ผู้เขียน หัวข้อ: กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรมในแพทยสภา  (อ่าน 1873 ครั้ง)

knife05

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 60
    • ดูรายละเอียด

                                                           
            แพทยสภาเป็นองค์กรวิชาชีพวิชาการ ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ๒๕๒๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม(แพทย์)ให้ถูกต้องตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพวิชาการ ตามมาตรา ๗ แห่ง พระราชบัญญัติฯ

            ประเทศไทยในฐานะ “นิติรัฐ” (Law Binding State) โดยขอบเขตอำนาจแห่งรัฐ “รัฎฐาธิปัตย์” (Sovereignty) องค์กรนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อ “ให้เกิดความสุขสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม” ในด้านวิชาการวิชาชีพแพทย์ อันหมายถึง “ประชาชนยังคงยินดีและไว้วางใจในการเดินไปให้แพทย์ตรวจรักษา-เยียวยา” และในทางกลับกัน “แพทย์ยังคงมีความชื่นชมยินดี-ด้วยจิตวิญญาณ-เมื่อเห็นประชาชนเดินเข้ามาพึ่งพา” ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงานเพียงแค่ “ทำตามหน้าที่”

            องค์ประกอบของคณะกรรมการแพทยสภาประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ทั้ง ๑๙ คณะ ศิริราช จุฬาฯ รามาฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา เป็นต้น และเจ้ากรมแพทย์ทหารบก เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ แพทย์ใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม ๒๖ ท่านและกรรมการจากการเลือกตั้งโดยแพทย์ ๓ หมื่นกว่าคนทั่วประเทศอีก ๒๖ ท่าน รวม ๕๒ คน

            เป็นองค์คณะที่ใช้อำนาจ “รัฎฐาธิปัตย์” (Sovereign Authority) ในกรอบอำนาจแห่งรัฐตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม คณะกรรมการดังกล่าวมีลักษณะเป็น “นิติบุคคล” ตามมาตรา ๖

            ภายใต้ “นิติบุคคล” ดังกล่าวให้มีองค์กรทางวิชาการ ในการกำหนด “มาตรฐานวิชาการวิชาชีพ”(Standard of Practice) ในการแพทย์สาขาต่างๆอีก ๑๔ ราชวิทยาลัย อันได้แก่ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆดังกล่าวเป็น “องค์กรลูก” ด้านวิชาการ ภายใต้นิติบุคคลแพทยสภา ได้รับมอบหมายให้ “กำหนดกรอบมาตรฐานทางวิชาการ-วิชาชีพ” ว่าการกระทำเช่นนี้ การรักษาเช่นนั้น...”ที่ถูก” เป็นอย่างไร “ที่เป็นมาตรฐาน” เป็นอย่างไร โดย “เนื้อความมาตรฐานวิชาการดังกล่าว” จากราชวิทยาลัยแพทย์จะถูกนำเสนอขึ้นสู่ “นิติบุคคล”แพทยสภา เห็นชอบและตราเป็น “ข้อบังคับแพทยสภา” ซึ่งมีศักดิ์เป็น “กฎกระทรวง” ซึ่งเป็นกฎหมายตราในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

            ดังนั้น “มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพเวชกรรม” สาขา-ประเด็นต่างๆมีลักษณะและศักดิ์เป็น “กฎหมาย”...ตามขอบเขตที่ “รัฎฐาธิปัตย์”ใช้อำนาจรัฐผ่านองค์คณะแพทยสภา เพื่อให้เกิดความสุขสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

            นอกจากอำนาจทาง “นิติบัญญัติ” หรือการตรากฎหมายที่ “รัฎฐาธิปัตย์”ได้มอบไว้ให้แก่แพทยสภาแล้วนี้ องค์คณะนี้ยังได้รับอำนาจ “กระบวนการยุติธรรม” (Process of Equity) เพื่อผดุงความยุติธรรมตามหมวด ๕ ว่าด้วยการควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๒๖-๓๙ โดยคณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดลงโทษแพทย์ผู้กระทำผิด มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพและผิดจริยธรรม อันหมายถึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ตามกรอบแห่งจริยศาสตร์ที่แพทย์พึ่งกระทำต่อผู้ป่วยโดยมีบทลงโทษคือ ๑ ว่ากล่าวตักเตือน ๒ ภาคทัณฑ์ ๓ พักใช้ใบอนุญาต ๔ เพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็น “เครื่องมือ” (Impeachment Tools) เพื่อให้ “กระบวนการยุติธรรม” ตามที่รัฎฐาธิปัตย์มอบอำนาจไว้ศักดิ์สิทธิ์และสัมฤทธิ์ผล กระบวนการยุติธรรม (Process of Equity) และ “เครื่องมือ”ในการลงโทษ (Impeachment Tools) ดังกล่าวกระทำภายใต้กรอบอำนาจแห่งรัฎฐาธิปัตย์ได้มอบหมาย...ลงโทษต่อ “บุคคล” คือเป็น “นิติสัมพันธ์”แบบ “อำนาจรัฐ” กระทำต่อ “บุคคล” เป็นอำนาจทางปกครองกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและกระบวนการวินิจฉัยตัดสิน คดีความทางการแพทย์ทั้งหมดได้ดำเนินการตาม “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองปี ๒๕๔๒”  เพื่อให้ได้มาซึ่ง “กระบวนการ”ที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นธรรม

