ผู้เขียน หัวข้อ: มิตรภาพแสนงาม-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2630 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ตอนที่แอนดรูว์ สแตนตัน คิดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันสำหรับเด็ก ซึ่งเค้าโครงเรื่องเกิดขึ้นในมหาสมุทร อีกทั้งยังซื่อตรงต่อ “กฎธรรมชาติอย่างแท้จริง”  เขามองหาปลาที่เหมาะจะรับบทเป็นตัวเอกของเรื่องด้วยการเปิดหนังสือภาพเล่มโตเกี่ยวกับชีวิตในท้องทะเลเล่มแล้วเล่มเล่า กระทั่งมาสะดุดตากับภาพปลาสองตัวที่เยี่ยมหน้ามองออกมาจากดอกไม้ทะเล ภาพปลาในแหล่งซ่อนตัวตามธรรมชาติสื่อถึงปริศนาแห่งมหาสมุทรที่เขาต้องการถ่ายทอดได้อย่างยอดเยี่ยม “และในฐานะผู้ให้ความบันเทิงแล้ว การที่พวกมันมีชื่อว่า ปลาการ์ตูน (clownfish) ก็ยิ่งสมบูรณ์แบบครับ” สแตนตันเล่า    

และแล้วดาวจรัสแสงก็ถือกำเนิดขึ้น นีโม ปลาเล็กหัวใจโต๊...โต (Finding Nemo) ภาพยนตร์ของบริษัทพิกซาร์ ที่สแตนตันเป็นผู้กำกับและเขียนบท  ได้รับรางวัลออสการ์ประจำปี 2003  สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม  ปลาน้อย      นีโมซึ่งเป็นปลาการ์ตูนชนิด Amphiprion percula แนะนำให้เด็กๆหลายล้านคนทั่วโลกได้รู้จักกับระบบนิเวศเขตร้อน        อันแสนมหัศจรรย์  นั่นคือแนวปะการังและเหล่าผู้อาศัย

ปลาการ์ตูนได้ชื่อมาจากสีสันฉูดฉาดบนลำตัว (มีตั้งแต่สีน้ำตาลอมม่วงเข้ม ไปจนถึงสีส้มสดใส สีแดง และสีเหลือง) และมักจะตัดด้วยแถบสีขาวหรือดำ  ปลาการ์ตูน 29 ชนิดอาศัยอยู่ท่ามกลางแนวปะการัง  ตั้งแต่แอฟริกาตะวันออกไปจนถึงเฟรนช์โปลินีเซีย และจากญี่ปุ่นจรดชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย โดยมีความหลากหลายมากที่สุดบริเวณชายฝั่งด้านทิศเหนือของเกาะนิวกินีในทะเลบิสมาร์ก  ในการเดินทางไปดำน้ำที่ฟิจิเมื่อไม่นานมานี้ เจอรัลด์ อัลเลน  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาการ์ตูนคนหนึ่งของโลก  ค้นพบปลาการ์ตูนชนิดที่ยี่สิบเก้า คือ Amphiprion barberi  นั่นช่วยเพิ่มสถิติปลาการ์ตูนที่เขาค้นพบมาตลอดชีวิตรวมแล้วมากถึง 7 ชนิด

ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และนักเลงปลาตู้ทั่วโลก ปลาการ์ตูนยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาดอกไม้ทะเล (anemonefish) เนื่องจากพวกมันไม่อาจอยู่รอดได้หากปราศจากดอกไม้ทะเลซึ่งเป็นเจ้าบ้านผู้ให้แหล่งพักพิง หนวดที่มีเข็มพิษของดอกไม้ทะเลช่วยปกป้องปลาการ์ตูนและไข่ที่กำลังพัฒนาจากนักล่าผู้รุกราน  ทว่าในจำนวนดอกไม้ทะเลราว 1,000 ชนิด      มีเพียงสิบชนิดเท่านั้นที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาการ์ตูน  ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าปลาการ์ตูนหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้ายได้อย่างไร  แต่เป็นไปได้ว่าชั้นเมือกซึ่งปลาการ์ตูนอาจสร้างขึ้นหลังจากได้สัมผัสหนวดดอกไม้ทะเลในครั้งแรกๆ อาจช่วยปกป้องพวกมัน  อัลเลนอธิบายว่า  “เมือกพิเศษนี่เองครับที่ยับยั้งดอกไม้ทะเลไม่ให้ขับเซลล์เข็มพิษออกมา ถ้าคุณเคยเฝ้าดูปลาการ์ตูนตัวเล็กๆหน้าใหม่เข้าหาดอกไม้ทะเลแล้วละก็  คุณจะเห็นว่ามันค่อยๆสัมผัสดอกไม้ทะเลเพื่อหยั่งเชิงดูก่อน  ที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการทางเคมีที่ว่านี้” ดังนั้น ปลาการ์ตูนที่มีเกราะป้องกันตัวจึงกลายเป็นส่วนเสริมของดอกไม้ทะเล โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องป้องกันอีกชั้นหนึ่งและคอยกันพวกปลากินดอกไม้ทะเลอย่างปลาผีเสื้อไม่ให้เข้ามากล้ำกราย  

                ปลาการ์ตูนใช้ชีวิตทั้งชีวิตวนเวียนอยู่กับดอกไม้ทะเลที่มันอาศัยพักพิง และแทบไม่ออกห่างเกินกว่า 2-3 เมตร พวกมันวางไข่ประมาณเดือนละสองครั้งบนพื้นผิวแข็งๆที่อยู่ใกล้ที่สุดซึ่งมีฐานของดอกไม้ทะเลปกปิดไว้ และจะคอยพิทักษ์ตัวอ่อนที่กำลังพัฒนาเหล่านี้อย่างเด็ดเดี่ยว  หลังฟักออกจากไข่ได้ไม่นาน  ตัวอ่อนโปร่งใสขนาดกระจิ๋วหลิวของปลาการ์ตูนจะล่องลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำเป็นเวลาหนึ่งถึงสองสัปดาห์  จากนั้นจึงกลายร่างเป็นปลาการ์ตูนตัวจิ๋วขนาดยาวไม่ถึงหนึ่งเซนติเมตรและว่ายลงไปยังแนวปะการัง  ในระยะนี้  ถ้าปลาวัยเยาว์หาดอกไม้ทะเลไม่พบและไม่สามารถปรับตัวให้ชินกับชีวิตใหม่ภายในหนึ่งถึงสองวันมันจะพบจุดจบในที่สุด

ปลาการ์ตูนชนิดเดียวกันราวสิบกว่าตัว  ซึ่งมีตั้งแต่ปลาวัยกระเตาะไปจนถึงปลาโตเต็มวัยความยาวถึง 15 เซนติเมตร สามารถอยู่ร่วมกันในดอกไม้ทะเลตัวเดียวกันได้ (อัลเลนเคยพบปลามากถึง 30 ตัวในดอกไม้ทะเลชนิด Stichodactyla haddoni) ปลาการ์ตูนจะแหวกว่ายไปรอบๆดอกไม้ทะเลอันเป็นถิ่นพำนักของมันและไล่กินแพลงก์ตอน สาหร่าย รวมทั้งสิ่งมีชีวิตกระจิริดอย่างโคพีพอด และมักจะซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบของดอกไม้ทะเลเพื่อกินอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่า ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติซึ่งมีศัตรูอย่างปลากะรังและปลาไหลมอเรย์คอยคุกคาม ปลาการ์ตูนแทบไม่มีโอกาสอยู่รอดเกิน 7-10 ปี แต่ในสถานเพาะเลี้ยงที่ปลอดภัย พวกมันอาจมีชีวิตยืนยาวกว่านั้นมาก

