ผู้เขียน หัวข้อ: ผลไม้รถเข็นสุดเสี่ยงเจอแบคทีเรียเกิน 67% เตือนกิน “ฝรั่งดองบ๊วย”  (อ่าน 1548 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เตือนซื้อผลไม้รถเข็นสุดเสี่ยงพบเชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึง 67.3% โดยเฉพาะฝรั่งดองบ๊วย ขณะที่แหล่งค้าส่งรายใหญ่ตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมืองผู้ผลิตแอบใส่สารเคมี กทม.จับมือ สคบ.ตรวจเข้มความปลอดภัยผลไม้รถเข็น-ร้านส่ง 1 เดือนไม่แก้ไขจับทันที
       
       วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงผลการทดสอบความไม่ปลอดภัยในผลไม้รถเข็นว่า มีการร้องเรียนในเรื่องความปลอดภัยในอาหารเข้ามามากโดยเฉพาะผลไม้รถเข็นที่มีขายทั่วไป ซึ่ง สคบ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันการศึกษา 3 แห่งลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผลไม้รถเข็นจากแหล่งจำหน่าย 38 ร้านในเขต กทม.และปริมณฑลเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ความไม่ปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยใช้ชุดทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร (Test Kit) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหายาฆ่าแมลงในอาหาร ทดสอบกรดซาลิซิลิคในอาหาร (เชื้อจุลินทรีย์) ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ผลไม้ 153 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์ม หรือเชื้อจุลินทรีย์ เกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึง 67.3% แสดงให้เห็นถึงขึ้นตอนการเตรียมผลไม้ที่จำหน่ายไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ผลไม้ไม่สะอาด และมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ที่อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง ถึง 16.3% และพบการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิก) 40.7% ในขณะที่ไม่พบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในผลไม้สด ในส่วนของผลไม้แปรรูปจำพวกของดอง พบการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมี และสารปนเปื้อนของสารกันรา ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึง 64.2% เช่น ฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนม่วง
       
       นายองอาจกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการลงพื้นที่แหล่งผลิตและกระจายสินค้า 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซอยลูกหลวง 7 (ข้างวัดญาณ) ชุมชนริมทางรถไฟยมราชพบพฤติกรรมผู้ผลิตและจำหน่าย ใช้วัสดุ วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะและมีการเติมสารเคมีจำพวกสารกันรา และสีสังเคราะห์ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีไข้ หายใจขัด และอาจก่อให้เกิดมะเร็ง รวมทั้งทำให้ร่างกายอ่อนแอขาดความต้านทานโรคจนถึงแก่ชีวิตได้
       
       อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ได้มีการรณรงค์ทำความเข้าใจให้ความรู้ผู้ผลิตและจำหน่ายได้รับทราบถึงพิษภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ระบุผู้ประกอบการ และผู้จำหน่ายที่กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมไปถึงควรมีสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่การเตรียมผลไม้ ภาชนะบรรจุและการจำหน่ายโดยจะให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลา 1 เดือนซึ่งหากเลยกำหนดไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆ จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายต่อไป
       
       ด้านพญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าในส่วนของกทม.โดยชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 50 เขตได้ร่วมกับสำนักอนามัย นำรถโมบายออกสุ่มตรวจสารปนเปื้อนจากแหล่งผลิตอยู่เสมอโดยจากการลงพื้นที่แหล่งผลิตและกระจายสินค้า พบพฤติกรรมผู้ผลิตและจำหน่ายใช้วัสดุ วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งมีการเติมสารเคมีซึ่งเป็นสารอันตรายเจือปนในผลไม้ เช่น สารกันราและสีสังเคราะห์เพื่อให้ผลไม้มีสีน่ารับประทานโดยไม่คำถึงนึกอันตรายที่อาจเกิดกับสุขภาพผู้บริโภค หากรับประทานเข้าไปอาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีไข้ หายใจขัด และอาจก่อให้เกิดมะเร็งในระยาว โดยได้มีการตักเตือน และตรวจสอบซ้ำอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากพบมีการปนเปื้อนที่รุนแรงก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที แต่ทั้งนี้ผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก็มี ดังนั้นผู้บริโภคควรมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกรับประทานผลไม้โดยพิจารณาจากสีและลักษณะภายนอกของผลไม้ที่สังเกตได้ว่าเป็นสีธรรมชาติ ไม่มีสารเจือปน ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีสีสดผิดธรรมชาติ และเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือเตรียมรับประทานเองซึ่งจะทำให้ปลอดภัยจากสารหรือวัตถุเจือปนที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 กันยายน 2553