ผู้เขียน หัวข้อ: คู่มือประชาชน--ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองฯ(นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์)  (อ่าน 2462 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
คู่มือประชาชน
ผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองฯ 

เรื่องที่ประชาชนควรทราบ
อีก 2 ข้อเท็จจริงที่ยังไม่มีใครพูดถึง
ประชาชน 65 ล้านคน ได้ หรือ เสีย จาก พ.ร.บ.นี้
ประชาชน ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล “แพงขึ้น” หลังจาก พ.ร.บ.นี้ประกาศ จริงหรือไม่
มีผลกระทบอื่นๆต่อประชาชน เช่น รพ.รัฐบาล “เตียงจะล้น” จริงหรือไม่
งบประมาณประเทศหรือเงินกองทุนจะขาดแคลน “ถูกผัน” จากการช่วยผู้ป่วยจริง ไปสู่ “คนไม่ป่วย” คือญาติผู้ป่วย จริงหรือไม่

สองฝ่ายต่างรัก ประชาชนแต่ทำไม จึงวิวาทะ กัน

   นาวาอากาศโท นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

   ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา  13 กรกฎาคม 2553   

ขอบคุณพระเจ้าของผมที่เปิดโอกาสให้กระผมได้จรดปากกาเขียนเรื่องสำคัญๆ ทางการแพทย์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทย 65 ล้านคนไปอีกหลายๆปี หรืออาจจะอีก 1-2 ชั่วคน เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกบังคับใช้

เรื่องผลกระทบของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการาธารณสุขซึ่งกำลังจะเข้าสภาในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล แต่มีการถกเถียงวิพากวิจารณ์กันอย่างรุนแรงจากฝ่ายที่สนับสนุนสุดตัว และคัดค้านสุดตัว จากฝ่ายที่เรียกว่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและอีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขอันได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์เป็นต้น

            ข้าพเจ้าจำความได้ว่าหลังจากเรื่องราวที่แพทย์หญิงจบใหม่ใช้ทุนปี 2 ต้องถูกนอนคุมตัวเป็นเวลา 2 คืนที่ภาคใต้ โดยถูกฟ้องคดีอาญาฐานกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่ได้รับการระงับความรู้สึกในการฉีดยาชาเข้าสันหลังในการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ถึงแก่ความตายเมื่อ 7 ปีก่อนนั้น แพทย์ไทยทั้งประเทศจำนวน 3 หมื่นคนไม่เคยรวมตัวกันได้..หนาแน่น.. และเสียงแข็งเช่นนี้เลย

“หมอต้องไม่ถูกฟ้องในคดีอาญาที่เกิดจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยสุจริต”

ผลกระทบจากเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีก่อนทำให้โรงพยาบาลชุมชนจำนวนเกือบ 700 แห่ง “ปิดห้องผ่าตัดถาวร” ไม่มีใครทำผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบอีกเลย ต้องส่งไปทำผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั้งหมด ในวันหนึ่งๆมีคนไทยทั่วประเทศต้องได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบวันละ 200 รายต่อวัน เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 100 คนต่อวันเคยทำผ่าตัดแบบเดียวกันนี้ได้ใกล้บ้านคือในระดับอำเภอ ผลกระทบต่อประชาชนคือทุกๆวันจะต้องมีการส่งต่อผู้ป่วย 100 คนรวมทั้งญาติวิ่งรถหลายสิบกิโลเมตรเข้าเมือง เพื่อทำการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ยังไม่นับการผ่าตัดอื่นๆ เช่น ผ่าท้องทำคลอดซึ่งมีจำนวนคนไข้ใกล้เคียงกัน 

ทั้งที่เวลา 30 – 40 ปีที่ผ่านมานั้น โรงพยาบาลชุมชน ถูกออกแบบเพื่อเตรียมการให้ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบได้ มีความพร้อมทั้งสถานที่..คน..เครื่องมือ น่าสงสารประเทศไทยและคนไทยเป็นอย่างยิ่ง

            เรื่องราวของพ.ร.บ.คุ้มครองฯ ฉบับนี้ ผลสุดท้าย....ผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ หรือต่อคนไทยจะเป็นอย่างไร ...ใครได้.......ใครเสีย....สุดที่ปัญญาของกระผมจะคาดเดา...อาจจะกล่าวได้ว่า..มีแต่พระเจ้าเท่านั้น...ที่ทรงรู้.... 

