ผู้เขียน หัวข้อ: “ลพบุรี” เมืองดาราศาสตร์แห่งชาติ  (อ่าน 2226 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
“ลพบุรี” เมืองดาราศาสตร์แห่งชาติ
« เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2010, 23:28:20 »
เมื่อเอ่ยถึง “ลพบุรี” หลายคนนึกถึงจังหวัดที่เต็มไปด้วยลิงและโบราณสถานกลางเมืองซึ่งสะท้อนความเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย แต่ใครหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเมืองละโว้ในอดีตนี้ยังมีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์โลกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย
       
       ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2228 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยและดาราศาสตร์โลก ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ พระที่นั่งเย็น จ.ลพบุรี โดยมีคณะเจซูอิตหรือคณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศส 6 รูปถวายคำบรรยาย และระหว่างปรากฏการณ์คณะสงฆ์ได้บันทึกข้อมูลระหว่างเกิดคราสในแต่ละนาทีโดยละเอียด และระบุว่าคราสบังถึงหลุมใดของดวงจันทร์บ้าง
       
       ข้อมูลในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยบันทึกของ บาทหลวง เจ.เดอฟงเตอเนย์ ซึ่งเป็น 1 ในคณะสงฆ์แห่งพระเยซู ว่าปรากฏการณ์ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุตที่ใช้ในการสังเกตการณ์ อีกทั้งยังพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษต่อคณะสงฆ์ เช่น พระราชทานอนุญาตให้คณะสงฆ์ลุกขึ้นยืนต่อหน้าที่ประทับ และประทับเบื้องหลังคณะสงฆ์เพื่อทอดพระเนตรปรากฏการณ์ เป็นต้น
       
       นายอารี สวัสดี อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าเมืองลพบุรีถือเป็นเมืองดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อ 325 ปีดังกล่าวนั้น คณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาศึกษาปรากฏการณ์และบันทึกข้อมูลโดยละเอียดเพื่อหาเส้นละติจูด (Latitude) หรือเส้นรุ้งและเส้นลองจิจูด (Longitude) หรือเส้นแวง ของเมืองละโว้ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเปรียบเทียบกับหอดูดาวกรุงปารีส
       
       การศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคาดังกล่าวเพื่อหาตำแหน่งเส้นละติจูดและลองจิจูดนี้ นายอารีบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างแผนที่ซึ่งมีความแม่นยำและเที่ยงตรง โดยมีคณะสงฆ์ที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนั้นถึง 18 แห่งทั่วโลก อาทิ เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี, กรุงโรม อิตาลี, กรุงปารีส ฝรั่งเศส, กรุงมาดริด สเปน และ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
       
       “ครั้งนั้นเทคโนโลยีดาราศาสตร์ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาอยู่ที่ลพบุรี กล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุด นาฬิกาพก นาฬิกาลูกตุ้มและอุปกรณ์วัดมุมที่ดีที่สุดมารวมอยู่ที่นี่ ข้อมูลจากการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาถูกส่งไปให้ จิโอวานนี โดมินิโก แคสสินี* นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีซึ่งเป็นศิษย์เอกของกาลิเลโอ กาลิเลอิ** และอาจกล่าวได้ว่าเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติโครงการแรกที่เข้ามาในไทย” นายอารีกล่าว
       
       สำหรับพระที่นั่งเย็นนั้น นอกจากเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์จันทรุปราคาแล้ว ยังเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พ.ศ.2231 ด้วย แต่จากบทความในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามฯ ซึ่งเขียนโดย นายอารี สวัสดี ระบุว่าไม่อาจค้นคว้าได้ว่ามีการจดบันทึกการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนั้นหรือไม่ เพราะเกิดการปฏิวัติในปีเดียวกันนั้น และต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ก.ค.2231
       
       อีกสถานที่สำคัญสำหรับดาราศาสตร์ไทยคือ “วัดสันเปาโล” ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และยังเป็นบ้านพักที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่บาทหลวงนักวิทยาศาสตร์จากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยสร้างขึ้นใน พ.ศ.2228 และมีรูปแบบคล้ายกับหอดูดาวกรุงปารีสที่สร้างขึ้นก่อนหอดูดาววัดสันเปาโลเพียง 21 ปี แต่ปัจจุบันหอดูดาววัดสันเปาโลหลงเหลือเพียงซากและโครงสร้างบางส่วนเท่านั้น ขณะที่หอดูดาวกรุงปารีสยังค่อนข้างสมบูรณ์อยู่
       
       จากความสำคัญของวัดสันเปาโลอายุกว่า 300 ปีนี้ ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy) ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จึงได้สถาปนาให้เป็นหนึ่งในจุดสำคัญทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย (Establishment of Astronomical Landmark in Thailand) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
       
       ทั้งนี้ เราทราบถึงความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จากเอกสารที่บันทึกโดยคณะทูตและคณะสงฆ์แห่งพระเยซูจากฝรั่งเศส โดย นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสืบค้นเอกสารเกี่ยวกับดาราศาสตร์ไทยในยุคดังกล่าว ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของหอดูดาวกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเขาได้มอบให้แก่สมาคมดาราศาสตร์ดำเนินการแปลต่อไป
       
       “ลพบุรีเป็นเมืองที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานการศึกษาดาราศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยศึกษาวิจัยด้วยตนเอง มีแง่มุมดาราศาสตร์ที่โดดเด่นมาก ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองไม่แตกต่างกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งสถานที่สำคัญๆ ทางดาราศาสตร์ของลพบุรีมีอย่างน้อย 2 แห่ง คือ วัดสันเปาโลและพระที่นั่งเย็น เมืองนี้เป็นเมืองที่มีหลักฐานว่าครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยเรื่องนี้ และมีหลักฐานจริง จงภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพวกเรา” นายภูธรกล่าว
       
       แม้ความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในไทยจะเหลือให้เห็นเพียงซากปรัก แต่อย่างน้อยร่องรอยที่ทิ้งไว้ได้สะท้อนให้เห็นพระราชวิสัยทัศน์อันก้าวหน้าและยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้น้อมนำไปเป็นแบบอย่าง
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2553