ผู้เขียน หัวข้อ: เชียงใหม่ยังวิกฤติ หมอกควันคลุมหนาแน่น  (อ่าน 949 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สถานการณ์หมอกควันเมืองเชียงใหม่ยังวิกฤติ หมอกควันหนาแน่นยังไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพ ขณะที่เครื่องบินขึ้นลงต้องเปิดไฟรันเวย์ ด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มช. ระบุหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพและโรคมะเร็ง...

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติหมอกควันไฟป่ามาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 สูงเกินค่ามาตรฐานมากกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งพบว่าหลายโรงพยาบาลมีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ที่เป็นผลจากการสูดเอามลพิษเข้าไปมากกว่าปกติ เข้าขอรับการรักษาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และสภาพการมองเห็นยังไม่ดีขึ้นมาก

ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องหมอกควันไฟป่า โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะต่างๆ ใน มช. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี จนได้ผลวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ทั้งข้อมูลเชิงพื้นที่ในการเกิดหมอกควันไฟป่า ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการรับสารพิษในหมอกควันเข้าไป ทั้งที่มีอาการเฉียบพลัน และมีโอกาสเป็นโรคเรื้อรัง รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย

จากการสอบถามปัญหาหมอกควันกับทางทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อมฯ และ น.ส.ธัญภรณ์ เกิดน้อย นักวิทยาศาสตร์ ประจำศูนย์วิจัยฯ ได้เดินทางไปวิจัยถึงผลกระทบกระเทือนจากปัญหาหมอกควัน โดยได้ออกไปตามอำเภอต่างๆ ที่ประสบปัญหารุนแรง ไม่ว่าจะเป็น อ.แม่แจ่ม อ.อมก๋อย และ อ.เชียงดาว ซึ่ง ผลการวิจัยพบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เขตนอกเมือง จะสูงกว่าพื้นที่ในเมือง 2-3 เท่า โดยเฉพาะที่ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว พบว่ามีค่าฝุ่นละอองสูงถึง 400 กว่าไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ 120 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ถือเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่เกิดหมอกควันไฟป่าที่แท้จริง ทางทีมวิจัยฯได้ทำการตรวจปัสสาวะผู้ใหญ่และเด็กผู้ที่อาศัยนอกเมืองยังพบอีก ว่าได้รับสารพิษจากการเผา หรือสาร PAH มากกว่าผู้ที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะจุดฮอตสปอตจะพบสารพิษมากกว่าถึง 13 เท่า

ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสฯได้เปิดเผยว่า เราได้ข้อมูลว่าในช่วงที่มีมลพิษขึ้น อาการทางเดินหายใจในเด็กที่อยู่นอกเมืองจะเพิ่มขึ้นเด่นชัดมาก แต่นี่คืออาการเฉียบพลัน แต่สิ่งที่เราไปตรวจปัสสาวะจะบ่งชี้ถึงโรคเรื้อรัง พบว่าสารที่เข้าไปสู่ในร่างกาย ที่เรียกว่า PAH เป็นสารที่มีการก่อมะเร็งได้ บ่งชี้เลยว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มลพิษสูง จะมีความเสี่ยงทั้งโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง คือเราตอบไม่ได้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นโรคมะเร็งเมื่อไหร่ แต่ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งขึ้นในอนาคต ซึ่งในเรื่องนี้ได้นำเสนอผล งานวิจัยแก่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผวจ.เชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยฯ พร้อมกับทำโครงการของบประมาณจากรัฐบาลในการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในทุกอำเภอ และแก้ไขปัญหาหมอกควันระยะยาว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปี 2555 ถึงปี 2559 รวมถึงลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในระดับตำบลเรื่องภัยที่มากับหมอกควัน

ทางด้าน น.ส.ธัญภรณ์ เกิดน้อย นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิจัยฯ ได้เปิดเผยว่าตนเพิ่งลงพื้นที่รอบนอกจากตัวอำเภอไปพบว่าในหลายอำเภอยังคงมีการเผาป่ากันอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม และล่าสุด อ.เชียงดาว ที่ทำเกษตรในพื้นที่สูงยังการเผาให้เห็นจำนวนมาก จึงน่าเป็นห่วงในเด็กที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจโรคหลอดเลือดที่จะได้รับสารพิษจากการเผาเข้าไปจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตและการหล่อเลี้ยงเลือดในเซลล์ของร่างกาย และเป็นสารก่อมะเร็งได้ ซึ่งในขณะนี้ทำเก็บตัวอย่างปัสสาวะของเด็กนักเรียนที่เข้าไปทำการตรวจไม่ว่าจะเป็นอมก๋อย และเชียงดาว โดยเฉพาะเชียงดาว ที่โรงเรียนมิตรมวลชน และโรงเรียนห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงใหม่ มีค่าฝุ่นละอองในอากาศสูงถึง 430 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตรายมาก จึงได้แนะนำให้ทางโรงเรียนมีการแจกหน้ากากอนามัยให้เด็กๆ ได้ใส่กันและอยู่ในห้องเรียนเปิดหน้าต่างให้น้อย สำหรับเรื่องที่มีการกังวลกันมากจากสภาพอากาศที่ในตัวเมืองเชียงใหม่ กับอำเภอรอบนอก ในตัวเมืองเป็นลักษณะแอ่งกระทะ ในตอนเช้าจะมีค่าปริมาณฝุ่นสูงมาก แต่ตอนบ่ายก็ต่ำลง และตามอำเภอรอบนอกแม้ค่าปริมาณฝุ่นจะหนาแน่นกว่าแต่สภาพเป็นดอยมีลมพัดตลอด ทำให้ค่าลดลงได้ แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็พอๆกัน

ไทยรัฐออนไลน์ 2 มีค 2555