ผู้เขียน หัวข้อ: ขุมทรัพย์แห่งทะเลอาหรับ-(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2535 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
“ข้าคือทะเล ในความล้ำลึกแห่งข้าคือที่พักพิงของมหาสมบัติ พวกเขาได้ถามไถ่ผู้ดำดิ่งถึงไข่มุกของข้าแล้วหรือ” มุฮัมมัด ฮาฟีซ อิบรอฮิม   (ปี 1871-1932)   กวีชาวอียิปต์   รจนาไว้เมื่อร้อยปีก่อน   ทุกวันนี้คงเหลือผู้พิทักษ์ท้องทะเลเหล่านั้นอยู่เพียงหยิบมือ พวกเขาคือนักงมไข่มุกจากอดีต    ผู้เพียรแสวงหาสมบัติล้ำค่าจากท้องทะเล    นักงมไข่มุกหลายคนเอาชีวิตไปทิ้ง ถ้าไม่เป็นเพราะถูกเงี่ยงปลากระเบนทิ่มตำ  ก็มาจากครีบแข็งมีพิษของปลาหิน  หรือไม่ก็ถูกฉลามทำร้าย บ้างแก้วหูแตก และบางคนถึงกับตาบอดเพราะดวงตาสัมผัสน้ำเค็มไม่เว้นแต่ละวัน

ในโลกยุคโบราณนั้นไข่มุกเลอค่าดุจดั่งเพชร แม้แต่ในสมัยของฮาฟีซ      ไข่มุกยังถือเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สุดของอ่าวเปอร์เซีย ชายร่วม 70,000 คนเลี้ยงชีพด้วยการงมไข่มุก ทว่าพวกเขากลับไม่ล่วงรู้ถึงความล้ำค่าที่พวกตนนำขึ้นมา    หอยมุกถูกโยนกองสุมรวมกันไว้ ก่อนจะถูกแกะในวันรุ่งขึ้นตอนที่หอยตายแล้ว     ต่อให้นักงมไข่มุกนำไข่มุกเม็ดงามที่สุดในโลกขึ้นมาเขาก็คงไม่มีทางรู้คุณค่า หนี้สินที่สืบทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นปู่ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องดำดิ่งสู่ท้องทะเล

กระนั้น อาชีพการงมไข่มุกก็ถือเป็นความภาคภูมิทางวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง เป็นส่วนหนึ่งของขนบหรือวิถีแห่งท้องทะเลที่มีกลิ่นอายความเป็นอาหรับทัดเทียมทะเลทรายและอินทผลัม โลกตะวันตกโคจรมาพบโลกตะวันออกผ่านน่านน้ำของอ่าวเปอร์เซีย เมื่อความมั่งคั่งของแอฟริกาและอินเดียหลั่งไหลสู่จักรวรรดิน้อยใหญ่ในยุโรป กระทั่งถึงทศวรรษ 1930   เรือใบอาหรับชั้นยอดจากคูเวตแล่นใบทรงสามเหลี่ยมล้อสายลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาหมู่เรือไปยังเกาะแซนซิบาร์ในแอฟริกาและมังคาลอร์ในอินเดียใต้ ก่อนที่ คอรีฟ หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพาเรือเหล่านี้กลับบ้านในอีกหลายเดือนต่อมา ความผันผวนของกระแสลมตามฤดูกาลคือพลังขับเคลื่อนการค้าของโลกอาหรับ

จากนั้นก็เข้าสู่ยุคน้ำมันซึ่งเปิดฉากขึ้นพร้อมๆกับที่วิถีชาวเรืออันเก่าแก่นับพันๆปีค่อยๆล้มหายตายจาก น้ำมันเปรียบเสมือนยักษ์ในตะเกียงวิเศษที่บันดาลให้คำอธิษฐานเรื่องความทันสมัยและความมั่งคั่งกลายเป็นจริง คาบสมุทรอาหรับพลิกโฉมจากดินแดนของคนขี่อูฐเป็นสวรรค์ของคนขับรถคันโตซดน้ำมัน       จากบ้านดินเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขณะที่พลเมืองเหาะเหินไปกับพรมวิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมน้ำมัน

