ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อชาละวันครองพิภพ-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 7582 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

ในฤดูร้อนปี 2008 จระเข้พันธุ์อเมริกันตัวหนึ่งได้ออกเดินทางจากอ่าวบิสเคย์นในรัฐฟลอริดา โดยว่ายน้ำไปตามคลองที่เรียงรายไปด้วยเรือยอชต์  ก่อน จะมายึดหัวหาดที่มหาวิทยาลัยไมแอมี บางครั้งมันจะพักจากการอาบแดดบนชายฝั่งทะเลสาบโอซีโอลาเพื่อไปหาเต่ากินเป็น อาหาร

นี่ไม่ใช่จระเข้ตัวแรกที่ปรากฏโฉมในมหาวิทยาลัย  แต่ เจ้าตัวนี้กลับโด่งดังที่สุด ผู้คนเริ่มเรียกมันว่า ดอนนา ตามชื่อ อธิการบดีมหาวิทยาลัยและอดีตรัฐมนตรี ดอนนา ชาลาลา แม้จะมารู้ทีหลังว่ามันเป็นจระเข้เพศผู้ก็ตาม

จนเช้าตรู่ของวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2008 ใครบางคนได้ฆ่าดอนนา ซึ่งไม่เพียงเป็นการกระทำที่สร้างความเดือดดาลให้เหล่านักศึกษาและคณาจารย์ แต่ยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของรัฐและรัฐบาลกลาง ทั้งนี้เพราะกฎหมายของรัฐฟลอริดาถือว่าจระเข้พันธุ์อเมริกันเป็นสัตว์ที่ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และรัฐบัญญัติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับประเทศ ก็จัดให้เป็นสัตว์ที่ถูกคุกคาม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับดอนนาอาจเป็นอุทาหรณ์ที่สะท้อนชะตากรรม ของสัตว์จำพวกจระเข้ (crocodilian) เท่าที่เรารู้จักทั้งหมด 23 ชนิดในโลก ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นเครือญาติกัน ได้แก่ จระเข้ (crocodile) อัลลิเกเตอร์ (alligator) เคแมน (caiman) และตะโขงหรือกาเรียล (gharial) หลังจากยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วสารพัดนับเนื่องได้หลายล้านปี พวกมันก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างใหม่ที่ท้าทายต่อความอยู่รอด ซึ่งก็คือมนุษย์เรานั่นเอง

ในช่วงทศวรรษ 1970 ประชากรจระเข้ในฟลอริดาอาจลดลงจนเหลือน้อยกว่า 400 ตัว เนื่องจากจำนวนประชากรของรัฐที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา  ผลักไสให้พวกมันต้องออกจากถิ่นอาศัยในพื้นที่อ่าว น้ำเค็มส่วนใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครอง มีอยู่ไม่น้อยที่ถูกลักลอบฆ่าเพื่อเอาหนัง นำไปสตัฟฟ์เพื่อตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์ หรือถูกจับเป็นเพื่อนำไปจัดแสดง หลายปีนับจากนั้น มาตรการอนุรักษ์ต่างๆได้ช่วยให้ประชากรจระเข้ในฟลอริดาฟื้นตัวขึ้น โดยปัจจุบันอาจมีประมาณ 2,000 ตัว สตีฟ เคลตต์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติคร็อกโคไดล์เลก (Crocodile Lake National Wildlife Refuge) ในฟลอริดา กล่าวว่า “การจัดการปัญหาเรื่องจระเข้ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนเลยครับ ถ้าคุณปกป้องถิ่นอาศัยของพวกมันและดูแลไม่ให้ถูกไล่ล่าได้ พวกมันก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ปัญหาข้อใหญ่ตอนนี้คือ ถิ่นกระจายพันธุ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด ถ้าพวกมันครอบครองถิ่นอาศัยที่มีอยู่จนหมด แล้วทีนี้พวกมันจะไปอยู่ที่ไหนกันล่ะครับ”

ในกรณีของดอนนา คำตอบคือเข้าไปอยู่ในเมืองซึ่งเป็นที่ที่มันไม่ควรเข้าไปอยู่แต่แรก เว้นเสียแต่ว่าไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

