ผู้เขียน หัวข้อ: แอ่งเกลืออีสาน-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3885 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

มนุษย์ฆ่า พังคี พญานาคหนุ่มแห่งเมืองบาดาล ผู้แปลงกายเป็นกระรอกเผือกมาเฝ้าชมความงามของนางไอ่คำด้วยหลงรัก แต่พญานาคในร่างกระรอกน้อย กลับถูกจับมาแล่เนื้อเถือหนังแจกจ่ายให้ชาวเมืองกินกันทั่ว เผ่าพันธุ์พญานาคโกรธแค้นพากันยกพลขึ้นมาทำสงครามถล่มแผ่นดิน ไล่เข่นฆ่านางไอ่คำ และชาวเมืองขอมดินแดนอันเรืองรองจนมลายจมลงเป็น “หนองหาน” คือเรื่องเล่าตามนิทาน ผาแดงนางไอ่ ที่ชาวพื้นถิ่นผูกขึ้นอธิบายปรากฎการณ์การทรุดตัวของแผ่นดินจากธารน้ำบาดาลไหลเซาะโดมเกลือใต้ดินจนทรุดเป็นทะเลสาบน้ำจืดอันไพศาลเมื่อนานปีล่วงมาแล้ว

สีสันของสายลมแล้ง

เมื่อฤดูแล้งมาถึง น้ำที่หลากท่วมเหือดลง ลานดินริมห้วยหนองเกิดเป็น ดินเอียด บางทีเรียก “ขี้บ่อ” หรือดินเค็มที่ใช้ทำเกลือ เจ้าจ้ำ           ผู้สื่อสารกับวิญาณประจำหมู่บ้านกำหนดวันเซ่นไหว้ นางเพียงแก้ว วิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งบ่อเกลือ ส่งสัญญาณให้ผู้ที่จะต้มเกลือลงขูดดินเอียด เตรียมวัตถุดิบสำหรับทำ เกลือสินเธาว์ หรือ เกลือขี้ทา โดยนำธูปเทียน ดอกไม้ หมาก พลู “ดอกบัว” (ปลัดขิกทำจากกิ่งไม้) มาไหว้ที่ศาลใกล้ๆบ่อเกลือเพื่อขอพรจากวิญญาณในผงดินแห่งความเค็มที่พวกเขาเคารพศรัทธา ขอให้ได้เกลืองามๆ ก่อนจะตั้งเตาต้มเกลือ

                เสียงสรวลเสในหมู่คนต้มเกลือเป็นสีสันของสายลมแล้งริมทุ่งหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เรื่องสองแง่สามง่ามที่สรรหามาเล่าเป็นเรื่องสุดฮาของหมู่คนต้มเกลือหญิง การโอ้อวดรูปร่าง ขนาด สีสันของ “ดอกบัว” หรือท่อนไม้ที่บากแต่งสมมุติเป็นอวัยวะเพศชายที่ใช้บูชานางเพียงแก้ว เรียกรอยยิ้มเสียงหัวเราะ ช่วยคลายเหนื่อยคลายร้อน ไม่ขัดต่อศีลธรรม ยิ่งพูดเรื่องใต้ร่มผ้ายิ่งทำให้ได้เกลือสมบูรณ์ เพราะเชื่อว่านางเพียงแก้วชอบ บ่อเกลือในอดีตจึงเป็นแหล่งที่หนุ่มสาวได้พบปะแสดงออกต่อกันอย่างเปิดเผยจนหลายคู่พบรักกันที่บ่อเกลือ

