ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดใจ"น.พ.วินัย"กับ"เก้าอี้"เลขาฯสปสช.(อีกรอบ?) ยกระดับกองทุน30บ.เท่าข้าราชการ  (อ่าน 874 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
นับถอยหลังอีกเพียง 31 วัน "นายแพทย์วินัย สวัสดิวร"เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) คนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 31 มีนาคม 2555

ส่งผลให้ขณะนี้ "เก้าอี้" ตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.คนใหม่"ร้อนระอุ"ขึ้นมาทันที ด้วยบทบาทที่ต้องรับผิดชอบบริหารงบประมาณกองทุนสุขภาพนับแสนล้านบาทต่อปี จึงถือเป็นหน่วยงานที่ช่วยสร้างฐานคะแนนเสียงให้กับฝ่ายการเมืองได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันหลายคนกำลังจับตาดูว่า ในโค้งสุดท้ายนายแพทย์วินัยจะประกาศลงชิงชัยในตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่ ที่สำคัญการสานต่อนโยบายยกระดับ"กองทุน30บาท"ให้ทัดเทียมกับกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โอกาสนี้"นายแพทย์วินัย"ได้มาเปิดใจกับ"มติชนออนไลน์"

@ช่วง 10 ปีในการบริหารงานมีเสียงสะท้อนทั้งชื่นชม และตำหนิ โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้ป่วยกว่าจะเข้าถึงแพทย์ได้ใช้เวลาเกือบ 10 ชั่วโมง แต่ได้พบหมอ2 นาที

 10 ปีที่ผ่านมา ขอพูดเรื่องดีก่อน เราได้ช่วยป้องกันประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องล้มละลายหรือยากจนปีหนึ่งประมาณ 80,000 ครอบครัว เราทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น จากผู้ป่วยเคยไปใช้บริการนอกโรงพยาบาลปีละ 100 ล้านครั้งทั่วประเทศ เป็น 170-180 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในเคยนอนโรงพยาบาลปีละ 2-3 คน ปีนี้เพิ่มเป็นเกือบ 6 ล้านคน

แต่ในส่วนมุมมองของหมอ และพยาบาลภาระกิจงานมากเป็นเรื่องสำคัญ โรงพยาบาลที่แออัด ห้องตรวจกับหมอที่มาตรวจน้อยกว่าคนไข้ ทำให้รอนาน ขณะที่เวลาได้พบแพทย์นิดเดียว เพราะขณะนี้ประชาชน ตอนนี้คนไทยไปใช้บริการที่โรงพยาบาลประมาณ 3 ครั้งกว่าต่อคนต่อปี  ถือว่าไม่มากหากเทียบกับประเทศ เช่น ไต้หวันประมาณ 14 ครั้งต่อคนต่อปี อังกฤษประมาณ 8 ครั้งต่อคนต่อปี สิงคโปร์ประมาณ  6-7 คนต่อครั้งต่อปี

แต่สัดส่วนระหว่างหมอกับคนไข้ไม่พอ  จำนวนหมอต่อการดูแลประชาชน หมอ 1 คนดูแลประชาชนมากกว่าประเทศข้างเคียงที่อยู่รอบบ้านเรา เพราะฉะนั้นการแก้ไข  เราไม่เคยคิดจะไปลดจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ ต้องเพิ่มการให้บริการ เรื่องนี้เรามีส่วนรับผิดชอบ แต่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ผมคิดว่าภาครัฐบาลเองต้องวางแผน 1.เพิ่มการให้บริการ  2.กระจายหมอพยาบาล ซึ่งกระจุกอยู่เมืองใหญ่ หรือในกรุงเทพ ให้ไปอยู่ในที่ที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น ในภาคอีสาน ไปขยายหน่วยบริการในจังหวัดที่มีประชาชนจำนวนมาก เรื่องเหล่านี้ต้องแก้ไขในระบบใหญ่โดยรวม แต่ไม่เกิดขึ้นง่าย ต้องใช้องค์ประกอบที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน เช่น การเพิ่มคน ต้องไปขออัตรากำลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)บุคลากรในด้านสาธารณสุขสัดส่วนตอนนี้มีปัญหา

