ผู้เขียน หัวข้อ: มาตรฐานการแพทย์ไทยในกระทรวงสาธารณสุขดีพอแล้วหรือยัง?  (อ่าน 1981 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด


 ก่อนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามนี้  ผู้เขียนขอยกเอาคำพูดของ Sir William Osler (1849- 1919) ที่เคยกล่าวไว้ว่า “Medicine is a science of uncertainty and an art of probability” แปลเป็นไทยว่า การแพทย์เป็นวิทยาศาสตร์ของความไม่แน่นอน และเป็นศิลปะศาสตร์แห่งความเสี่ยง

           การที่การปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้งมวลหรือเรียกว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นวิทยาศาสตร์แห่งความไม่แน่นอนนั้น ก็มีเหตุผลมารองรับคำกล่าวนี้

                 ทั้งนี้เนื่องจากคนเราแต่ละคนล้วนมีส่วนประกอบของร่างกายที่แตกต่างกันทั้งภายนอกและภายใน มีการทำงานของอวัยวะต่างๆทั้งอัตโนมัติที่ตัวเราเองก็ควบคุมไม่ได้ เช่นการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหารและการเผาผลาญอาหารมาเป็นพลังงาน มีระดับความเข้มข้นของเลือดและฮอร์โมนต่างๆแตกต่างกันไป

                  และยังมีความแตกต่างจากพฤติกรรมที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การมีพื้นฐานทางอารมณ์ความรู้สึกและแนวคิดแตกต่างกัน  ซึ่งทำให้มีพฤติกรรมแตกต่างกัน มีที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือสังคมแตกต่างกันออกไป มีความเสี่ยงต่อโรคหรือพยาธิสภาพที่แตกต่างกัน

               และเมื่อได้รับเชื้อโรคเหมือนๆกัน บางคนอาจล้มป่วย บางคนสามารถกำจัดเชื้อโรคได้เองเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานดี  ในจำนวนผู้ที่ล้มป่วยนั้น บางคนอาจมีอาการป่วยเล็กน้อย บางคนป่วยหนัก บางคนถึงกับเสียชีวิต และจำนวนคนที่ไม่ป่วยนั้น บางคนอาจกลายเป็นพาหะของโรค ที่นำเอาเชื้อโรคนั้นไปแพร่กระจายต่อไปยังคนอื่น ทำให้คนอื่นเจ็บป่วย แต่บางคนก็สุขภาพดีดังเดิม

               และในจำนวนผู้ที่ล้มป่วยนั้น เมื่อได้รับการรักษาเหมือนกัน ได้ยาแบบเดียวกัน ได้รับการดูแลรักษาเหมือนกัน บางคนก็ฟื้นไข้ หายป่วย และมีสุขภาพแข็งแรงดีในเร็ววัน บางคนก็เพียงแต่ทุเลาจากอาการป่วย แต่ต้องไปพักฟื้นและฟื้นฟูร่างกายอีกนาน แต่บางคนหลังจากฟื้นไข้แล้วยังสะสมเชื้อโรคไว้ในร่างกาย และกลายเป็นพาหะของโรค อาจเป็นพาหะที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่มีความสามารถในการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ แต่บางคนอาจจะพอทุเลาจากอากรเจ็บป่วย หลังการรักษา แต่หลังจากนั้นอาจจะมีเชื้อโรคแอบแฝงอยู่และกลายเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งในบางกรณีกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคร้ายเช่นมะเร็งตามมาจากการติดเชื้อนั้น

                ตัวอย่างข้างต้นนั้น เป็นการกล่าวถึงการติดเชื้อโรคตับอักเสบบี ซึ่งจะทำให้คนที่ได้รับเชื้อโรคเหมือนกัน เกิดอาการเจ็บป่วยและความรุนแรงต่อเนื่องของโรคไม่เหมือนกันเลย เพื่อแสดงให้ประชาชนเข้าใจว่า ตามธรรมชาติของมนุษย์ เชื้อโรค และการเจ็บป่วยอย่างเดียวกัน จะทำให้ผู้คนมีความเจ็บป่วยแตกต่างกันออกไปเนื่องจากในตัวคนแต่ละคน มีส่วนประกอบของร่างกาย วิธีการดำเนินชีวิต พฤติกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

