ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด‏  (อ่าน 2553 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด‏
« เมื่อ: 19 มีนาคม 2012, 22:17:28 »

จากข่าว (1) ว่าเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 55 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาเพิ่มขึ้นจาก 36,506 ล้านบาทในปี 2543 เป็น98,375 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2551 โดยมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 2 เท่าตัว และมีแนวโน้มการนำยาเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 ในช่วงเดียวกัน และยังบอกอีกว่าจากการสำรวจของกรมการแพทย์ พบว่าในปี 2553 คนไทยกินยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณปีละ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด

ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงกว่าประเทศอื่นจริงหรือไม่?

  จากข้อมูลข้างต้นนี้ พบว่าค่ายาเป็นค่าใช้จ่ายมากถึง 46% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้วสำหรับข้อมูลเรื่องนี้ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น มีมูลค่ามากกว่ามูลค่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทย กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีมูลค่าเท่ากับประมาณ 8-10% ของรายได้มวลรวมของประชากรทั้งประเทศ (GDP) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยนั้นมีมูลค่าเพียงเท่ากับ 4%ของGDP (2)

 ถ้าเราไปดูอัตราส่วนค่าใช้จ่ายด้านยา ของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีมูลค่าเพียง ½ ของค่าใช้จ่ายยาของประทศไทย ผู้เขียนก็ขอวิเคราะห์ว่าอาจเป็นได้เนื่องจากประเทศไทยมีค่า”จ้างแรงงานของบุคลากรทางการแพทย์” ต่ำมาก เมื่อเทียบกับค่า “จ้างแรงงานของบุคลากรทางการแพทย์”ของต่างประเทศ นอกจากนั้นประเทศไทยไม่ได้คิดราคาของอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือค่าอาคารสถานที่โรงพยาบาลต่างๆที่รัฐบาลต้องลงทุนเพื่อใช้ในการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เอามารวมไว้ในรายการค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้านยาสูงมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ  เนื่องจากคิดค่าใช้จ่ายเพียงในด้านบุคลากรและค่ายาเท่านั้น ทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นดังที่มีตัวเลขแสดงให้เห็นแล้ว

   นอกจากนั้นยังพบว่าประเทศไทยได้จัดให้มีบริการตรวจรักษาโรคฟรี ในกลุ่มประชาชน 48 ล้านคน ที่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไปโรงพยาบาลมากขึ้น และอยากให้หมอสั่งยาให้เป็นจำนวนมากๆ ได้ยาไปแล้วก็อาจจะทำซองยาหายบ้าง กินยาไปแล้วเพียง2-3 วันรู้สึกว่าไม่ดีขึ้นก็เลิกกินแล้วไปหาหมอซึ่งอาจไม่ใช่หมอคนเดิม (เนื่องจากระบบโรงพยาบาลไทยในรพ.รัฐบาล  มีแพทย์เปลี่ยนเวรกันมาตรวจผู้ป่วยทุกวัน และถึงแม้จะมีระบบนัดให้ผู้ป่วยมาติดตามดูอาการ ผู้ป่วยก็อาจไม่มาตามนัด) แล้วผู้ป่วยก็ขอยาใหม่ ยาเก่าก็(ไม่ได้เอามาคืน)ก็เอาทิ้งไป เนื่องจากไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่ายา ทำให้ไม่ตระหนักในคุณค่าของเงินที่จะต้องใช้จ่ายเป็นค่ายา และทำให้จำนวน “เม็ดยา”ที่ใช้รักษามีมาก โดยไม่ได้นำไป “กิน” จริงๆ อีกเป็นจำนวนเท่าไรก็ยังไม่ได้มีการสำรวจ

  ส่วนประชาชนในระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ เมื่อเจ็บป่วยก็ได้รับสิทธิการรักษาจากทั้ง 2 กองทุนนี้เช่นเดียวกัน อาจทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพได้เช่นกัน ซึ่งในกรณีที่กล่าวนี้ อาจทำให้มีการสูญเสียยา อย่างน่าเสียดาย และเป็นสาเหตุให้มีการสั่งใช้ยาเพิ่มมากขึ้น และมูลค่าของค่าใช้จ่ายค่ายาจึงเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวแล้ว

ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้มีการเจ็บป่วยมากขึ้น

 แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากถึง 10% และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น (3)ในขณะที่มีการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้อัตราส่วนจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น และความเจริญทางการแพทย์ทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ซึ่งในวัยผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดโรคภัยหรือความเจ็บป่วยจากปัญหาความ “เสื่อม”ของสังขาร ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัย “ยา” มากขึ้น ประกอบกับในปัจจุบันนี้  ก็มียาใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก ทำให้แพทย์สามารถรักษาโรคร้ายแรงเช่นมะเร็ง เอดส์ หัวใจ เบาหวาน ความดัน ได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ยังมีอาการของโรคเรื้อรังมากขึ้นที่ยังต้องกินยาควบคุมอาการมากขึ้น ฉะนั้นปริมาณการใช้ยาจึงมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากโรคที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยยังต้องพึ่งพาการกินยาไปจนตลอดชีวิต จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณยาที่ใช้มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ

การได้รับแจกยาฟรีๆทำให้ผู้ป่วยไม่ตระหนักว่า “ต้องมีการจ่ายค่ายา”

   อนึ่ง ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม หรือสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ต่างก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนมีความรับผิดชอบในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีแต่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาโรงพยาบาลเมื่อป่วยแล้วเท่านั้น ทำให้ประชาชนไม่เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงทำให้อัตราป่วยของประชาชนเพิ่มมากขึ้น อัตราการไปโรงพยาบาลมากขึ้นทุกปี จากปีละ 120 ล้านครั้ง มาจนถึงปีละ 200 ล้านครั้งในปัจจุบัน(4) จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราการใช้ยาและค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาสุขภาพจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากมายดังกล่าว
ประชาชนซื้อยากินเองได้อย่างเสรีทำให้ใช้ยาโดยไม่จำเป็น

  นอกจากนั้นจากข่าว(1)ที่กล่าวถึงว่าประชาชนไทยยังซื้อยากินเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด กินยาปฏิชีวนะมากถึง 20%ของยาทั้งหมด กินยาแก้ปวดทุกวันร้อยละ 2.3 กินยานอนหลับเป็นประจำร้อยละ 2.3 กินยาลูกกลอนเป็นประจำร้อยละ 2.1 กินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.1

  ผู้เขียนขอวิเคราะห์ว่า การที่คนไทยซื้อยากินเองถึงร้อยละ 15 นั้น ก็คงเนื่องจากประเทศไทยโดยองค์การอาหารและยา(อย.) แห่งกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ควบคุมการขายยาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการขายยาอันตรายคือ ยาปฏิชีวนะ(ที่คนทั่วไปเรียกง่ายๆว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ”)  ฉะนั้นเมื่อประชาชนคิดว่า ตนเองหรือลูกหลานในครอบครัวป่วย ก็คิดว่าต้องไปซื้อยา “แก้อักเสบ” ซึ่งก็คือยา “ปฏิชีวนะ” มากินเองได้โดยง่าย แล้วก็กินไม่ถูกขนาด( กินครั้งละมากเกินไป,หรือน้อยไป) และก็กินไม่ครบเวลาที่ควรจะกินติดต่อกันไป(ครบระยะเวลาเช่น 5 วัน หรือ 7 วัน) เช่นพอเป็นหวัดรู้สึกเจ็บคอเล็กน้อย ก็คิดว่าตนเองมีคออักเสบ ก็ไปซื้อยา “แก้อักเสบมากินเอง” ทั้งๆที่ยาแก้อักเสบ(หรือยาปฏิชีวนะนั้น) ไม่จำเป็นในกรณีที่อาการเจ็บคอนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้นการกินยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผลดีต่อการรักษาเลย  กลับจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียปกติที่มีอยู่ในร่างกาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียตัวร้ายหรือเชื้อรามีพลังทำร้ายร่างกายได้มากขึ้น

 หรือถ้าอาการเจ็บคอนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียการกินยาปฏิชีวนะก็จะมีผลในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเท่านั้น  เมื่อผู้ป่วยกินยานี้ไป 1-2 วัน พอรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็หยุด ทั้งๆที่เชื้อแบคทีเรียนั้นยังไม่”ตาย”หมด ทำให้เชื้อเหล่านั้นสามารถลุกลามต่อไป และอาจมีภูมิต้านทานต่อฤทธิ์ยามากขึ้น ทำให้เชื้อดื้อยา และรักษาไม่หาย  คราวนี้ก็ต้องไปหาหมอ และต้องเปลี่ยนยาใหม่ให้สามารถกำจัดแบคทีเรียตัวนี้ได้ ทำให้ต้องกินยามากกว่าที่สมควรกิน
 ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงการไปซื้อยาอื่นๆ รวมทั้งยา”ลูกกลอน” ที่ไม่มีข้อมูลบอกว่าตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆนั้น มีตัวยาอะไรบ้าง มีตัวยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมอยู่ด้วยหรือไม่?  เช่นมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (steroid) ซึ่งถ้ากินไปนานๆก็จะมีอันตรายต่อร่างกายหลายๆอย่าง

 ซึ่งอย.ได้มีมาตรการตรวจสอบและควบคุมการ “ผลิต” ยา “ลูกกลอน” หรือยาแผนไทย แผนจีน บ้างหรือไม่?
การแก้ปัญหาการใช้ยามากเกินไป

1. ควรให้ผู้บริหารกองทุนเป็นผู้กำหนด “รายการยาในบัญชียาหลัก” หรือไม่?

