ผู้เขียน หัวข้อ: การสาธารณสุขของไทยกับอุปสรรคในทางกฎหมาย  (อ่าน 4613 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด


1.บทนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 52  บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา 82 บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง         

บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญข้างต้น เป็นการรับรองสิทธิในทางการสาธารณสุขของประชาชนไทย และเป็นการกำหนดหน้าที่ของรัฐในการจัดการด้านการสาธรณสุข   

ครั้นต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  เพื่อรับรองการบังคับใช้ตามสิทธิในทางการสาธารณสุขของประชาชน  และหน้าที่ของรัฐในการจัดการทางสาธารณสุข ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ    โดยกฎหมายฉบับนี้มีโครงสร้างเป็น
๑.   สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข
๒.   องค์กรและอำนาจหน้าที่
๓.   กองทุน
๔.   มาตรฐานบริการสาธารณสุข และการกำกับ

2.ความหมายของ “สิทธิในการรับบริการสาธารณสุข”

โดยที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตราขึ้นเพื่อรับรองการบังคับใช้ตามสิทธิในทางการสาธารณสุขของประชาชน  และหน้าที่ของรัฐในการจัดการการทางสาธารณสุข  จึงมีเนื้อหาที่เป็นการกำหนดขั้นตอนของการการใช้สิทธิของประชาชน   และการกำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่ต้องมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ  เช่น แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 52  บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย  และต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ นั้น  มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2547  ให้อำนาจคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เป็นผู้กำหนดประเภทของการบริการสาธารณสุข    ขอบเขตของบริการสาธารณสุข   ที่จะให้บริการกับประชาชน และการที่ประชาชนจะใช้สิทธิรักษา พยาบาลได้ ก็ต่อเมื่อยื่นได้คำขอลงทะเบียนต่อสำนักงานหรือหน่วยงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนด เพื่อเลือกหน่วยบริการ เป็นหน่วยบริการประจำ   และการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขได้นั้น มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันได้กำหนดไว้เฉพาะ

-   จากหน่วยบริการประจำของตนหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง
-   จากหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจำของตนหรือเครือข่ายหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องส่งต่อ

               เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน  จึงจะมีสิทธิเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นได้ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด   

          จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้  แสดงให้เห็นในเบื้องแรกว่า  สิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า  มีสิทธิเสมอกันในการรับบริการนั้น ก็แต่เฉพาะที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากนอกเหนือจากประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด   ประชาชนจะต้องจ่ายหรือซื้อบริการสาธารณสุข จากหน่ายบริการประจำของตน หรือหน่วยบริการอื่นๆ และแม้แต่จะเป็นกรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน  ก็มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้เท่านั้น

      และจากบทบัญญัตินี้ แสดงให้เห็นอีกว่า หน่วยบริการจะต้องให้บริการแก่ผู้มีสิทธิรับบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เฉพาะประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่คณะกรรม การหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดเท่านั้น     และบุคลากรทางการสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์ ถูกจำกัดการทำหน้าที่ให้ต้องรักษาผู้มีสิทธิรับบริการอีกเช่นเดียวกัน     ดังนั้น หากผู้มีสิทธิรับบริการประสงค์จะใช้บริการ(นอกเหนือ ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนด ไม่ว่ากรณีใดๆ)ต้องจ่ายค่าบริการนั้นเอง   

3.มาตรฐานบริการสาธารณสุข

      บริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  หมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต  และหมายรวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ     ซึ่งในมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งครอบคลุมถึง

(1) การใช้วัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษาที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ โดยให้ความเสมอภาคและอำนวยความสะดวกในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็น ตลอดจนเคารพในสิทธิส่วนบุคคล ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเชื่อทางศาสนา

(2) การให้ข้อมูลการบริการสาธารณสุขของผู้รับบริการตามที่ผู้รับบริการร้องขอและตาม ประกาศที่มีการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยและผู้รับบริการโดยไม่บิดเบือน ทั้งในเรื่องผลการวินิจฉัย แนวทาง วิธีการ ทางเลือก และผลในการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้รับบริการตัดสินใจในการเลือกรับบริการหรือถูกส่งต่อ

(3) การให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับชื่อแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้รับผิดชอบในการดูแลอย่างต่อเนื่องทางด้านสุขภาพกายและสังคม แก่ญาติหรือผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการอย่างเพียงพอก่อนจำหน่ายผู้รับบริการออกจากหน่วยบริการหรือเครือข่ายหน่วยบริการ

