ผู้เขียน หัวข้อ: เกิดเป็นหมอ  (อ่าน 10067 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
เกิดเป็นหมอ
« เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2012, 22:37:12 »


ปีนี้เป็นปีที่ ๒ ที่ผู้เขียนในฐานะที่เป็นกรรมการแพทยสภาคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้เขียนบทความเพื่อประกอบลงในหนังสือที่แพทยสภาทำแจกสำหรับ “คุณหมอใหม่” ที่กำลังเริ่มต้นชีวิตจริง ประสบการณ์ตรง จากการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนไทยทั้งประเทศ เชื่อว่าคงมีบทความของท่านกรรมการแพทยสภาและอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ที่เขียนบทความหนัก ๆ สำหรับการเริ่มต้นชีวิตแพทย์ให้ได้อ่านในหนังสือเล่มนี้แล้ว ปีที่แล้วผู้เขียนได้ลงบทความที่มาคิดในปีนี้ดูแล้ว พบว่าน่าจะหนักเกินไปสำหรับแพทย์จบใหม่  อีกทั้งผู้เขียนนั้นน่าจะเป็นกรรมการแพทยสภาที่อายุน้อยที่สุด จึงขอเขียนบทความเบา ๆ ประเภทอ่านไปเรื่อย ๆ น่าจะดีกว่า
   
(๑) หนังสืออ่านนอกเวลา

   เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน ครั้งที่ผู้เขียนจบแพทย์ใหม่ ๆ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “แด่หมอใหม่” มีบทความเป็นประโยชน์มากมาย ผู้เขียนอ่านทุกหน้า เพราะบทความในหนังสือล้วนแต่แนะนำถึงวิธีปฏิบัติตัวสำหรับการทำงานในฐานะแพทย์เต็มขั้น ซึ่งต่างกันมากกับการเป็นนักศึกษาแพทย์หรือextern   บทความส่วนใหญ่เป็นการให้กำลังใจ ให้ข้อคิด วิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งความรู้เบื้องต้นของการเป็นแพทย์ จะว่าไปแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนหมวดวิชาหนึ่งของผู้ที่จะจบกฎหมายและบังคับเรียนสำหรับนักศึกษานิติศาสตร์คือ “ประสบการณ์วิชาชีพกฎหมาย” เพียงแต่ของแพทย์เรามักเน้นไปในเรื่องการปฏิบัติงานจริง ซึ่งก็คือชีวิตของการเป็น extern นั่นเอง   

   ส่วนหนังสือเล่มแรกซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับแพทย์เท่าที่ผู้เขียนจำได้เพราะมีเนื้อหาประทับใจและอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จูงใจให้เลือกสอบเข้าคณะแพทย์คือ หนังสือ “เกิดเป็นหมอ” เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยที่ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย จะว่าไปแล้วสมัยที่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่โรงเรียนนั้น มีหนังสืออ่านนอกเวลาหลายเล่มทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมากมายที่ครูบังคับให้อ่านเองเพื่อทำข้อสอบในแต่ละเทอม โดยไม่มีชั่วโมงเรียนเฉพาะ เท่าที่จำได้คือ ในหมวดภาษาอังกฤษ คือ “David copperfield”โดย Charles Dicken, “Magic slippers”, “Robinson Cruesoe”โดย Daniel Defoe, “The adventure of Gulliver”  ส่วนภาษาไทยเท่าที่จำได้คือ “อยู่กับก๋ง” โดย หยก บูรพา เล่าเรื่องความกตัญญู, “คนอยู่วัด”โดย ไมตรี ลิมปิชาติ เล่าเรื่องชีวิตต้องสู้, “เรื่องของน้ำพุ” ซึ่งเขียนจากเรื่องจริงของ คุณ สุวรรณี สุคนธา เล่าถึงการเสียชีวิตของลูกชายที่ติดยา คือ วงศ์เมือง นันทขว้าง ซึ่งเรื่องนี้ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์และทำให้ คุณ อำพล ลำพูน ซึ่งรับบทเป็นน้ำพุดังเป็นพลุแตก โดยมีคุณ ภัทราวดี มีชูธน รับบทเป็นแม่ของน้ำพุ  ถ้าจำไม่ผิดแม้แต่คุณสุวรรณีเองก็จบชีวิตลงด้วยน้ำมือของโจรยาเสพติดในอีกหลายปีหลังการเสียชีวิตของบุตรชาย,   “มอม” โดย มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเรื่องหมาไทยพันธ์บางแก้วที่ต้องพลัดพลาดจากเจ้าของไปอยู่กับนายใหม่ แต่สุดท้ายได้มาเจอกับนายเก่าที่ตกอับกลายเป็นโจรมาขึ้นบ้านนายใหม่