จากการที่มีข่าวว่า 3 กองทุนเร่งควบคุมระบบการจ่ายยา(5) และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช.“กล่าวหาว่า” แพทย์นิยมสั่งยานอกยี่ห้อดังๆ ก็ควรต้องไปทบทวนว่า ยานอกนั้นมีคุณภาพดีกว่ายาในจริงหรือไม่? และถ้าเลขาธิการสปสช.ป่วย จะให้แพทย์สั่งยานอกหรือยาในใช้กันแน่? ควรให้ผู้บริหารกองทุนกำหนด”รายการยาในบัญชียาหลัก” ทั้งๆที่ผู้บริหารกองทุนเหล่านี้มิใช่ “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกโรค” จึงเท่ากับการ “ละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย” ไม่ให้ได้รับยารักษาที่เหมาะสมที่สุด และยังเป็นการ “ละเมิดสิทธิในการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระของแพทย์” ไม่ให้แพทย์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ในการใช้ดุลพินิจของตนเองสั่งยาหรือสั่ง”วิธีการรักษา”ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ป่วยแห่งตน ทำให้ผู้ป่วยไม่หายจากอาการป่วยอย่างดีที่สุด

แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพ และยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องเร่งให้มีการยุติการกระทำดังกล่าวนี้โดยด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาการใช้ยามากเกินไป
ผู้เขียนในฐานะประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)และประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง ขอเสนอแนวทางแก้ไขการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมดังนี้

1. การควบคุมการขายยา
  1.1 โดยการกำหนด ให้ยาแผนไทย ยาแผนจีน และยาในการแพทย์ทางเลือก ต้องมีฉลากกำกับยาเหมือนยาแผนปัจจุบัน
  1.2.กำหนดให้มีเภสัชกรประจำร้านขายยาทุกแห่ง ไม่ใช่มีแต่ป้ายแขวนชื่อเภสัชเท่านั้น นอกจากนั้นควรกำหนดให้ยาปฏิชีวนะและยาอันตรายอื่นๆ จะขายได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์ และมีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุมการขายเท่านั้น เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายในโลกนี้

  จำนวนเภสัชการของเราก็มีจำนวนมากมายแล้ว การกำหนดให้มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านขายยา จึงน่าจะมีความเป็นไปได้สูง การมีเภสัชกรประจำร้านขายยา และการบังคับให้ขายยาอันตรายเมื่อมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น จึงจะช่วยป้องกันการ “กินยา” ที่ไม่เหมาะสมได้

 สำหรับในกรณีที่บอกว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะใช้ยาจากต่างประเทศมากขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 65 นั้น ผู้เขียนคิดว่า อาจจะมีสาเหตุมาจากในปัจจุบันนี้ มียาใหม่ๆมากมายที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆที่มีความร้ายแรงมากขึ้น และเมื่อก่อนนี้ยังไม่มียารักษาได้ เช่นยารักษามะเร็ง รักษาเอดส์ ใช้ในกรณีไตวายได้แก่Erythropoietin และยาอื่นๆอีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ผลิตจาก สารชีวภาพหรือชีววัตถุ (Biological) ซึ่งมีโมเลกุลซับซ้อนมากว่ายาเดิมๆ ทำให้ราคาของยาใหม่ๆสูงขึ้น จึงทำให้มูลค่าของยาเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

  แต่ถ้าจะมาเปรียบเทียบมูลค่าของยาที่ประเทศไทยนำเข้ามาจากต่างประเทศ จะพบว่า มูลค่ายาของประเทศไทยจะเทียบได้เป็นเพียง 0.25% ของมูลค่ายาทั้งโลกเท่านั้น และค่ายาต่อหัวประชากรของโลกเท่ากับ 126.27 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่ายาต่อหัวของคนไทย 43.98 เหรียญสหรัฐ)

