ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูป กับปรองดองเป็นคนละเรื่อง-นพ.ประเวศ วะสี-(กรุงเทพธุรกิจ 22 มิย 2553)  (อ่าน 1609 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
 นพ.ประเวศ  วะสี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ปฏิรูปได้เขียนบทความถึงแนวทางปฏิรูปและการปรองดอง
         
         สัปดาห์ที่ผ่านมามีความสับสนเกี่ยวกับปรองดองและปฏิรูป โดยที่คิดว่าอยู่ในเรื่องเดียวกัน ดังที่มีนักข่าวถามว่า  “ถ้าปรองดอง ไม่สำเร็จจะปฏิรูปได้อย่างไร” ถ้าแยกเรื่องปรองดองกับการปฏิรูปออกจาก กันก็จะมีความชัดเจนขึ้น  ปรองดองเป็นเรื่องของอดีต แต่ปฏิรูปเป็นเรื่องของอนาคต เรามักคุ้นเคยกับคำว่าแก้ปัญหา การแก้ปัญหาทำได้ยากและบ่อยๆ ครั้งการแก้ปัญหาทำให้ทะเลาะกันมากขึ้น เพราะปัญหามีที่มาและมีคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดีง่ายกว่า เพราะเป็นเรื่องอนาคตยังไม่มีจำเลย 

          ผู้รู้บางคนถึงกับกล่าวว่า “การพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา การพัฒนาคือการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี” ที่พูดนี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ควรคิดแก้ปัญหา แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับการแก้ปัญหาเสียจนเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้
          การปรองดองกับการปฏิรูปเป็นคนละกระบวนการกัน การปฏิรูปไม่ได้ทำเรื่องปรองดอง แต่ถ้าปฏิรูปแล้วเกิดความเป็นธรรมก็เกิดการปรองดองตามมาเอง ส่วนการปฏิรูปที่คิดว่าใครเป็นเหยื่อใครนั้น ถ้าได้เข้าใจความเป็นมาและที่จะเป็นไป ก็คงจะลดความสับสนลงได้บ้าง

          (๑) การปฏิรูประบบสุขภาพดำเนินมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว นักการ สาธารณสุขที่เห็นความทุกข์ยากของประชาชน จากความจน ความเจ็บป่วยล้มตายโดยไม่จำเป็นและการเข้าไม่ถึงบริการ ได้หาทางแก้ไขด้วยประการต่างๆ แต่ทำได้ยากมากเพราะปัญหาเชิงระบบ จึงคิดถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ

          การจะปฏิรูปอะไรต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมีความรู้ทางเทคนิค แต่ไม่มีความรู้เชิงระบบ จึงมีการตั้ง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อสร้างความรู้เชิงระบบ เพื่อเอาความรู้ไปปฏิรูประบบสุขภาพ สวรส. เป็นองค์กรอิสระองค์กรแรก มีความคล่องตัว และสามารถออกลูกองค์กรต่างๆ ได้หลักของการ ปฏิรูปอย่างหนึ่งคือ เปลี่ยนจากระบบตั้ง รับเป็นระบบรุก  ตั้งรับคือ รอให้สุขภาพเสียก่อน รุกคือ รุกไปสร้างสุขภาพดี จึงมีการตั้ง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) โดยออกกฎหมายเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่มาเข้ากองทุนนี้ ซึ่งมีหน้าที่ไปเสริมสร้างสุขภาพดีในทุกพื้นที่และในทุกเรื่อง

          คนยากคนจนไม่มีหลักประกันสุขภาพ จึงมีการออกกฎหมายตั้งสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.)โดยที่ นโยบายสาธารณะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมทุกส่วน การมีนโยบายที่ดีจึงเป็นเรื่องที่มีผลต่อสุขภาพอย่างมาก แต่นโยบายที่ดีเกิดขึ้นได้ยาก เพราะกระทบต่อผลประโยชน์ต่อบางฝ่ายบางพวกที่มีอำนาจ* จึงมีการออกกฎหมายตั้ง คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีภารกิจในการขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่ดี

          จึงมีองค์กรที่เรียกว่า ส. ต่างๆ คือ สวรส. สสส. สปสช. สช. เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติเป็น ลำดับๆ มา กระนั้นก็ตามเป้าหมายที่จะทำให้เกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา  แก่ประชาชนทั้งมวลก็ยังเป็นเรื่องยาก

          (๒) สุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนและสังคมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องมดหมอ หยูกยาเท่านั้น เช่นถ้าแก้ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมไม่ได้ สังคมจะเกิดสุขภาวะได้อย่างไร ถ้าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ระบบการเกษตรไม่ดี ระบบการศึกษาไม่ดี ฯลฯ ล้วนกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น ฉะนั้นคำว่าระบบสุขภาพจึงกินความกว้างขวางออกไปนอกขอบเขตของระบบสาธารณสุข มาก โปรดสังเกตคำว่าระบบสุขภาพมีขอบเขตกว้างขวางกว่าระบบการแพทย์และระบบสาธารณ สุข อย่างในสถานการณ์ที่เรียกว่า วิกฤติสุดๆ นั้น ประชาชนจะมีสุขภาวะได้อย่างไร

