ผู้เขียน หัวข้อ: ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2928 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ต้นฤดูหนาว พ.ศ. 2543 ณ ริมรั้ววัดแห่งหนึ่งในชนบทภาคอีสาน มีสระน้ำใหญ่ที่ร่มครึ้มไปด้วย       แมกไม้ กลดของพระสงฆ์แขวนโยงเรียงรายไปตามคันดินรอบสระ  ถัดออกไปเป็นท้องทุ่งนาที่ข้าวกำลังตั้งท้องใกล้ออกรวง  เสียงใบข้าวสากๆสีกันดังเกรียวแว่วมาตามสายลมอ่อนที่พัดระลอกน้ำต้องแสงจันทร์ในสระเป็นคลื่นพลิ้ว เช่นเดียวกับผ้ามุ้งรอบขอบกลด  เป็นภาพที่ผมมองเห็นหลังจากค่อยๆลืมตาขึ้น  การนั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิราบ ขาขวาทับขาซ้าย หลังมือขวาทับฝ่ามือซ้าย  นั่งนิ่ง  หลังตรง และพยายามกำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจเข้าออกเป็นเวลานาน ทำให้ใจสงบ แต่กายกลับเมื่อยขบไปทั้งตัว   ผมไม่สามารถมองเห็นอิริยาบถของพระสงฆ์    ผู้เป็นสหธรรมิกรูปอื่นๆในกลดเหล่านั้นได้  ได้แต่เดาว่าคงอยู่ระหว่างทำสมาธิหรือพยายามข่มจิตให้เป็นสมาธิเช่นเดียวกับผม

ความสงบรำงับของคนหมู่มาก ถึงแม้จะกระจัดกระจายอยู่ห่างกันพอสมควร แต่ก็มีพลังโน้มน้าวให้ผมอยากทำสมาธิต่อไปอีก  แต่เป็นสมาธิในท่านอน มิใช่ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่เพราะกำลังพ่ายแพ้ต่อความง่วง  แต่เพื่อให้การนอนนั้นเป็นการนอนอย่างมีสติที่สุด  ผมจึงนอนในท่าตะแคงขวา มือหนึ่งรองแนบใบหน้า อีกมือหนึ่งทอดทาบไปบนลำตัว ใช่แล้วครับ นอนในท่าเดียวกับพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั่นเอง ที่ยากมากคือการซ้อนเท้า ตาตุ่มกลมๆทำให้เท้าไม่สามารถซ้อนสนิทกันได้ ทั้งยังเลื่อนไปไถลมา  ผมเลื่อนตาตุ่มหลบกันหน่อยหนึ่งตามตำรา  แล้วกลับไปกำหนดลมหายใจเข้าออก  พยายามไม่คิดถึงเรื่องใดๆ สักพักเมื่อรู้สึกว่าจิตสงบขึ้นก็ตั้งใจว่าจะตื่นนอนตอนสามนาฬิกาตรง

แต่แวบหนึ่ง ความสงสัยก็ผุดขึ้นในใจว่า เอ... พระอรหันต์สามารถนอนหลับโดยที่ยังมีสติอยู่ได้อย่างไรและการหลับทั้งที่ยังมีสตินั้นจะเรียกว่าการนอนหลับได้หรือ เป็นอย่างไรกันแน่หนอ... และแล้ว ผมก็ผล็อยหลับไปโดยไม่มีสติ  ในคืนที่สงบและหนาวเย็นนั้น

หลายชั่วโมงต่อมา ผมรู้สึกตัวตื่น และหยิบนาฬิกาปลุกขึ้นเพ่งดูในความสว่างของคืนเดือนหงาย  สักพักก็มองเห็นเข็มวินาทีกำลังเคลื่อนจากวินาทีที่ห้าสิบแปด...ห้าสิบเก้า และหกสิบ ที่สามนาฬิกาตรง  ผมรีบกดปุ่มปิดเสียงปลุกก่อนที่มันจะดังขึ้น 

                ตำราบอกว่าหากตั้งใจมากไปก็จะตื่นก่อน หย่อนไปก็จะตื่นหลัง แต่การตื่นได้ตรงตามเวลาที่ต้องการนั้นเป็นธรรมดาของผู้ฝึกสมาธิจนชำนาญ   

นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่ผมตื่นได้ใกล้เวลาที่ตั้งใจไว้มากขนาดนั้น เป็นประสบการณ์สมาธิหลังจากบวชเป็นพระมากว่าร้อยวัน  และยังคงประทับใจจนปัจจุบัน

“ความรู้อันยอดยิ่ง”

ย้อนหลังไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น บนยอดเนินเขาใกล้ชายแดนไทย-พม่าในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เบื้องล่างคือแม่น้ำสาละวินที่ไหลมาจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ กลางวันมีเสียงปืนประปรายจากฝั่งตรงข้าม แต่ในยามค่ำคืนเช่นนี้กลับได้ยินแต่เสียงน้ำซัดโขดหินใหญ่ดังครืนๆ รอบกองไฟที่กลุ่มนักศึกษาหนุ่มนั่งล้อมวงสนทนาบนลานดิน พระภิกษุวัยห้าสิบต้นๆนั่งบนถังพลาสติก พวกเราซึ่งเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมที่มักมีความคิดแผลงๆต่างแย่งกันสอบถามถึงเรื่องราวต่างๆในมุมมองสนุกสนานและคึกคะนองตามวัย   ท่ามกลางบทสนทนาออกรสออกชาติ   ที่ดำเนินอยู่นั้น ผมนึกลังเลใจกับคำถามของตนเอง แต่ยังไม่ทันเอ่ยปากถาม หลวงพ่อกลับเป็นฝ่ายถามผมขึ้นว่า “เอ้า...ว่ายังไง เดอะ โชว์ มัส โก ออน” ผมชะงักไปครู่หนึ่งจึงตอบท่านกลับไปว่า

“อ๋อ...ครับหลวงพ่อ คือผมอยากจะทราบที่ฝรั่งเขาว่า เดอะ โชว์ มัส โก ออน คือคนหนุ่มอย่างเรา             ก็เหมือนนักแสดงที่กำลังโลดแล่นอยู่ในโลก  คงจะสงบได้ยากและเราจำเป็นต้องสงบด้วยหรือครับ” แต่แทนที่   ผมจะตั้งอกตั้งใจฟังคำตอบจากปากท่าน จิตใจผมกลับว้าวุ่นนึกสงสัยในใจว่า “เอ... เรายังไม่ได้ถามเลยนี่นา แล้วนี่หลวงพ่อมาล้วงคำถามจากในใจไปได้อย่างไรกัน” คืนนั้นผมเข้านอนด้วยความรู้สึกสับสน ใจหนึ่งก็บอกตัวเองว่า เราอาจพลั้งปากถามออกไปโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่ท่านยังไม่มีจังหวะตอบทันทีก็เป็นได้...

เช้าวันรุ่งขึ้น แดดยามสายทาบทาแม่น้ำสาละวินจนทอประกายระยิบระยับ ผมนั่งในหลุมฐานรากของพระธาตุสถาปัตยกรรมไทใหญ่ กำลังก้มๆเงยๆใช้เสียมขุดดิน  เหตุแห่งการมาของพวกเราในคราวนี้ก็เพื่อเสริมฐานรากของพระธาตุน้อยที่กำลังทรุดโทรมองค์นี้ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลวงพ่อเดินขึ้นมาพูดคุยทักทาย     พวกเรา ก่อนจะมาหยุดที่ผม ท่านเอ่ยถามเรื่องการเรียนของผมที่มหาวิทยาลัย  “มีข้อขัดข้องสงสัยอย่างไรอยู่หรือ” ผมจึงเริ่มเล่าว่า “ไม่ใช่เรื่องขัดข้องอะไรหรอกครับหลวงพ่อ แต่ผมอยากฟังจากหลวงพ่อเกี่ยวกับปรัชญาการออกแบบอย่างหนึ่งในโลกสถาปัตยกรรมที่ผมสนใจและชอบใจมาก คือเรื่องปรากฏการณ์ศาสตร์”

“เขาว่าวัตถุในโลกเหมือนจะประกอบจากสองสิ่ง คือสิ่งอันมีอยู่แต่ไม่แสดง ฝรั่งเรียกว่า แอบเซนซ์”    ผมว่า

“ส่วนนี่” ผมตบเบาๆไปที่ฐานฉาบปูนสีขาวขุ่นของพระธาตุโบราณที่อยู่ตรงหน้า ยังไม่ทานขาดคำ หลวงพ่อก็พูดขึ้นว่า “ก็ เพรสเซนซ์ สิ่งอันแสดง”