            ลักษณะคดีที่เข้ามายังแพทยสภามีลักษณะข้อกล่าวโทษเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆคือ
            ๑. คดีผิดมาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพ(Standard of Practice)
            ๒. คดีผิดจริยธรรม(Medical Ethics)
           
๑. ในเรื่องมาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพนั้น(Standard of Practice) ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพ” ผ่านข้อบังคับแพทยสภาซึ่งตราลงในราชกิจจานุเบกษานั้น “เป็นกฎหมาย” กฎหมายดังกล่าวมีความชอบธรรม (legitimacy) ในขอบเขตอำนาจ “นิติรัฐ” “รัฐไทย” (Thai Sovereignty)
...ไม่สามารถนำไปใช้กล่าวอ้างได้ในขอบเขตของอำนาจรัฐอื่นๆ....
...ในทางกลับกัน...”มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพของขอบเขตอำนาจรัฐอื่น...ก็ไม่มีผลทางกระบวนการยุติธรรมใน “รัฐไทย” ไม่ว่าจะอ้างอิงมาจาก “รัฐที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า หรือต่ากว่า” “รัฐไทย” 

(หมายเหตุ-เช่น กฎหมายมาตรฐานจราจร-การขับขี่จักรยานยนต์-มอเตอร์ไซด์-ต้องสวมใส่หมวกนิรภัยตามกฎหมายไทย ซึ่งเหมือนกับประเทศที่พัฒนากว่าไทย แต่ไม่ผิดกฎหมายในบางประเทศที่เศรษฐกิจด้อยพัฒนากว่าไทย ขณะเดียวกันการขับขี่จักรยานสองธรรมดา กฎหมายไทยและประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเราไม่ได้ระบุให้ต้องสวมหมวกนิรภัย แต่ผิดกฎหมายในประเทศตะวันตก หากขี่จักรยานไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นต้น---บริบทและภาวะวิสัยแตกต่างกัน)

ดังนั้นในเรื่อง “มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพเวชกรรม(แพทย์)” รัฎฐาธิปัตย์ได้มอบหมายให้องค์คณะนี้ใช้อำนาจเต็มทั้ง อำนาจ “นิติบัญญัติ” และ”กระบวนการยุติธรรม” หากหน่วยงานใดมี “ข้อสงสัย” เพื่อ “ตีความ”ในเรื่อง “มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพเวชกรรม(แพทย์)” มติขององค์คณะดังกล่าวถือเป็นอัน “ยุติ” เพื่อให้เกิดความ “ยุติธรรม” หรือ ธรรมอันเป็นที่ยุติ
ในขอบเขต “รัฎฐาธิปัตย์” ไทย “มาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพ” ซึ่งเป็นกฎหมายมีมาตรฐานเดี่ยว (Singularity of Standardized) หากมีหน่วยงานใด ในขอบเขตอำนาจ “รัฐไทย” ต้องการ “กำหนดมาตรฐานใหม่”...ไม่ว่าจะคัดลอกมาจากประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาสูงกว่าหรือต่ำกว่าไทย หรือสอบทานความเห็นจากบุคคลซึ่งกล่าวอ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่า หรือเป็น “โมฆะ” เนื่องจากเป็น “ความเห็น” ไม่ใช่ “กฎหมาย”