ทุกวันนี้ เงื้อมมือมนุษย์ได้ล้วงลึก ชำแรก และฉกฉวยขุมทรัพย์จากท้องทะเลอาหรับ มากเกินกว่าที่ธรรมชาติและทะเลจะทดแทนได้ทัน   การทำประมงเกินขนาด มลพิษ    การขุดลอกก้นทะเล และการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอย่างขนานใหญ่ ทั้งหมดกำลังบ่อนทำลายระบบนิเวศทางทะเลด้วยการทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

ชนิดพันธุ์ที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือฉลาม ท่ามกลางการกระทำย่ำยีต่อสรรพชีวิตในทะเลอาหรับ คงไม่มีอะไรน่ารันทดไปกว่าซากฉลามกองสุมเป็นภูเขาเลากา ซึ่งมาถึงตลาดปลาในดูไบทุกเย็น รถบรรทุกจะขนฉลามเหล่านี้มาจากสะพานปลารอบๆโอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนที่ครีบและเนื้อปริมาณมหาศาลจะมุ่งหน้าสู่ตะวันออก

รีมาฮ์ ญะบาดู เดินไปทั่วตลาดเพื่อนับและวัดขนาดฉลามหัวค้อน ฉลามเทรชเชอร์ ฉลามหัวบาตร     ฉลามซิลกี   และฉลามปากหมา   ทุกสายพันธุ์ชั้นเลิศแห่งทะเลอาหรับที่ขนส่งมาที่นี่เพื่อขายราวเนื้อม้าไร้ราคา   สัตว์น้ำงดงามที่นักดำน้ำใฝ่ฝันจะได้พบเจอในโลกใต้น้ำ กลับถูกลากมาจากท้ายรถบรรทุกด้วยตะขอเกี่ยวและวางเรียงรายตามทางเดิน แปดเปื้อนฝุ่นและชุ่มเลือด ปากบิดเบี้ยว กองกันแถวแล้วแถวเล่า

ญะบาดู นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เล่าให้ผมฟังว่า “ตอนที่เริ่มมาเก็บข้อมูลที่นี่ ฉันคิดว่า ฉลามไม่ใช่น้อยๆเลยนะเนี่ย แต่พอเห็นเข้าทุกวัน คุณก็เริ่มตั้งคำถามว่า มันเป็นไปได้หรือ แล้วจะเป็นอย่างนี้ได้อีกนานแค่ไหนกัน”

คำถามหนึ่งในหลายข้อที่ญะบาดูถามชาวประมงคือ พวกเขาคิดว่าฉลามสมควรได้รับการคุ้มครองหรือไม่ บางคนตอบว่าไม่ ทำไมต้องคุ้มครองพวกมันด้วย ในเมื่อฉลามเป็นของขวัญจากพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะทรงสร้างพวกมันขึ้นมาชดเชยเอง ขณะที่คนอื่นๆตอบว่าฉลามสมควรได้รับการคุ้มครอง แต่มาตรการนี้ต้องบังคับใช้ทั่วทั้งภูมิภาค ทำไมเราต้องเลิกจับฉลามและสูญเสียรายได้ที่ควรได้รับด้วยเล่า ถ้าคนอื่นๆยังคงจับอยู่

ญะบาดูตั้งข้อสังเกตว่า แปดประเทศที่มีพรมแดนติดอ่าวเปอร์เซีย “ต่างมีขนบและมรดกทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่พูดภาษาเดียวกัน เผชิญกับปัญหาคล้ายๆกัน และแบ่งปันทรัพยากรจากแหล่งเดียวกัน แต่ทำไมถึงร่วมมือกันไม่ได้ล่ะคะ”

เริ่มมีสัญญาณว่า แนวทางอันเป็นเอกภาพที่ญะบาดูเรียกร้องกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เมื่อหลายประเทศกำลังพิจารณาเพื่อเดินตามรอยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการออกกฎหมายคุ้มครองฉลามชนิดพันธุ์หนึ่ง นั่นคือ ฉลามวาฬ ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเล สัตว์กรองกินอาหารขนาดมหึมานี้มักปรากฏตัวในสถานที่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เมื่อปี 2009 เดวิด โรบินสัน นักวิจัยเรื่องฉลามวาฬที่ประจำอยู่ในดูไบ  ต้องตื่นตะลึงเมื่อผลการค้นหาภาพจากเว็บไซต์กูเกิลแสดงภาพถ่ายเหล่าฉลามวาฬแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางแท่นขุดเจาะในอัลชาฮีน แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่นอกชายฝั่งกาตาร์