ผมมองดูใบหน้ายิ้มแย้มสดใสในแดดสายของภิกษุสูงวัย อดีตนายดาบตำรวจจากอยุธยาที่ลาออกจากราชการมาหลายสิบปี ทิ้งความสับสนวุ่นวายของโลกไว้เบื้องหลัง  ผมมองนิ่งอยู่ ไม่พูดอะไร ได้แต่รอฟังหลวงพ่อพูดเรียบๆแต่ระมัดระวัง ราวกับจะบอกผมเป็นนัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหาใช่เรื่องน่าตื่นเต้น หรือลึกล้ำพิสดาร “ก็เหมือนวิชาที่เธอได้ร่ำเรียน เธอย่อมมีความรู้ความชำนาญและทำได้  ฉันเองก็เหมือนกัน” ท่านยิ้มอย่างเมตตาแล้วเดินจากไป...

เหตุการณ์ในวันนั้นไม่เพียงวนเวียนอยู่ในความคิดผม แต่ยังจุดประกายความอยากรู้ให้ผมสนใจศึกษาเกี่ยวกับการฝึกจิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ผมอดคิดไม่ได้ว่า  ความนึกสนุกอยากลองดีของผมต่อพระนักปฏิบัติรูปนั้น โดนกำราบอย่างไร้ข้อกังขาด้วยเจตนาและเมตตาธรรมของท่านที่ตั้งใจทำให้ผมเชื่อในพลังแห่งสมาธิ หรือนี่คือหนึ่งในสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอภิญญาหก  หรือความรู้อันยอดยิ่ง 6 ประการ ได้แก่ มีฤทธิ์  หูทิพย์ ตาทิพย์  หยั่งรู้ใจผู้อื่น  ระลึกชาติ และสุดท้ายคือการทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป 

ห้าข้อแรกนั้นเป็นญาณในทางโลก หรือโลกียอภิญญา  มนุษย์ทำได้ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา  เป็นอภิญญาที่มีการเสื่อมถอยและสร้างขึ้นใหม่ได้  ทั้งห้าข้อนี้ทำให้มนุษย์ตื่นเต้นมาทุกยุคทุกสมัย ทว่าพุทธศาสนากลับไม่เสียเวลากับเรื่องเหล่านี้ ซ้ำยังติเตียนใครก็ตามที่หลงมัวเมากับสิ่งเหล่านี้ว่า ผู้เมาฤทธิ์ เพราะหาได้เกี่ยวข้องกับการพ้นทุกข์ไม่  เรื่องราวเกี่ยวผู้เมาฤทธิ์มีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น ฤาษีชื่อโรหิตัสสะผู้สามารถเหาะเหินเดินอากาศด้วยความเร็วดังว่าย่างเท้าเดียวข้ามมหาสมุทร เหาะไปตลอดร้อยปีไม่  หยุด ด้วยเห็นว่าถ้าเดินทางพ้นโลกนี้ไปได้น่าจะเป็นภพใหม่ที่ไร้ทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด   แต่สุดท้ายยังไม่ทันถึงที่สุดจักรวาล ก็ตายลงเสียก่อน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าฤทธิ์ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ 

หนทางแห่งอริยชนและอริยเจ้าทั้งหลายในพุทธศาสนา  จึงมุ่งไปยังข้อที่หกอันเป็นโลกุตระอภิญญาที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีเสื่อมถอย และนำไปสู่การบรรลุธรรมสูงสุดคือ  นิพพาน   

ณ ยอดเนินเขาเล็กๆริมแม่น้ำสาละวินนั่นเองที่ผมได้ยินประโยค “ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น” จากวาจาของมนุษย์ซึ่งได้สำแดงหนึ่งในอภิญญาให้ประจักษ์แก่ผม 

ความหมายแห่งสมาธิ

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิตอย่างแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สงบนิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกซัดส่ายไปมาจาก       เรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป พวกเราคงคุ้นเคยกับสภาพแบบนี้ดี 

ในหนังสือ พุทธธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ซึ่งเป็นตำราร่วมสมัยที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาท  อธิบายลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิว่ามีลักษณะสำคัญดังนี้  คือ แข็งแรง  มีพลังมากเหมือนกระแสน้ำที่พุ่งไปทางเดียว  ราบเรียบ  สงบซึ้งเหมือนบึงน้ำใหญ่ ใสกระจ่างเหมือนน้ำนิ่งสนิทที่ตกตะกอนแล้ว จึงมีสภาพนุ่มนวลควรแก่งานต่างๆ

แข็งแรง และนุ่มนวล  ควรแก่งานต่างๆ...