ขณะนี้ภาระงบประมาณของรัฐบาลเป็นค่าจ้างข้าราชการมากอยู่แล้วอาจจะมีขบวนการที่จะใช้องค์ประกอบอื่นมาช่วย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งเรื่องการจัดบริการ ต้องเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการให้บริการ เป็นเรื่องของกลไกที่ต้องจัดการ การจะทำให้ลดการรอคอยให้หมอมีเวลาให้กับคนไข้มากขึ้น เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาระดับประเทศ สูงกว่าระดับสำนักงาน

@การที่มีคนป่วยไปใช้บริการเพียง 3 ครั้งต่อปี ถือว่าน้อยอาจมาจากสาเหตุทนไม่ไหว รอคอยไม่ได้ เลยไปโรงพยาบาลเอกชน ไม่อยากใช้บริการภาครัฐ

อันนี้มีแน่นอน เราเคยไปดูตัวเลขว่า คนที่เจ็บป่วยไปใช้สิทธิ์หรือไม่ โดยการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติทุกปีพบว่า คนในชนบทส่วนใหญ่ ยังไปใช้บริการตามสิทธิ์ของตัวเอง แต่คนในเมือง ในกรุงเทพหลายส่วนไปใช้บริการของคลินิก โรงพยาบาลเอกชน และจ่ายเงินเอง แต่ไม่ทราบว่าประชาชนไปใช้บริการคลินิกกี่ครั้ง การสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติได้มีการสอบถามด้วยว่า เมื่อเจ็บป่วย ประชาชนใช้วิธีซื้อยากินเอง หรือไปหาหมอ มีตัวเลขส่วนหนึ่งสูงกว่า 3 ครั้งแต่ไม่มาก

@รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)ขัดแย้งกับนโยบายให้ทุกคนมีสิทธิด้านสุขภาพและเข้าถึงบริการหรือไม่ เพราะจะก่อให้เกิดการดึงตัวหมอ ไปรองรับMedical Hubจะทำให้หมอยิ่งขาดแคลนหรือเปล่า
 
อันนี้เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างโรงพยาบาลศิริราชโรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังทำ Medical Hub ผมว่า เรื่องนี้รัฐบาลเองอาจจะต้องมาวางนโยบายว่า ถ้าสมมุติโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ โรงเรียนแพทย์ในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น ศิริราช ,รามาธิบดี ,จุฬาลงกรณ์ , ธรรมศาสตร์  ,วชิระ ,ศรีนครินทร์วิโรฒ

รวมถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกรมการแพทย์ เช่น ราชวิถี , นพรัตน์ หรือในต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น เชียงใหมที่กำลังทำ หลายที่ที่มีโรงเรียนแพทย์

นโยบายตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องมองให้รอบด้าน ถ้ามองมุมมองด้านศรษฐหกิจอย่างเดียวในการหารายได้เข้าประเทศก็เป็นเรื่องที่ถูก แต่ผมคิดว่า เราคงต้องมองถึงผล

กระทบ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการที่จะทำ เท่าที่ได้ยินข่าวมามีความคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการที่มีคนต่างชาติมารับบริการในประเทศไทยปีหนึ่งมากกว่าแสนล้านบาท

จะต้องใช้แรงงานหมอพยาบาลในการจัดบริการสักกี่คนกว่าจะได้เงินแสนล้านบาทมันมหาศาล

 ยกตัวอย่าง บริการให้ได้เงิน 1 ล้านบาท ผู้ป่วยอาจต้องมานอนโรงพยาบาลประมาณ 10 วัน   หากบริการให้ได้เงินแสนล้านบาทแสดงว่า ผู้ป่วยต้องมานอนโรงพยาบาลกี่วัน ต้องใช้หมอ และพยาบาลจำนวนมาก ดังนั้น หากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายนี้ต้องมีกลไกในการที่จะหาวิธีในการสนับสนุนให้มีการผลิตแพทย์ พยาบาล แล้วมีเงินจ่ายจูงใจให้ไปอยู่ในชนบทรักษาคนที่มีฐานะยากจน เป็นประเด็นที่ผมอยากจะฝาก ไม่อย่างนั้นผลกระทบระยะยาวเราจะมีปัญหากับคนไทยแน่นอน