หากดูหลักฐานแจ้งปรากฎ...... แจ้งประจักษ์....ของการรวมตัวแพทย์ 3 หมื่นคน ... แบบหนาแน่น....และเสียงแข็ง.......ข้าพเจ้ากังวลว่าคงจะลงเอยแบบเดียวกับเมื่อ 7 ปีก่อน

ผลลัพธ์ ....ประเทศไทย..เสีย และประชาชนที่ “คิดไม่ทันเขา” ก็คงจะเสียด้วย

กระผมในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง และเป็นคนที่มีความรัก...พี่น้อง...ไม่แตกต่างน้อยไปกว่าองค์กรคุ้มครองฯ ใดๆ..ขอเปิดเผยอีก 2 ข้อเท็จจริงที่ยังไม่เคยมีใครพูด

“เป็นข้อเท็จจริงฉบับประชาชน..เพื่อประชาชน” นอกเหนือไปจากการที่ประเทศต้องเสียเงิน.....พันล้านหรือนับหมื่นล้าน หรือจะทำให้ความสัมพันธ์ของ แพทย์ – ประชาชนต้องเสียไป หรือแพทย์อาจถูกฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มี “คนไทย” ใดๆสนใจ เพราะ “ไม่ใช่เรื่องของผม”... “ผมไม่ได้เป็นหมอ”
       
ลองมาดู “เรื่องของ..ผม(ดิฉัน)” ดังนี้

ประการที่หนึ่ง  ในปีหนึ่งๆ คนไทยมีอัตราการเกิด 8 แสนราย อัตราการตาย 4 แสนราย คือคนไทยเพิ่มประมาณ4แสนคนต่อปี เป็นอัตราเช่นนี้มา 10 กว่าปี

ในคนไทยที่เสียชีวิตปีละ 4 แสนราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เสียชีวิตในโรงพยาบาล 2 แสนราย และเสียชีวิต “ที่บ้าน” 2 แสนราย ส่วนน้อยประมาณหนึ่งหมื่นรายเสียชีวิตบนถนน

ในกลุ่มที่เสียชีวิตที่บ้าน 2 แสนรายนั้น “ส่วนใหญ่” คือกลุ่มคนไข้ที่เป็น “วาระสุดท้าย” เช่น มะเร็งระยะสุดท้าย โรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น อัมพาต สมองเสื่อม มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ดีๆ ก็ตายซึ่งอาจเป็นโรคหัวใจเฉียบพลัน ไหลตาย โลหิตในสมองแตกและอื่นๆที่ยังไม่ทราบได้ เพราะไม่มีการผ่าศพพิสูจน์ 

ในกลุ่มใหญ่เกือบ 2 แสนคนนี้เอง “วาระสุดท้าย” เป็นการยินยอมพร้อมใจโดยรวมทั้งญาติ และผู้ป่วยเองโดย “ผ่านมือหมอ” มาแล้วว่า OK ตกลงกันว่าให้จบชีวิตอย่างสงบ ท่ามกลางญาติมิตร เป็นการตายอย่าง “ศิวิไลซ์” ที่นานาอารยประเทศยอมรับเป็นหลักสากล โดยประเทศไทยถือปฎิบัติกันมานมนานแล้ว

ผลของ พ.ร.บ. ฉบับนี้......

มีเหตุจูงใจอันพึงมีพึงได้ จากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นขั้นต่ำ 20,000 บาท จนถึง 800,000 บาท โดยไม่มีการพิสูจน์ควมถูกผิด (ขนาดเจ็บหายธรรมดาเฉยๆ ยังได้ 20,000 บาท หาก “ตาย” ก็น่าจะต้องได้ 20,000 บาท เหมือนกัน)

ผลบวก ของ พ.ร.บ.นี้ คือจะมีการ “ย้ายสถานที่ตาย” จากที่บ้านมาเป็นโรงพยาบาล โดยมี “โอกาส” ที่จะได้ 20,000 บาทข้นต่ำเป็นมูลเหตุจูงใจ ต่อประชากรกลุ่มใหญ่ 200,000 ครัวเรือน คิดเป็นเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท กระจายไปสู 400,000 ครัวเรือน ชาวไทยเป็นเสมือน “ช่วยเหลือฌาปณกิจ” อันนี้ คน 400,000 ครัวเรือน “ได้”