กุลยา คูธนะวนิชพงษ์ คงเป็นคนหนึ่งที่ชินกับการใช้สมาธิในงานของเธอ เพราะสถาปนิกผู้นี้ต้องใช้สมาธิเพื่อปรุงเหตุผลกับจินตนาการเข้าด้วยกันเวลาออกแบบ 

แต่นั่นเป็นสมาธิคนละแบบกับที่เธอได้รับคำแนะนำจากคุณแม่ ซึ่งเป็นอาจารย์พยาบาลสูตินรีเวชผู้สอนให้เธอรู้จักกับสมาธิสำหรับการคลอด ตั้งแต่เมื่อตอนคลอดลูกสาวคนโต และบัดนี้กุลยาต้องพึ่งพาสมาธินี้อีกครั้ง

ท่ามกลางเสียงร้องอย่างเจ็บปวดของว่าที่คุณแม่ท่านอื่นบนเตียงรอคลอดรอบข้าง  กุลยากำหนดให้ความเจ็บปวดระบายออกมากับลมหายใจยาวที่มีเสียงดังฟู่...ฟู่เท่านั้น สมาธิจากการเฝ้าดูลมหายใจทำให้เธอรอเคยเวลาด้วยจิตใจสงบเยือกเย็น ส่วนสตินั้นเล่าก็ทำให้เธอตื่นเต็มที่เพื่อรับรู้ว่านี้คือกระบวนการคลอด

เธอบอกว่า “รู้ถึงความเจ็บปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องจัดการเอง” เมื่อจับจังหวะการปวดได้ว่ามีลักษณะเป็นรอบๆ เธอจึงรอคอยจนรอบที่แท้จริงมาถึง  ก่อนบอกแก่พยาบาลผู้ดูแลว่า  “คุณพยาบาลคะช่วยมาดูหน่อยค่ะ รู้สึกว่าจะคลอดแล้ว” 

บนเตียงคลอด กุลยาสูดลมหายใจให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้  ลึกจนรู้สึกว่าไม่มีช่องว่างเหลืออยู่ใน         กายแล้ว จึงปลดปล่อยลมหายใจออกมาพร้อมกับการเบ่งครั้งที่หนึ่ง... ครั้งที่สอง ระหว่างนี้เธอรับรู้ถึงการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างแม่กับลูก เธอเริ่มสูดลมหายใจใหญ่อีกครั้ง  และในครั้งที่สามนั่นเอง เธอก็ให้กำเนิดบุตรชายที่น่ารักอย่างปลอดภัย

“เข้าใจเลยว่าพลังลมปราณเป็นอย่างไร” เธอบอก  จิตที่เป็นสมาธิสามารถทำให้เกิดพลังขึ้นทั้งทางใจและทางกาย 

แล้วสภาพจิตที่ไม่เป็นสมาธินั้นนั่นเล่า มีลักษณะอย่างไร   

หากเป็นสภาพที่ตรงกันข้าม ก็ย่อมหมายถึงความอ่อนแอและแข็งกระด้าง ไม่ควรแก่การงานใดใด

“นิวรณ์ห้า”  คือสิ่งที่เป็นเครื่องขัดขวาง  หากพบนิวรณ์ที่ไหน ที่นั่นไม่มีสมาธิ  พระพุทธเจ้าทรงยกรูปธรรมเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า...

