ผู้เขียน หัวข้อ: ทารกพิการแต่กำเนิด 4 หมื่นราย/ปี เหตุคนไทยไม่วางแผนมีบุตร  (อ่าน 1038 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
วอนรัฐเอาจริงแก้ปัญหาทารกพิการแต่กำเนิด เผยพบทารกพิการแต่กำเนิด 24,000- 40,000 รายต่อปี เหตุคนไทยขาดความรู้วางแผนมีบุตร ย้ำหญิงวัยเจริญพันธุ์รับโฟเลตป้องกันได้ ด้านสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด-สสส.จับมือผนึกกำลัง ก.สาธารณสุข ก.ศึกษาธิการ ก.พม. ก.มหาดไทย และ สปสช.บูรณาการสร้างฐานข้อมูลความพิการแต่กำเนิด BDR ในประเทศไทย ให้เกิดระบบการดูแล ส่งต่ออย่างเป็นรูปธรรม
       
       วันนี้ (3 ก.พ.) แผนงานปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย (Thailand National Plan for Birth Defects Prevention & Care)” ที่ โรงแรมตวันนา ถ.สุรวงศ์ กรุงเทพฯ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.), กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย)
       
       นพ.วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2550 ไทยมีคนพิการร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ที่มีเพียงร้อยละ 1.8 สาเหตุจากแบบคัดกรองสำรวจที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า ไทยมีคนพิการทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน และยังมีผู้พิการยังไม่ได้รับการจดทะเบียนอีก 1 ล้านคน จากการจดทะเบียนคนพิการ โดย พม.หวังอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดในเด็กทารกแรกเกิด ถึง 7 ปี เพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการและเติมเต็มช่องว่างให้แก่ผู้พิการให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
       
       นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช.จะเป็นหน่วยงานในการร่วมผลักดันการปฏิบัติในพื้นที่ร่วมกับ สปสช.เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกำหนดบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล เพื่อเป็นรากฐานในการเก็บข้อมูลให้สำเร็จ เพื่อการคัดกรองและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
       
       นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ปี 2552 ระบุว่า จำนวนเด็กพิการอายุแรกเกิด ถึง 18 ปี ได้รับการจดทะเบียนคนพิการ จำนวน 224,290 คน คิดเป็นร้อยละ 21.75 จากจำนวนคนพิการที่จดทะเบียนทั้งหมด 1,031,429 คน ขณะที่มีทารกแรกเกิดประมาณ 800,000 รายต่อปี พบความพิการแต่กำเนิดพบประมาณร้อยละ 3-5 ของทารกเกิดมีชีพ จึงประมาณการได้ว่าจะพบทารกแรกเกิดมีความพิการแต่กำเนิดประมาณ 24,000-40,000 รายต่อปี นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 20-30 ของสาเหตุการเสียชีวิตในวัยทารกมีสาเหตุจากความพิการแต่กำเนิด
       
       “ปัจจุบันเด็กพิการยังไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพอย่างเต็มที่ การเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ บริการทางสังคม และสวัสดิการจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลและการฝึกทักษะพื้นฐานในการดูแลตนเอง ซึ่งหากมีการพัฒนาระบบจัดทำฐานข้อมูลเด็กพิการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ร่วมกันได้หลายหน่วยงาน จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลผู้พิการมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถวางแผนลดความเสี่ยงทารกที่จะเกิดมาพิการได้”นางเพ็ญพรรณ กล่าว
       
       ด้าน ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดทำโครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการจดทะเบียนความพิการแต่กำเนิดระดับประเทศ (Thailand Birth Defects Registry) เกิดจากประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินนโยบายที่จะป้องกันความพิการแต่กำเนิดอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อมูลจากทั่วโลกพบทารกและเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิดกว่า 8 ล้านคน ซึ่งภาวะนี้ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับครอบครัว ภาระของครอบครัวที่ต้องแบกรับ รวมถึงผลกระทบต่อจิตใจของบิดามารดาที่มีทารกที่มีความพิการแต่กำเนิดซึ่งมีสาเหตุจากพันธุกรรมครึ่งหนึ่ง และจากสิ่งแวดล้อม เช่น ทุพโภชนาการ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และยาบางชนิด
       
       “หากประเทศไทยมีการวางแผนครอบครัวที่ดีจะช่วยลดความพิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญคือการแนะนำคู่สามีภรรยาที่จะสร้างครอบครัวที่มีสุขภาพดี โดยการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ซึ่งจะได้ผลดีหากเริ่มที่ระดับชุมชนและบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งต้องได้รับการอบรมและมีการดำเนินงาน และมีนโยบายที่ชัดเจน ก็จะสามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดที่รุนแรงหลายโรคได้ตั้งแต่แรกเกิด เช่น การให้คำปรึกษาทางด้านครอบครัวที่วางแผนที่จะมีบุตรโดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ได้ทานอาหารที่มีโฟเลต ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2-3 เดือนแรกหลังปฏิสนธิ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด รวมถึงการมีภาวะโภชนาการที่ดี ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมื่อต้องการจะมีบุตร” ศ.พญ.พรสวรรค์ กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 กุมภาพันธ์ 2555