ผู้เขียน หัวข้อ: ถนนสายวิวัฒนาการของเรา-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3010 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

แหล่งโบราณคดีมิดเดิล อาวาช (Middle Awash) ในเอธิโอเปีย คือบริเวณที่มีผู้คนอาศัยต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก สมาชิกสาแหรกตระกูลของมนุษย์มีชีวิตอยู่ ล้มตาย และถูกกลบฝังที่นั่นตลอดระยะเวลาเกือบหกล้านปี ตอนนี้กระดูกของพวกเขากำลังผุดโผล่ขึ้นจากผืนดิน        พร้อม บันทึกทางวิวัฒนาการต่างยุคสมัยที่ช่วยให้เราเห็นภาพไพรเมตสมองเล็กๆ พัฒนามาเป็นผู้พิชิตโลกใบนี้ได้อย่างไร จะมีที่ใดดีกว่านี้ในการศึกษาเส้นทางสู่การเป็นมนุษย์ของเรา
           
              ใน ทะเลทรายอะฟาร์ของเอธิโอเปีย  ความตายอาจมาในหลายรูป แบบ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถูกสัตว์ป่าทำร้าย งูกัด ตกหน้าผา หรือถูกยิงในการต่อสู้ระหว่างชนเผ่าในอะฟาร์กับชาวอิสซาที่อยู่คนละฝั่งแม่ น้ำอาวาชไปทางตะวันออก แต่จะว่าไปแล้วชีวิตก็ช่าง เปราะบางทั่วทั้งแอฟริกา  ความ พิเศษของสถานที่แห่งนี้คือการที่ซากศพอาจคงทนได้อย่างไม่น่าเชื่อ แอ่งอะฟาร์ตั้งอยู่บนขอบรอยแยกของเปลือกโลกที่ขยายตัวออก เมื่อเวลาผ่านไป ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว และการสะสมตัวอย่างช้าๆของตะกอนได้ร่วมกันกลบกลืนกระดูกต่างๆ จากนั้น อีกเนิ่นนานต่อมา จึงค่อยๆคายกระดูกเหล่านั้นคืนกลับสู่พื้นผิวโลกในรูปของฟอสซิล ทิม ไวต์ นักมานุษยบรรพกาลวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์บอกว่า “ผู้คนล้มตายที่นี่มาหลายล้านปีแล้วครับ บางทีเราก็โชคดีและได้พบเจอสิ่งที่เหลืออยู่”

              โครงการวิจัยมิดเดิลอาวาชซึ่งไวต์เป็นผู้อำนวยการร่วมกับเบอร์เฮน อัสฟาว และกีเดย์ โวลเดเกเบรียล สองเพื่อนร่วมงานชาวเอธิโอเปีย ประกาศข่าวความสำเร็จครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่า พวกเขาพบโครงกระดูกสมาชิกสาแหรกตระกูลมนุษย์อายุ 4.4 ล้านปีเมื่อ 15 ปีก่อน (หรือปี 1994) ในบริเวณที่เรียกว่า อะรามิส (Aramis) ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลสาบยาร์ดีในปัจจุบันไปทางเหนือ 30 กิโลเมตร โครงกระดูกของ อาร์ดิพิเทคัส รามิดัส (Ardipithecus ramidus)   เพศเมียโตเต็มวัยที่เรียกสั้นๆว่า   “อาร์ดี”  ไม่เพียงเก่าแก่กว่าโครงกระดูก   “ลูซี”   หรือ ออสตราโลพิเทคัส อฟาเรนซิส  อายุ 3.2 ล้านปี ผู้โด่งดังถึงกว่าหนึ่งล้านปี  แต่ยังให้ข้อมูลมากกว่าเกี่ยวกับความลับแห่งวิวัฒนาการที่ มีผู้พยายามแสวงหาคำตอบมากที่สุดข้อหนึ่ง นั่นคือธรรมชาติของบรรพบุรุษร่วมระหว่างมนุษย์กับชิมแปนซี

              แม้จะฟังดูน่าตื่นเต้น แต่ อาร์ดิพิเทคัส รามิดัส ก็เป็นเพียง “ชั่วขณะหนึ่ง” บนถนนสายวิวัฒนาการอันยาวนานของเราจากเอปปริศนาชนิดหนึ่งมาสู่เผ่าพันธุ์ที่ กุมชะตากรรมของโลกไว้ในมือ  นักวิทยาศาสตร์พบ คุณลักษณะที่มีลักษณะผสมผสานกันอย่างน่าประหลาด ขณะที่บางอย่างดูดึกดำบรรพ์มาก อีกหลายอย่างกลับมีลักษณะก้าวหน้าและเป็น  คุณลักษณะเฉพาะของโฮมินิด  อาร์ ดีไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์สองเท้าหรือสัตว์สี่เท้า แต่เป็นทั้งสองอย่าง