เริ่มจากในห้องมืด เอาน้ำขุ่นข้นอันเป็นตัวแทนของ วิจิกิจฉา หรือความลังเลสงสัยเติมใส่ภาชนะ ใส่สีต่างๆลงไป เช่น สีเหลืองจากขมิ้น  สีแดงจากครั่ง ซึ่งเปรียบได้กับ กามฉันทะ หรือความอยากต่างๆ จากนั้น ยกขึ้นตั้งเตาเร่งไฟจนเดือดพล่าน อุปมาเหมือนจิตใจที่รุ่มร้อนไปด้วย พยาบาท หรือความขุ่นเคืองขัดใจ แล้วจึงใส่สาหร่าย  จอกแหนและผักน้ำ อันเป็นรูปธรรมของ ถีนมิทธะ หรือความง่วงหงาวหาวนอน ก่อนจะเป่าผิวน้ำนั้นด้วยลมแห่ง อุทธัจจกุกกุจจะ หรือความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

แล้วก้มลงมองดูเงาสะท้อนของตนในซุปประหลาดนั้น  อุปมาดังพยายามมองดูจิตตนขณะนิวรณ์ทั้งห้าครอบงำ ย่อมไม่มีทางเห็นได้เลย ฉันใดก็ฉันนั้น นิวรณ์ทั้งห้าขัดขวางสมาธิและทำให้สภาพของจิตไม่เหมาะแก่การงานใดๆทั้งสิ้น

โดยทั่วไป คนเราย่อมมีสภาวะจิตที่เป็นสมาธิและไม่เป็นสมาธิสลับกันอยู่ตลอดทั้งวัน สมาธิแบบหนึ่งจะเกิดแก่เราในเวลาที่ตั้งใจทำอะไรบางอย่างอย่างแน่วแน่  เช่น ศิลปินวาดภาพอยู่ตามลำพังในสถานที่อัน         เงียบสงบ  เด็กๆเฝ้าดูสิ่งต่างๆในธรรมชาติ  หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังเล่น  นี่เป็นสมาธิชั่วขณะ  ไม่มั่นคง อาจถูกรบกวนให้แปรเปลี่ยนได้โดยง่าย

เฝ้าดูจิตตน

สมาธิในพุทธศาสนาเถรวาทนั้นแบ่งเป็นลำดับขั้น ได้แก่ ขณิกสมาธิ  (momentary concentration) สมาธิชั่วขณะ อุปจารสมาธิ (access concentration) สมาธิที่จวนเจียนจะแน่วแน่  และ อัปปนาสมาธิ (attainment concentration) สมาธิที่แน่วแน่ แนบสนิท

โดยทางธรรมแล้ว ผมไม่อาจถามเยาวลักษณ์ ถมปัทม์ ผู้เป็นพี่สาวแท้ๆว่า เธอสามารถทำสมาธิได้ถึงระดับใด บางทีเธออาจไม่ได้สนใจไปถึงขั้นนั้น สมาธิของเธออาจหมายถึงการข่มความเศร้าโศกอันใหญ่หลวง จากการสูญเสียบิดามารดาในอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปลายปี 2550 การสวดมนต์โดยออกเสียงทั้งกลางวันกลางคืน การทำสมาธิที่บ้าน และการเข้าร่วมกิจกรรมการปฏิบัติธรรมหลายแห่งตลอดระยะเวลาเกือบสองปี ให้ประโยชน์แก่เธออย่างไรบ้าง “เหมือนทำให้เราตื่น” เธอเปรียบชีวิตก่อนการฝึกสมาธิว่าเหมือนการหลับ หรือหลงไปตามเสียงเพลงและละครอยู่ตลอดเวลา จิตมีสภาพเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย  เมื่อฝึกได้สักพัก เธอบอกว่า “การตื่น” ทำให้เธอสามารถหยุดร้องไห้ด้วยความคิดว่า “เอ๊ะ... นี่เรากำลังหลงใหลไปกับละครและเพลงเศร้าอีกแล้ว”

 นี่คือสติหรือการระลึกรู้ที่เธอบอกว่ามาเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากที่ก่อนหน้านั้นกว่าจะรู้ตัว ก็ปล่อยให้ตัวเองเศร้าโศกจมทุกข์อยู่หลายวัน  เธอบอกว่า ทุกวันนี้ บ่อยครั้งที่รู้ตัวในวินาทีนั้นเอง วินาทีที่อดีตพยายามไล่ตามมาให้ทัน