   กลับมาที่เรื่อง “เกิดเป็นหมอ” ผู้เขียนคือ นพ. วรวิทย์ วิศิษฐ์กิจการ เนื้อหาเป็นจดหมายที่ผู้เขียนซึ่งทำงานอยู่ในต่างจังหวัดเขียนจดหมายไปยังญาติที่สอบเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ได้ โดยเล่าเรื่องการทำงานของแพทย์ในต่างจังหวัด เนื้อหาตอนหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้จนถึงวันนี้คือ ผู้เขียนบรรยายถึงคุณสมบัติสำคัญของการเป็นแพทย์ผ่าตัดว่าต้องมี ๓ อย่างคือ “Woman’s hand…Lion’s heart…Eagle’s eyes” ซึ่งจากประสบการณ์การเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทของผู้เขียนมากว่า ๒๐ ปี ขอตีความในทัศนะของตนเองคือ มีทักษะในการทำงานละเอียดแบบผู้หญิง (skill) มีจิตใจที่มั่นคง กล้าหาญแต่ไม่บ้าบิ่น ตัดสินใจอย่างถูกต้อง (determined) และ ตาที่แหลมคมช่างสังเกต (sharp)  และหากนำไปเสริมกับภาษิตของฝรั่งคือต้องมี ปัญญาที่แหลมคม(clever)ดั่งเช่น Aesculapius (หากจบเป็นแพทย์แล้วไม่รู้จัก Aesculapius ขอให้รีบไปปรึกษาศาสตราจารย์Gooโดยด่วน)   Aesculapiusหากเทียบกับเวอร์ชั่นแบบไทย ๆ ก็คงประมาณกับท่าน “ชีวกโกมารภัจจ์” นั่นเอง (อย่าบอกว่าไม่รู้จักท่านนี้อีกคน)   หนังสือเล่มนี้บรรยายสภาพการปฏิบัติงานในชนบทเมื่อสามสิบปีก่อนหน้านี้ได้เป็นอย่างดี ความบางตอนว่า

เล็ก   น้องรัก
 
         เช้าวันนี้พี่ต้องรับคนไข้หนัก คนเจ็บถูกยิงด้วยปืนลูกซองเพราะมีเรื่องทะเลาะกัน  เมื่อมาถึงสถานีอนามัยนั้นคนไข้ก็ร่อแร่มากแล้ว พี่สั่งให้เตรียมเตียงผ่าตัดทันทีแต่ไม่ทันจะลงมือ  คนเจ็บก็ขาดใจตายเสียก่อน   พี่เสียใจมาก  นี่นับเป็นคนไข้รายที่สองของพี่ที่ต้องตายไป   ตั้งแต่มาอยู่ที่อนามัย    แม้พี่จะรู้ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยแต่ก็อดเสียใจไม่ได้     เป็นธรรมดาของหมอที่เห็นคนไข้ของตัวมาตายไปต่อหน้า   เล็กต้องจำไว้ว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด     แพทย์ต้องทำทุกวิถีทางที่จะรักษาชีวิตคนไข้ให้ได้  พี่เศร้าใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่ามีคนไข้ต้องตาย   เพราะหมอไม่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากไม่มีเงินค่ายา    น่าแปลกที่คนเราเห็นเงินสำคัญกว่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

............. คืนแรกที่มาถึงก็ถูกตามตัวไปช่วยทำคลอดเพราะแม่เด็กเพ้อและเป็นท้องแรกแต่สุดท้ายก็ปลอดภัยทั้งแม่และเด็กและได้พักที่บ้านพักใกล้สถานีอนามัยซึ่งอยู่ห่างจากโรงพยาบาลในตัวเมือง ๗o กิโลเมตรแต่ก็ยังดีที่สถานีอนามัยมีรถJeepให้ ๑ คันซึ่งตอนนี้กำลังหัดขับเองเพราะเกรงใจลุงช่วง
.............. เมื่อคืนวานเวลาตีสองมีคนเจ็บท้องได้แปดเดือนและมีอาการตกเลือดมากจึงได้ผ่าตัดเพราะเป็นทางเดียวที่จะช่วยชีวิตทั้งแม่ทั้งลูกได้ ครึ่งชั่วโมงก็เรียบร้อย.........ยังไม่ทันได้นอนก็มีคนไข้อาการหนักโดนงูกัดมาจึงจัดการเอาพิษงูออกและได้ส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลเพราะสถานีอนามัยไม่มีเซรุ่มหลังจากนั้นก็เข้านอนได้ชั่วโมงกว่าๆก็ต้องตื่นมาทำงาน และผู้ช่วยก็มารายงานว่าผู้ป่วยที่โดนงูกัดเสียชีวิตไปแล้วและรู้สึกเสียใจ.......ตอนเย็นจึงเดินไปคุยกับพระธุดงค์ที่มาปักกลดในหมู่บ้าน


