ผู้เขียน หัวข้อ: แพทย์วิทยา ผิดกับวิชาดาราศาสตร์หรือวิชาคำนวณ  (อ่าน 3965 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
"แพทย์วิทยา ผิดกับวิชาดาราศาสตร์หรือวิชาคำนวณ ทั้งสองนี้เป็นวิทยาศาสตร์แม่นคำนวณ
ส่วนวิชาแพทย์นั้นเป็นวิชาแม่นบางส่วน แต่ก็เป็นวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์"

พระราชดำรัสพระราชบิดา
...

ขอความร่วมมือในการลงชื่อสนับสนุนการเสนอกฎหมาย“ ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....”

ด้วยนับแต่ที่พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้กว่า 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการฟ้องร้องต่อศาลเกี่ยวกับการบริการทางสาธารณสุข เป็นจำนวนมากที่ฟ้องตามพ.ร.บ.นี้และประธานศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคเกือบทุกราย ทั้งๆที่เจตนารมณ์ของกฎหมายมีขึ้นสำหรับคดีที่เกี่ยวกับการบริโภคสินค้าและการบริการทางธุรกิจ ที่มีมาตรฐานกำหนด ในขนาด องค์ประกอบ ลักษณะการบริการ การใช้ประโยชน์ที่แน่นอนได้ และผู้บริโภคมีข้อเสียเปรียบในการพิสูจน์ถึงมาตรฐานของสินค้าหรือบริการนั้น กฎหมายนี้จึงอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องได้โดยสะดวกได้แก่ ไม่ต้องแต่งตั้งทนาย ไม่ต้องเตรียมเอกสารใดๆ ศาลจะมีหน้าที่รับคำร้องและดำเนินการให้ โดยผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยจะต้องรับภาระในการพิสูจน์ความถูกต้องของตน แต่การบริการทางสาธารณสุขอันได้แก่ บริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ซึ่งข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดคือการบริการตรวจรักษาทางการแพทย์ แต่ด้วยผลการรักษาทางการแพทย์นั้นเป็นที่ทราบดีว่าไม่มีความแน่นอนในผลของการรักษา แม้ได้ให้การรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสมแล้วก็ตาม เพราะผลการรักษาเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่เกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย การตอบสนองต่อการรักษา ความรุนแรงของโรค ผลของการรักษาใดๆก็ตาม จึงพอกำหนดได้ว่า มีอัตราที่จะได้ผลดี ผลไม่ดี หรืออัตราความพิการและอัตราการเสียชีวิต ประมาณเท่าใด จึงเกิดผลเช่นใดก็ได้ตามโอกาสและความน่าจะเป็นแต่ละรายไป แต่ความคาดหมายของผู้รับการรักษาและญาติย่อมคาดหวังผลการรักษาที่ได้ผลดีเท่านั้น กรณีที่ไม่เข้าใจในกระบวนการรักษาย่อมเกิดข้อพิพาทได้ง่าย ดังนั้นผู้ให้การรักษาผู้ป่วยย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนของผลการรักษาที่จะได้ การที่จัดให้คดีแพ่งอันเนื่องจากการบริการทางสาธารณสุขเป็นคดีผู้บริโภคนั้น จึงอาจเกิดผลเสียดังนี้

1.     การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยยากลำบากขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีโรงพยาบาลใดมีความพร้อมที่จะป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี แต่มาตรฐานที่ยอมรับกันทางการแพทย์ถือว่า การจะพิจารณาให้การรักษาใดๆ คำนึงว่าหากการให้การรักษามีความเสี่ยงต่ำกว่าการไม่ได้รับการรักษาในขณะนั้นสามารถให้การรักษาได้ ตัวอย่างเช่นการผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดทำคลอดในโรงพยาบาลชุมชนโดยแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง ขณะนี้เกิดปัญหาแล้วว่าผู้ป่วยเหล่านี้ต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางและพร้อมให้การรักษาเท่านั้น

2.    ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการตรวจให้ครบถ้วนแม้อาจไม่มีความคุ้มค่าในการส่งตรวจ เช่นไส้ติ่งอักเสบ ทางการแพทย์ถือว่า ลักษณะทางคลินิกและการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน บ่งชี้ว่าเป็นโรคนี้สามารถผ่าตัดได้ และยอมรับได้ว่าอาจเป็นโรคอื่นๆได้ร้อยละ 20 เช่น ลำไส้อักเสบจากสาเหตุอื่น ช่องเชิงกรานอักเสบ ท้องนอกมดลูก ถุงน้ำในรังไข่แตกในสตรี เป็นต้น แต่ปัจจุบันจะต้องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ยืนยันให้ได้ว่าเป็นโรคใดให้ชัดเจนก่อนจะทำการผ่าตัด

3.    นโยบายของรัฐบาลในการลดความแออัดของโรงพยาบาล ไม่สามารถดำเนินการได้ เว้นแต่จะทุ่มงบประมาณสำหรับบุคคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

                ด้วยเหตุผลหลักดังกล่าวในฐานะที่แพทยสภา เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไข ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริการสาธารณสุขที่ให้แก่ประชาชน โดยควรเสนอ ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค(ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ที่บัญญัติให้คดีความแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับการบริการสาธารณสุข ไม่เป็นคดีผู้บริโภค โดยที่ร่างกฎหมายนี้ได้เคยผ่านการเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีการยุบสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไป จำเป็นต้องมีการเสนอใหม่ โดยมติคณะกรรมการแพทยสภา ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2555 วันที่ 12 มกราคม 2555 และมติที่ประชุมสัมมนาของผู้มีส่วนร่วมในการบริการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เห็นชอบให้ดำเนินการเสนอร่างกฎหมายนี้ในนามของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ

                จึงขอความร่วมมือจากท่าน โปรดประชาสัมพันธ์ให้บุคคลากรในหน่วยงานของท่านทราบข้อเท็จจริง และร่วมลงชื่อสนับสนุนการเสนอกฎหมาย ตามแบบที่แนบมาให้ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการและรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปที่ สำนักงานแพทยสภา ชั้น 7 อาคาร 6  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี       11000
........................................................................