ดูเหมือนว่าการหลับตา กลับทำให้เธอตื่นขึ้น   

สมบัติใกล้แค่ปลายจมูก

ศาสตร์แห่งการทำสมาธิของมนุษย์นั้นมีมายาวนานเพียงใด

พระพุทธองค์ประสูติเมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว ณ ดินแดนที่องค์ความรู้ทางสมาธิเจริญงอกงามอยู่ก่อนแล้ว  และพระองค์ก็ทรงเริ่มต้นแสวงหาจากการศึกษาในสำนักของอาจารย์ผู้สอนในแนวทางของสมาธิและการเข้าฌาน  ครั้นเมื่อตรัสรู้ก็ทรงสรรเสริญแนวทางอาณาปานสติ หรือการทำสมาธิโดยกำหนดลมหายใจเข้าออกว่าทรงอยู่ในวิหารธรรมนี้โดยส่วนมากตลอดพระชนม์ชีพ

หลายคนคงนึกสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เพียงการหยุดคิดแล้วเฝ้าตามดูลมหายใจตนเองจะเป็น      ปฐมบทแห่งการเปลี่ยนมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆให้พัฒนาขึ้นเป็นอริยบุคคลที่อยู่เหนือทุกข์ทั้งมวล หากเปรียบไปแล้ว ลมหายใจของเราคงไม่ต่างอะไรจากสมบัติติดตัวล้ำค่าที่อาจนำพาเราก้าวเดินไปสู่ศักยภาพอันมหัศจรรย์ที่สุดเท่าที่จะพึงมีได้ไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรม แต่เรากลับไม่รู้ตัวหรือไม่เชื่อว่าตนมีสมบัติอันล้ำค่านี้อยู่แค่ปลายจมูก จึงไม่เคยได้เรียนรู้และฝึกฝนเพื่อเอาไปใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย 

สมาธิเป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง  แต่ปัจจุบันสมาธิกลับถูกใช้ไปในทางแก้ไขเยียวยา  ชาวโลกจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจสมาธิเพราะความป่วยไข้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนดูเหมือนว่าการที่โลกน่าอยู่น้อยลงทุกวัน  กลับมีส่วนทำให้สมาธิแพร่หลายมากขึ้นหรือไม่ 

หากมองในแง่ดี สำหรับโลกตะวันออกซึ่งแต่เดิมสมาธิเป็นเรื่องของพระนักปฏิบัติหรือไม่ก็ผู้สูงวัย      แต่ปัจจุบัน เรากลับพบเห็นคนหนุ่มสาวในสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ หรือแม้แต่เด็กเล็กๆตามโรงเรียน ขะมักเขม้นกับการทำสมาธิ ในแง่นี้สมาธิจึงเป็นเครื่องมือพัฒนาคน

ส่วนในตะวันตกซึ่งเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์และปัญญาทางวัตถุ  สมาธิได้แพร่หลายเข้าไปพร้อมๆกับความสนใจในคำสอนทางศาสนาจากโลกตะวันออก ชาวตะวันตกผู้เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์วิจัย มีส่วนอย่างมากในการขยายขอบเขตการรับรู้เรื่องสมาธิให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมต่อชาวโลก 

รายงานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จำนวนมากมายแสดงให้เห็นประโยชน์ของการทำสมาธิ  ทั้งๆที่การทดลองเหล่านั้นส่วนมากออกแบบให้ทำสมาธิเบื้องต้นเท่านั้น และเราไม่อาจรู้ว่าผู้ร่วมการทดลองเข้าถึง   สมาธิในระดับใด และผลการทดลองที่เกิดขึ้นมาจากสมาธิระดับใดกันแน่   กระนั้น รายงานเหล่านั้นก็ชี้ชัดว่าสมาธิมีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ เสริมสร้างสุขภาพทั้งกายใจ      เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน การสร้างสรรค์ทางศิลปะและวิทยาการ ไปจนถึงการกีฬาแทบ    ทุกประเภท

แต่ก็ใช่ว่าสมาธิจะมีแต่ด้านบวก ผลการศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นผลเสียที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ เช่น งานวิจัยของดร.ดีน แชปีโร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตเวช แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า จากผู้เข้าฝึกกรรมฐานติดต่อกันสองสัปดาห์จำนวน 27 ราย มี 17 ราย (ร้อยละ 62) เกิดอาการหวาดกลัว เครียด สับสน ซึมเศร้า สงสัยในตนเอง อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างปฏิบัติ ในจำนวนนี้หลายคนเป็นนักปฏิบัติที่ชำนาญแล้ว นอกจากนี้    ยังมีรายงานถึงผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติ  เช่น การเป็นตะคริว และอาการรู้สึกไม่ยินดียินร้าย       เป็นต้น

