ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์โรคไต ม.ขอนแก่นชี้ล้างไตช่องท้องเพิ่มคุณภาพชีวิต แม้ติดเชื้อแต่รักษาได้  (อ่าน 1145 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
แพทย์โรคไตม.ขอนแก่นชี้ล้างไตช่องท้องเพิ่มคุณภาพชีวิต แม้ติดเชื้อแต่รักษาได้
แจงฮ่องกง สิงคโปร์ล้วนส่งเสริมล้างไตช่องท้อง

แพทย์โรคไต “รพ.ศรีนครินทร์” ย้ำล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้องเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมากกว่าฟอกเลือด ฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศต่างก็ใช้วิธีนี้ ชี้ติดเชื้อจากการล้างไตทางหน้าช่องท้องรักษาได้ง่าย แต่หากติดเชื้อจากการฟอกเลือดเสี่ยงอันตรายสูง ด้านสปสช. อำนวยความสะดวกผู้ป่วยโรคไตให้ไปรษณีย์จัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้าน

             รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์   หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต ศูนย์บริการโรคไต โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คาดว่าทั่วประเทศจะมีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องบำบัดทดแทนไตประมาณ 11,000 ราย  และมีแนวโน้มว่าภายใน 5 ปี คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 25,000  ราย จากสถานการณที่เป็นอยู่นี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขยายเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคไตจากโรงพยาบาลประจำจังหวัด ไปสู่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เนื่องจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างก็มีผู้ป่วยล้นมือ และได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลประจำอำเภอทั่วประเทศ อีกประมาณ 300 แห่ง เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และโรงพยาบาลประจำจังหวัดจะต้องปรับบทบาทมาเป็นแม่ข่ายดูแลให้โรงพยาบาลอื่นๆ ในจังหวัดของตนเอง

             รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตแบบการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวิธีการฟอกเลือด เพราะตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อฟอกเลือด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และต้องอยู่กับเครื่องฟอกเลือดประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อครั้ง หลังจากฟอกเลือดแล้วร่างกายก็จะอ่อนแอจำเป็นต้องมีญาติผู้ป่วยมาช่วยดูแล โดยก่อนที่จะให้ผู้ป่วยล้างไตฯ ด้วยตนเองนั้น ทางโรงพยาบาลจะสอนวิธีการที่ถูกต้องในการล้างไต การดูแลรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีปัญหาผู้ป่วยสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาได้ตลอดเวลา

รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า ประเทศที่มีการแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง เช่น ฮ่องกง  เม็กซิโก สิงคโปร์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะดีกว่าประเทศไทย เพราะเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ และหากมีการติดเชื้อก็สามารถรักษาได้ง่ายกว่าการติดเชื้อทางกระแสเลือด แต่ที่คนไข้ส่วนใหญ่ไม่อยากทำเป็นเพราะคนไข้ไม่ต้องการฟอกไตเอง แต่ต้องการให้มีผู้อื่นมาทำให้

             รศ.นพ.ทวี กล่าวว่า สปสช. ได้กำหนดให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่บำบัดทดแทนไตแบบการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศส่งบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมแล้ว 114 แห่ง และแต่ละแห่งให้การดูแลผู้ป่วย 80-100 ราย และมีการอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามมาตรฐานการดูแลรักษามากที่สุด

             นางเชย  ไชยเสือ  อายุ 65 ปี จาก อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ผู้ป่วยที่ได้รับบริการทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง มานานกว่า 1 ปี กล่าวว่า  เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ช่วงแรกไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในขอนแก่น ทางโรงพยาบาลให้ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เสียเงินไปครั้งละหลายพันบาท จนเงินหมด ทางโรงพยาบาลเอกชนจึงแนะนำให้กลับไปรักษาตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการส่งต่อมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่ง แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลเป็นอย่างดี และสอนให้ตนสามี และ ลูกสาว ได้เรียนรู้วิธีการล้างไตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เสียเงินค่ายา ค่ารักษา ลูกหลานก็ไม่ต้องลำบากหาเงินมาให้รักษาเหมือนช่วงก่อน และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เหมือนในช่วงฟอกเลือด เพียงแค่มาตรวจตามกำหนดเดือนละครั้ง และน้ำยาล้างไตได้ถูกส่งตรงไปที่บ้าน ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น     

             พญ.ขจีรัตน์   ปรักเอโก  รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุน ให้โรงพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 3 วิธี ได้แก่ ให้ผู้ป่วยได้รับบริการบำบัดทดแทนไต ทั้งการล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการเพื่อการพัฒนาระบบบริการ  ให้ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านทางหน้าช่องท้องนั้น ทาง สปสช. ได้ประสานความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อจัดส่งน้ำยาล้างไตไปถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา


ขอบคุณค่ะ
สุภาพร นิภานนท์
สำนักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชน

6 มีนาคม 2555