ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายร้องขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข  (อ่าน 2291 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
จดหมายร้องขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
13 กรกฎาคม 2553
เรื่อง ร้องขอความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
   กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทย กำลังวิตกกังวลว่า รัฐบาลกำลังจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและหายนะในวงการแพทย์และสาธารณสุข จากการที่คณะรัฐมนตรีและสส. กับทั้งประชาชนอีก 10,007 คน ได้ยื่นเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครอง
ผู้เสียหายในการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อรอเข้ารับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติให้เป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป อันจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและหายนะในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยดังต่อไปนี้คือ
1.   พ.ร.บ.นี้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาเป็นผู้พิจารณาตัดสินว่า ผลเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขใดบ้างที่ควรได้รับการชดเชยความเสียหาย โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการณ์ในวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลย และยังกำหนดว่าให้ตัดสินโดยกรรมการเสียงข้างมาก ไม่ได้อาศัยความรู้ เหตุผล และวิจารณญาณของผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะในสาขาต่างๆทางการแพทย์เลย
การกำหนดเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มาตรฐานทางการแพทย์จะไม่เป็นที่ยอมรับนับถืออีกต่อไปในประเทศนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่ได้ระมัดระวังทำตามมาตรฐานวิชาชีพ มีคุณธรรมและจริยธรรมกำกับ จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2) เนื่องจากผู้ตัดสินการประกอบวิชาชีพไม่ได้อาศัยมาตรฐานทางการแพทย์หรือคุณธรรมจริยธรรมมาตัดสินว่า ผลการประกอบวิชาชีพนั้น ถูกต้องตามมาตรฐาน ตามจริยธรรมวิชาชีพหรือไม่ แต่เพ่งที่ผลการรักษาที่เสียหาย แต่ผลเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเมื่อผู้มาเป็นกรรมการตัดสิน ไม่มีความรู้เรื่องมาตรฐานการแพทย์แล้ว จะตัดสินด้วยความเป็นธรรมได้อย่างไร
2.   ถ้าไม่มีพ.ร.บ.นี้ ประชาชนจะได้รับความคุ้มครองจากการรับบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขหรือไม่?  ถ้าดูจากสถิติการขอรับเงินช่วยเหลือของผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 จะพบว่ามีการร้องเรียนพียง ไม่ถึง 2,000ครั้งจากการที่มีประชาชนไปรับบริการถึง 200 ล้านครั้งต่อปี คิดเป็นอัตราความเสียหาย 0.01% แต่การร้องเรียนนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินบ้าง การไม่ได้รับความสะดวกบ้าง ทำให้อัตราการขอรับความช่วยเหลือจากความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีไม่ถึง 0.01%  และถึงแม้ว่าไม่มีมาตรา 41 นี้ ประชาชนก็สามารถร้องเรียนขอรับความช่วยเหลือได้ตามพ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 และการตัดสินนี้ก็ต้องอาศัยการตัดสินตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานบริการรับใช้ประชาชน
3.   พ.ร.บ.นี้มีการกำหนดให้โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยาฯลฯ ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อเอาไว้จ่ายเป็นค่าช่วยเหลือและชดเชยแก่ผู้เสียหาย โดยที่รัฐบาลเองก็จะต้องจ่ายเงินตามสัดส่วนที่มีผู้มาใช้บริการ ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องจ่ายเงินมากกว่าเอกชนอย่างแน่นอน เพราะให้บริการมากกว่าเอกชนหลายเท่า ซึ่งจะเป็นภาระหนักต่องบประมาณแผ่นดิน ที่จะต้องเอาเงินมาไว้ที่กองทุนนี้ เหมือนเงินกองทุนมาตรา 41 ที่มีเงิน 1% จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ในปัจจุบันนี้มีเงินเหลือค้างจ่ายอยู่หลายพันล้านบาท เพราะกันเงินไว้ 1%ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ปีละมากกว่า 100,000 ล้านบาท) ขณะที่เกิดความเสียหายไม่ถึง 0.01% เท่านั้น (ตามสถิติของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขของสปสช)
ข้อสังเกต เงินกองทุนหลายพันล้านบาทนี้เอง น่าจะเป็นเหตุจูงใจให้ผู้คนอยากเข้ามาเป็นกรรมการตัดสินและมีส่วนแบ่งจากเงินกองทุนนี้ รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็คงอยากจะมีส่วนในการบริหารกองทุนนี้ด้วย เพราะกรรมการและผู้บริหารกองทุนมีอำนาจออกระเบียบเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้ และอย่างน้อยก็มีส่วนได้เงินจากเบี้ยประชุมและอาจมีส่วนได้อื่นๆอีกด้วย
ในส่วนของโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนนั้น ถ้าต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ก็จะต้องผลักภาระนี้ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการนั่นเอง
4.   ก่อนที่รัฐบาลจะเสนอพ.ร.บ.นี้เข้าสภา ไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งสองฝ่าย คือทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  แม้สภาวิชาชีพจะได้ทักท้วงตามเหตุผล ถึงความเสียหายและไม่สมดุลของพ.ร.บ.นี้ ที่ให้ผู้รับบริการรับผิดชอบมากเกินมาตรฐาน รัฐบาลก็ไม่สนใจฟังการทักท้วง กลับจะเดินหน้าต่อไปในการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข  โดยให้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างล้นเหลือ แต่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขเลย เช่น การขยายเวลาการร้องเรียนไปถึง 3 ปี เหมือนพ.ร.บ.วัตถุอันตราย หรือสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และยังต่อเวลาการร้องเรียนไปได้ถึง 10 ปี ทั้งๆที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้เสียสละตนเอง เพื่อทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 80-120ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย โดยไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไขจากผู้บริหารกระทรวงและหัวหน้ารัฐบาล ในขณะที่ประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบสร้างและดูแลสุขภาพตนเอง ได้รับบริการโดยไม่ต้องมีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบ ประชาชนมีความคาดหวังสูงเกินความสามารถที่บุคลากรและเทคโนโลยีและงบประมาณอันจำกัดจำเขี่ยที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ โดยไม่สนใจข้อเสนอหรือการท้วงติงจากบุคลากรผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ หรือผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาวิชาชีพแต่อย่างใดหรือว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ไม่ใช่ประชาชนที่รัฐบาลจะต้องดูแลให้ความยุติธรรมเฉกเช่นประชาชนคนอื่นๆ?

