ผู้เขียน หัวข้อ: กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ย้ำชัดร่วมจ่าย 30 บาท ซ้ำเติมคนจน!!  (อ่าน 1310 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ย้ำ การร่วมจ่าย 30 บาท ซ้ำเติมประชาชนที่มีรายได้น้อย เชื่อไม่แก้ปัญหาขาดทุนของสถานพยาบาล ชี้คนจนต้องจ่ายหลายอย่างนอกเหนือค่ารักษาพยาบาล
       
       วันนี้ (22 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยอิสระ กล่าวในการแถลงข่าว “ทำไมจึงไม่ควรเก็บ 30 บาท” ที่จัดโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ว่า จากการศึกษาของสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า การกลับมาเก็บ 30 บาท มีเหตุผลที่ไม่เชื่อมโยงหลายประการ โดยเฉพาะหากต้องการรีแบรนด์เพื่อช่วยสถานพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน ยิ่งไม่ใช่ เนื่องจากข้อมูลพบว่าสาเหตุหลักของโรงพยาบาล (รพ.) ขาดทุนมาจากปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งค่าตอบแทนนี้เป็นค่าตอบแทนในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่การจะมาผลักภาระโดยให้ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เป็นผู้แบกโดยการร่วมจ่าย 30 บาท ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน และไม่ได้มีผลในการแก้ปัญหาค่าตอบแทน เพราะหากเก็บ 30 บาทในประชาชนบัตรทอง คิดเป็นเงินราว 1,900 ล้านบาท ซึ่งเล็กน้อยมาก ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาค่าตอบแทน หรือ รพ.ขาดทุนและขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด แต่เป็นการซ้ำเติมคนจน อย่างข้อมูลในปี 2550 พบว่า ประชาชนที่เข้ารับการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มคนจน รายได้น้อย มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 79 บาทต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสดอยู่ที่ 76 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่คนกลุ่มที่มีฐานะ พบว่า มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 880 บาท ต่อคนต่อเดือน โดยที่ต้องจ่ายออกไปเป็นเงินสด 511 บาทต่อคนต่อเดือน

       ด้านน.ส.กชนุช แสงแถลง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ล่าสุด มูลนิธิผู้บริโภคและศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพของกทม. ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในสิทธิบัตรทองถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ระหว่างวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ 2555 กระจายตามโซนต่างๆ แบ่งเป็น 48 เขตของ กทม.จำนวน 589 คน อายุระหว่าง 1-90 ปี พบว่า มีรายได้ของอาชีพเฉลี่ย 210 บาทต่อวัน โดยร้อยละ 40.4 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รองลงมาเป็นค้าขาย ทำสวน โดย พบว่า ร้อยละ 91.3 เป็นผู้ป่วยนอก ร้อยละ 55 เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเรื้อรัง ไปรับการรักษาต่อเนื่อง และร้อยละ 49.2 ไปรับบริการที่ รพ.ขนาดใหญ่ สะท้อนถึงอาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษา นอกจากนี้ ในการไปรับบริการนั้น พบว่า ร้อยละ 47 เดินทางด้วยแท็กซี่ ซึ่งมีลักษณะอาการรุนแรง ไม่สามารถเดินทางด้วยรถประจำทางได้ ขณะที่ร้อยละ 38 ต้องมีญาติหรือบุคคลอื่นพาไป และร้อยละ 13.5 ต้องใช้เวลาทั้งวัน สูญเสียรายได้ โดยการไปรับบริการแต่ละครั้ง เฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ก็ทำให้สูญเสียรายได้ เพราะส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป
       
       น.ส.กชนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรับบริการต่อครั้ง พบว่า ค่าเดินทาง หากเป็นผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 113 บาท ผู้ป่วยใน 157 บาท ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 59 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 101 บาท ค่าขาดรายได้ในผู้ป่วยนอกอยู่ที่ 181 บาท ผู้ป่วยในอยู่ที่ 461 บาท และเมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการร่วมจ่ายพบว่า ร้อยละ 61.5 ไม่เห็นด้วย เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย มีเพียงร้อยละ 24.1 เห็นด้วยเพราะเชื่อว่า รพ.จะบริการดีขึ้น ดังนั้น ควรยกเลิกนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เพราะจะเป็นการซ้ำเติมคนจนมากขึ้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 กุมภาพันธ์ 2555