ผู้เขียน หัวข้อ: ขบวนการล้มบัตรทองเดินหน้า แพทย์ชนบทชี้คำสั่งนักการเมือง  (อ่าน 1235 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 แพทย์ชนบทร้องขบวนการล้มระบบบัตรทองกำลังเดินหน้า ภายใต้การชี้นำของนักการเมืองและกลุ่มแพทย์พาณิชย์เตรียมเปลี่ยนเลขาธิการ สปสช. โดยตั้ง 4 ใน 5 กรรมการสรรหาที่การเมืองสั่งได้เพื่อยึดครองสำนักงานและกองทุนหลักประกันสุขภาพแสนสองหมื่นล้านบาท เป็นการบรรลุแผนล้มบัตรทองขั้นที่สอง และเริ่มขั้นที่สามด้วยแผนเสนอมาตรา 41ดึงเงินจากหน่วยบริการในพื้นที่ช่วยรพ.เอกชน
      
       หลังการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงศ์สุกิจ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และแพทย์ชนบทดีเด่นศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการทั้ง 5 คน ของนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข และ 4 ใน 5 คน เป็นสายตรงที่การเมืองสั่งได้ เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าธุรกิจแพทย์พาณิชย์และการเมืองได้จับมือกันเตรียมเปลี่ยนตัวเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเข้ายึดครอง สปสช. และการบริหารกองทุน 1 แสน 2 หมื่นล้านบาทแบบเบ็ดเสร็จ หลังจากที่ได้เข้ายึดครองเสียงข้างมากในบอร์ด สปสช. และตั้งพวกพ้องคนนอกเกือบ 200 คนที่ไม่มีประสบการณ์งานหลักประกันสุขภาพเข้ากินตำแหน่งอนุกรรมการ สปสช.13 ชุด โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ที่ไม่มีตัวแทนของ นพ.สสจ ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน ในพื้นที่เลย เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ให้ความสนใจต่อการตรวจสอบของสังคม
      
       “การประชุมบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมามีความพยายามของนักการเมือง และกลุ่มแพทย์พาณิชย์ ในการเสนอให้ขยายเงินตามมาตรา 41 ที่หักมาจากงบเหมาจ่ายของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากเดิมกันไว้ปีละ 100 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายเพิ่มเติมให้กับ รพ.ในระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ และผู้แทนสมาคม รพ.เอกชนยังได้เสนอในที่ประชุมให้เปลี่ยนการตั้งงบเหมาจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลต่างๆ ในปีงบหน้าจากระบบปลายปิดที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ วางไว้ให้เป็นระบบปลายเปิด กล่าวคือ เมื่อ รพ.ให้บริการแล้วสามารถเรียกเก็บเงินได้ตามการให้บริการเหมือนระบบสวัสดิการข้าราชการที่กำลังจะล้มละลายเพราะไร้ประสิทธิภาพรัฐบาลไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ข้อเสนอนี้จะทำให้ระบบ สปสช.ในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะล่มสลายถือเป็นภัยพิบัติต่อระบบสุขภาพของไทย” อดีตประธานแพทย์ชนบทกล่าว

ขณะที่นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้สร้างตำนานใส่ปลอกแขนดำสองข้างจุดพลุต้านทุจริตยาส่งผลให้นักการเมืองผู้หนึ่งในสมัยนั้นต้องคดีและถูกพิพากษาจำคุก กล่าวว่า การเสนอให้หักเงินเพิ่มกว่าหนึ่งพันล้านบาทจากหน่วยบริการในระบบ สปสช.เพื่อขยายมาตรา 41 ให้ครอบคลุม รพ.เอกชน ในระบบประกันสังคมนั้นผิดหลักการโดยสิ้นเชิง จะทำให้เกิดกระแส รพ.ขนาดเล็กในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนอีกครั้ง และความพยายามที่จะเปลี่ยนงบเหมาจ่ายของ สปสช.เป็นแบบปลายเปิด โดยอ้างเพื่อป้องกัน รพ.ขาดทุน ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะต้องเพิ่มงบเหมาจ่ายอีกหลายหมื่นล้านบาทต่อปี เกินภาระที่รัฐบาลจะแบกรับได้ ทำให้ระบบประกันสุขภาพมีปัญหา เข้าทำนองเจตนาดีแต่ประสงค์ร้ายกับระบบบัตรทอง เป็นการเริ่มแผนล้มระบบบัตรทองขั้นที่สามตามแผนที่ชมรมแพทย์ชนบทได้เคยออกมาเปิดโปงและ รมว.สาธารณสุขปฏิเสธต่อสาธารณะตลอดมา
       
       “สิบปีที่ผ่านมา ระบบ สปสช.มีการเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และขยายสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่อง แต่มีการเพิ่มงบประมาณไม่มากนักแบบค่อยเป็นค่อยไป ถือเป็นจุดแข็งที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และเป็นนโยบายเดียวของอดีตนายกฯทักษิณ ที่ยั่งยืนและสามารถลดความยากจนแก่ประชาชนได้จริงเพราะไม่ต้องล้มละลายเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่การที่นักการเมืองมุ่งประโยชน์ระยะสั้น ร่วมกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์พยายามจะเสนอเพิ่มงบครั้งใหญ่เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งที่จะนำไปสู่การล้มระบบบัตรทองหรือทำให้มีปัญหา โดยร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่เรียกร้องให้ประชาชนร่วมจ่าย และโจมตีคุณภาพยาสามัญ ที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า ทั้งนี้เพราะไม่สามารถต่อสู้ทางกฏหมาย เนื่องจากองค์การการค้าโลกอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ใช้สิทธิเหนือเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล)ได้ แนวทางที่ถูกต้องนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนร่างพรบ.เยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ฯ ของภาคประชาชนที่เคยเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาชุดที่แล้ว การดำเนินการของฝ่ายการเมืองขณะนี้จึงสวนทางอย่างแรงกับข้อแนะนำ หนึ่งในห้าข้อของ ศ.แอน มิลส์ นักเศษฐศาสตร์สาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล 2 ปีที่แล้วที่ ระบุไว้ว่า “ให้สร้างระบบที่มีธรรมาภิบาล ปราศจากการแทรกแซงและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการเมืองที่พยายามเข้ามาแทรกแซงจนทำให้ระบบบิดเบี้ยวไป” อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
       
       รายงานข่าวกล่าวว่า ได้มีการประชุมอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทหลายคน หารือเตรียมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ชมรมเพื่อนโรคไต ผู้ป่วยมะเร็งและคนพิการทั่วประเทศรวมทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เคลื่อนไหวใหญ่เพื่อยื่นข้อเสนอครั้งสุดท้ายต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและขอการสนับสนุนจากผู้อาวุโสในสังคมเพื่อหยุดแผนล้มระบบบัตรทองที่กำลังขับเคลื่อนภายใต้การสนับสนุนของนักการเมืองที่มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข และจะมีการเปิดเผยข้อมูลความไม่ชอบมาพากลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของนักการเมืองในเร็วๆ นี้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    8 กุมภาพันธ์ 2555