อีกมุมหนึ่งคือ ผลพวงจากการ “ย้ายที่ตาย” มีดังนี้ คือ “เตียงโรงพยาบาล จะล้น” เตียงผู้ป่วยทั้งหมดในโรงพยาบาลในประเทศมีประมาณ 130,000 เตียง เป็นภาครัฐ 100,000 เตียง เอกชน 30,000 เตียง  ภาครัฐมี 95% เต็ม เอกชนมี 80% เต็ม หมายความว่าในวันหนึ่งๆ มีคนป่วยนอนหยอดน้ำเกลือ อยู่ประมาณ 120,000 คนจากประชาชน 65 ล้านคน ในจำนวยนี้ 15% เป็นผู้ป่วยอาการหนัก โรคเรื้อรัง ที่ยังไม่รู้ว่า มือหมอ มีดหมอ จะช่วยได้ หรือต้องบอกกล่าวกับญาติว่า ไปใช้วาระสุดท้ายที่บ้าน จำนวน 20,000 คนต่อวันนี้เอง ใกล้เคียงกับจำนวนกลุ่มที่เคยเป็น “วาระสุดท้ายที่บ้าน” จะไหลกลับเข้ามาขอใช้วาระสุดท้าย...ในโรงพยาบาล  จากอัตราครองเตียงที่แน่นพอดีๆ กลายเป็น “ล้น” ซึ่งน่าจะล้นในปริมาณประมาณ 10,000 คนต่อวัน ที่สมควรจะ “ได้นอน” ในโรงพยาบาล แต่ไม่มีเตียงให้ ต้องไป “นอนบ้าน” หรือคิดเป็น 10% ของผู้ป่วยในทั้งหมด จากการ “นอนโรงพยาบาล” 11 ล้านครั้งต่อปีเมื่อปี 2550

จึงคาดว่าจะจะมีคน “ป่วยปานกลาง” ที่เคยได้นอนในโรงพยาบาล นอนไม่ได้ และ ไม่ได้นอน ต้องไปนอนที่บ้าน จำนวน 1 ล้านครั้ง-คน ต่อปี

โดยสรุปคือ  คน “ป่วยปานกลาง” ประมาณ 1 ล้านครั้ง-คน ต่อปี เคยได้นอนโรงพยาบาลและควรนอน กลับต้องมานอนเสี่ยง นอนลุ้นที่บ้าน ต้องให้ “ป่วยหนักมากๆ”  เป็นวาระสุดท้ายก่อนจึงจะกลับไปนอนได้  กลุ่มนี้ “เสียประโยชน์” ครับ

          คน “ป่วยหนัก” วาระสุดท้าย กลุ่มนี้ประมาณ 200,000 คนต่อปี ไม่ได้ไม่เสียครับ คือต้องจบชีวิตในเวลาอันสั้นอยู่ดี เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จาก “บ้าน-ชุมชน” มาเป็น “โรงพยาบาล” แต่ ญาติ-พี่น้อง ทายาท ได้ประโยชน์โดยการมีโอกาสได้เงินช่วยเหลือ 20,000 บาท

สรุป     - ป่วยปานกลาง “เสีย” ต้องรอให้ป่วยหนักจึงได้ เท่ากับ 1 ล้านคน-ครั้ง

          - ป่วยหนัก ชนิดวาระสุดท้าย “ไม่ได้ ไม่เสีย” เท่ากับ 2 แสนคน

          -  คนดี ที่มีญาติป่วยหนักแบบวาระสุดท้าย “มีโอกาสได้” เท่ากับ 2 แสนครัวเรือน

ประการที่สอง เงินที่ใช้ในระบบบริการทางการแพทย์ทั้งหมด ทั้งเงินหลวง เงินรากหญ้า ประมาณปีละ 400,000 ล้านบาท ในการนี้เป็นของ สปสช 140,000 ล้านบาท สวัสดิการข้าราชการ 70,000 ล้านบาท ประกันสังคมอีกก้อนหนึ่ง รวม 220,000 ล้านบาท โดยประมาณเกือบ 70% มาจากภาครัฐ 