          (๓) ปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ๑๐ เรื่อง ใน สภาวะที่เรียกว่าวิกฤติสุดๆ นั้น คนไทยกลุ่มหนึ่งได้คาดการณ์ว่า สภาวะวิกฤติน่าจะดำเนินไปถึงจุดที่ไม่มีทางออก นอกจากปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย หรือปฏิรูปทุกเรื่องเพราะปฏิรูปเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว เช่น การปฏิรูปการเมืองคงจะไม่สำเร็จ จึงจัดให้มีการประชุมเรื่องปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย ทุก ๒ สัปดาห์เป็นเวลาปีครึ่งมาแล้ว โดยพิจารณาใน ๑๐ เรื่องด้วยกัน คือ

          (๑) สร้างจิตสำนึกใหม่ (๒) สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ (๓) สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (๔) สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ (๕) ธรรมาภิบาลทางการเมืองการปกครองระบบความยุติธรรมและสันติภาพ (๖) ระบบสวัสดิการสังคมที่ถ้วนหน้า (๗) ดุลยภาพเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม (๘) ปฏิรูประบบสุขภาพ (๙) วิจัยยุทธศาสตร์ชาติ (๑๐) สร้างระบบการสื่อสารที่ดีที่ผสานการพัฒนาทั้งหมด

          เรื่องเหล่านี้ยากๆ ทั้งสิ้น  ต้องระดมคนมาใช้ความรู้ความคิดกันอย่างหนักโดยคิดว่าเรื่องยากๆ อย่างนี้ ถ้าไม่ช่วยกันทำแล้วใครจะทำ ฝ่ายการเมืองเขาคงทำไม่ได้ แต่ยามใดที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง หน้าต่างแห่งโอกาสจะเปิดให้ทำเรื่องยากๆ ยามที่ฝ่ายการเมืองเข้มแข็งเขามักจะไม่สนองตอบต่อข้อเรียกร้องใดๆ จากภาคสังคม ยามเขาอ่อนแอเขาจะสนองตอบ เพราะฉะนั้นการปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่ความริเริ่มของฝ่ายการเมือง แต่เป็นการสนองตอบความริเริ่มที่ดำเนินการอยู่แล้วในสังคม และก็เป็นโอกาสที่ภาคสังคมจะขับเคลื่อนการปฏิรูป

          (๔) กระบวนการปฏิรูปโดยรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง กระบวนการ ปฏิรูปไม่ผูกติดกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง รัฐบาลก็เป็นอนิจจังเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุปัจจัย รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งอาจให้ความสนใจมากบ้างน้อยบ้าง เช่น สวรส. เกิด ในช่วงรัฐบาลอานันท์ เรื่องหลักประกันสุขภาพ นั้น นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์กับคณะ เริ่มรัฐบาลทักษิณจับไปทำและได้เครดิตไป องค์กร ส. หลายองค์กรเกิดในช่วงรัฐบาลชวน กระบวน การปฏิรูปจึงเกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่เล่นการเมืองแบบเป็นฝักเป็นฝ่าย ตามปกติเรื่องใหม่ดีๆ ฝ่ายค้านจะสนใจมากว่ารัฐบาล เช่น คุณบรรหารเมื่อเป็นฝ่ายค้านได้นำเรื่องปฏิรูปการเมืองไปหาเสียง และเมื่อชนะการเลือกตั้งก็ทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ กระบวนการปฏิรูป เราจึงนึกถึงพรรคฝ่ายค้านด้วยเสมอ เพราะอาจกลับเป็นผู้ปฏิบัติเรื่องดีๆ ได้

          (๕) สังคมเข้มแข็งคือจุดลงตัว อำนาจรัฐก็ดี อำนาจเงินก็ดี ไม่มีทางทำให้ลงตัว แต่อาจทำให้แตกแยกมากขึ้น  ต่อเมื่อใด สังคมเข้มแข็งนั่นแหละประเทศจึงจะลงตัวได้ ควรจะส่งเสริมให้มีการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง จนเกิดโครงสร้างสังคมทางราบเป็นประชาสังคม ความเป็นประชาสังคม จะทำให้ทุกเรื่องยากๆ ได้ อย่างขณะนี้มีเสียงเรียกร้องทั่วไปให้มีการลดความเหลี่ยมล้ำทางสังคม ซึ่งคงจะคิดถึงมาตรการปฏิรูปการใช้ที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น การเพิ่มอำนาจให้ประชาชน เช่น การมีองค์กรทางการเงินขนาดใหญ่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องยากๆ ทั้งนั้น ถ้าปราศจากการขับเคลื่อนทางสังคมบวกกับทางวิชาการก็คงทำให้สำเร็จไม่ได้

          สังคมไทยไม่เคยเข้มแข็ง วิกฤตการณ์บ้านเมืองคราวนี้ ถ้าได้สังคมเข้มแข็งขึ้นมาสักอย่าง ประเทศไทยก็น่าจะเปลี่ยน เพราะสังคมเข้มแข็งจะเป็นพลังที่ทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้