สำนึกในการปกป้องทะเลดูเหมือนกำลังแบ่งบานไปทั่วภูมิภาค ในคูเวต นักดำน้ำสมัครเล่นหลายร้อยคนกระตือรือร้นรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพิทักษ์ระบบนิเวศขึ้น เพื่อฟื้นฟูความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากสงครามและขยะปฏิกูล พวกเขาช่วยกันกู้ซากเรือจากก้นทะเลและกำจัดเศษอวนจำนวนมากจากแนวปะการังในคูเวต

อีกด้านหนึ่งของอ่าวเปอร์เซีย ในดูไบ นักท่องเที่ยวผู้มีจิตสาธารณะช่วยชีวิตเต่าเกยตื้น และนำพวกมันไปยังศูนย์ฟื้นฟูซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงแรมบุรณ์อัลอรับ เมื่อปีที่แล้ว   เต่าวัยเยาว์ 350 ตัวได้รับการช่วยเหลือจากทะเล  ส่วนมากเป็นเหยื่อของอาการที่เรียกว่า   “ภาวะตัวเย็นเกิน”   หรือความเฉื่อยของร่างกายที่เกิดจากอุณหภูมิในทะเลลดต่ำลงในช่วงฤดูหนาว

“คนไข้” ที่โด่งดังที่สุดของโรงแรมเป็นเต่าตนุตัวเต็มวัยชื่อ ดิบบา ซึ่งมาถึงพร้อมอาการกะโหลกศีรษะร้าว ทีมงานของศูนย์ฟื้นฟูใช้เวลาถึง 18  เดือนเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ ดิบบาได้รับการปล่อยลงทะเลพร้อมติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมโดยใช้กาวยึดติดไว้กับกระดอง มันทดแทนบุญคุณผู้ดูแลด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางอพยพยาวนาน 259 วันเป็นระยะทาง 8,000 กิโลเมตร  ซึ่งรวมถึงการเดินทางวกลงใต้สู่ทะเลอาหรับ ผ่านมัลดีฟส์   ลัดเลาะชายฝั่งศรีลังกา และไปไกลถึงหมู่เกาะอันดามัน ก่อนที่แบตเตอรี่ของเครื่องส่งสัญญาณจะหมดลง

ดิบบาย้อนรอยเส้นทางโบราณที่ไม่เพียงฝังลึกในสัญชาตญาณของเผ่าพันธุ์     แต่ยังผนึกแน่นในความทรงจำทางวัฒนธรรมของชาวอาหรับ นี่เป็นเส้นทางที่เรือใบอาหรับซึ่งบรรทุกอินทผลัมและไข่มุกจากเมืองบัสราเดินทางผ่าน และมุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมการบูร ผ้าไหม ไม้จันทน์    และกานพลู ครอบครัวชาวอาหรับทุกครอบครัวมีเรื่องเล่าของสมาชิก   ถ้าไม่เป็นกัปตันเรือและกะลาสี    ก็นักงมไข่มุกและช่างต่อเรือ    ตำนานแห่งท้องทะเลนั้นฝังแน่นในสายเลือด

ความทันสมัยทำให้ความทรงจำเหล่านั้นเริ่มพร่าเลือน  นักธุรกิจชาวโอมานคนหนึ่งบอกผมด้วยแววตาเศร้าสร้อยว่า “เราสูญเสียความถวิลหาท้องทะเลที่ดับได้ด้วยการออกสู่ทะเลไปแล้วครับ” กระนั้นก็มีชาวอาหรับจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆที่กำลังมุ่งหน้าสู่ทะเล มิใช่เพื่อตักตวง แต่เพื่อสัมผัสทะเลอย่างแท้จริง พวกเขาเริ่มสานสายใยครั้งใหม่กับชายฝั่งเก่าแก่ และค้นพบสัจจะที่กวีนามอุโฆษได้รจนาไว้ “ในความล้ำลึกแห่งข้าคือที่พักพิงของมหาสมบัติ”

มีนาคม 2555

thedoghydra

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
    • Samui Hotels & Resorts
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