           เมื่อคนเราเจ็บป่วยแล้ว ระดับความรุนแรงของโรคก็ไม่เหมือนกัน และเมื่อได้รับการดูแลรักษาและให้ยาแล้ว การตอบสนองต่อการรักษาหรือยา ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงทำให้วิทยาการทางการแพทย์ เป็น “วิทยาศาสตร์แห่งความไม่แน่นอน” ซึ่งหมายถึงว่าในการรักษาผู้ป่วยในแต่ละโรคนั้น  อาจมี “ทางเลือก” ได้หลายทาง มีวิธีการหลายวิธี มียาหลายชนิด มีสิ่งอื่นๆที่จะช่วยรักษาได้ เช่นการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนส่วนประกอบชองอาหาร การละเว้นสิ่งที่เป็นเหตุของการเจ็บป่วย ฯลฯ

              แพทย์ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย จึงต้องมีความสามารถ ในการ “ตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดในการเลือกการรักษาหรือยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน” เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยแต่ละคน ฟื้นไข้ หายจากการเจ็บป่วย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนก่อนป่วย ไม่มีโรคแทรกซ้อน และไม่เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา

              การที่แพทย์จะสามารถตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุดนั้น แพทย์แต่ละคนจะต้องมี “ความรู้“ทางการแพทย์เป็นอย่างดี ตามที่เคยได้รับการสั่งสอนฝึกอบรมมา (และการศึกษาอย่างต่อเนื่องจากการอ่านหนังสือ ร่วมประชุมวิชาการ อ่านงานวิจัยหรือทำการวิจัยเอง) ประกอบกับ  “ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์” ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาก่อนแล้ว  เพื่อใช้ในการเลือกข้อมูลจากการ ซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย และใช้ “ดุลพินิจ” ในการ “ตัดสินใจ” ว่าผู้ป่วยคนนี้ที่อยู่ตรงหน้าแพทย์ มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร มีอะไรเป็นสาเหตุสำคัญและสาเหตุเสริมให้เกิดเจ็บป่วย และควรจะรักษาอย่างไร จึงจะเกิดผลดีที่สุด

                สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจจะยังไม่สามารถตัดสินใจในการคิดว่าเป็นโรคอะไร หรือมีอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บป่วย โดยอาศัยเพียงการซักประวัติและการตรวจร่างกาย แพทย์จึงอาจต้องส่งผู้ป่วยไปตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยวิธีพิเศษ เช่น การส่งเอ๊กซเรย์ การทำอัลตร้าซาวน์ หรือการตรวจพิเศษโดยเครื่องมือและเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยและก้าวหน้า หรือต้องส่งส่วนประกอบต่างๆในร่างกายเช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำมูก เสมหะ ฯลฯ ไปตรวจวิเคราะห์หาความผิดปกติหรือสาเหตุของการเจ็บป่วย เพื่อเอามาประกอบการพิจารณาตัดสินใจว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไร และมีสาเหตุจากอะไร เพื่อช่วยในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุด

             ฉะนั้น แพทย์ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยจึงเป็นคนสำคัญที่สุดที่จะรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีที่สุด โดยอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือการวินิจฉัยโรค ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร และการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ดังกล่าวแล้ว

               แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาของแพทย์นั้น ก็จะมีแนวทางที่ควรปฏิบัติ ที่ถือว่าเป็น การรักษาที่ได้มาตรฐาน ที่แพทย์ควรจะทำตาม เพื่อจะได้เป็นผลดีต่อผู้ป่วย และช่วยในการทำให้แพทย์ตัดสินใจรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมที่สุด

   การแพทย์ไทยในรพ.กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรฐานการแพทย์ที่ดีหรือไม่?