ในเรื่องนี้ คำสอนของครูบาอาจารย์หลายท่านที่สอนสมาธิแนวพุทธเถรวาทในประเทศไทย ได้กล่าวเตือนถึงข้อควรระวังหลายประการในการปฏิบัติสมาธิ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน   เพราะการเริ่มฝึกสมาธิก็เปรียบเหมือนจุดเริ่มต้นการเดินทางท่องโลกภายในจิตใจตนเอง  และก็เช่นเดียวกับการเดินทางทั้งหลายที่อาจเกิดการหลงทางได้ ในสังคมของนักปฏิบัติสมาธิจึงมีการแลกเปลี่ยน สอบทานความรู้กันอยู่ตลอดเวลา ทั้งในลักษณะกัลยาณมิตรและศิษย์กับอาจารย์

เยียวยาความเจ็บไข้

“พยาบาลนิก” หรือ ศุภภร ธรรมชูวงศ์  อดีตผู้ป่วยหนักจวนเจียนจะเสียชีวิต เธอใช้เวลาหลายปีในการรักษาร่างกายและจิตใจ จากการเป็นแล้วกลับเป็นอีกของ “มะเร็ง” โรคร้ายที่กัดกินแม้แต่จิตใจของคนปกติให้สั่นคลอนและหวาดหวั่น เธอบอกว่าจากที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้เมื่อ 12 ปีก่อน กว่าจะเข้าใจวิธีการรักษาสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจก็เพิ่ง 5 ปีมานี้เอง ความสมดุลที่ว่านี้คือสิ่งที่เธอค้นพบจากประสบการณ์ของตนเอง และได้ใช้   มันช่วยเยียวยาผู้คน 

การ “คิดรก” อาจหมายถึงนิวรณ์ เป็นสิ่งแรกๆที่เธอแนะนำผู้ป่วยให้ขจัดออกไปให้เร็วที่สุด ผู้ป่วยเอดส์มักตกเป็นเหยื่อของการคิดรก ผ่านอาการหม่นหมองกังวล ไม่ยอมรับตนเอง ไม่กล้าเปิดเผยตัว ความเครียดและความเจ็บป่วยในที่สุดจะก่อให้เกิดโทสะและความคิดร้าย หลายคนลงเอยด้วยการคิดฆ่าตัวตาย 

เมื่อการคิดรกขัดขวางการบำบัดรักษา ศุภภรบอกว่าเธอมี “เครื่องมือหลายอย่าง” ดูเหมือนกระเป๋า “ยา” ของเธอนอกจะมียาดีชื่อสมาธิแล้ว ยังมีศีล และปัญญาด้วย เธอหอบหิ้ว “พุทธวิธี” เหล่านี้ไปทุกที่เพื่อช่วยเหลือผู้คน

“อย่างศีลข้อหนึ่ง เว้นจากการฆ่าสัตว์ หากทำได้จิตย่อมเกิดเมตตาและปีติสุข”  เมตตานั้นเป็นยา
รักษาโทสะการคิดร้าย  ซึ่งเป็นหนึ่งในนิวรณ์ที่มีสภาพดังไฟเผาจิต “สุราเมรัยถ้าเว้นได้ร่างกายก็ย่อมแข็งแรง...ใช่ไหมคะ” ผมเริ่มรู้สึกถึงพลังในการทำงานของเธอ  อาจเป็นพลังจากสมาธิที่สั่งสมเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นผู้ป่วยเต็มขั้น  พยาบาลนิกบอกว่าสมาธิทำให้เธอ “รู้สึกถึงพลัง รู้สึกถึงเซลล์ในร่างกายทั้งร้ายและดีที่กำลังได้รับการรักษาเยียวยาและกำลังเบิกบาน” 

ปัจจุบัน ศุภภรรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรโครงการสมาธิบำบัด ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้งานของเธอขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง   เช่น โรงพยาบาลในสี่จังหวัดอีสานใต้  ปัจจุบันมีเสียงตามสายที่จะน้อมนำทุกคนให้ทำกิจกรรมง่ายๆไปพร้อมๆกันทั้งโรงพยาบาล  ไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วย และญาติผู้กระวนกระวายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแพทย์ พยาบาล และพนักงานผู้เคร่งเครียดทุกคนที่จะมีโอกาสได้พักและรักษาจิต    ด้วยการทำสมาธิ  สวดมนต์ และแผ่เมตตา