จากการคำนวนทางเศรษฐศาสตร์ เงินช่วยเหลือและชดเชยควรจะตกอยู่ประมาณ 2% ของวงเงินรวมทั้งประเทศ หรือ 5,000 ล้านบาทจาก 3 กระทรวงหลัก 220,000 ล้านที่รัฐบาลเป็น Sponsor

มาดูความหมายของเงิน 5,000 ล้านบาทที่อุดหนุนโดยรัฐ มีดังนี้  เงินจำนวนรายหัว หากเข้า สปสช เป็นหลักคือ 2,000 บาท หากมีการชดเชย ช่วยเหลือ จะอยู่ที่ 20,000 +X ...ขอประมาณขั้นต่ำคิดที่ 30,000 ก็แล้วกัน

กล่าวคือ เงินช่วยเหลือ (เงินทำขวัญ) คนป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว (ชนิดรักษาถูกต้องด้วย) แพงเป็น 15 เท่าของเงินที่กำลังเตรียมไว้รักษาคนป่วยจริงๆ

(สมมุติ...บริการสาธารณะอื่นๆ เช่น รถเมล์ จ่าย 10 บาท หากเกิดความเสียหาย เช่น รถมาช้า(เพราะรถติด) ทำให้ไปทำงานไม่ทัน จะให้ขึ้นฟรี 15 ครั้ง รวมเป็นเงิน 150 บาทชดเชย...แบบสมมุติ)

 ในเงิน 220,000 ล้านก้อนเดิมต้อง “กัน” 5,000 ล้านไว้ หรือ เป็นเงินที่ใช้เตรียมการรักษาคน 2.5 ล้านคน หรือประมาณประชากรทั้งจังหวัดนนทบุรีรวมกับปทุมธานี ใน 1 ปี ไม่มีเงินรักษา เพื่อเตรียมช่วยเหลือ ทำขวัญ คน 1.5 แสนคน

   

                                        เงินทำขวัญ คนป่วยที่ได้รับการรักษา 1 คน

                    สามารถใช้เตรียมไว้รักษาคนป่วย ที่ยังไม่ได้รับการรักษาได้ 15 คน

 

คิดอีกมุมหนึ่งคือ เปลี่ยนจากเงินทำขวัญ 1.5 แสนคน มาเป็น เงินเตรียมรักษาคนป่วย 2.5 ล้านคน

ในข้อนี้              คน 1.5 แสนคน  “ได้” ครับ   ได้ค่าทำขวัญ   

คน 2.5 ล้านคน “เสีย” ครับ   เสียโอกาสได้รับการรักษาตามสภาพที่ควรเป็น

คู่มือฉบับประชาชนนี้ จัดเตรียมขึ้นในมุมมอง “ประชาชน” ผู้ใช้บริการตามการนำเสนอแบบเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน ซึ่งกระผมพยายามทำให้ “ง่ายๆ” ที่สุด
         
ร่าง พ.ร.บ.นี้นั้น ดีจริงๆ แต่ก็ เสียจริงๆ ครับ

จึงมีการวิวาทะความกันของแกนนำ 2 กลุ่มขึ้น

แต่หากลองดู...จากฉบับประชาชน มุมมองประชาชน ว่า คน 65 ล้านคนคิดอย่างไร

.......น่าทำประชาพิจารณ์ครับ...... น่าทำจริงๆ……

            ท้ายสุดนี้ กระผมขอฝาก “พระคำ” หรือ พระวจนะของพระเจ้า

เพื่อเป็นแรงหนุนใจให้กับ.....ทุกๆฝ่าย....ทุกๆท่าน.....ที่ยืนหยัดต่อสู้ เพื่อความถูกต้อง

แต่ต่าง “ความคิด” ต่าง “แนวทาง” ด้วยครับ

            “ในความเชื่อ...ความรัก...และความหวังใจนั้น....

....ในสามสิ่งนี้ …ความรัก... สำคัญที่สุด”

ขอให้ทุกๆท่านมีความรักอันบริสุทธิ์ในแบบพระเจ้า....ไม่ใช่ความรักแบบมนุษย์ครับ

ด้วยความเคารพ

นาวาอากาศโท นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา 


today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด