับผู้ให้บริการมากแล้ว  หาก มี พรบ.คุ้มครองนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์นี้แย่ลงเพิ่มอีก

พญ.สุธัญญา บรรจงภาค  กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 80 (2) ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครอง   แต่ขณะนี้ยังคงไม่มีการคุ้มครองผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่อย่างใด 

ส่วน นพ.ประดิษฐ์  กล่าวว่า ภาระงานทุกวันนี้มีมากเกินกำลังที่ระบบจะรองรับได้  แพทย์มีคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ขณะนี้ ถึง 200 ล้านครั้งในปีงบประมาณที่ผ่านมา   คนไข้แต่ละคนจึงได้รับบริการเพียงคนละ 1 ถึง 2 นาที  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย  แพทย์มีทางออกของแพทย์ได้ แต่ผลร้ายของ ร่าง พรบ.นี้ จะทำให้แพทย์ต้องทำการส่งตรวจเพิ่มขึ้น  และต้องทำการประกอบวิชาชีพแบบละเอียด จะทำให้คนไข้ต้องได้รับบริการอย่างล่าช้า  ร่าง พรบ.นี้จะทำให้ปัญหาเดิมของแพทย์ รุนแรงขึ้น

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ  กล่าวว่า ร่าง พรบ.นี้   จะทำให้มีการเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาล    ซึงที่ผ่านมาโรงพยาบาลของรัฐ ก็จะได้รับงบประมาณเป็นค่ายา ค่าวัสดุ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วย จากงบประมาณแผ่นดิน  หากมี พรบ.นี้ โรงพยาบาลที่ได้รับเงินงบเพื่อการให้บริการผู้ป่วยอย่างจำกัด ในแบบที่เป็นปัจจุบัน  ก็จะต้องนำเงินงบแผ่นดินที่ได้ย้อนกลับไปจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนอีก ทำให้เงินค่ายาที่โรงพยาบาลได้รับเพื่อเป็นค่ายาค่าวัสดุทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยต้องลดลงไปอีก   จะทำให้เป็นภาระการคลังของประเทศ

พญ.เชิดชู  อธิยศรีวัฒนา ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง กล่าวว่า ร่าง พรบ.นี้ จะทำให้มีการฟ้องร้องผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น  ประกอบกับขณะนี้ แพทย์ขาดแคลนอย่างรุนแรง แพทย์มีภาระงานมาก  ประเทศไต้หวัน มีประชากร 23 ล้านคน  มีแพทย์ 50 000 คน  ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน  มีแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ให้การดูแลเพียง 8,000 คน  ร่าง พรบ.นี้ จะสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยและผู้ให้บริการ  ซึ่งเภสัชกรหญิง พัชรี  ศิริศักดิ์ ได้กล่าว เสริม พญ.เชิดชู ในด้านบริการที่เป็นภาระอย่างหนักของผู้ให้บริการด้วย

พญ.อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล คณะกรรมการการศึกษาและปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว กฎหมาย มีไว้เพื่อให้เกิดความสงบสุขของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม  หากผู้ใดเสียหาย จากการกะทำของผู้ใด  กฎหมายกำหนดให้ฟ้องผู้ทำผิดเพื่อนำมาลงโทษ หรือชดใช้ค่าเสียหายได้     สำหรับกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสียหายและเกิดจากบุคคลจำนวนมาก  จะมีกฎหมายลักษณะประกันให้กับผู้เสียหาย เช่น พรบ.กองทุนเงินทดแทน   ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เมื่อลูกจ้างเกิดความเสียหาย  ก็ให้ใช้เงินจากกองทุนเยียวยาเบื้องต้นไปก่อน   หรือ กฎหมายที่ว่าด้วย บุคคลที่ 3 ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุจากยานพาหนะ     ซึ่งกฎหมายในลักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถใช้กับ การรักษาพยาบาล ที่มิใช่กรณีที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย  เนื่องจากการรักษาพยาบาลมุ่งให้บุคคลดีขึ้นจากการป่วย และเป็นบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้ ผ่านกลไกลการควบคุมกำกับโดยสภาวิชาชีพ  เป็นกรณีที่จะนำไปใช้เช่นกรณีความเสี่ยงต่อความเสียหายในสาธารณชนจำนวนมากๆ นั้นไม่ได้     โดยสรุปแล้ว ร่าง พรบ.นี้ขัดกับหลักการของการตรากฎหมาย คือขัดกับความสงบเรียบร้อยในสังคม  จะสร้างปัญหาให้กับสังคมเกิดความเสียหายเนื่องจากผู้ให้การรักษาไม่อาจประกอบวิชาชีพได้  ทำให้ประชาชนที่ต้องการการช่วยเหลือทางการแพทย์ ต้องขาดบริการนี้  เนื่องจากระบบจะขาดผู้ให้บริการอย่างมาก

เมื่อรับฟังข้อคิดเห็นของผู้แทนสภาวิชาชีพต่างๆ แล้ว นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จะได้จัดให้มีคณะทำงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ และ จะให้ทุกส่วนได้ประชุมหาทางออกต่อปัญหานี้ร่วมกัน   จากนั้น คณะแพทย์-พยาบาล-เภสัชกร-ทันตแพทย์-เทคนิคการแพทย์  ก็ได้ถ่ายรูปกับ นายกรัฐมนตรี  และ รศ. พญ.ประสบศรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเหตุที่มาพบนายกรัฐมนตรี และการที่ขอให้มีการทบทวน ร่าง พรบ.นี้


เขียนโดย แพทย์หญิง อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล โรงพยาบาลราชวิถี   

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
Re: คณะผู้ประกอบวิชาชีพฯ เข้าพบนายกรัฐมนตรี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 กรกฎาคม 2010, 16:29:36 »
หวังว่า นายกฯ จะเข้าใจ