ผู้เขียน หัวข้อ: หนึ่งโรงพยาบาล2ระบบ เมื่อ ร.ร.แพทย์เปิด "เมดิคัลฮับ"  (อ่าน 1127 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ทันทีที่ โรงพยาบาลศิริราช ในฐานะโรงเรียนแพทย์ ประกาศเปิดตัวโรงพยาบาลใหม่ ภายใต้ร่มเงาเดียวกัน
โดยใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (Siriraj Piyamaharajkarun Hospital : SiPH) เพื่อพัฒนาการรักษาสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ หรือจะเรียกว่าเป็นเมดิคัลฮับแห่งแรกก็ว่าได้  หรือจะเรียกง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดขึ้น ก็คือ...เปิดโรงพยาบาลเอกชนในรั้วโรงเรียนแพทย์นั่นเอง

 ไม่เพียงโรงเรียนแพทย์ที่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างศิริราชเท่านั้นที่ขยับตัวเข้าสู่ "เมดิคัล ฮับ" แต่หากรวมไปถึงโรงเรียนแพทย์อีก 4-5 แห่ง มีแผนที่จะพัฒนาในลักษณะเดียวกันด้วยเหตุผลในเรื่องการเพิ่มทางเลือกในการบริการสำหรับผู้ป่วยที่มีศักยภาพการจ่าย รวมไปถึง การอยู่รอดของโรงพยาบาลในการสร้างรายได้ จากการออกนอกระบบและการแบกรับการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง

  การปรับตัวของโรงเรียนแพทย์  แม้ดูจะเป็นเรื่องดีในมุมของทางเลือกของผู้ป่วยที่กำลังและรายได้เพียงพอที่จะจ่าย ไม่ต้องรอคิวนาน... แต่ในมุมกลับกัน ทิศทางระบบสุขภาพไทยกำลังเดินไปสู่การเพิ่มช่องว่างแบกที่เรียกว่า หนึ่งโรงพยาบาลแต่สองมาตรฐานหรือไม่

  รวมไปถึงเจตนารมณ์ของโรงเรียนแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการผลิตแพทย์เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ กำลังจะถูกลบเลือนหรือไม่...หากโรงเรียนแพทย์มุ่งสร้างรายได้ แล้วนักเรียนแพทย์ที่เติบโตในโรงเรียนที่มองเรื่องกำไรเป็นเป้าหมาย...จะเป็นนักเรียนแพทย์แบบไหน???

  คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสับสนทางนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ที่จะว่าไปแล้วไม่มีพรรคการเมืองใดมีความชัดเจน หลังจากที่รัฐบาลทักษิณ การประกาศนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการรักษาแต่หลังจากนั้นความชัดเจนในเรื่องนโยบายสุขภาพไม่เกิดขึ้นเลย

  แม้กว่า 10 ปีของการเดินตามนโยบายบัตรทองจะตอบโจทย์ในเรื่องความเป็นธรรม แต่ปัญหาต่างๆ ก็รุมเร้าระบบสุขภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมในการรักษา ปัญหาภาระงานหนักของบุคลากรสาธารณสุข รวมไปถึงการขาดแคลนแพทย์

 ...ต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ไม่มีฝ่ายการเมืองหันมาสนใจแม้แต่น้อย.. และนโยบายค่อนข้างสับสนเพราะขณะที่รัฐบาลทักษิณประกาศ 30บาทรักษาทุกโรค เขาก็ประกาศนโยบายเมดิคับฮับไปพร้อมๆ กัน

 เช่นเดียวกันกับ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พึ่งจะโยนโจทย์สำคัญในการสร้างมาตรฐานและความเท่าเทียมในการรักษาใน 3 กองทุนสุขภาพ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ

   ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข พึ่งโยนโจทย์ใหม่ในการสนับสนุนให้ โรงเรียนแพทย์เป็นฮับ หรือสร้างระบบ 2 มาตรฐานในโรงพยาบาลเพียงโดยที่ไม่มีคำตอบในเรื่องการแก้ไขปัญหากระจายแพทย์ไปยังชนบทหรือ มาตรการแก้ปัญหาการรักษาที่ไม่เท่าเทียมในโรงพยาบาล

         เพราะนั่นอาจจะหมายถึง คนจนรักษาในโรงพยาบาลของนักเรียนแพทย์ ขณะที่พอมีรายได้หน่อยไปรักษาโรงพยาบาลของอาจารย์แพทย์ แม้ศิริราชจะยืนยันว่าแก้ปัญหาการทำงานของแพทย์ได้โดยกำหนดให้แพทย์ทำงานในโรงพยาบาลแห่งใหม่สัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง  แต่ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ ยังเป็นคำถาม

 เพราะว่าในช่วงหนึ่ง เรามีปัญหาสมองไหลของแพทย์จากการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนในช่วงปี 2528-2538 โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 132 แห่ง เป็น 437 แห่ง จนปัจจุบันแม้มีความพยายามจะแก้ปัญหาและสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ปัญหายังไม่หมดไป โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายแพทย์ไปยังชนบท ทั้งหมดทั้งปวงล้วนต้องการความชัดเจนจากนโยบายสุขภาพ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์