ผู้เขียน หัวข้อ: แชงกรีลา แดนฝันปลายขอบฟ้า-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3654 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

แชงกรีลา คือสถานที่ในตำนานซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง ชื่อนี้ได้มาจากนวนิยายที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1933 ของเจมส์ ฮิลตัน เรื่อง ลับฟ้าปลายฝัน (Lost Horizon) อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกที่เดินทางมาพบกับวัดในอุดมคติชื่อแชงกรีลา ณ ดินแดนรกร้างห่างไกลของทิเบต  อารามแชงกรีลามีพระสงฆ์จำวัดอยู่กว่า 50 รูปจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทุกรูปล้วนมุ่งมั่นในการศึกษาด้านจิตวิญญาณ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมปัญญาของมนุษยชาติ

                ว่ากันว่าฮิลตันได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในการสร้างแชงกรีลามาจากข้อเขียนของนักพฤกษศาสตร์นามโจเซฟ ร็อก ผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการสำรวจและการผจญภัยในมณฑลยูนนานอันห่างไกล ไปจนถึงทิเบตและที่อื่นๆ ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ  นอกจากนี้  ฮิลตันยังอาจเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับศัมภาลา (Shambhala) หรือสรวงสวรรค์บนแดนดินตามคติพุทธศาสนาแบบทิเบต ซึ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนปลอดพ้นจากความฉ้อฉลและความโลภโมโทสันของโลกภายนอก

แม้ว่าปัจจุบันแทบจะไม่มีคนอ่านนวนิยายเรื่องนี้กันแล้ว แต่คำว่าแชงกรีลาและสิ่งที่คำคำนี้สื่อถึง นั่นคือ   สถานที่สุดปลายฟ้าอันงดงามและความเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณ ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลกมาช้านาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนวนิยายว่าด้วยยูโทเปียหรือดินแดนในอุดมคติเล่มอื่นๆเช่นกัน  กล่าวคือเนื้อเรื่องแทบไม่ได้กล่าวถึงความทุกข์ยากหรือธรรมชาติด้านลบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความอิจฉาริษยา ราคะ โลภะ และความทะเยอทะยาน จึงทำให้ภาพรวมของหนังสือและแก่นเรื่องอันได้แก่แชงกรีลา ดูเรียบง่ายเกินไป และช่างตรงกันข้ามกับความเป็นจริงของเมืองที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าแชงกรีลาในปัจจุบัน

ก่อนหน้าที่จะได้ชื่อว่าแชงกรีลานั้น เมืองนี้มีชื่อเดิมว่าจงเตี้ยน เป็นเมืองบนเส้นทางการค้าที่ระดับความสูง 3,160 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกลุ่มโกรกธารที่ลึกและตระการตาที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นจุดนับพบของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สามสาย ได้แก่ แยงซีเกียง โขง และสาละวิน นี่คือภูมิภาคอันห่างไกลที่ร็อกเคยสำรวจในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930

ทว่าหลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปนับจากนั้น เริ่มจากการทำไม้เพื่อการค้าขนาดใหญ่ที่เปิดฉากขึ้นในทศวรรษ 1950 พอถึงช่วงกลางทศวรรษ 1990 รายได้กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่แถบนี้ได้มาจากอุตสาหกรรมป่าไม้ แต่เมื่อถึงปี 1998 การตัดไม้เกินขนาดในบริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียงมีส่วนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ รัฐบาลจีนจึงประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้เพื่อการค้าทุกชนิดในภูมิภาคแห่งนี้  เมืองจงเตี้ยนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนและการค้า ด้วยการหันไปหาการท่องเที่ยวแทน โดยใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและทำเลที่อยู่ใกล้ภูมิประเทศอันตระการตา

