ผู้เขียน หัวข้อ: สวรรค์ต้องห้าม-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3010 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

สถานที่บางแห่งบนโลกใบนี้ช่างน่าอัศจรรย์และแสนเปราะบางจนบางทีเราอาจไม่ สมควรไปที่นั่น บางทีเราควรปล่อยมันไว้ตามลำพังและชื่นชมจากระยะไกล โดยส่งเพียงตัวแทนไปสังเกตการณ์เพื่อเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดโดยไม่รบกวน ภูมิทัศน์แห่งนั้น และรายงานกลับมาเหมือนกับที่นีล อาร์มสตรอง เคยทำเมื่อครั้งไปเหยียบดวงจันทร์ ขณะที่พวกเราที่เหลือคอยอยู่ที่บ้าน แนวคิดนี้นำมาใช้ได้กับโครนอตสกีซาโปเวดนิค (Kronotsky Zapovednik) เขตอนุรักษ์ธรรมชาติอันห่างไกลทางตะวันออกของคาบสมุทรคัมชัตคาในรัสเซียซึ่ง ทอดยาวไปตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก กว่า 1,500 กิโลเมตรทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ที่นี่เป็นภูมิทัศน์อันงดงามตระการตา มีชีวิตชีวาและรุ่มรวย โกลาหลและเปราะบาง ครอบคลุมพื้นที่ 11,000 ตารางกิโลเมตรซึ่งประกอบไปด้วยแนวภูเขาไฟ ป่าไม้ ภูมิประเทศแบบทุนดรา และแม่น้ำ เป็นแหล่งพักพิงของหมีสีน้ำตาลกว่า 700 ตัว สิงโตทะเลสเตลเลอร์ฝูงใหญ่บนชายฝั่ง ฝูงปลาแซลมอนโคคานีในทะเลสาบโครนอตสโกเย ส่วนปลาแซลมอนซีรันก็ว่ายตีคู่ไปกับปลาสตีลเฮดในแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีอินทรีและเหยี่ยวเจอร์ รวมไปถึง วูลเวอรีนและสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีค่าเกินกว่าจะถูกลดคุณค่าจนกลายเป็นเพียงแหล่งท่อง เที่ยว เนื่องจากที่นี่มีพืชและสัตว์มากมาย ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการอนุรักษ์ อีกทั้งยังถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วแต่ฟื้นฟูได้ช้า (ด้วยเหตุที่อยู่ในละติจูดสูง พืชพรรณเติบโตช้า ความสลับซับซ้อนของแหล่งความร้อนใต้พิภพ ระบบนิเวศที่มีลักษณะพิเศษและความเปราะบางของภูมิประเทศแถบนี้) ควรหรือไม่ที่โครนอตสกีจะมีผู้คนอยู่อาศัย หรือแม้กระทั่งผู้มาเยือน ผมตั้งคำถามนี้ ทั้งๆที่รู้ดีว่ามันอาจฟังดูปากว่าตาขยิบหรือดูขัดแย้งกันเอง เมื่อนึกถึงว่าเมื่อไม่นานมานี้ผมเพิ่งประทับรอยรองเท้าบู๊ตไว้บนพื้นผิวของ โครนอตสกี รัฐบาลรัสเซียเองก็ยอมรับถึงความงามอันแสนเปราะบางเช่นนี้ สมกับชื่อ ซาโปเวดนิค ที่อาจแปลคร่าวๆได้ว่า “เขตควบคุมที่สงวนไว้สำหรับการศึกษาและปกป้องพรรณพืช พันธุ์สัตว์ และธรณีวิทยา จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือไม่อนุญาตให้เข้า ขอบคุณที่ให้ความสนใจ แต่กรุณาอยู่ห่างๆ” นี่คือคำประกาศรับรองสถานะอย่างมองการณ์ไกล กล้าหาญ และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชอบธรรม ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ การต่อต้านประชาธิปไตยอันยาวนาน บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในซาโปเวดนิคได้ แต่ก็เพื่อการค้นคว้าวิจัยและอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่เข้มงวดเท่านั้น จากการประเมินครั้งล่าสุด โครนอตสกีเป็นเขตอนุรักษ์หนึ่งใน 101 แห่งของรัสเซีย และเป็นเขตอนุรักษ์แห่งแรกๆ ด้วย ก่อนหน้านี้ที่นี่เคยเป็นแหล่งพักพิงของเซเบิล (Martes zibellina - สัตว์สี่เท้าเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งในสกุลหมาไม้) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1882 จากการผลักดันของคนในท้องถิ่น ความที่คาบสมุทรคัมชัตคาอยู่ห่างไกลจากกรุงมอสโกมาก และไกลหูไกลตารัฐบาลโซเวียต ยุคโจเซฟ สตาลิน ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 (ซึ่งมีเรื่องสำคัญอื่นๆให้ทำอีกมากมาย) ค่าเสียโอกาสในการกำหนดให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นเขตที่ได้รับการปกป้องจึงอาจดู เหมือนไม่สูงนัก ทว่าพอถึงปี 1941 สินทรัพย์อย่างที่สองของเขตอนุรักษ์ก็เผยโฉมออกมา เมื่อนักอุทกวิทยานามตาเตียนา ไอ. อุสตีโนวา ได้ค้นพบกีย์เซอร์ (พุน้ำร้อน) หลายแห่งที่นั่น ในฤดูใบไม้ผลิอันหนาวเย็นของปีนั้น อุสตีโนวาและมัคคุเทศก์ของเธอกำลังใช้เลื่อนสุนัขสำรวจต้นน้ำของแม่น้ำชุมนา ยา พวกเขาหยุดพักใกล้กับจุดที่ธารน้ำมาบรรจบกันและสังเกตเห็นโดยบังเอิญว่า บริเวณ ริมฝั่งแม่น้ำที่ห่างไกลออกไปมีไอน้ำกลุ่มใหญ่พวยพุ่งขึ้นมา อุสตีโนวาย้อนกลับมาในอีกหลายเดือนต่อมาเพื่อทำแผนที่และศึกษาสิ่งที่ถูกค้น พบในภายหลังว่าเป็นลักษณะภูมิประเทศอันซับซ้อนของแหล่งความร้อนใต้พิภพ ซึ่งรวมถึงกีย์เซอร์ราว 40 แห่ง เธอตั้งชื่อกีย์เซอร์แห่งแรกที่พบว่า เปียร์เวเนตส์ แปลว่า “ลูกคนโต” ส่วนลำน้ำ สาขาที่เธอปีนขึ้นไปปัจจุบันนี้เรียกว่า แม่น้ำเกย์เซียร์นายา ส่วนลาดเขาที่อยู่เหนือโค้งน้ำแห่งหนึ่งของแม่น้ำสายนี้ก็ได้ชื่อว่า วิตรัช หรือกระจกสี เนื่องจากสีสันอันหลากหลายที่ตกค้างมาจากพุก๊าซน้อยใหญ่บนพื้นดิน โดลีนาเกย์เซรอฟ (Dolina Geyserov – หุบเขาแห่งกีย์เซอร์) ในโครนอตสกีกลายเป็นพื้นที่กีย์เซอร์ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทียบชั้นได้กับอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนของสหรัฐฯ, เอลตาเตียวในชิลี, ไวโอตาปูบนเกาะเหนือของนิวซีแลนด์ และไอซ์แลนด์ โดยทั่วไปกีย์เซอร์มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของภูเขาไฟ และในกรณีของ โครนอตสกีก็เป็นเช่นนั้น คาบสมุทรคัมชัตคาปกคลุมไปด้วยภูเขาไฟมากมาย ในจำนวนนี้กว่า 20 ลูก ซึ่งบางลูกเป็นภูเขาไฟไม่มีพลังตั้งอยู่ในเขตซาโป- เวดนิคหรือทอดตัวไปตามพรมแดนของเขตอนุรักษ์แห่งนี้ ภูเขาไฟ โครนอตสกีเป็นลูกที่สูงที่สุดโดยเป็นทรงกรวยสมบูรณ์แบบสูงถึง 3,521 เมตร ส่วนภูเขาไฟคราเชนินนีคอฟ (ตั้งชื่อตามสเตปัน เปโตรวิช คราเชนินนีคอฟ นักธรรมชาติวิทยาผู้กล้าหาญซึ่งเคยสำรวจคาบสมุทรคัมชัตคาเมื่อต้นศตวรรษที่ สิบแปด) ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ โดยอยู่ตรงข้ามกับ แม่น้ำโครนอตสกายา กระนั้นไกลออกไปอีกทางตะวันตกเฉียงใต้คือยอดเขาที่เคยเป็นหนึ่งในสามยอดเขา ขนาดใหญ่สามยอดเรียงต่อกัน แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะยอดสูงรูปกรวยถูกแทนที่ด้วยแอ่งต่ำๆขนาดกว้างใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์ กลางถึง 13 กิโลเมตร แอ่งนี้เต็มไปด้วยพุก๊าซ น้ำพุร้อน ทะเลสาบกำมะถัน ป่าไม้และพืชพรรณแบบทุนดรา ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยสันเขารูป วงกลมที่หลงเหลือมาจากตอนที่ภูเขาไฟลูกยักษ์เกิดระเบิดขึ้นเมื่อราว 40,000 ปีก่อน แอ่งนี้เรียกว่า แอ่งภูเขาไฟอูซอน ตั้งชื่อตามอูซอน เทวดาผู้มีเมตตาและทรงอำนาจในตำนานของชาวพื้นเมืองคอร์ยัค เช่นเดียวกับการค้นพบหุบเขาแห่งกีย์เซอร์ของอุสตีโนวา การสำรวจและศึกษาแอ่งภูเขาไฟอูซอนของนักวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มเหตุผลที่ทำให้ เราต้องปกป้องซาโปเวดนิค นั่นคือ เพื่อ ปกปักความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาและทางชีววิทยาเอาไว้ เรื่องเล่าของชาวคอร์ยัคเกี่ยวกับเทพอูซอนและแอ่งภูเขาไฟของเขานั้นฟังดู เหมือนนิทานสอนใจทั่วๆไป เขาเป็นมิตรกับมวลมนุษย์ เป็นผู้สยบยามพสุธาสะเทือน ใช้มือยับยั้งการปะทุของภูเขาไฟ รวมทั้งสร้างคุณงามความดีอื่นๆอีกมากมาย แต่เขามีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เร้นกายอยู่บนยอดเขาของตนเอง ที่ซึ่งภูตผีปีศาจไม่อาจย่ำกรายเข้ามาทำลายล้าง ต่อมาอูซอนตกหลุมรักมนุษย์คนหนึ่ง เธอเป็นหญิงสาวแสนสวยชื่อนายุน ผู้มีดวงตาสุกใสเหมือนดวงดาว ริมฝีปากแดงเหมือนผลแครนเบอร์รี คิ้วดำขลับราวกับขนเซเบิล เธอเองก็มีใจให้อูซอนเช่นกัน เขาจึงพาเธอกลับไปยังภูเขา ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่หลังจากครองรักกันอย่างมีความสุขตามลำพังอยู่นานหลายปี นายุนก็เริ่มโหยหาครอบครัวมนุษย์ที่จากมา อูซอนต้องการเอาใจเธอ จึงทำสิ่งผิดพลาดร้ายแรงและน่า สลดใจ นั่นคือการแยกภูเขาด้วยแขนอันทรงพลังของตนและสร้างถนนขึ้น จากนั้นผู้คนที่ทั้งอยากรู้อยากเห็นและชอบก่อความวุ่นวายก็เข้ามา ตอนนี้ทุกคนต่างรู้จักที่ซ่อนตัวอันลึกลับของอูซอน ซึ่งรวมถึงเหล่าภูตผีปีศาจด้วย “พื้นดินแยกออกพร้อมกับเกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว และกลืนกินภูเขามหึมาลูกนั้นลงไป แล้วอูซอนผู้ทรงพลังก็กลายเป็นหินไปตลอดกาล” จี. เอ. คาร์ปอฟ เล่าตำนานเรื่องนี้ให้ฟังในแบบหนึ่ง เรายังเห็นเขาอยู่ที่นั่นแม้กระทั่งทุกวันนี้ อูซอนกลายเป็นหินอยู่บนภูเขาสูงทางขอบด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอ่งภูเขาไฟ อูซอน ศีรษะของเขาค้อมลงมา ส่วนแขนก็เหยียดออกโดยรอบก่อให้เกิดเป็นขอบแอ่ง...
มกราคม 2552