                สวน  สุขารมย์ อายุ 68 ปี นักต้มเกลือรุ่นใหญ่ชาวบ้านอุ่มจาน ตำบลอุ่มจาน อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เล่าบรรยากาศการต้มเกลือที่บ่อเกลือโนนหนองเหล็ก บ่อเกลือริมหนองหานกุมภวาปี ซึ่งเดิมกว้างขวางและมีชาวบ้านหลายร้อยคนจากหลายหมู่บ้านวนเวียนมาต้มเกลือ แม่เฒ่านึกถึงวัยสาวด้วยดวงหน้าพรายยิ้มราวกับเพิ่งผ่านไปไวๆนี้เอง มหกรรมแห่งฤดูแล้งที่ผู้คนวนเวียนมาต้มเกลือ นำสิ่งของมาแลกเกลือโดยเฉพาะปีที่น้ำจากหนองหานหลากท่วมจนได้ข้าวน้อยไม่พอกิน ปีนั้นต้องต้มเกลือมากๆ แล้วชักชวนกันเป็นคาราวานนำเกลือใส่เกวียนเทียมวัวนับสิบๆเล่มออกเดินทางจากบ้านลุ่มไปแลกข้าวกับชาวบ้านดอน ในอัตราเกลือ 1 ส่วนต่อข้าว 1 ส่วน  “ข้าวแลกเกลือ...เกลือแลกข้าว ขุต่อขุ  ต่าต่อต่า  ขายกะขายแลกกะแลก”  กองคาราวานเกวียนเกลือวันนี้ไม่มีแล้ว         แต่เสียงประกาศจากรถเร่แลกเกลือกับข้าวยังคงป่าวแลกป่าวขายอยู่ในชุมชนอีสาน เพราะคนอีสานนิยมเกลือพื้นบ้านทำให้เกลือต้มพื้นบ้านราคาแพงกว่าเกลือจากนาเกลือหรือเกลือโรงงานถึงสองเท่า

                ก่อนจบฤดูทำเกลือในแต่ละปี เมื่อได้เกลือตามที่ต้องการ เกวียนจำลองหรือรถสิบล้อจำลองขนาดเท่าฝ่ามือ ผูกโครงขึ้นมาจากซีกไม้ไผ่เล็กๆใช้บรรทุกเกลือพร้อมเครื่องไหว้บูชามาไหว้นางเพียงแก้ว เช่นเดียวกับเมื่อตอนลงต้มเกลือเป็นการคารวะขอบคุณนางเพียงแก้วที่มอบธาตุแห่งความเค็มนี้มาให้ และที่จะลืมไม่ได้ก่อนเก็บข้าวของกลับเรือน พวกเขาจะหิ้วตะกร้าเกลือพร้อมกับจอบเสียมไปขุดหลุมหยอดเกลือแล้วกลบฝัง เป็นการ “ปลูกเกลือ” เพื่อเพาะเชื้อพันธุ์ความเค็มให้มีดินเอียดอีกในปีหน้า

 

ร่องรอยอาณาจักรเกลือ 3,000 ปี

เส้นทางสายเกลือจากอีสานมีความสำคัญต่อผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ต่างจากทางสายไหมที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับยุโรป เพราะเกลือเป็นแร่ธาตุจำเป็น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอารยธรรมโลหะโดยเฉพาะเหล็ก จึงทำให้มนุษย์พยายามแสวงหา ครอบครอง และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเกลือมาใช้อย่างไม่หยุดยั้ง     

สุจิตต์ วงษ์เทศ  กล่าวในเวทีเกลือพื้นบ้าน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ว่า “ไม่แน่ว่ามนุษย์ผลิตเกลือมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว โดยเกิดขึ้นพร้อมๆกับสังคมการเพาะปลูกข้าว  เมื่อมนุษย์เริ่มตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง มีการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์  ซึ่งมักจะอยู่ใกล้ๆแหล่งเกลือ ไม่ว่าไทย มอญ พม่า เขมร หรือลาว เพราะเกลือเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อาหารการกินของผู้คน... เกลือสำคัญเช่นกันกับข้าว มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่าการผลิตเกลือในอีสานมีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี  เช่น ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  จังหวัดอุดรธานี  มีการผลิตข้าวเหนียวกับเกลือแล้ว  และแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้...”  ความที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่ง “เกลือกับเหล็ก” จึงมีผู้คนจากทุกสารทิศมาตั้งหลักแหล่ง   เพื่อทำเกลือซึ่งเกี่ยวข้องกับการถลุงเหล็กหรือโลหะ โดยใช้เกลือช่วยให้จุดหลอมละลายโลหะต่ำลง เห็นได้จากเวลาตีเหล็กทำเคียว ช่างตีเหล็กจะเอาเหล็กเผาไฟให้แดงโล่แล้วคีบออกมาชุบน้ำเกลือก่อนตีทำให้ตีขึ้นรูปได้ง่ายขึ้น  ที่สำคัญการทำเกลือที่พบในแถบทุ่งกุลานั้นไม่ใช่ทำเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ทำเพื่อขายหรือแลกเปลี่ยนกับอาณาจักรเขมรซึ่งไม่มีเกลือ รวมถึงเมืองชายทะเลปากน้ำโขงที่ไม่อาจทำเกลือสมุทรได้เพราะเป็นชายหาดโคลน
พฤศจิกายน 2552