ที่ผมเป็นห่วงมากเพราะระบบ30 บาทเป็นระบบที่ดูแลคนจนเป็นส่วนใหญ่  ผมไม่ได้ขัดค้านนโยบายเรื่อง Medical Hub เพียงแต่ว่า อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมองให้รอบด้านว่า กลไกที่เกิดขึ้นได้ผลดีเชิงสถิติ แต่ถ้ามีผลกระทบต่อประเทศชาติ ต้องหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ

@ทุกวันนี้ยังสืบทอดเจตนารมย์ของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช. คนแรก ผู้บุกเบิกผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เหมือนเดิมหรือไม่

เจตนารมย์ของหมอสงวนคือ ไม่อยากให้คนไทยยากจนหรือล้มละลายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย อยากจะทำให้ประชาชนเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมีที่ไปใช้บริการ เป็นมะเร็งต้องได้รักษาโรคมะเร็ง บริการที่ประชาชนได้รับต้องมีคุณภาพ การทำงานพวกนี้ต้องการให้มีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราถือว่าได้เดินนโยบายไปตามเจตนารมย์ของนายแพทย์สงวน
 
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากนับจากปีพ.ศ.2544 ที่นายแพทย์สงวนเริ่มต้นไว้จนถึงปีนี้ถือว่าเราก้าวมาไกลพอสมควร แต่สิ่งที่สปสช.ดูแลเป็นกลไกทางด้านการเงิน มีเงินอย่างเดียวไม่เกิดการบริการ ต้องมีคนไปให้บริการ มีระบบ มีโรงพยาบาล มีซัพพลายเชนต่าง ๆ ในการที่จะไปทำให้ประชาชนเกิดการรับบริการ เพราะฉะนั้น

ตรงนี้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย แต่มีความพยายามที่จะเดินต่อ แต่เป็นเป้าหมายเป็นอุดมการณ์ที่น่าจะสานต่อ

@ มีความพยายามในการรวม 3 กองทุนสุขภาพเข้าด้วยกันคือ สำนักงานประกันสังคม(สปส.)-สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ดูแลกองทุน 30 บาท และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งดูแลโดยกรมบัญชีกลาง การจะทำให้ราคายา เครื่องมือทางการแพทย์ หรือมาตรฐานทั้งหมดเท่ากันได้หรือไม่ ได้เห็นเมื่อไหร่

คำว่ารวม 3 กองทุน ผมฟังดูเหมือนจะยุบ 3 หน่วยงานเข้าเป็นกองทุนเดียว ต้องบอกว่า ขณะนี้ไม่มีความตั้งใจที่จะยุบรวม แต่ตั้งใจที่จะทำให้มีความเท่าเทียมกัน หมายความว่า สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับทั้ง 3 กองทุน ต้องมีสิทธิประโยชน์หลักเท่าเทียมกันก่อน อาจจะไม่เท่าทั้งหมด แต่อย่างน้อย 1.สิทธิประโยชน์หลักที่รัฐบาลจัดให้ต้องได้เท่ากัน  2.สิทธิในการเลือกใช้บริการเวลาเจ็บป่วยต้องใกล้เคียงกัน การจ่ายต้องใกล้เคียงกัน
 
ขณะนี้เราใช้คำว่า รัฐวิสาหกิจ รวมถึงระบบราชการต้องพยายามทำให้สอดรับกัน(Harmonize) แต่การบริหารยังให้สำนักงานประกันสังคมดูแลประกันสังคม กรมบัญชีกลางดูแลสวัสดิการข้าราชการ แต่กติกาในการจ่าย วิธีการจ่าย อัตราในการจ่าย 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมาช่วยกันเจรจาหารือกันว่า  จะตั้งสิทธิประโยชน์ใหม่อย่างไร การจัดการ การจ่ายอย่างไร ความแตกต่างจะพยายามค่อย ๆขยับให้มาใกล้กัน แต่จะขยับยุบมาทีเดียวเลยทันทีคงไม่ได้ จะมีปัญหาในเรื่องการทำความเข้าใจของตัวข้าราชการเอง และประกันสังคมเอง ผมคิดว่าให้เวลา ไม่อย่างนั้นจะเกิดแรงต่อต้าน