             สำหรับในประเทศไทยนั้น เนื่องจากในแต่ละโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ต่างก็มีความแตกต่างในศักยภาพ (ความสามารถ) ในการปฏิบัติการทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย ของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน  ทั้งในด้านจำนวนบุคลากร ความเชี่ยวชาญของบุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยี ทำให้แต่ละโรงพยาบาลไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน รุนแรง อาจจะต้องถูกส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

               แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญในการที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขหลายๆแห่ง ขาดทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเทคโนโลยี  ขาดบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจำนวนที่น้อยเกินไป และขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อนยุ่งยาก

               จริงอยู่ที่รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขมีหลายระดับ ไม่ว่าระดับต้น ที่รักษาโรคทั่วไป ระดับกลาง ที่รักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้น และระดับสูง ที่รักษาโรคที่รุนแรง และซับซ้อนมากที่สุด  แต่โรงพยาบาลในแต่ละระดับนั้น ต่างก็มีความขาดแคลนดังกล่าวแล้ว และมีความแตกต่างของศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยเมื่อเปรียบเทียบกับรพ.ในระดับเดียวกัน

             นอกจากความขาดแคลนที่กล่าวแล้ว ปัญหาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ่ายเงินไม่ครบ ไม่ตรงเวลา และยังขีดเส้นกำหนดมาตรฐานการใช้ยา “บางอย่างเท่านั้น” ในการรักษาผู้ป่วย เป็นผลให้การรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่สามารถทำได้ดีที่สุดตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี ตามการตัดสินใจของแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย

                 ผู้เขียนเพิ่งพูดถึงการ “ตัดสินใจ”รักษาผู้ป่วยโดยอาศัยความรู้และเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน ความรู้ทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นมากมายและรวดเร็ว จากการวิเคราะห์วิจัย โดยอาศัย “เหตุผลเชิงประจักษ์” (Evidenced-based Medicine) ก็เป็น “ตัวช่วย” ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ในการทำให้แพทย์ตัดสินใจรักษาผู้ป่วยได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

              แต่ในสถานการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีจำนวนแพทย์เพียง 12,340 คน และมีผู้ป่วยมารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก 163,336,954 ครั้ง และผู้ป่วยในอีก 16,225,295 ครั้ง (จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2553) ซึ่งนับว่าแพทย์ที่มีเพียง 12,340 คน(แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยจริงๆอาจมีไม่ถึง 10,000 คน เนื่องจากไปศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง หรือเป็นผู้บริหารอีกหลายพันคน) จึงทำให้แพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีเวลาที่เพียงพอในการที่จะ “รวบรวมข้อมูลการเจ็บป่วย” ของผู้ป่วยมาประกอบ “การตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม”เพื่อที่จะรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานให้ได้รับผลดีที่สุด

 ถ้าพูดถึง “ศิลปะศาสตร์” ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งSir William Osler พูดว่าเป็นศิลปะศาสตร์แห่งความเสี่ยง  หรือ an Art of probability ) นั้น ถ้าใครเคยเรียนเรื่องprobability ก็คงจะจำได้ว่า ครูจะยกตัวอย่างการโยนเหรียญว่าในการโยนเหรียญ 100 ครั้ง จะออกหัวกี่ครั้ง หรือออกก้อยกี่ครั้ง หรือการแจกไพ่นั้น จะออกหน้าไหนบ้างกี่ครั้ง เรียกว่ามีโอกาสที่จะได้ผลอย่างที่เราต้องการกี่ครั้ง หรือ “พลาดโอกาสที่เราต้องการกี่ครั้ง ซึ่งในการเลือกวิธีรักษาหรือเลือกยาให้ผู้ป่วยนั้น มีโอกาสที่จะได้ผลอย่างที่เราต้องการกี่ครั้ง และจะพลาดโอกาสดีๆที่ผู้ป่วยจะฟื้นไข้เนื่องจากร่างกายและพยาธิสภาพของผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อการรักษากี่ครั้ง เกิดโรคแทรกซ้อนกี่ครั้ง หรือการผ่าตัดที่แพทย์ผู้มี “ฝีมือดี”มีทักษะในการทำผ่าตัดนั้นๆมามาก ก็ย่อมมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะฟื้นจากการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางคนที่ “พลาดโอกาส”ในการที่จะฟื้นจากการผ่าตัดที่ได้ทำอย่างดีนั้น เนื่องจากความแตกต่างของแต่ละคน ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนต้นเรื่องนี้แล้ว แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้ป่วยและญาติจะ “ยอมรับ”ผลการรักษาที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือความเสียหายได้หรือไม่? หรือ จะฟ้องร้องแพทย์เพื่อเรียกค่าเสียหาย?