สัตว์จำพวกจระเข้ในปัจจุบันคือผู้รอดชีวิตจากยุคไดโนเสาร์ เป็นคำกล่าวที่เรามักได้ยินเสมอ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็จริงในระดับหนึ่ง จระเข้ที่เรารู้จักในปัจจุบันอยู่บนโลกมานานร่วม 80 ล้านปีแล้ว แต่พวกมันเป็นเพียงตัวอย่างกลุ่มเล็กๆของเครือญาติสัตว์จำพวกจระเข้ที่เคย ท่องไปทั่ว และถ้าจะให้ถูกคงต้องพูดว่า เคยครองผืนพิภพแห่งนี้ด้วย

ครูโรทาร์ซาน (Crurotarsan – ศัพท์ที่นักบรรพชีวินวิทยาใช้เรียกเครือญาติจระเข้ทั้งหมด) ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อราว 240 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับไดโนเสาร์ในยุคไทรแอสซิก บรรพบุรุษจระเข้วิวัฒน์สายพันธุ์เป็นสัตว์บกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สัตว์ขายาวหุ่นเพรียวลมรูปร่างคล้ายหมาป่า ไปจนถึงนักล่าขนาดใหญ่ยักษ์ผู้น่าพรั่นพรึงที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร บางชนิดเช่นเจ้าตัวที่เรียกว่า เอฟฟิเกีย (Effigia) เป็นสัตว์เดินสองขาอย่างน้อยก็ในบางช่วงบางเวลาและน่าจะเป็น สัตว์กินพืช ในสมัยนั้นครูโรทาร์ซานครองความเป็นเจ้าเหนือผืนดิน

ทว่าในช่วงปลายยุคไทรแอสซิกเมื่อราว 200 ล้านปีก่อน มหันตภัยอย่างหนึ่งที่เรายังไม่รู้แน่ชัดได้กวาดล้างเผ่าพันธุ์ครูโรทาร์ซาน ไปจนแทบหมดสิ้น เมื่อไร้คู่ต่อกร ไดโนเสาร์จึงผงาดขึ้นครองพิภพแทน ในช่วงเวลาเดียวกัน นักล่าขนาดใหญ่ยักษ์ซึ่งว่ายน้ำได้เก่งกาจอย่างเพลซิโอซอร์ (plesiosaur) ก็วิวัฒน์ขึ้นในมหาสมุทร เผ่าพันธุ์จระเข้ที่เหลือรอดค่อยๆพัฒนาไปสู่รูปร่างใหม่ที่หลากหลาย แต่สุดท้าย พวกมันก็ได้พักพิงในถิ่นที่อยู่ซึ่งพอจะอาศัยอยู่ได้เท่านั้น อันได้แก่แม่น้ำลำคลองและหนองบึง เฉกเช่นเดียวกับลูกหลานของพวกมันในปัจจุบัน

ถิ่นอาศัยที่จำกัดอาจปิดกั้นโอกาสในการวิวัฒน์ตัวเองของสิ่งมี ชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็อาจช่วยให้พวกมันมีชีวิตรอดได้ จระเข้หลายชนิดเอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคครีเทเชียส-เทอร์เชีย รี (Cretaceous-Tertiary: K-T) เมื่อ 65 ล้านปีก่อนมาได้ ตอนที่ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ (ยกเว้นนก ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นไดโนเสาร์ยุคใหม่ไปแล้ว) และขยายวงกว้างไปถึงสิ่งมีชีวิตบนบกและในทะเลชนิดอื่นๆด้วย ไม่มีใครรู้ว่าเพราะเหตุใดจระเข้จึงมีชีวิตรอดขณะที่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ ปลาสนาการไป แต่ถิ่นอาศัยน้ำจืดของพวกมันเป็นคำอธิบายประการหนึ่ง กล่าวคือโดยทั่วไปสัตว์น้ำจืดมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีกว่าสัตว์ทะเลหลังเกิด เหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหลังสูญเสียถิ่นอาศัยบริเวณน้ำตื้นไปเป็นบริเวณกว้างหลัง ระดับทะเลลดลง นอกจากนี้ ความที่จระเข้สามารถกินอาหารได้หลากหลาย และคุณสมบัติของสัตว์เลือดเย็นที่ช่วยให้พวกมันดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน แม้จะกินอาหารเพียงน้อยนิด ก็อาจมีส่วนช่วยเช่นกัน