สิ่งที่ 3 กองทุนจะร่วมมือกันทำ และมีความเป็นไปได้ ไม่กระทบโดยตรงต่อการบริการ เช่น การซื้อยา การตั้งราคาพวกเครื่องมือแพทย์ อันนี้จะมีผลกระทบต่อบริษัทยา หรือตัวโรงพยาบาล อันนี้เราทำได้โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชนที่มาใช้บริการ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ 3 กองทุนจะร่วมมือกัน

ผมยกตัวอย่างความแตกต่างที่ผ่านมา อาจมีผลกระทบต่อการให้บริการของหมอ และประชาชน สมมุติคนไข้กองทุนสุขภาพของสปสช.ไปผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง กับข้าราชการไปผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเดียวกัน  ป่วยโรคเดียวกัน ใช้ห้องผ่าตัดเดียวกัน หมอทีมเดียวกัน ทางสปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลได้ 9,500 บาท กรมบัญชีกลางจ่ายได้ 18,000 บาท นี่คือสิ่งที่มีความแตกต่างระหว่าง 2 หน่วยงาน ประชาชน และข้าราชการไม่ทราบ นี่เป็นการจ่ายกันเบื้องหลังฉาก

แต่ว่าเรามองไส้ติ่งใครป่วยก็ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นโรคที่รอการรักษาได้ เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นใช้หมอ ใช้ห้องผ่าตัดเดียวกัน ใช้เครื่องมือเหมือนกัน สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลได้ประมาณ 109,000 บาท แต่กรมบัญชีกลางจ่ายได้ 2 แสนกว่าบาท ต่างกันเท่าตัว  เราเกรงว่า โรคที่มีคิวรอได้ ถ้านานไป โรงพยาบาลอาจเลือกไปผ่าตัดให้ผู้ป่วยที่ใช้สวัสดิการข้ราชการ หรือใช้ประกันสังคมก่อน

อันนี้จึงเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้การจ่ายใกล้เคียงกัน ผมคงไม่ได้ขยับไปจ่ายเท่ากับกรมบัญชีกลาง แต่จะร่วมกันหาต้นทุนที่แท้จริงว่า จำนวนเงินที่ผมจ่ายถือว่าได้คำนวณตามต้นทุนที่ได้มีงานวิจัยมารองรับอยู่แล้ว กรมบัญชีกลางบอกว่า จ่ายตามที่โรงพยาบาลเรียกเก็บ แต่ไม่ว่าสปสช.จ่ายหรือว่า กรมบัญชีกลางก็นำเงินภาษีมาจ่าย เพราะฉะนั้นแนวคิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องการทำให้สอดรับกัน ควรจะจ่ายอัตราเดียวกันเลยดีกว่า ข้างหน้าอาจจะใช้เวลาหน่อย

ที่นี้อัตราเดียวเท่าไหร่ อัตราที่สปสช.จ่าย หรือที่กรมบัญชีกลางจ่าย หรืออยู่ระหว่างนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ ร่วมกันจัดทีมวิจัยเป็นทีมเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และหาต้นทุนที่แท้จริง คือว่า ผมคิดว่า นั่นเป็นกลไกหลักของผม  ใช้ต้นทุนที่จ่ายตามราคาที่เรียกเก็บ ซึ่งในขบวนการให้กำไรส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่กำไรเท่าตัว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นให้ระบบมันมีปัญหาในแง่ของการคิดต้นทุนการเรียกเก็บได้เห็นแน่ ทิศทางมันชัดเจน นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกฯทราบว่า นี่เป็นความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ และมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
กองทุน 30 บาทเริ่มต้นเปลี่ยนความรู้สึกจากคนไข้"อนาถา"เป็น"สิทธิ" ลองนึกถึงสมัยก่อน เวลาชาวไร่ชาวนาจะไปโรงพยาบาลกำเงิน 100 บาทแน่นจนเปียกเหงื่อ เพราะบางคนกว่าจะหาเงินได้ 100 บาทไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็ไม่รู้ว่า หมอจะให้ยา และคิดราคาเท่าไหร่ ถ้า 100 บาทไม่พอจายทางฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลจะส่งคนไข้ไปเจรจากับนักสังคมสงเคราะห์ว่า คุณลุงมีเงินเท่าไหร่ หากมี 100 บาทจะเรียกเก็บ 80 บาทให้เหลือ 20 บาทกลับบ้าน หรือหากค่ายา 500 บาท เงินอีก 420 บาทที่ไม่มีจ่ายต้องให้หมอเซ็นชื่อรับรองเข้าระบบ"อนาถา"

