หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

8จังหวัดภาคเหนือสิ้นมนต์ขลัง เสี่ยงเผชิญภัยพิบัติซ้ำซาก!

(1/1)

story:
 8 จังหวัดภาคเหนืออ่วมเจอผีซ้ำด้ามพลอยทั้งมลพิษทางอากาศ - น้ำท่วม และเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ระบุเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอนเสี่ยงที่สุดชี้หากไม่มีระบบการจัดการที่ดีอนาคตจะกลายเป็นภาคที่ไม่น่าอยู่อาศัยที่สุด ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯเพิ่งตื่นกางแผนปฏิบัติการณ์ใหม่มอบอำนาจเต็มพ่อเมืองลุยแก้ปัญหาระยะยาวหวังไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
       
       นับจากวันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นมาพื้นที่ภาคเหนือเริ่มประสบปัญหามลพิษทางอากาศอันเนื่องมาจากการเผาเศาวัสดุการเกษตร หาของป่า ล่าสัตว์หรือแม้กระทั่งหาผักหวาน เห็ดเผาะซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวภาคเหนือแต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านใช้วิถีชีวิตแบบเดิมได้อย่างสบายๆเพราะสภาพภูมิอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นนั่นเอง จนถึงวันนี้คนภาคเหนือกำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างหนักหน่วงจนทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตื่นตัวหาทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า
       
       ให้ความรู้ประชาชนแผนแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
       
       ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”ว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศขณะนี้เกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลงานของคนส่วนน้อย ที่มักง่ายเห็นแก่ตัว ต้องการล่าสัตว์ ทำลายวัชพืชด้วยการเผา และ ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ทำไร่ โดยการเผาทำลายให้เป็นป่าเสื่อมโทรม ผลจากการกระทำ นอกจากจะต้องพบกับมลพิษทางอากาศ แล้วยังต้องพบกับความแห้งแล้งตลอดช่วงฤดูกาล พอเข้าหน้าฝน ป่าไม้ที่ถูกทำลายก็ไม่อาจซับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาได้ บางครั้งก่อให้เกิดตะกอนดินจากการพลังทะลายของน้ำป่า เข้าท่วมบ้านเรือนสร้างความเสียหายจนไม่อาจประเมินค่าได้ ซึ่งในเรื่องทางกระทรวงทรัพยากรฯได้วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัยหาแล้วโดยมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดมีอำนาจเต็มในการสั่งการไปยังนายอำเภอ กำนัน องค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ รวมไปถึงระดับหมู่บ้านโดยเน้นการไปให้ความรู้กับประชาชนในท้องถิ่นของตัวเองว่าปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ในขณะนี้เป็นปัญหาที่ทุกๆคนในท้องถิ่นสามารถจัดการได้
       
       “หลังจากการประชุมร่วมกันกับ 8 จังหวัดโดยมีทุกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ประชุมมีความเห็นว่าการให้ความรู้กับประชาชนในท้องถิ่นมีความสำคัญที่สุดและจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้เพราะหากประชาชนเข้าใจแล้วก็จะเลิกใช้วิธีการหาของป่าหรือเลิกการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในที่สุด”
       
       อาเซียนลงสัตยาบันสกัดมลพิษ
       
       อย่างไรก็ตามเรายังได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยมีประเทศภาคีสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าวซึ่งขณะนี้มลพิษทางอากาศของภาคเหนือส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาป่าของประเทศเพื่อนบ้านด้วยซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือไปยังประเทศ พม่าและลาวเพื่อหาทางร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันแล้วตามข้อตกลงการจัดตั้งคณะทำงานด้านหมอกควันและไฟป่าในอนุภูมิภาคแม่โขง ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลักดันให้มีการดำเนินความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และผลักดันให้แต่ละประเทศจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตลอดจนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
       
       อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายต่อว่าปัญหามลพิษทางกาศนี้มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หลายประการอาทิ ผลกระทบทางด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศโดยทั่วไป ได้แก่ การรู้สึกระคายเคืองหรือแสบตา ภาวะการหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีความเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักถึงขั้น เสียชีวิตได้ เนื่องจากขีดความสามารถในการทำงานของปอดลดลงอย่างรวดเร็วและแม้ว่าอาจจะไม่ เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดแต่ในระยะยาวมักจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด
       