สมาธิครั้งแรก...ลมหายใจครั้งสุดท้าย 

สองปีมาแล้ว ด้วยจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าเรียนมากเกินความคาดหมาย ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  หนึ่งในสองมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาชีวิตและความตาย  ได้บรรจุวิชากรรมฐานซึ่งเป็นอุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำสมาธิแบบต่างๆ เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร  โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อสร้างบัณฑิตผู้สามารถนำพาผู้ป่วยระยะสุดท้าย และแม้แต่ตนเองให้จากโลกนี้ไปอย่างดีที่สุด

เมื่อความตายกำลังคืบคลานเข้ามาทีละน้อย ขณะที่เรายังมีความรู้สึกนึกคิด ความกลัวอาจเป็นความเจ็บปวดที่สุดของใจซึ่งถาโถมเข้ามาพร้อมกับความเจ็บปวดที่สุดของร่างกายซึ่งทับทวีขึ้นเรื่อยๆ   เราจะต้องเผชิญกับสภาพนั้นเพียงลำพัง  ไม่ว่าจะมีญาติมิตรล้อมรอบดูใจหรือไม่ก็ตาม  ในสภาพเช่นนี้  สมาธิอาจเป็นสิ่งเดียว  เป็นความรู้เดียวของมนุษยชาติในบรรดาความรู้ทั้งหลาย  ที่จะช่วยให้เราบริหารเวลาสุดท้ายที่มีอยู่น้อยนิด  มาทำประโยชน์อันยิ่งแก่ตนเอง นั่นคือทำความสงบให้เกิดแก่การตายของเราเป็นเบื้องต้น  และการดับสนิท เป็นเบื้องปลาย

ขอเพียงให้จิตได้ละวางทุกขเวทนาทั้งหมด แล้วดิ่งลงสู่สมาธิ  แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆก็พอ         

เสี้ยวเวลาระหว่างการเวียนว่าย

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้ทำสมาธิอย่างจริงๆจังๆเลย  จนกระทั่งเมื่อหกเดือนก่อน  ระหว่างทางเดินเชื่อมอาคาร     ในโรงพยาบาลประจำจังหวัด  สามชั่วโมงที่ผมเดินเตร่ไปมา ด้วยความห่วงกังวลอยู่หน้าห้องคลอด  มือหนึ่งหิ้วถุงขนมและกระเป๋าเล็กๆใส่เสื้อผ้ากับของใช้จุกจิกอย่างแปรงสีฟัน มือหนึ่งจูงลูกสาววัยสี่ขวบ การรอคอยในฐานะพ่อซึ่งกำลังจะมีลูกอีกคน ในวันนี้ เด็กที่กำลังจะเกิดมาจะไม่มีปู่และย่ามารอต้อนรับสู่โลก และคอยประคบประหงมอย่างสุดรักเหมือนกับพี่สาวน้อยๆของเขา  ไม่ว่าจะคิดไปทางไหนหรืออย่างไร ผมก็อดกลัวไม่ได้ว่าความสูญเสียอันใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นกับครอบครัวเราอีกไหม  ภาพแห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย วังวนอันน่าอึดอัดและทนได้ยากในฐานะทุกข์ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ มีให้เห็นและสัมผัสได้อย่างครบถ้วนและใกล้ชิดในโรงพยาบาล   

พลันก็มีเสียงของสุภาพสตรีท่านหนึ่งดังขึ้นมาจากลำโพงสีดำที่แขวนอยู่บนเพดาน น้ำเสียงนั้นฟังดูอ่อนโยน นุ่มนวล ชวนให้เราทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ได้พักใจสักครู่หนึ่งจากทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วใช้เวลาสั้นๆนั้น...ทำสมาธิ... เธอขอให้เราละวางกังวลทั้งหมด  แล้วดิ่งลงสู่สมาธิจิตไปพร้อมๆกับเธอ   

แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่าช้างกระดิกหู สั้นเท่างูแลบลิ้น...ก็เพียงพอแล้ว
ตุลาคม 2552