กองทุน 30 บาททำให้เปลี่ยนความรู้สึกจากระบบคนไข้"อนาถา" ซึ่งส่วนตัวผมมองคำว่า “อนาถา” มาจากรากศัพท์คำว่า “อเนจอนาถ” มันไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มัน"น่าอนาถ" พอมาเปลี่ยนเป็น”สิทธิ”ดีกว่ามาก ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จะถามผู่ป่วยว่า "ลุงใช้สิทธิอะไร"

10 ปีที่ผ่านมาถือว่า ประชาชนรับรู้ หรือตระหนักว่า นี่คือ"สิทธิขั้นพื้นฐาน"ตามระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนยังรู้สึกว่า "สิทธิ" และ"ศักดิ์ศรี"ความเป็นมนุษย์ยังน้อยกว่า"ข้าราชการ" การดำเนินนโยบายจากนี้ไปจะมีการยกระดับ มีการขยับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกันในฐานะเป็นคนไทยด้วยก

@ช่วง10ปีที่รับตำแหน่งต้องดูแลคุณภาพการรักษา ดูแลภาคประชาชน อีกส่วนต้องถือไม้เรียวกำกับโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน ซึ่งมีความไม่พอใจเกิดขึ้นบ้าง

คิดว่ามีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ทั่วไปผมคิดว่า ผมโชคดีเคยอยู่ภาคผู้ให้บริการ เราเข้าใจถึงกลไกความขาดแคลน เรารู้ว่า ที่มีปัญหาขณะนี้ไม่ใช่ความผิดของหมอหรือพยาบาลที่ให้บริการ  เขาทำงานหนักอยู่ เราเข้าใจ เราเห็นใจคนทำงาน  เวลาเกิดเหตุการณ์ข้อขัดแย้งระหว่างคนไข้กับหมอ ส่วนใหญ่เราใช้กลไกเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นหลัก

ยกตัวอย่างการใช้มาตรา 41 ไม่ใช่พิสูจน์ว่า หมอผิดหรือหมอถูก เป็นกลไกของการไกล่เกลี่ย เรารู้ว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดแคลน เราเองก็มีส่วนที่จะไปช่วยผลักดันให้รัฐบาลทราบถึงปัญหา และพยายามเพิ่มงบประมาณ ในส่วนนี้ทางผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขทราบว่า ทางสปสช.ทำ

แต่ที่รู้สึกว่า ไม่ดี เพราะเวลาเหนื่อย มีปัญหาอะไรประชาชนจะไปเรียกร้อง และสปสช.แสดงบทบาทเป็นตัวแทนประชาชน ในการจัดการก็ต้องเข้าใจ ผมอธิบายให้เข้าใจว่า นั่นเป็นบทบาทที่ผมต้องทำ แต่อะไรที่เราสามารถเจรจากับหน่วยบริการในภาคประชาชนให้เข้าใจว่า สถานการณ์ในประเทศไม่ได้มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมที่เราจะสามารถได้อย่างที่เราคาดหวังไปทั้งหมด

