ผู้เขียน หัวข้อ: มหากาพย์เรื่องรถพยาบาล  (อ่าน 5188 ครั้ง)

knife05

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 60
    • ดูรายละเอียด
มหากาพย์เรื่องรถพยาบาล
« เมื่อ: 15 กุมภาพันธ์ 2012, 22:52:27 »


   ขณะนี้ปี 2555 หรือเป็นเวลา 7 ปีแล้วนับจากที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับรถพยาบาลที่จัดซื้อล็อตใหญ่ 232 คันไปตั้งแต่ปี 2548 โดยในการจัดซื้อครั้งนั้นได้มีการทำ E-auction ถึง 8 ครั้งเปลี่ยนคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะถึง 2 ชุด และใช้เวลาในการจัดซื้อถึง 20 เดือนซึ่งในที่สุดบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดก็ชนะการประมูลในราคาคันละ 1,467,000 บาท โดยไม่รวมอุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ เครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ และเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ที่มีการแยกจัดซื้อต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ในการเข้าประมูลนั้นบริษัทโตโยต้าเสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึงเกือบสองแสนบาท แต่ภายในเวลาเพียงแค่ 3 วันหลังจากที่กรรมการกำหนดสเปคได้เปลี่ยนแปลงสเปคใหม่ 7 รายการ บริษัทโตโยต้าก็สามารถลดราคาลงจนพอ ๆ กับราคากลาง

ในการจัดซื้อครั้งนั้นมีข่าวในหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องว่ามีการล็อคสเปค และอุปกรณ์ที่ติดตั้งไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยในการนำมาใช้จริงโดยเฉพาะอุปกรณ์สำคัญ ๆ เช่น เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และอุปกรณ์ปรับออกซิเจน นายพินิจ จารุสมบัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงเวลานั้นจึงได้ลงนามแต่งตั้งนายบรรลุ ศิริพานิชและนายวิชัย โชควิวัฒนเป็นประธานและเลขาคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการจัดหารถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 เพื่อลดกระแสการร้องเรียนว่ามีข้อขัดแย้งภายในองค์กรเกี่ยวกับการจัดซื้อหรือมีการทุจริต และคณะกรรมการตรวจสอบชุดนายบรรลุและนายวิชัยก็ไม่ทำให้ผู้แต่งตั้งผิดหวังเพราะคณะกรรมการชุดนี้มีมติเป็นเอกฉันท์โดยในรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินการตรวจสอบที่ใช้เวลาเพียงแค่ 7 วัน คือ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 สรุปว่าคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเกี่ยวกับการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ(สเปค) ของรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงที่ใช้ในการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษครั้งล่าสุดว่ามิได้มีการลดคุณภาพและมาตรฐานจากฉบับเดิมเพียงตัดเงื่อนไขที่กีดกันการแข่งขันออกเท่านั้น และบางรายการมีมาตรฐานสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นแย้งกลับและแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการตั้งแต่มกราคม 2552 ซึ่งมีนายแพทย์ไพจิตร วราชิตเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการพิจารณาเพื่อลงโทษทางวินัยกับ
 
1)   นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ที่มีคำสั่งให้ยกเลิกการเสนอราคาครั้งแรกและสั่งปรับปรุงข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมซึ่งคณะกรรมการได้มีการปรับปรุงข้อเสนอคุณลักษณะเฉพาะจำนวน 7 รายการทำให้บริษัทโตโยต้า สามารถเสนอราคาได้รายเดียวโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 วัน และจากการสอบถ้อยคำคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะบางท่านให้การขัดแย้งกันในเรื่องการปรับปรุงคุณลักษณะเฉพาะซึ่งเชื่อได้ว่านายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ในฐานะผู้อนุมัติมีพฤติการณ์อันเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อให้บริษัทโตโยต้าได้สิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐซึ่งป็นความผิดตาม พรบ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา พ.ศ. 2542 และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา

2)   คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง พร้อมอุปกรณ์การแพทย์สำหรับติดตั้งประจำกับตัวรถซึ่งประกอบด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ เตลธุวานันท์ นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ นายแพทย์คิมหันต์ ยงรันตกิจ นายแพทย์ปรณ์ ศิริยง นายแพทย์วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล นายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร นายวรินทร์ อุตกฤษฎ์ นายจิรศักดิ์ แม้นจริง พ.ต.ท.สุริยัน วินิจมนตรี นายวินัย พุทธิเบต นายประสาท ตราดธารทิพย์ นายสุรพัธ์ ชัยล้อรัตน์ นายวินัย ฉายากุล นายอัญชลี ภุมมา น.ส.ขนิษฐา มินวงศ์  กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาโดยภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ 7 รายการก็สามารถจัดซื้อรถพยาบาลสำเร็จภายใน 3 วัน และถ้านำข้อตรวจพบทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาในภาพรวมซึ่งมีข้อบกพร่องก็ยิ่งน่าเชื่อว่าการปรับปรุงรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะทั้ง 7 รายการเป็นการเพื่อช่วยให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์จำกัดโดยบริษัทสุพรีมโพรดักส์จำกัดสามารถจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์มาจำหน่ายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ตามวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อให้บริษัทโตโยต้าฯ ได้สิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงสาธารณสุขฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา

3)   คณะกรรมการจัดซื้อวิธีพิเศษซึ่งประกอบด้วย นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข นายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร นายประสาท ตราดธารทิพย์ นายวินัย พุทธิเบต นายไพรัชย์ ชูสิน นางสาวณัฐชนก บุญประกอบ
ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนดและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุปี 2535 อาทิ เช่น
1. ชุดช่วยหายใจชนิดมือบีบ คณะกรรมการจัดซื้อจากแคตตาลอคที่ไม่ชัดเจน การพิจารณาเอกสารประกอบการเสนอราคาในการจัดซื้อพัสดุขัดแย้งกัน
2.ชุดป้องกันกระดูกคอเคลื่อน คณะกรรมการจัดซื้อพิจารณารับเอกสารที่ยื่นเสนอราคาไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขัดแย้งกัน
3.ชุดปรับความดันออกซิเจน ข้อความในรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่ผู้เสนอราคายื่นและข้อความที่ปรากฎในแคตตาลอคขัดแย้งกัน
4. เก้าอี้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยชนิดเข็น

คณะกรรมการรพิจารณารับเอกสารที่ไม่ถูกต้อง  สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษดำเนินการเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทโตโยต้าฯ ได้สิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐซึ่งป็นความผิดตาม พรบ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา พ.ศ. 2542 และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา

4)   คณะกรรมการตรวจรับพัสดุซึ่งประกอบด้วย นายแพทย์กิติตศักดิ์ กลับดี นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ แพทย์หญิงวารุณี จินารัตน์ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ เอกจริยาวัฒน์ นายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ นายสุชาติ ได้รูป นายวัลลภ เตียศิริ นายแพทย์ธำรง ทัศนาญชลี  ตรวจรับพัสดุที่ส่งมอบไม่เป็นไปตามสัญญา 6 รายการ อาทิเช่น
 1. ชุดแผ่นรองหลังผู้ป่วย คณะกรรมการตรวจรับพัสดุเห็นว่าถูกต้อง แต่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากการตรวจสอบสรุปความเห็นว่า แผ่นรองหลังมีการโค้งงออย่างเห็นได้ชัดซึ่งอาจเป็นอันตรายในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักและอุปกรณ์ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ
 2. ชุดปรับความดันออกซิเจน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุเห็นว่าถูกต้อง แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาชี้แจงถึงชุดปรับความดันออกซิเจนนี้ว่า เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ผลิตมีเจตนาใช้สำหรับงานทั่วไป ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์  และคณะผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต่างไม่ยอมรับอุปกรณ์ที่ส่งมอบนี้  สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ได้รายงานกรณีที่มีการส่งมอบพัสดุไม่เป็นไปตามเอกสารแนบท้ายสัญญา และไม่ปลอดภัยต่อการนำมาใช้งานจริงอันเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 เห็นควรแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่ต้นสังกัดดำเนินการพิจารณาลงโทษทางวินัย

นอกจากนั้นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขแจ้งแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตาม พรบ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญากับ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และคณะกรรมการจัดซื้อวิธีพิเศษ รวมทั้งคณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง พร้อมอุปกรณ์การแพทย์สำหรับติดตั้งประจำกับตัวรถด้วย

ถึงกระนั้นก็ตาม ผ่านไป 3 ปีกว่า จนนายไพจิตร วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งรับเรื่องแจ้งเตือน จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาแล้วอีกถึง 3 ครั้งสามครา จะเกษียณในอีกไม่ถึง 8 เดือนข้างหน้า ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ สตง. แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข  หรือว่าประชาชนต้องฟ้องนายไพจิตร วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียเองตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาในฐานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ความจริงเรื่องรถพยาบาลจึงจะปรากฎ และสามารถเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมได้

นิรนาม