       ขณะที่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ มลพิษทางอากาศนอกจากจะมีผลกระทบทางด้านสุขภาพอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ยังมีผลทำให้ผู้ที่เจ็บป่วย อันเนื่องจากภาวะหมอกควันหรือมลพิษทางอากาศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ขาดรายได้ จากการหยุดงาน ผลกระทบของมลพิษทางอากาศโดย เฉพาะปีที่มีหมอกควันมากกว่าปกติมีส่วนทำให้รายได้เข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวลดลงอย่างกะทันหันได้ ทำให้ช่วงที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆลดลงก็จะส่งผลถึงรายได้ที่ลดลงและภาวะการว่างงานของประชาชนจำนวนมากได้
       
       นอกจากนี้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะจากหมอกควัน ทำให้โครงการ โอมสเตย์ หรือการพำนักระยะยาวของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงปัญหาด้านงบประมาณต่างๆ ที่สมควรมาจัดสรรเพื่อการพัฒนาจังหวัดในด้านอื่นๆ ต้องถูกปรับมาใช้เพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ ปัญหาหมอกควัน จึงมีส่วนทำให้การกำหนดงบประมาณสำหรับยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ถูกจำกัดกรอบการพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมของจังหวัดทางภาคเหนือในอนาคตด้วย
       
       เสี่ยงน้ำท่วม - แผ่นดินไหว
       
       จากเดิม 8 จังหวัดภาคเหนือของไทยถือเป็นจังหวัดที่น่าอยู่ที่สุดแต่ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปีปัญหาต่างๆเริ่มถาโถมเข้ามาเมื่อปลายปี 2554 ภาคเหนือตอนล่างประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งในอนาคตปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในขณะเดียวกันแผ่นดินไหวก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ภาคเหนือไม่ได้เป็นแดนสวรรค์เหมือนในอดีต
       
       แหล่งข่าวกระทรวงทรัพยากรธรณี บอกว่าปัญหาที่ภาคเหนือกำลังประสบอยู่นี้เป็นปัญหาที่หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องเข้าไปบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพราะนอกจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้วยังมีปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม รวมไปถึงแผ่นดินไหวซึ่งอาจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเนื่องจากปัจจุบันนี้พื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลังถึง 8 รอย จากรอยเลื่อนทั้งหมด 13 รอย โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยงมากอาทิ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่อยู่บนรอยเลื่อนแม่จัน แม่ฮ่องสอน ตาก อยู่บนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร ตั้งอยู่รอยเลื่อนเมย เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ตั้งอยู่ในรอยเลื่อนแม่ทา ลำปาง แพร่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนเถิน พะเยา เชียงราย ลำปางตั้งอยู่บนรอยเลื่อนพะเยา น่านตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ปั และจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนอุตรดิตถ์
       
       “ทั้งหมดมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทั้งนั้นเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 5 มีนาคม ที่จังหวัดกาญจนบุรีแม้มีความรุนแรงเพียง 3 ริกเตอร์ ก็ทำให้หลายๆคนที่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งเคยพบกับเหตุการณ์ครั้งใหญ่ มาแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2550ที่จังหวัดเชียงราย เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ซึ่งครั้งนั้นทำให้บ้านเรือนราษฏร วัดวาอาราม โรงพยาบาล สถานศึกษาหลายแห่งเสียหายหนักขณะที่เชียงใหม่ก็เกิดขึ้นในปี 2549 เคยเกิดแผ่นดินไหวขาด 6.1 ริกเตอร์ สร้างความเสียหาแก่ทรัพย์สินเช่นเดียวกัน”
       
       แหล่งข่าวอธิบายต่อไปว่าปัญหาอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้แต่สามารถตั้งรับมือได้ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจะออกไปให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่างๆเพราะหากประชาชนไม่เข้าใจก็จะได้รับอันตรายถึงชีวิต ที่สำคัญยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วจะสามารถตั้งรับปัญหาได้มากน้อยเพียงใดด้วย

ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์    8 มีนาคม 2555

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version