ผมคิดว่าเป็นกลไกที่เราพยายามทำความเข้าใจทั้งสองส่วน ไม่ได้ไปเอาใจใคร แต่ประชาชนต้องยอมรับประเทศไทยเราเป็นอย่างนี้ มีหมอจำนวนเท่านี้ มีโรงพยาบาลขนาดนี้ มีเวลาให้คนป่วยได้เท่านี้ ถ้าใช้เวลาตรวจผู้ป่วย 1 คนใช้เวลา 10 นาที มีห้องตรวจ 10 ห้อง มีผู้ป่วยรออยู่อีกหลายร้อยคน ในเวลา  1 ชั่วโมง ตรวจผู้ป่วยได้ 6 คน 3 ชั่วโมง ตรวจได้ 18 คน มันเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่า ประชาชนหลายส่วนก็เข้าใจ คนส่วนใหญ่ที่ทำงานในโรงพยาบาลก็เข้าใจ คนที่ไม่มีปัญหาไม่พูด คนที่มีปัญหามาพูด เราเลยรู้สึกมีปัญหา แต่ทั่วไปไม่มีปัญหา

@ตำแหน่งเลขาฯ กำลังจะครบวาระ จะลงสมัครอีกสมัยหรือไม่ เพื่อจะดูแลเงินกองทุนเป็นแสนล้านบาท

  ภาระกิจยังมีต้องทำ แต่การตัดสินใจคงต้องดูทิศทางโดยรวม ทางคณะกรรมการที่คัดเลือกเข้าใจ และเห็นศักยภาพของเราหรือไม่ ผมเองก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจ ส่วนทีมงานน้อง ๆ ที่ทำงานมาด้วยกันก็ถาม ทั้งมีความรู้สึกเป็นห่วง สุดท้ายต้องประเมิน

@เสียงสนับสนุนเลขาฯจากกลุ่มแพทย์ชนบท และจากกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ผมไม่ทราบว่าเป็นเสียงสนับสนุนแต่ว่าผมเข้าใจว่าเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา เราได้รับการแต่งตั้งมา เราพยายามทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการพิทักษ์ผลประโยชน์ ตัวแทนของภาคประชาชนคงเห็นบทบาทนี้ชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราทำหน้าที่นี้ ส่วนแพทย์ชนบทเอง ผมคิดว่า ในส่วนหน่วยบริการโดยส่วนใหญ่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสปสช.อย่างที่ผมเรียนมีบางส่วนที่รู้สึกว่า เวลามีปัญหาในกระบวนการ เจรจาต่อรอง ทำไมไปยืนอยู่ข้างประชาชนเป็นหลัก เขาไม่เข้าใจ แต่อย่าลืมทั้งภาคประชาชน และกลุ่มแพทย์ชนบทไม่ได้เลือกผม (หัวเราะ)
@ คำถามสุดท้ายมีความพยายามของกลุ่มทุนที่จะมาแทรกแซง

ผมไม่มองโยงใยขนาดนั้นคนที่เข้ามาจะเป็นอย่างไรในฐานะเป็นสำนักงานไม่ว่า ใครจะเป็นคณะกรรมการ มีการออกแบบมาให้ตัวที่ควบคุมเรา บอร์ดคุมเชิงนโยบาย บอร์ดต้องรับนโยบายจากรัฐบาลมาบวกกับดูกฎหมายต่าง ๆ  มากำหนดนโยบายให้สปสช.ทำ ทางสปสช.มีหน้าที่แปลงนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ถ้าสมมุติกลไกเป็นแบบนี้ ผมมั่นใจว่า นโยบายรัฐบาลชุดนี้เป็นนโยบายที่สนับสนุนให้มีการพัฒนาโครงการ 30 บาท ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ และสังคมเฝ้ามองอยู่ผมมั่นใจว่า กลไกคงจะเดินไปข้างหน้า เวลากระบวนการในการประชุมจะมีการแสดงความคิดเห็นเป็นธรรมดา แต่ในฐานะที่เราเป็นองค์กรแบบนี้เราต้องมีหน้าที่ในการปรับตัวให้ไปกับการทำงานของบอร์ดได้ ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน

@ต้องไปในทิศทางเดียวกับการเมืองได้

ผมคิดว่าต้องไปทิศทางเดียวกับรัฐบาล ซึ่งกำหนดโดยทางการเมืองในเชิงนโยบาย


มติชนออนไลน์ 29 กพ 2555