๒. ในคดีความซึ่งกล่าวโทษว่า แพทย์ผิดจริยธรรม(Medical Ethics) กล่าวคือแพทย์ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริต ขัดต่อศีลธรรมอันดี..ในบริบทต่างๆของสังคม ตามแต่ภาวะวิสัยและพฤติการณ์นั้นๆ คดีนั้นๆ แพทย์อาจจะไม่ผิดจริยศาสตร์ในแง่มุมวิชาชีพแต่อาจจะผิดจริยศาสตร์ในกฎหมายอื่นๆของบ้านเมือง เช่น การละเมิด(Violate)  หมิ่นประมาท(Libel) ซึ่งแพทย์ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอื่นๆต่อไป หากแต่เป็นข้อกล่าวโทษ “ร่วม” ทั้งเรื่อง “มาตรฐาน”(Standard) ตามข้อ ๑ ร่วมกับ เรื่อง ละเมิด(Violate) ตามข้อ ๒ ด้วยนั้น ในส่วนของคดี “มาตรฐาน”ต้องยึดหลัก Singularity of Standardized เพื่อมิให้เกิดความสับสนต่อ แพทย์ผู้ปฎิบัติงานอีกกว่า ๓ หมื่นคนทั่วประเทศ (หมายเหตุ-เช่น ขับขี่จักรยานยนต์ ใส่หมวกนิรภัย-เปิดไฟหน้า-มีใบขับขี่-ไม่เสพของมึนเมา-ขับความเร็วไม่เกินกำหนด ใช้ความระมัดระวัง “ถูกมาตรฐาน” แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ซึ่งถูกร้องเรื่องกระทำละเมิด เป็นการละเมิด ไม่ใช่ฐาน “ผิดมาตรฐาน” หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โทษต่ำกว่า กระทำผิดละเมิดร่วมกับผิดมาตรฐานในคดีเดียวกัน)

คดีความที่ร้องมาที่แพทยสภา ทั้งเรื่องมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมนั้นในปีหนึ่งๆมีประมาณกว่า ๒๐๐ คดี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความซับซ้อนของสังคมและวิทยาการการรักษาโรค ประมาณ ๑ ใน ๖ หรือประมาณ ๓๐ คดีต่อปี พบว่าแพทย์ “ผิดจริง”...องค์คณะนี้ได้ใช้อำนาจทางปกครองลงโทษแพทย์ ตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต...คือ “สิ้นสภาพ”ความเป็นแพทย์ กลายเป็น “บุคคลธรรมดา” “สิ้นสิทธิ์” ตามอำนาจแห่ง “รัฐไทย” ในการรักษา-ให้ยา-ผ่าตัด ผู้ป่วยในขอบเขตอำนาจแห่งรัฐไทยได้อีก

บทบาทของ “แพทยสภา” ในฐานะ “นิติบุคคล” ซึ่งเป็น องค์คณะซึ่งได้รับอำนาจจาก “รัฎฐาธิปัตย์” ให้กำหนดมาตรฐานและควบคุมมาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพเวชกรรม(แพทย์) ทั้งอำนาจ “นิติบัญญัติ” และอำนาจ “กระบวนการยุติธรรม” คือ ธรรมอันเป็นที่ “ยุติ” เพื่อให้ “รัฐไทย”เกิดความสุขสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในด้านการแพทย์ และ “รัฐไทย” มีมาตรฐานวิชาการ-วิชาชีพแพทย์มาตรฐานเดียวซึ่งแพทย์ทุกคนต้องถือปฎิบัติ หากหน่วยงานใดภายใต้ขอบเขตแห่ง “รัฎฐาธิปัตย์”(Sovereignty)) มีข้อ “สงสัย”ต้องการการ “ตีความ” “มาตรฐานวิชาการ” ตามราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว “ความเห็น” ขององค์คณะแพทยสภาถือเป็นอัน “สิ้นสุด” เพื่อให้ “รัฐไทย” มีมาตรฐานวิชาการทางการแพทย์มาตรฐานเดี่ยว ไม่ได้มี สอง...สามมาตรฐานทั้งนี้  เพื่อ “ให้เกิดความสุขสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคม” ในด้านวิชาการวิชาชีพแพทย์ อันหมายถึง “ประชาชนยังคงยินดีและไว้วางใจในการเดินไปให้แพทย์ตรวจรักษา-เยียวยา” และในทางกลับกัน “แพทย์ยังคงมีความชื่นชมยินดี-ด้วยจิตวิญญาณ-เมื่อเห็นประชาชนเดินเข้ามาพึ่งพา” ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำงานเพียงแค่ “ทำตามหน้าที่” ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตย์อยู่กับท่านผู้อ่านทุกท่านที่รักในสันติสุขที่องค์พระผู้เป็นเจ้ามอบให้ด้วยเทอญ

นาวาอากาศโท นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์
กรรมการแพทยสภา