              ผม ถามไวต์ว่ารูปลักษณ์ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของอาร์ดี อาจทำให้เราเรียก อา ร์ดิพิเทคัส รามิดัส ว่าเป็น “ตัวเชื่อมที่ขาดหายไป” (missing link) ได้หรือไม่ เขาไม่เห็นด้วยกับคำถามนี้

              “วลี นี้ไม่ถูกต้องในหลายแง่มุมครับ บอกยากนะครับว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน ที่แย่ที่สุดก็คือความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะมีอะไรบางอย่างที่อยู่กึ่งกลางระหว่างชิมแปนซีกับ มนุษย์ ตัวเชื่อมที่ขาดหายไปคือความเชื่อผิดๆ ที่ครอบงำแนวคิดว่าด้วยวิวัฒนาการมาตั้งแต่ต้น และการพบอาร์ดีก็น่าจะฝังความคิดพวกนี้ไปให้หมดได้แล้ว” เขาบอก

              หาก ทีมมิดเดิลอาวาชตีความถูกต้อง อาร์ดิพิเทคัส รามิดัส ก็ไม่น่าจะมี คุณลักษณะอะไรเหมือนชิมแปนซีหรือกอริลลาในปัจจุบันเลย แน่นอนว่าเอปและมนุษย์มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน แต่สาแหรกตระกูลของทั้งสองมีวิวัฒนาการแยกจากกันไปคนละทิศละทางนับตั้งแต่ บัดนั้น

              “สิ่ง ที่เราได้จากการค้นพบอาร์ดีก็คือ การมองวิวัฒนาการของมนุษย์เป็นสายพานการผลิตสามขั้น” ไวต์ อธิบาย อาร์ดิ พิเทคัส อาจเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของขั้นแรก นี่คือสัตว์สองเท้าดึกดำบรรพ์ที่เท้าส่วนหนึ่งอยู่ในอดีต และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในอนาคต ฟันเขี้ยวของ อาร์ดิพิเทคัส เพศผู้ลดขนาดลงและมีลักษณะ “เหมือนของเพศหญิง” ส่วนถิ่นอาศัยนั้นยังจำกัดอยู่ในป่า จากนั้น ตลอดกว่าสองล้านปีต่อมาเป็นยุคของ ออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus) ซึ่งยังคงมีสมองเล็ก แต่เดิน  สองเท้าเต็มรูปแบบ ถิ่นที่อยู่ไม่จำกัดเฉพาะในป่า แต่ขยายขอบเขตออกไปถึง 2,500 กิโลเมตรทางตะวันตกของเกรตริฟต์แวลลีย์ในเคนยา ถือเป็นโฮมินิดที่ประสบความสำเร็จใหญ่หลวง ทั้งในแง่ของเวลาและพื้นที่

              เป็นไปได้หรือไม่ว่า ออสตราโลพิเทคัส วิวัฒน์จาก อาร์ดิพิเทคัส  คำถามนี้ยากจะตอบได้  จนกว่าเราจะพบหลักฐานมากกว่านี้   ไม่ว่าจะเป็นที่มิดเดิลอาวาชหรือที่อื่นใด  เราก็ยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่า อาร์ดีคือ “แม่” ของลูซี  หรือเป็นเพียงป้า “สาวแก่” ที่สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปโดยไม่มีลูกหลานสืบทอดวงศ์วาน
         
              แต่ ไวต์บอกว่ามีคำถามที่ดีกว่านั้น นั่นคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ ออสตราโลพิเทคัส จะวิวัฒน์ตัวเองจากส่วนต่างๆของ อาร์ดิพิเทคัส นักวิทยาศาสตร์บางคนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไวต์เห็นต่าง ทุกวันนี้ เรารู้จากการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยในยีนอาจส่งผล กระทบทางกายวิภาคได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไวต์ให้เหตุผลว่า ถ้าการเดินสองเท้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อ ได้เปรียบสำคัญ กระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติคงใช้เวลาไม่กี่พันปีในการวิวัฒน์นิ้วหัวแม่ เท้าให้เรียงตัวในแนวเดียวกับนิ้วอื่นๆ หรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนการออกแบบโครงกระดูกเสียใหม่ให้รู้แล้วรู้รอด

              กฎเกณฑ์ เดียวกันนี้ยังประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนผ่านจาก ออสตราโลพิเทคัส สู่สายพานการผลิตขั้นที่สามของเรา เริ่มต้นจากการกินอาหารแคลอรีสูง บำรุงสมองให้เติบโตขึ้น ว่าแล้วเราก็มีมนุษย์สกุลโฮโมตามมาอย่าง โฮโม อิเร็กตัส และโฮโม เซเปียนส์ จนมาถึงพวกเราในที่สุด
กรกฎาคม 2553