2. กำหนดให้ผู้ป่วยร่วม”จ่ายค่ายา” เพื่อให้ตระหนักถึง “ราคาที่ต้องจ่าย”เนื่องจากของที่ได้มาฟรีๆ มักจะทำให้ประชาชนลืมไปว่ายาที่ได้มาฟรีๆนั้นมันก็ต้องมีการจ่ายเงินเสมอ ในกรณีของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ต้องจ่ายจากเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง ในต่างประเทศเช่นแคนาดาหรือสหรัฐอเมริกา  ประชาชนก็ต้องจ่ายค่ายาจะมากบ้างน้อยบ้างแต่ก็ต้องจ่าย อาจจะมียกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินบ้าง ก็เฉพาะผู้ที่ยากจนจริงจึงสมควรจะได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล ถ้าประเทศไทยจะให้ประชาชนที่ไม่ยากจนจ่ายเงินค่ายาบ้าง ก็คงจะช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและราคาที่ต้องจ่ายไปเพื่อให้ได้ยามารักษาตัว และจะช่วย “ประหยัดเม็ดยา”ลงได้อีกมากมาย

  อาจจะมีคนพูดว่า ไม่รู้ว่าจะแบ่งเขตความยากจนตรงไหน? ผู้เขียนทราบว่า ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ได้ทำการศึกษาและพยายามแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน(6)  แม้ในประเทศที่ร่ำรวยเช่น ประเทศสหรัฐเองก็สามารถกำหนดได้ว่ารายได้แค่ไหนถือว่ายากจน

  หวังว่าสปสช.คงจะไม่แกล้งโง่อ้างว่าไม่รู้ใครจนหรือไม่จน เพราะเคยมีคนระดับรัฐมนตรีบอกในที่ประชุมว่า ไม่รู้จะเอามาตรฐานอะไรมาบอกว่าใครจน/ไม่จน

3. อย่าเอา”จำนวนเงิน” มากำหนดมาตรฐานการสั่งยาหรือการรักษาผู้ป่วย

  ในระบบประกันสุขภาพหรือประกันสังคมในสหรัฐเอง ก็มีข้อกำหนดว่าให้ประชาชนที่มีสิทธิในการรักษาสุขภาพ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติด้วย เช่น ไปพบแพทย์ตามนัดเท่านั้นยกเว้นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจึงจะไปพบแพทย์โดยม่นัดหมายได้ หรือต้องร่วมจ่ายค่าตรวจพิเศษ(เช่นการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ )หรือต้องร่วมจ่ายค่ายาด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเรียกร้องการตรวจพิเศษที่ไม่จำเป็น

หรือในประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบการทำหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ก็กำหนดว่าถ้าประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วย ก็จะต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการรักษาตัวด้วย

  แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ยากจน และจะยากจนยิ่งขึ้นเนื่องจากต้องกู้เงินอีกหลายแสนล้าน(หรืออาจจะเป็นจำนวนหลายล้านล้านบาทแล้ว) ยังทำตัวเป็นยากจกใจบุญ ทุ่มทุนแจกไม่อั้นในระบบการแพทย์และสาธารณสุข  แบบนี้ก็คงจะต้องล้มละลายในเร็ววัน

   คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็รู้ความจริงข้อนี้ดี จึงนำเอา “จำนวนเงิน” มาเป็นหลักในการสั่ง”ห้าม”แพทย์ ไม่ให้จ่ายยานอกบัญชียาหลัก หรือสั่งห้ามแพทย์ไม่ให้รักษาผู้ป่วยตามความเห็นทางวิชาการแพทย์ที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน แต่ให้จ่ายยาเฉพาะในบัญชียาหลัก(ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค) และสั่งให้รักษาผู้ป่วยไตวายครั้งแรกด้วยการล้างไตทางชิ่องท้องทุกราย โดยแพทย์ไม่สามารถ “เลือกไปใช้วิธีอื่น”ที่เหมาะสมกว่าได้ ไม่เช่นนั้นสปสช.จะไม่จ่ายเงินค่ารักษา  จนทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้ป่วยเอง คือ “ตาย” มาก โดยผู้ป่วยที่”ต้อง”ล้างไตทางหน้าท้องตาม “ใบสั่ง” ของสปสช.มีอัตราตายสูงมากเฉลี่ยอัตราตาย 40% แต่บางแห่งมีอัตราตายถึง 100%  ซึ่งนายแพทย์ดำรัส โรจนเสถียรได้เปิดเผยข้อมูลของสปสช.เอง ต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 55 (7)แต่ไม่ทราบว่ากรรมาธิการสาธารณสุขจะสามารถยุติการกระทำของสปสช.ไว้เพื่อ “ช่วยชีวิตผู้ป่วยไตวาย”ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ 