ส่วนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับนี้ก็น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนดังต่อไปนี้คือ
1.   บุคลากรทางการแพทย์คงจะต้องประกอบวิชาชีพด้วยการป้องกันตนเอง เพราะขาดความมั่นใจในการตรวจรักษาตามปกติธรรมดา คงจะต้องส่งการตรวจพิเศษที่อาจจะยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ( ที่เกิดแล้วในต่างประเทศ ที่เรียกว่า Defensive Medicine ) หรือส่งผู้ป่วยต่อไปรักษาที่อื่น ทั้งๆที่อยู่ในวิสัยที่จะทำการรักษาเองได้ ทั้งนี้เพราะบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ย่อมต้องรู้รักตัวเองเหมือนมนุษย์คนอื่นๆเช่นเดียวกัน  เมื่อก่อนนั้น บุคลากรทางการแพทย์ย่อมทุ่มเทรักษาผู้ป่วยจนเต็มกำลังความสามารถ แต่ถ้ามีการจ้องจะกล่าวหาว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือจะถูกลงโทษ ก็คงจะไม่เสี่ยงให้เกิดผลเสียหายแก่ตนเองก่อน  ตัวอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว จากการที่โรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่างๆทั่วประเทศ ไม่ยอมผ่าตัดรักษาผู้ป่วย เพราะมีบรรทัดฐานการตัดสินจากศาล ให้จำคุกแพทย์ในฐานทำให้ผู้ป่วยตายโดยประมาทจากการที่ศาลเห็นว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้น
2.   ผลจากข้อ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะสูญเสียความรัก ความเมตตาและความห่วงใยจากบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากแพทย์จะระแวงว่าประชาชนอาจจะฟ้องร้อง ถ้าผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ประชาชนได้คาดหวังไว้ (ที่อาจตั้งความหวังไว้อาจจะสูงเกินความเป็นจริง) ถ้าเห็นว่าผลการรักษาอาจไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ก็คงจะต้องรีบส่งผู้ป่วยให้ไปรักษาที่อื่น ประชาชนก็อาจจะสูญเสียเวลานาทีทองที่จะได้รับการช่วยชีวิตมากขึ้น
3.   คนที่เคยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็คงหาทางที่จะไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ “ทำให้เกิดความเสียหาย” พ่อแม่ก็คงไม่อยากให้บุตรหลานมาประกอบวิชาชีพนี้ และมาตรฐานทางการแพทย์ไทยก็คงเสียหาย เพราะผู้บริหารประเทศไม่ฟังการท้วงติงด้วยเหตุและผลจากสภาวิชาชีพ หายนะคงเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างแน่นอน
4.   นายกรัฐมนตรีอาจจะคิดว่า วงการแพทย์ไม่ได้มีผลอะไรต่อการบริหารประเทศให้มีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง แต่จะขอเรียนว่า ประชาชนที่ได้รับการบริการสุขภาพที่ไม่ดี เนื่องจากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่มีมาตรฐาน  คงจะมีสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น และคนที่เจ็บป่วยออดๆแอดๆก็คงจะไม่สามารถทำงานเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่ตนเองและประเทศชาติได้อย่างเต็มศักยภาพอย่างแน่นอน
5.   นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความปรองดองของประชาชนในชาติ  แต่การออกพ.ร.บ.นี้ จะเป็นตัวการจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์อีกหลายแสนคน กับรัฐบาล และประชาชนทั่วไป เพราะความไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว โดยไม่เหลือที่ยืนในสังคมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เสียสละทำงานบริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขแทนรัฐบาลแต่อย่างใด
6.   นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกคน และเปิดโอกาสให้โทรศัพท์มาเสนอความเห็นได้ เราจึงหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะรับฟังความเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ในฐานะประชาชนพลเมืองไทยเช่นเดียวกัน และหวังว่าท่านจะได้ยินเสียงเรียกร้องตามเหตุผลทางวิชาการแพทย์และสาธารณสุขด้วย
พวกเราจึงมาเป็นผู้แทนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ เพราะพวกเราตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องเฝ้าดูแลรักษาประชาชนพลเมืองผู้เจ็บป่วย จึงไม่สามารถละทิ้งผู้ป่วยมาเรียกร้องความเป็นธรรมได้ทุกคน หวังว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาใหม่ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมแก่บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประชาชนพลเมืองไทยเช่นเดียวกัน
ขอแสดงความนับถือ

(พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)
และ
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
กลุ่มผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของวิชาชีพแพทย์และสาธารณสุข
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป
สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
พบกันเวลา 8.00 น.ที่ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอยื่นหนังสือนี้ ต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