   อ่านแล้ว น้อง ๆ ที่ ณ วันนี้ได้ก้าวเท้าออกมาจากโรงเรียนแพทย์ ออกจากภายใต้ร่มเงาของครูบาอาจารย์ เปลี่ยนคำนำหน้าจากคำว่า “นักศึกษาแพทย์” กลายเป็น “แพทย์” หรือ “แพทย์หญิง”  จากวันที่ต้องคอยหลิ่วตามองอาจารย์ว่าเห็นด้วยกับorderที่เราสั่งลงในchartผู้ป่วยหรือไม่ กลายเป็นมีพยาบาลคอยเดินตามและหลิ่วตามองเรา เพราะเกรงใจ“หมอใหญ่”คนใหม่ว่าจะสั่งorderอะไรบ้าง ความกล้า ๆ กลัว ๆ จะค่อย ๆ หายไปเมื่อปฏิบัติงานนานวันเข้า


(๒) ระลึกถึงความตายสบายนัก

   จากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ได้อ่านก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงที่เรียนแพทย์ตลอด ๖ ปี น้อง ๆ คงไม่ค่อยมีเวลาอ่านมากมายเหมือนก่อนเข้าคณะแพทย์ หากต้องการคลายเครียด หนังสืออ่านนอกเวลาอาจเป็นนิยาย (สำหรับว่าที่แพทย์หญิง) หรือ กำลังภายในสะท้านยุทธภพ (สำหรับว่าที่แพทย์ชาย)   จะได้อ่านเต็มที่อีกครั้งก็ตอนที่ตัดคำนำหน้าที่ว่า “นักศึกษา” ออกไป เหลือแต่คำว่า “แพทย์” เท่านั้น  หนังสืออ่านนอกเวลา นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นคงเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคตามสมัย แต่เนื้อหาคงไม่ต่างกัน น่าจะเน้นไปที่การคลายเครียดจากภาระความรับผิดชอบประจำวัน ความเครียดเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องความเป็นความตายของคนไข้ที่เรารับไว้รักษา  เชื่อว่าทุกคนคงต้องมีผู้ป่วยรายแรกที่จากไปภายใต้การรักษาอย่างสุดความสามารถของตนเองแล้ว  สำหรับผู้เขียนจำได้ว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ ๔ ที่ตึก ๘๔ ปีชั้น ๓ ซึ่งสมัยนั้นเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง  (นอกเหนือจากตึก หรจ. หรือตึก ปาวา) ผู้ป่วยรายนั้นเป็นหญิงเป็นโรคไตระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยการทำ peritoneal dialysis ประกอบกับโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค สุดท้ายในวันที่ผู้เขียนอยู่เวรร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน(ซึ่งปัจจุบันก็เป็นแพทย์อาวุโสไปแล้ว) ผู้ป่วยรายนี้เกิดภาวะcardiac arrest จำได้ว่าพยาบาลตามเราไปCPR    ผู้เขียนกับเพื่อน ๆ ทั้งที่ไม่ได้อยู่เวรและอยู่เวรต่างแห่แหนกันมาช่วยทำCPR ตามประสามือใหม่หัดขับ ไม่กล้าทำเองคนเดียว  ทำอยู่นานก็ไม่สำเร็จ พี่residentก็เข้ามาช่วยจนสุดท้ายบอกว่าไม่ไหวและประกาศเวลาตาย ความรู้สึกของเรา ณ เวลานั้นคือทำไมพี่ ๆ หยุดการทำCPR เร็วจัง ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วทำCPRเป็นชั่วโมง  ทำไมถึงไม่พยายามมากกว่านี้ ทำไมปล่อยให้คนไข้จากเราไปต่อหน้าต่อตา เมื่อกี้ยังคุยกันได้อยู่เลย ลูก ๆ คนไข้ก็เอาของกินมาฝากให้บ่อย ๆ  แต่ทุกวันนี้หลังจากผ่านความเป็นความตายของคนไข้มามากมาย ประกอบกับสาขาที่ทำงานก็เกี่ยวข้องกับ life and death โดยตรง และหลายรายมักเป็น sudden death การประกาศภาวะสมองตายกลายเป็นเรื่องปกติ ตัดใจได้เร็ว ปล่อยวางได้เร็วขึ้น จนปัจจุบันพบว่า “มรณานุสติ” ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนั้นเป็นยิ่งกว่าความจริง เป็นความจริงที่ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ตามที่เราสวดมนต์ว่า “อกาลิโก” จริง ๆ ดังนั้นหากมีเวลาว่างจากงานการที่ทำ หากไม่รู้ว่าจะทำอะไรขอให้ลองหาเวลาไปอ่านหนังสือนอกเวลาประเภทนี้บ้าง จะช่วยให้เราต่อสู้กับชีวิตเครียด ๆ ได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย หนังสือที่ผู้เขียนแนะนำเป็นพิเศษคือ “ระลึกถึงความตายสบายนัก” โดยพระ ไพศาล วิสาโล, “เข็มทิศชีวิตเล่ม ๑” โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง, และ “ชวนม่วนชื่น” โดยพระอาจารย์ พรหมวังโส  ทั้ง ๓ เล่มนี้หากหาซื้อไม่ได้ก็มีให้download ทั้งในรูปแบบของ pdf และ mp3 โดยไม่น่าจะผิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เพราะเข้าใจว่าผู้เขียนทั้งสามท่าน ยึดถือคติที่ว่า  “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”