ในหมู่ปลาการ์ตูนที่ครอบครองดอกไม้ทะเลร่วมกันมีการจัดลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด โดยจะมีปลาเพียงคู่เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจปกครอง  จ่าฝูงเพศเมียถือว่าใหญ่สุดใน “ครอบครัว” ตามมาด้วยคู่ของมันและปลาวัยเยาว์ตัวอื่นๆ  คู่ผัวตัวเมียที่เป็นใหญ่จะรักษาอำนาจของพวกมันโดยการไล่กวดปลาวัยกระเตาะ เพื่อสร้างความกดดันและลดเรี่ยวแรงในการออกหาอาหารของฝ่ายหลัง  “โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์   ปลาคู่จ่าฝูงจะยิ่งไล่กวดกันมากขึ้นครับ”  อัลเลน เล่า ปลาตัวเมียจะคอยเตือนตัวผู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นใหญ่ด้วยการงับครีบเข้าให้เป็นครั้งคราว

ปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง (reef fish) หลายชนิดมีความสามารถในการเปลี่ยนจากเพศหนึ่งไปเป็นอีกเพศหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนจากเพศเมียเป็นเพศผู้  อย่างเช่นปลานกขุนทองและปลานกแก้ว แต่ปลาการ์ตูนเป็นปลาหนึ่งในไม่กี่ชนิดเท่าที่ทราบที่เปลี่ยนจากเพศผู้เป็นเพศเมีย  เพราะถ้าปลาเพศเมียที่เป็นจ่าฝูงตายไป  ปลาเพศผู้ที่เป็นใหญ่จะกลายเป็นจ่าฝูงเพศเมียแทน  และปลารุ่นเยาว์ตัวใหญ่ที่สุดก็ขึ้นมารับตำแหน่งปลาเพศผู้ที่เป็นใหญ่ไปโดยปริยาย  ยังไม่มีใครเคยระบุ   ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเพศ (sexual plasticity) ดังกล่าว  อัลเลนบอกว่า “นี่เป็นกลยุทธ์การปรับตัวที่เยี่ยมยอดเพื่อให้แน่ใจได้ว่าชนิดพันธุ์ของพวกมันจะคงอยู่ตลอดไป”

ในตอนแรกความหวาดกลัวแพร่สะพัดไปทั่ววงการอุตสาหกรรมเลี้ยงปลาตู้ว่า โครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะเจ้านีโมถูกจับมาจากแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติและถูกนำไปเลี้ยงไว้ในตู้ปลาที่ร้านหมอฟัน ขณะที่พ่อของเจ้าปลาน้อยต้องใช้เวลาตลอดทั้งเรื่องในการทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยลูกออกมา แต่กระแสหนังเรื่องนี้ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงและขายส่งปลาสวยงามหันมาเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากวิธีการจับปลาจากแหล่งธรรมชาติที่มีต้นทุนถูกกว่าการเพาะเลี้ยง กำลังทำลายแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตที่ได้อาศัยพักพิงพวกมัน ภาพยนตร์เรื่อง นีโม จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเพาะและขยายพันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังในสถานเพาะเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น                                                                                                                                                  
                แม้อัลเลนจะได้พบเห็นและรับรู้ถึงความเสื่อมโทรมของแนวปะการังตลอดอายุการทำงานนาน 40 ปี แต่เขา     กลับพบว่าในบางพื้นที่นั้น “มีความหวังอย่างไม่น่าเชื่อครับ แนวปะการังหลายแห่งอยู่ในสภาพเกือบจะบริสุทธิ์และ   สมบูรณ์มาก” ในฐานะที่ปรึกษาขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ  สิ่งที่อัลเลนให้ความสนใจในปัจจุบันคือ “การระบุพื้นที่เหล่านั้นและช่วยรักษาพวกมันไว้ก่อนจะสายเกินไป”

 มกราคม 2553