            ฉะนั้นนอกจากศิลปะในการทำงาน “ลงมือ” รักษาผู้ป่วยแล้ว ศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญไม่หย่อนไปกว่าศาสตร์และศิลปะอื่นๆ คือ “ศิลปะในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยและครอบครัว” ทั้งนี้ แพทย์ที่มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วย(และครอบครัว)เกิดความเข้าใจ และไว้ใจแล้ว ก็นอกจากแพทย์จะสามารถรับรู้ข้อมูลการเจ็บป่วยจากผู้ป่วยและครอบครัวโดยไม่ปิดบัง ซึ่งจะช่วยทำให้แพทย์ได้ข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยละเอียดครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นต่อไปที่จะทำให้แพทย์ “ตัดสินใจรักษาผู้ป่วย” ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หายป่วย ก่อให้เกิดความ”ชอบใจ รัก และศรัทธา” แพทย์ตามมา  และแพทย์จะสามารถอธิบายการคาดการณ์ผลการรักษาให้ญาติรู้ว่า อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลเสียหายอย่างใดบ้าง  แพทย์ได้พยายามป้องกันความเสียหายนี้เต็มที่แล้วอย่างไร และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติจะสังเกตได้อย่างไร และจะต้องทำอย่างไรต่อไป

               จึงเห็นได้ว่าแพทย์จะต้องมีท่าทีอบอุ่น เป็นมิตร ให้เวลา และให้ความสนใจกับผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้า รับฟังปัญหาของผู้ป่วย และอธิบายวิธีการรักษา ตลอดจนความคาดหวังของแพทย์ และการป้องกันแก้ไขความเสี่ยงได้หรือไม่ และอย่างไร เช่น เมื่อกินยานี้ไปแล้ว จะเกิดผลอะไรตามมา จะหายจากการเจ็บป่วยไปเลย หรืออาจะต้องกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง เพื่อติดตามดูผลการรักษา ว่าอาจะต้องเปลี่ยนยา เปลี่ยนวิธีการรักษา ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น

            อันที่จริงแล้ว  โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง ต่างก็ได้สั่งสอนอบรมให้แพทย์ มีความรู้ความสามารถในศาสตร์และศิลป์ของการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดีแล้ว ผ่านการสอนด้วยทฤษฏี ปฏิบัติมาอย่างยาวนาน ผ่านการเคี่ยวกรำฝึกฝนอย่างหนัก ก่อนที่จะอนุญาตให้สอบได้ มาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” และถูก “บังคับ” ให้ไปทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยในชนบท  ทั้งๆที่ยังมีประสบการณ์น้อย แต่ก็อาศัยการดูแลแนะนำ และให้การปรึกษาจากแพทย์รุ่นพี่

               แต่ความเป็นจริงอันโหดร้ายก็คือ กระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานมากมายมหาศาลดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์แต่ละคนต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยมากเกินไป  จน “ขาดเวลาที่มีคุณภาพ” ในการที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจ ไว้ใจ ชอบใจ  เชื่อมั่นและศรัทธา ในการดูแลรักษาผู้ป่วย

                จากการไปเก็บข้อมูลของแพทยสภาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว แพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีเวลาเพียง 2- 4 นาที ในการที่จะตรวจวินิจฉัย และสั่งการรักษาให้ผู้ป่วย

               แล้วเวลาเพียงเท่านี้ จะเพียงพอที่จะทำให้แพทย์ “ตัดสินใจในการรักษา” ได้ดีพอและเหมาะสมหรือไม่? และ

               เวลาเพียงเท่านี้จะเพียงพอให้แพทย์ มีเวลาที่จะ”อธิบายให้ผู้ป่วย ชอบใจ เข้าใจ ไว้ใจ เชื่อมั่นและศรัทธา” ในการทำงานของแพทย์หรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่จำนวนบุคลากรไม่ได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการลาออกไปทำงานในที่อื่น ที่ไม่มีภาระมากมายเหมือนในรพ.กระทรวงสาธารณสุข