(4) การรักษาความลับของผู้รับบริการจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) และ (2) อย่างเคร่งครัด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย

(5) การจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสาธารณสุข เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบคุณภาพและบริการ รวมทั้งการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข

      ทั้ง 5 ข้อ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  มาตรา 45 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยบริการ ภายใต้มาตรฐานและหรือกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

      ดังนั้น นอกจากประเภทของการบริการและขอบเขตของบริการสาธารณสุข จะมีครอบคลุมเพียงใดดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้ว  มาตรฐานและคุณภาพของวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษา จะเป็นไปในทิศทางใดจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดอีกด้วย   

4. คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
   
      การที่ประเภทของการบริการและขอบเขตของบริการสาธารณสุข รวมถึงมาตรฐานและคุณภาพของวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษา มีครอบคลุมเพียงใดซึ่งมีความสำคัญต่อประชาชนผู้รับบริการ  บทความจึงไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ 

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ซึ่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  ผู้แทนเทศบาลหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหนึ่งคน ผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้าน งานด้านเด็กหรือเยาวชน งานด้านสตรี งานด้านผู้สูงอายุ งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น งานด้านผู้ใช้แรงงาน งานด้านชุมชนแออัด งานด้านเกษตรกร งานด้านชนกลุ่มน้อย จำนวนห้าคน  ผู้แทนผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขจากแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ด้านละหนึ่งคน  ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านประกันสุขภาพ การแพทย์และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การเงินการคลัง กฎหมายและสังคมศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน     

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีอำนาจหน้าที่ กำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และเครือข่ายหน่วยบริการ และกำหนดมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต และอัตราค่าบริการสาธารณสุขตามมาตรา 5  กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการถอดถอนเลขาธิการ และกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการ ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการรักษาเงินกองทุน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ผู้รับบริการไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร     และมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่  รวมถึงการกำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ    การอนุมัติแผนการเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การควบคุมดูแลการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การติดตามประเมินผล และการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   

ดังนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จึงเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจในกิจการสาธารณสุขภายใต้โครงสร้างตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการการออกกฎเกณฑ์ประเภทของการบริการและขอบเขตของบริการสาธารณสุข รวมถึงมาตรฐานและคุณภาพของวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ในการรักษา อันมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปแล้ว  และกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพในการปฏิบัติการตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

กรณีเป็นเรื่องแปลกที่องค์กรผู้ใช้อำนาจซึ่งมีลักษณะอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองในกิจการสาธารณสุขโดยแท้   แต่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  มิได้กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติและมาตรฐานกรรมการในด้านประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในด้านการสาธารณสุข ให้เป็นไปอย่างครอบคลุม   ทั้งที่อำนาจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีผลกระทบต่อการจัดบริการสาธารณะสุขของรัฐต่อประชาชนทั้งประเทศ  เช่น กรณีที่มีการเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 41 โดยอ้างว่า ไม่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาความเสียหายของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจากสาธารณสุข ทั้งๆวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มีอำนาจออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการช่วยเหลือผู้ป่วยไว้แล้วซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  สามารถพิจารณาให้มีการขยับเพดานขั้นสูงจากสองแสนบาทในปัจจุบันให้สูงขึ้นกว่าเดิม    และสามารถกำหนดเงื่อนไขให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งนี้ ตามมาตราเดียวกันนี้ กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือผู้ป่วย   โดยไม่มีความจำเป้นอย่างใดที่จะให้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขบังคับใช้กับกรณีดังกล่าวแทน  ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งเป็นการให้นำเงินตามมาตรา 41 ไปรวมกับกองทุนที่ตั้งขึ้นใหม่ซึ่งจะได้จากการที่รัฐบาลจ่ายสมทบ และจากหน่วยบริการ    ทั้งนี้ ให้เหตุผลในการจะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขว่า เพื่อให้คดีที่เกิดขึ้นจากการฟ้องร้องคดีระหว่างผู้ป่วยที่เสียหายจากบริการสาธารณสุขกับบุคคลากรทางการแพทย์ให้ลดน้อยลง  และให้ผู้ป่วยได้รับการชดเชยเยียยาที่รวดเร็วขึ้น  ทั้งๆที่ไม่ปรากฏว่าตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข นั้นได้มีการยกเว้นว่า กองทุนใหม่นี้งดเว้น  หรือไม่มีสิทธิไล่เบี้ยกับคู่อีกฝ่ายหลังจากที่จ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหายตามที่ร้องขอไปแล้ว  อีกทั้งการพิจารณาว่าจะจ่ายเงินหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยเสียก่อนว่า ความเสียหายที่ผู้ป่วยได้รับนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องหรือไม่พร้อมของระบบบริการสาธารณาสุข หรือบกพร่องเพราะการกระทำของบุคคลากรทางการแพทย์  ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยได้จะต้องมีคุณสมบัติและระดับขีดความรู้ ความสามารถให้สูงเพียงพอและหรือเทียบเท่ากับคุณสมบัติของบุคคลการกรทางด้านการแพทย์หรือไม่อย่างใด หรือเท่ากับกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มาจากสัดส่วนขององค์พัฒนาเอกชน     กรณีจึงไม่มีหลักประกันใดๆเลยว่า การพิจารณาจะเป็นไปตามหลักวิชาการทางการสาธารณสุขในทิศทางใดและมากน้อยเพียงใด และจะเป็นธรรมหรือไม่  เหตุดังกล่าวนี้เป็นข้อหนึ่งที่ทำให้ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ถูกค้านค้านอย่างหนักและต่อเนื่องจากบุคคลการทางการแพทย์ เป็นประวัติการณ์

และเมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับบริการที่เป็นโรคไตวายและต้องมีการฟอกไตให้เริ่ม ต้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องตามนโยบายส่งเสริมการล้างไตช่องท้อง (CAPD First policy) โดยระบุว่าผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่   หากไม่สมัครใจทำการล้างไตผ่านช่องท้อง ต้องการทำโดยวิธีฟอกเลือดจะต้องจ่ายค่าฟอกเลือดเอง ซึ่งทั่วไปจะอยู่ในราวหมื่นกว่าบาทต่อเดือน   ปัจจุบันผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้รับบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2547  ที่ได้รับบริการฟอกไต มีประมาณ 19,000 คน แบ่งเป็นเป็นการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ประมาณ  9,600 คน เป็นการฟอกเลือด (HD) ประมาณ 9,300 คน      กรณีดังกล่าวนี้อาจมีปัญหาว่าเป็นการการกระทบต่อสิทธิผู้ป่วยในการเลือกวิธีการรักษาหรือไม่  และเป็นการไม่เคารพการวินิจฉัยและแนวทางการรักษาตามมาตรฐานการ แพทย์หรือไม่    อันเป็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการบริการสาธารณสุขที่เรียกว่า “หลักประกันสุขภาพ “ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545   มิพักต้องกล่าวถึง สิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญว่าต้องได้รับการให้บริการสาธารณสุขของรัฐเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะกำหนดให้ผู้รับบริการทุกคนไม่ต้องเสียค่าบริการและค่ารักษาพยาบาล ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  ซึ่งเป็นไปตามหลักความเสมอภาค และเท่าเทียม แบบคณิตศาสตร์         จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองเฉพาะคนยากจน ผู้ยากไร้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย   ส่วนผู้ที่พอมีฐานะ มีกำลังทางเศรษฐกิจ กลับมีสิทธิเช่นเดียว กับคนยากจน ผู้ยากไร้             เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 52 ซึ่งบังคับใช้ในขณะมีการตราพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้น ได้มุ่งที่จะให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ         การเลือกปฏิบัติกับคนยากจน ผู้ยากไร้โดยการไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม เพราะมุ่งที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำแตกต่างทางฐานะและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ    อันเป็นการสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2550 มาตรา 30 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า  “มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”        กรณีที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงทำให้เกิดภาระต่อค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่จำกัดเป็นอย่างมาก   อันจะมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุขของรัฐ  เพราะต้องเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขให้ต่ำลง เพื่อให้การบริการสามารถครอบคลุมประชาชนผู้รับบริการตามหลักความเสมอภาค และเท่าเทียม แบบคณิตศาสตร์   ซึ่งมิใช่จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545     

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าสิทธิของประชาชนในการรับบริการสาธารณสุข ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้  ตราบใดที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังคงดำเนินการตามทิศทางที่เป็นอยู่ เพราะการดำเนินการดังที่กล่าวมาข้างต้นต่อไป อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงให้เกิดขึ้นกับระบบการรักษาพยาบาลประชาชนของรัฐมากยิ่งขึ้น    จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องขอให้มีการทบทวนการดำเนินการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างจริงจัง เพื่อความชอบธรรมของประชาชน และเพื่อประโยชน์สาธารณะ

นายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์  ทนายความ น.บ.   ป.บัณฑิต(กฎหมายหาชน)

เอกสารอ้างอิง
1.   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
2.   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
3.   พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545