ในเมื่อไดโนเสาร์เจ้าปฐพีและอสุรกายแห่งห้วงสมุทรพากันล้มหายตาย จากจนแทบหมดสิ้น แล้วเพราะเหตุใดจระเข้จึงไม่ครองโลกอย่างเบ็ดเสร็จในท้ายที่สุดเล่า คำตอบคือเมื่อถึงตอนนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็เริ่มวิวัฒน์สู่ความยิ่งใหญ่ บนพื้นพิภพแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เผ่าพันธุ์อันหลากหลายส่วนใหญ่ของจระเข้ก็ค่อยๆปลาสนาการไป เหลือเพียงพวกที่มีรูปร่างเตี้ยม่อต้อและขาสั้นที่เราคุ้นเคย

“แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปในการอนุรักษ์ สัตว์จำพวกจระเข้ในระยะหลังคือ การล่าที่ผิดกฎหมายเพื่อเอาหนังลดลงครับ” จอห์น ทอร์บจาร์นาร์สัน จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้ชั้นแนวหน้า ให้ความเห็นสิ่งที่มาแทนที่คือการเพาะเลี้ยงที่มีการจัดการอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งช่วยให้จระเข้บางสายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น

จระเข้อย่างอัลลิเกเตอร์พันธุ์จีนและจระเข้พันธุ์ฟิลิปปิน แทบจะพูดได้เลยว่าไม่เหลือถิ่นอาศัยตามธรรมชาติอีกแล้ว เนื่องจากถิ่นกระจายพันธุ์ดั้งเดิมของพวกมันถูกรุกรานโดยพื้นที่การเกษตรและ เขตเมือง และแม้แต่จระเข้ชนิดพันธุ์ที่ตอบสนองต่อมาตรการในการอนุรักษ์เป็นอย่างดี ก็ยังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับดอนนา เพียงแต่เป็นระดับที่ใหญ่กว่า นั่นคือการสัมผัสใกล้ชิดกับมนุษย์ และบ่อยครั้งก็นำไปสู่ความขัดแย้ง

ตะโขงอินเดียหรือตะโขงจมูกเรียวมีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วงใน ช่วงกลางของศตวรรษที่ยี่สิบ พวกมันเพิ่มจำนวนขึ้นในทศวรรษ 1980 และ 1990 ซึ่งเป็นผลมาจากการลักลอบล่าที่ลดลงและการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครอง จนเป็นเหตุให้นักอนุรักษ์เชื่อว่าปัญหานี้หมดไปแล้ว แต่การสำรวจเมื่อไม่นานมานี้กลับชี้ว่า ประชากรตะโขงได้ลดฮวบฮาบลงอีกครั้ง และครั้งนี้สถานะของพวกมันอยู่ในขั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง

สัตว์จำพวกจระเข้บางชนิดซึ่งพบในพื้นที่ห่างไกลของโลกยังอยู่ใน สถานะปลอดภัย ขณะที่บางชนิดอย่างอัลลิเกเตอร์พันธุ์อเมริกันก็ฟื้นจำนวนขึ้นอย่างมาก กระนั้น เราก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าวงศ์วานชาละวันเหล่านี้จะยืนหยัดต่อไปได้อย่างไรใน โลกที่ซึ่งบ้านอันชื้นแฉะของพวกมันเป็นที่หมายปองของผู้คนมากมาย ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งจระเข้บางชนิดยังเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์เนื่องจากไปกินสัตว์ เลี้ยงและแม้กระทั่งผู้คน

เผ่าพันธุ์จระเข้และบรรพบุรุษเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่แทบคาดไม่ ถึงมาแล้วสารพัด และสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาได้ ทว่าในยุคสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเกิดเร็วขึ้นเช่นในปัจจุบัน ความท้าทายอันใหญ่หลวงที่สุดของพวกมันอาจยังมาไม่ถึง
มีนาคม 2553