                 คำตอบของคำถามทั้งสองข้อนี้ ผู้อ่านคงตอบถูกทุกคน

                     ทั้งนี้ จากการสำรวจของแพทยสภาอีกเช่นกัน ที่แสดงว่า แพทย์ในรพ.ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ต้องทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นเวลาทั้งสิ้น 90-120 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ บางแห่งมีแพทย์เพียงคนเดียวประจำอยู่ในโรงพยาบาล เรียกว่าต้องทำงานทุกวันและรับผิดชอบการเจ็บป่วยฉุกเฉินตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน

           ฉะนั้น โดยสรุปแล้ว  มีปัญหา 3 อย่างที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การแพทย์ไทยในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มาตรฐานคือ

                 1.ปัญหาสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในการรักษาผู้ป่วย จนทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และทำให้ มาตรฐานการแพทย์ไทยตกต่ำ ในการปฏิบัติงานของแพทย์ในโรงพยาบาลก็คือ “การที่แพทย์มีเวลาไม่เหมาะสมและน้อยเกินไปที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยแต่ละคน” จนทำให้แพทย์อาจจะไม่สามารถ “ตัดสินใจทำงานรักษาผู้ป่วยได้ดีมีมาตรฐาน”

                  2.การมียัญชียาหลักไม่สมบูรณ์ ไม่ครอบคลุมยาใหม่ที่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุด

                  3. การขาดงบประมาณในการทำงานทางการแพทย์และพัฒนาอาคารสถานที่อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีของโรงพยาบาล

                   เราคงจะเคยได้ยินว่า มีแพทย์ในชนบทหลายคน ได้รับยกย่องว่าเป็นแพทย์ดีเด่นขององค์กรต่างๆมากมาย ซึ่งได้รับรางวัลและการยกย่องชื่นชม ซึ่งผู้เขียนก็พลอยชื่นชมไปด้วย ว่าแพทย์ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ คงมีความ “เก่ง” ทั้งศาสตร์และศิลป์ในทางการปฏิบัติงานทางการแพทย์และสังคม มีความเสียสละความสุขส่วนตัวอย่างมาก ในการที่จะทำงานทางการแพทย์ในความขาดแคลนต่างๆและมีภาระความรับผิดชอบในการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นแล้ว ผู้ได้รับรางวัลเหล่านี้หลายคนที่ได้ล้มเลิกการเป็นแพทย์ที่ดีในชนบท โดยเลิกการปฏิบัติงานในการดูแลรักษาผู้ป่วย อาจจะเป็นเพราะเหนื่อยล้าจากทำงานที่ต้องมีความเสียสละอย่างสูงในชนบท  มาเป็นผู้บริหารกองทุนต่างๆแทน

              ฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะตื่นขึ้นมา ทำการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อที่จะทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน สามารถรักษามาตรฐานการทำงานของตน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน การแพทย์ที่ดี และสามารถทำให้ทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางกสารแพทย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน ตามข้อเสนอดังต่อไปนี้

1.     จัดสรรตำแหน่งหน้าที่ให้เหมาะสม เพื่อให้มีบุคลากรในจำนวนที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วย มีเวลาที่มีคุณภาพในการทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดี

2.     มีการกำหนดมาตรฐานการรักษา และการกำหนดบัญชียาแห่งชาติที่เหมาะสม ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดีและทันสมัย

3.     มีการจัดสรรงบประมาณในการซ่อมแซม ขยาย พัฒนา อาคารสถานที่ เทคโนโลยี อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสม

4.     ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพ สร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และสามารถปฐมพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยเองได้ จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยไม่เป็นภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์มากเกินไป

             ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ถ้าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสามารถทำได้ ผู้เขียนเชื่อว่า จะสามารถยกมาตรฐานคุณภาพบริการทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขไทย ให้เป็นที่น่าเชื่อมั่นและไว้วางใจแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
13 ก.พ. 55