พอถึงปี 2001 หลังจากวิ่งเต้นอยู่นาน ในที่สุดเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองจงเตี้ยนก็ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลในกรุงปักกิ่งให้ตั้งชื่อเมืองและเทศมณฑลใหม่ว่าแชงกรีลา ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์เด็ดทางการตลาดเลยทีเดียว แต่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาถึงในปี 2003 เมื่อองค์การสหประชาชาติให้การรับรองความหลากหลายทางชีวภาพอันแสนมหัศจรรย์ในเขตโกรกธารรอบๆ และประกาศให้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งมรดกโลกเขตสามแม่น้ำไหลเคียง (Three Parallel Rivers World Heritage Site) และแล้วแชงกรีลาหรือเมืองจงเตี้ยนเดิมก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมแห่งใหม่ของนักเดินทางชาวจีนไปโดยปริยาย

รายงานของสหประชาชาติกล่าวถึงเขตสามแม่น้ำไหลเคียงว่าเป็น “ศูนย์กลางความหลากหลายทางชีวภาพของจีน” โดยมีพรรณพืชและพรรณสัตว์มากมายหลายชนิด  อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศที่ต่างกันสุดขั้วยังเกื้อกูลต่อชาติพันธุ์มนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายอีกด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่ถูกแม่น้ำซึ่งมิอาจข้ามผ่านและขุนเขาสูงตระหง่านขวางกั้นไม่ให้ติดต่อถึงกัน ได้พัฒนาภาษาและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทว่าเป็นเรื่องน่าขันที่กฎบัตรเขตสามแม่น้ำไหลเคียงกลับมุ่งพิทักษ์แต่พื้นที่รอบๆ โดยมิได้รวมตัวแม่น้ำไว้ด้วย เหตุผลประการหนึ่งก็คือ ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเลียบแม่น้ำส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ นอกจากนี้ การไม่รวมแม่น้ำไว้ในกฎบัตร ยังมีเป้าประสงค์อีกประการหนึ่งคือ เพื่อตอบสนองความกระหายพลังงานของจีน  ที่ซึ่งพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศร้อยละ 80 ได้มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เนื่องจากถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก ขณะที่พลังน้ำสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของประเทศ จึงมีการวางแผนก่อสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำทั้งสามสายเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง

แม้ว่าโกรกธารขนาดมหึมาที่ใกล้ที่สุดหลายแห่งจะอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมในตัวเมืองแชงกรีลา แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคสามแม่น้ำไหลเคียงกลับแทบไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใกล้เมืองเลย หากแชงกรีลาอีกแห่งมีอยู่จริง ซึ่งเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวและสงบเงียบใกล้เคียงกับสวรรค์บนดิน แชงกรีลานี้คงจะอยู่ในดินแดนไกลปืนเที่ยงอันไกลโพ้นที่ซึ่งร็อกค้นพบและฮิลตันนำมาสรรค์สร้างให้กลายเป็นแดนสรวง ผมและเพื่อนร่วมทางจึงออกตามหาแชงกรีลาแห่งนั้น

เราเดินลัดเลาะข้ามลุ่มน้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำสาละวิน เพื่อไปยังเมานต์คาวาเกอโบอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จุดชมวิวแห่งหนึ่ง ผมมองลอดเกลียวไลเคนสีเทาไปยังทัศนียภาพแปลกตาราวกับอีกโลกหนึ่ง หลายร้อยเมตรเบื้องล่าง ในเวิ้งหุบเขาใกล้ๆกับผืนป่าเก่าแก่สูงชัน เราเห็นผืนป่าเล็กๆสีเขียวขจี ฤานี่จะเป็นแชงกรีลาอีกแห่งที่เราตามหา เราใช้เวลาหลายชั่วโมงผ่านทางเดินคดเคี้ยวนับร้อยๆช่วงกว่าจะไปถึงสถานที่มีมนตร์ขลังดังกล่าว จากนั้นเราได้ไปเยือนบ้านแบบทิเบตหลังหนึ่งซึ่งฉาบปูนขาวโพลนดูราวกับป้อมปราการ ในบ้านไร่หลังนี้มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่และเด็กๆ รวมทั้งลุงอีกคน อาศัยอยู่รวมกัน

ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณแม่ยังสาว เธอมีชื่อว่าสนอว์ ในระหว่างพูดคุยกัน เธอกระเตงลูกไว้ในแขนข้างหนึ่งขณะให้นมลูกไปพร้อมๆกับเติมฟืนใส่เตาไฟ ดูข้าวที่หุงไว้ คนน้ำชาเนยจามรี โยนเปลือกมันฝรั่งให้หมูในคอก ล้างจาน และคัดแยกพริกไปด้วย สนอว์บอกว่าใฝ่ฝันอยากจะไปให้พ้นจากที่นี่ หรือแชงกรีลาในจินตนาการของผม เพื่อไปยังเมืองแชงกรีลาของจริง เธอได้ยินว่าที่นั่นเด็กสาวในวัยเดียวกันได้ไปโรงเรียน ส่วนวันเสาร์ก็ได้เดินคล้องแขนเพื่อนๆไปช็อปปิ้งกันในห้าง

สถานที่ที่สนอว์ใฝ่ฝันถึงอาจเป็นสถาบันฝึกอบรมทิเบตตะวันออกหรืออีทีทีไอ (Eastern Tibet Training Institute: ETTI) ซึ่งตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองแชงกรีลา สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 โดยเบน ฮิลล์แมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สถาบันแห่งนี้จัดหลักสูตรวิชาชีพ 16 สัปดาห์ที่ให้นักเรียนได้กินอยู่พร้อมเรียนฟรี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียนจากชนบทให้สามารถหางานทำในเมืองได้    ฮิลล์แมนกล่าวว่า “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่วิวัฒน์อยู่ตลอดเวลา” เขาเตือนผมไม่ให้ยึดติดหรือยัดเยียดภาพลักษณ์ในอุดมคติที่ชาวตะวันตกมีต่อแชงกรีลาในปัจจุบัน ในมุมมองของฮิลล์แมน ความท้าทายที่แท้จริงสำหรับชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในแชงกรีลา ก็คือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อโลกสมัยใหม่

นักเรียนของเขามาจากหลากหลายชนเผ่าและชาติพันธุ์ ทั้งชาวทิเบต ไป๋ ลี่ซู่ น่าซี ฮั่น และอี๋ แต่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกรที่แร้นแค้น ทุกคนต้องอ้อนวอนขอพ่อแม่ให้อนุญาตมาเรียนหนังสือที่สถาบัน ซึ่งมีห้องเรียนสะอาดสะอ้าน เพียบพร้อมไปด้วยหอพัก และห้องครัวแสนสบาย ไม่มีใครอยากกลับไปใช้ชีวิตชาวนาที่แสนยากเข็ญอีกแล้ว           

บ่ายแก่ๆวันหนึ่ง ศิษย์เก่าหลายคนของสถาบันมารวมตัวกันในห้องพักอาจารย์ พวกเขาตื่นเต้นที่จะได้เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังจนเก็บอาการไว้ไม่อยู่ คนสุดท้ายที่ได้พูดคือทาชิ เซอริง หนุ่มร่างผอมสูงวัย 21 ปี ผู้สดใสร่าเริงและมีเรือนผมดำสนิทปรกใบหน้า หนุ่มทิเบตคนนี้เรียนภาษาอังกฤษและทักษะในการทำงานด้านการบริการที่สถาบันอีทีทีไอ และปัจจุบันทำงานเป็นมัคคุเทศก์พานักท่องเที่ยวไปเยือนหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและเมืองน้อยใหญ่ในทิเบตอย่างลาซา เขารู้ตัวดีว่าหลีกหนีจากชีวิตลำเค็ญมาได้  จึงหวังให้เพื่อนๆในหมู่บ้านได้มีโอกาสเช่นเดียวกัน เขาบอกว่า “ตอนนี้ผมมีส่วนได้สร้างอนาคตแล้วครับ!”   
พฤษภาคม 2552