 ประชาชนต้องติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันญาติมิตรที่ป่วยด้วยอาการไตวายแล้ว ยังเสี่ยงตายเร็วเนื่องจากการบังคับให้รับการรักษาโยการล้างไตทางช่องท้องจากกองทุนหลักประกันสุขภาพดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง
(1)คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033223
(2)ประเทศไทยเทียบกับโลก www.whoint.GDP, www.worldbank.org
(3) ประเทศไทยก้าวเช้าสู่สังคมผู้สูงอายุ http://www.ctop-file.com/intro_th.htm
http://www.moph.go.th/ops/thp/index.php?option=com_content&task=view&id=11&Itemid=25
http://www.108acc.com/index.php?mo=3&art=255590
(4) สถิติสาธารณสุข
(5) 3 กองทุน ชี้ เร่งวางแผนคุมระบบจ่ายยา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033272
(6)เส้นความยากจนสัดส่วนและจำนวนคนจน http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=168
http://www.manager.co.th/business/ViewNews.aspx?NewsID=9540000124558
(7) เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา  ถนนอู่ทองใน แขวงสามเสนใน ดุสิต กทม. ๑๐๓๐๐ โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๑๙-๒๐ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๐
“การล้างไตทางช่องท้อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แนะสปสช.ทบทวนหลักเกณฑ์”

         เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา คณะกรรมาธิการ
การสาธารณสุข วุฒิสภา โดยนายแพทย์อนันต์  อริยะชัยพาณิชย์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาศึกษาถึงการรณรงค์การล้างไตทางช่องท้องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
ในปัจจุบัน โดยได้เชิญ นายแพทย์ดำรัส  โรจนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและคณะ มาให้ข้อมูลกับ
คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ สปสช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายและใช้บัตรทองที่ต้องมีการฟอกไต ให้เริ่มต้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องตามนโยบายส่งเสริมการล้างไตช่องท้อง (CAPD First policy) จึงไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยระบุว่าผู้ป่วยรายใหม่หากไม่สมัครใจทำการล้างไตผ่านช่องท้อง ต้องการทำโดยวิธีฟอกเลือดจะต้องจ่ายค่าฟอกเลือดเอง ซึ่งทั่วไปจะอยู่ในราวหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ปัจจุบันผู้ป่วยตามสิทธิฯ ที่ได้รับบริการฟอกไตมีประมาณ ๑๙,๐๐๐ คน แบ่งเป็นเป็นการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ประมาณ ๙,๖๐๐ คน เป็นการฟอกเลือด (HD) ประมาณ ๙,๓๐๐ คน

      แต่จากข้อมูลวิชาการที่คณะผู้เชี่ยวชาญฯ นำเสนอ พบว่าการล้างไตโดยวิธีการดังกล่าวแม้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีข้อจำกัดมาก โดยผู้ป่วยต้องเรียนรู้และมีความรู้ ความชำนาญพอเพียงในการดูแลตนเอง ต้องมีเทคนิกป้องกันการติดเชื้อที่ดี ต้องทำในบ้านที่มีความสะอาดสูง ต้องมีสถานที่เก็บน้ำยาที่ได้มาตรฐานในบ้าน ต้องมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆทุกราย เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรของคนไข้กลุ่มนี้ ทั้งยังต้องเปลี่ยนเป็นฟอกเลือดได้เมื่อจำเป็น การตั้งเกณฑ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย ไม่เคารพในการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยของแพทย์ ซึ่งในบางรายอาจต้องให้การรักษาเริ่มต้นโดยวิธีฟอกเลือด  รวมทั้งจากข้อมูลสถิติผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับ สปสช.ในช่วงที่ผ่านมาที่เผยแพร่ทางเวปไซด์ ก็พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากในหลายพื้นที่ โดยยังไม่มีการแสดงผลวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางป้องกันที่ชัดเจน

         จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความห่วงใยและกังวลต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จำกัดให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและใช้บัตรทองรายใหม่ ต้องล้างไตทางช่องท้องเท่านั้น (CAPD First policy)  โดยไม่ให้สิทธิผู้ป่วยในการเลือกการรักษาที่ดีที่สุด และไม่เคารพการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาตามมาตรฐานของแพทย์ อีกทั้งการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สปสช. จึงควรพิจารณาทบทวนในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง.


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
19 มี.ค. 55