(๓) เวลาผ่าน...คนเปลี่ยน

   ย้อนกลับไปที่หนังสือ “เกิดเป็นหมอ” จะเห็นว่าความภูมิใจสำคัญของคนที่มาเป็นแพทย์ก็คือ การต่อสู้ การยื้อยุด กับมัจจุราช ได้สำเร็จ สามารถดึงผู้ป่วยให้กลับมาอยู่กับญาติพี่น้อง สามารถส่งผู้ป่วยกลับบ้านปัจจุบัน ไปดูแลครอบครัวต่อได้  ผู้ป่วยเหล่านี้จะเป็นยิ่งกว่าโล่ที่ตั้งตามโต๊ะทำงานหรือประกาศนียบัตรสารพัดที่ได้จากมหาวิทยาลัยหรือdiplomaจากต่างประเทศ เพราะเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติตัวเป็น ๆ สำหรับคนที่เรียกตนเองว่า “แพทย์” โดยไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวป่าวประกาศให้ใครรู้ ไม่ต้องมีการออกหน้าออกตา เชิดชูเกียรติโดยหน่วยงานหรือองค์กรไหน  หากวันใดที่เลิกรักษาผู้ป่วยแล้วไปทำงานบริหาร น้อง ๆ จะไม่มีวันได้ความรู้สึกนี้อีกเลย และไม่ว่างานใหม่ที่ไปทำจะประสบความสำเร็จแต่ไหน มีเงินทองมากมายแค่ไหน มีคนแห่แหนล้อมหน้าล้อมหลัง สรรเสริญเยินยอมากเท่าใด ก็ไม่มีวันเทียบเท่าได้กับความรู้สึกเช่นนี้ เหตุนี้กระมัง จึงเป็นเหตุผลที่มีคนอธิบายว่า คนที่มาเป็นแพทย์ในชาตินี้ (หากนับถือพุทธศาสนา) ก็เพราะเคยได้อธิษฐานจิตไว้ก่อนหน้าว่าขอบำเพ็ญบุญเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์สักครั้งในสังสารวัฏ

   เมื่อผู้ป่วยเหล่านี้หายจากโรค อย่างน้อยก็มักกลับมาขอบคุณเรา ที่มากหน่อยก็อาจมีสินน้ำใจทั้งข้าวของเงินทองหรือแม้แต่ผลไม้มาใส่กระเช้าเล็ก ๆ มาฝาก รายที่ไม่หาย ก็มักจะขอบคุณแพทย์อยู่ดีที่ทำเต็มที่แล้ว  ผู้เขียนมีเพื่อนสนิทที่มิใช่แพทย์ซึ่งให้ข้อคิดมากว่า “ไม่มีอาชีพอะไรที่เหมือนแพทย์อีกแล้ว อาชีพอื่นล้วนแต่ต้องไปง้องอนเขา ต้องเอาเงินเอาของไปให้เขา เพียงเพื่อให้ได้งาน เมื่อได้งานแล้วต้องเอาเงินไปจ่ายทั้งบนและใต้โต๊ะอีกเรื่อย ๆ เพราะมิฉะนั้นแล้วในอนาคตอาจไม่ได้งานอีก แต่กับอาชีพแพทย์ นอกจากเขาจะมาง้อแล้ว ยังต้องเอาเงินให้ ให้เงินแล้วยังต้องขอบคุณแล้วขอบคุณอีก ดังนั้นเอ็งจงอย่าบ่นให้มากนัก ไม่เช่นนั้นแล้วลองมาบริหารงานกิจการแบบเขาดูบ้างแล้วจะรู้ว่าเป็นหมอนะดีแล้ว”

