ผู้เขียน หัวข้อ: ทุกข์ของใคร...มองผ่านสถานการณ์สาธารณสุขปัจจุบัน  (อ่าน 2367 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
มองผ่านสถานการณ์สาธารณสุขปัจจุบัน

๑. ทุกข์ของประชาชน

๑.๑ เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐขาดแคลนทุกระดับทุกสาขาวิชาชีพ ประกอบกับการใช้บริการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น(หลังจากนโยบาย 30 บาท และการไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล) ประชาชนจึงต้องรอคอย แย่งกันเข้ารับบริการ การบริการก็ด้อยคุณภาพ (คุณภาพผกผันกับปริมาณ)

๑.๒ เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐไม่สามารถพัฒนาโครงสร้าง อาคารสถานที่ให้ทันกับการเพิ่มปริมาณผู้เข้ารับบริการได้ ประชาชนต้องแออัด ยัดเยียดในสถานพยาบาล (นอนเตียงเสริม)

๑.๓ เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐได้รับงบประมาณในการดูแลผู้รับบริการจำกัด การจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (รวมถึงยา และเวชภัณฑ์) จึงไม่ทันสมัย และคุณภาพต่ำลง

๑.๔ เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ลดขีดความสามารถในการให้บริการกับประชาชนลง เหตุจากการฟ้องร้องแพทย์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมีการตัดสินจำคุกแพทย์ (คดีโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเดินทาง หรือถูกส่งตัวจากอำเภอต่างๆ เข้าไปรับการบริการที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปในตัวจังหวัด ทำให้ประชาชนเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียค่าเดินทาง เสียโอกาสที่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที (มีความพิการ และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น และมีความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย)

ประชาชน....ทั้งหลาย คุณกำลังเผชิญกับทุกข์เหล่านี้อยู่ (บางคนบางกลุ่มยังไม่รู้ตัว)

๒. ทุกข์ของบุคลากรสาธารณสุข (สาขาวิชาชีพต่างๆ)

๒.๑ เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐขาดแคลนทุกระดับทุกสาขาวิชาชีพ ประกอบกับการใช้บริการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น(หลังจากนโยบาย 30 บาท และการไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล) บุคลากรจึงต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในการตรวจ การดูแล การพยาบาล และการรักษาผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถรักษามาตรฐานวิชาชีพได้อย่างครบถ้วน มีการลาออก และปรับบทบาทหน้าที่ ซึ่งส่งผลให้บุคลากรที่เหลืออยู่ประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น

๒.๒ เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐได้รับงบประมาณจำกัด และหลายแห่งประสบปัญหาขาดทุน ขาดสภาพคล่อง (หลังจากนโยบาย 30 บาท และการไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล) ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรได้อย่างที่ควร ตามกฎระเบียบ บุคลากรขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ บุคลากรบางส่วนลาออกไปอยู่ภาคเอกชนที่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่ามาก หรือไปประกอบอาชีพอื่น

๒.๓ เนื่องจากมีการร้องเรียน และฟ้องร้องมากขึ้น บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหวาดระแวง ด้วยความวิตกกังวล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรกับประชาชนผู้รับบริการเสื่อมทรามลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง และมีการพยายามปกป้องตัวเองของบุคลากรมากขึ้น โดยการส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยเกินความจำเป็น  สั่งการรักษาเกินความจำเป็น ลดการตรวจรักษาผู้ป่วยให้น้อยลง ส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น บุคลากรบางส่วนลาออกไปอยู่ภาคเอกชนที่มีภาระงานน้อยกว่า(ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่า) หรือไปประกอบอาชีพอื่น

บุคลากรสาธารณสุข....ทั้งหลาย จะอยู่กันไปแบบนี้ใช่ไหม

๓. ทุกข์ของผู้บริหารสาธารณสุข (ระดับต่างๆ ตั้งแต่ สสจ. ผอก.รพ. กรม กองของกระทรวงฯ)

๓.๑  เนื่องจากบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐขาดแคลนทุกระดับทุกสาขาวิชาชีพ ประกอบกับการใช้บริการของประชาชนเพิ่มมากขึ้น(หลังจากนโยบาย 30 บาท และการไม่เก็บค่ารักษาพยาบาล) ขาดงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้าง อาคารสถานที่ ประกอบกับงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์มีจำกัด พร้อมกับการร้องเรียน และฟ้องร้องมากขึ้น ทำให้การบริหารงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลประสบความยากลำบากมากขึ้น

๓.๒ ระบบธรรมภิบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดหายไป  ผู้บริหารส่วนหนึ่งเข้าสู่ตำแหน่งเพื่ออำนาจ(บริหาร) ผ่านช่องทางต่างๆ(ที่ไม่ใช่ธรรมาภิบาล) จึงทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาตัวให้อยู่ในอำนาจ(บริหาร) หรือให้มีอำนาจ(บริหาร)มากขึ้น  ไม่ใช่มุ่งทำผลงานเพื่อราชการ และประชาชน

นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี  ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ตั้งแต่ ๙  มค. ๒๕๕๒ มีใจความว่า การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อน การย้าย และการโอน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งระบบการให้รางวัล และการลงโทษ ต้องทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของกฎหมาย ความรู้ ความสามารถ และผลงานอย่างแท้จริง นั้นไม่ได้นำมาปฏิบัติ

บุคลากรที่เป็นคนดี มีความสามารถ และซื่อสัตย์สุจริตของกระทรวงฯ ไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ ไม่มีการส่งเสริมคนดี ตามพระบรมราโชวาท เมื่อ ๑๑ ธค. ๒๕๑๒ ใจความว่า ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ ทั้งหมด การทำให้บ้านเมือง มีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้  

ผู้บริหารสาธารณสุข...ทั้งหลาย จะมั่วนิ่งเฉยกันอยู่ทำไม

ทุกข์ทั้งหมดนี้ คือ ทุกข์ของใคร ถ้าไม่ใช่ ทุกข์ของแผ่นดิน ทุกข์ของประเทศชาติ

ผู้ที่อาสามาทำหน้าที่ ช่วยคลายทุกข์เหล่านี้ด้วย
กรุณาอย่าให้แผ่นดินนี้มีทุกข์เพิ่มขึ้นอีกเลย...........ถ......ซะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 กรกฎาคม 2010, 14:24:05 โดย pradit »