   แต่ในปัจจุบันดูเหมือนข้อเท็จจริงนี้อาจใช้ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกวันนี้ทั้งนักกฎหมาย นักการเมือง สารพัดอาชีพ มองว่าการรักษาผู้ป่วยเป็นการให้บริการแบบหนึ่ง เมื่อมีการให้บริการและมีการคิดค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชน ล้วนแต่ต้องเอากฎหมายมาจับ การรักษาผู้ป่วย การเยียวยาดูแล กลายเป็น “การให้บริการ โดยแพทย์หรือพยาบาล ที่เป็นผู้ขายบริการ!!  โรงพยาบาลหรือคลินิกกลายเป็นสถานที่ขายบริการ” หากผลการรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการถูกฟ้องร้องให้ไปแก้ต่างบนศาล  มาตรฐานทางการแพทย์มีวิชาชีพอื่นที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์มาเขียนตำราใหม่ให้ปฏิบัติตามความเห็นบนบัลลังก์  ความภูมิใจที่มีกลายเป็นความหดหู่ใจ แพทย์จบใหม่หลายคนเบนเข็มไปเรียนสาขาที่ “งานเบา เงินดี อิ่มท้อง ฟ้องน้อย” สาขาที่ดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดคือสาขาด้านความงามทั้งหลาย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมระยะหลังแพทย์จบใหม่ล้วนแต่ตั้งเข็มทิศชีวิตมุ่งเข้าสู่สาขา “ตจวิทยา” หากไม่ได้ก็ยังมีการอบรมตาม “วุฒิ....คลินิก” “นิติ...คลินิก” ประเภทอบรมฟรี อบรมสั้น การันตีงาน การันตีรายได้ การได้บอร์ดผิวหนังหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะทุกวันนี้การตลาดนำหน้าความรู้ไปแล้ว 

   สำหรับสาขาประเภท “งานหนัก เงินน้อย อดท้อง ฟ้องเยอะ” ได้แก่ สี่จตุรทิศ คือ “สูติ ศัลย์ เมด เด็ก” กลายเป็นสาขาต้องห้าม ทั้ง ๆ ที่เป็นสาขาที่ทุกโรงพยาบาลต้องเรียกหาก่อนเสมอ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สมควรเปิดเป็นโรงพยาบาล  ยิ่งสาขา “สูตินรีเวช”นั้น อีกหน่อยไม่แน่เราอาจเห็นการแยกสาขาเป็น “สูติศาสตร์” กับ “นรีเวชศาสตร์” ให้เลือกเอาว่าจะเรียนอันไหน เพราะดูเหมือนการคลอดลูกในปัจจุบันเป็นหนึ่งในหัตถการอันตรายสำหรับแพทย์ทุกคน ที่อาจทำให้ต้องติดคุก หรือ ล้มละลาย ในพริบตา ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหนมาตลอดชีวิต แต่สาขานี้ดูเหมือนมีที่ว่างสำหรับความผิดพลาดน้อยมาก  หนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับแพทย์ยุคปัจจุบัน คงไม่พ้น ตำราหรือบทความเกี่ยวกับกฎหมายทั้งหลาย จะเห็นว่าในปัจจุบัน การประชุมวิชาการทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีหัวข้อเรื่องกฎหมายสอดแทรกอยู่แทบทุกงาน เพราะอย่าลืมว่า “ท่านไม่อาจอ้างเอาความไม่รู้กฎหมาย มาเป็นเหตุเพื่อมิต้องรับผิด”

   หวังว่าบทความนี้คงไม่หนักจนเกินไปนัก เพราะเชื่อว่าบทความอื่น ๆ ในหนังสือเล่มนี้คงเต็มไปด้วยเนื้อหาหนัก ๆ มากพอแล้ว  ท้ายที่สุดผู้เขียนขอฝากเกร็ดเล็ก ๆ ไว้ จำไม่ได้ว่ามาจากไหน แต่มีรายละเอียดดังนี้

Doctors =

Decision
Observation
Care
Teacher
Optimism
Responsibility
Smile

   ขอให้โชคดี
   
" Live long and prosper "
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
พบ., ประสาทศัสยศาสตร์, Certificate in neuroendoscope and neuronavigator
นิติศาสตร์บัณฑิต, ประกาศนียบัตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน (ปรม.) สถาบันพระปกเกล้า
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา, กรรมการแพทยสมาคม