ผู้เขียน หัวข้อ: ถามประธานองค์การเภสัชกรรม เรื่องโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่  (อ่าน 2691 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด

ถามประธานองค์การเภสัชกรรม เรื่องโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 
ประธานองค์การเภสัชกรรมควรตอบก่อนสิ้นวาระ

                 เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า องค์การเภสัชกรรมได้เซ็นสัญญาก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่มูลค่า 1,400 ล้าน ณ ทับกวาง สระบุรีมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009  นับจากนั้นมา นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมผู้เสนอโครงการ ก็ให้ข่าวเรื่องชนิดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และเรื่องโรงงานมาตลอดว่า จะผลิตจากเชื้อเป็น จะใช้ผู้เชี่ยวชาญจากจีนบ้าง รัสเซียบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง จะสร้างเสร็จใน 18 เดือนบ้าง ต้นปี 2554 บ้าง แต่ผ่านไปเกือบสามปี และท่านก็กำลังจะอำลาจากตำแหน่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้แล้ว คนไทยก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นวัคซีนจากโรงงานนี้เลยซักโด๊สเดียว  ทั้ง ๆ ที่ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในผู้จัดการออนไลน์ฉบับ 23 สค 52
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9520000095832 ว่า จากการศึกษาของดร.พญ.จงกล เลิศเทียนดำรงค์ ที่ศึกษาถึงกรณีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ปี 2549-2552 พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนได้
http://www.nstda.or.th/sci2pub/thaismc/factsheet/document/2552/20august-jongkol.pdf  

นั่นคือ โรงงานของกรมปศุสัตว์ที่ อ.ปากช่อง ซึ่งมีการผลิตวัคซีนเชื้อเป็นสำหรับสัตว์อยู่และได้มาตรฐาน มีผู้เชี่ยวชาญพร้อม สำหรับเปลี่ยนเป็นการผลิตวัคซีนของคน และไม่มีผลกระทบอะไรเพราะวัคซีนสำหรับสัตว์สามารถซื้อจากประเทศอื่นได้โดยใช้งบประมาณเพียง 9 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ส่วนการปรับปรุงโรงงานดังกล่าวก็ใช้งบประมาณเพียง 80-100 ล้านบาทเท่านั้น  หากสามารถใช้โรงงานผลิตวัคซีนของกรมปศุสัตว์ได้จริง คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ประมาณ 86 ล้านโด๊สต่อ 3 เดือน โดยใช้เวลาปรับปรุงโรงงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และแนวความคิดเรื่องการปรับปรุงโรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ให้มาผลิตวัคซีนสำหรับคนก็มีการยืนยันว่าทำได้โดยองค์การอนามัยโลกให้การยืนยันตั้งแต่ครั้งขอจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนกับคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งที่ 5/2550 แล้วด้วย

นอกจากเรื่องการปรับปรุงโรงงานแล้ว เรื่องชนิดของวัคซีนก็เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ตลอดเวลาที่ผ่านมาประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมก็ให้ข่าวกับสื่อมาตลอดว่ากำลังทดลองวัคซีนเชื้อเป็นกับอาสาสมัคร และจะตั้งโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนเชื้อเป็น  ทั้ง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาแสดงความวิตกไว้แล้ว เช่น

1)  ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขานายกแพทยสภา แสดงความเป็นห่วงไว้ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ว่า

http://www.hiso.or.th/hiso/public/newsx1443.php

ในต่างประเทศวัคซีน ชนิดเชื้อเป็นจะห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้ใหญ่อายุเกิน 49 ปี คนที่มีภูมิต้านทานต่ำ และหญิงตั้งครรภ์  

2)  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ยังไม่เคยมีประเทศใดใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จากเชื้อเป็นเลย หัวเชื้อไวรัสที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่นำมาจากรัสเซียและอยู่ในระหว่างการทดลองนั้น จากการถอดรหัสพันธุกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล ก็พบมีการผ่าเหล่า เปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมใน 8 ตำแหน่ง จึงถือว่าเป็นหัวเชื้อที่ไม่มีความเสถียร และเมื่อฉีดพ่นเข้ารูจมูกถูกความร้อนเชื้อก็จะตายทันที เสี่ยงกับการกลายพันธุ์

นอกจากนี้ท่านยังได้ยกตัวอย่างกรณีให้วัคซีนโปลิโอทางปากซึ่งทำจากเชื้อเป็นแก่เด็กแล้ว ได้ไวรัสที่มีพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปออกมาทางอุจจาระของเด็ก และพ่อซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กแล้วได้รับเชื้อดังกล่าวไปกลายเป็นอัมพาต รวมทั้งกรณี
ตัวอย่างไข้หวัดใหญ่หมูที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1976  ที่สหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากร และหลังจากนั้น 6 สัปดาห์เกิดพบผู้มีอาการแขนขาอ่อนแรงและเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตวัคซีนในไข่ที่มีเชื้อ ปนเปื้อนอยู่ โดยวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤติที่ทำลายเส้นประสาทตัวเอง ซึ่งการใช้วัคซีนกับประชากร 6-7 พันคนไม่พบอาการดังกล่าว แต่พบเมื่อใช้วัคซีนกับประชากร 40-45 ล้านคนกลับเกิดปัญหา

3)  ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์วิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้ที่สามารถนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่แยกได้จากผู้ป่วยคนไทยรายแรกก็ให้ความเห็นว่า แม้วัคซีนเชื้อเป็นสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า ถูกกว่า ผลิตได้เร็วกว่า แต่วัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัย 100% และเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยใดๆ สามารถให้ได้เกือบทุกคน ทุกวัย แม้แต่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็สามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้

4)  รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ก็ให้ความเห็นไว้ในการเสวนา "แผนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระดับโรงงานขนาดใหญ่"  เมื่อวันที่ 20สค 52 ว่า ควรเลือกใช้ "เชื้อเป็น" เพื่อผลิตวัคซีนในช่วงระบาด แต่วัคซีนจากเชื้อเป็นจะใช้ได้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนท้อง ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการได้รับวัคซีน

จวบจนวันนี้ผ่านไปถึงเกือบสามปี การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็สิ้นสุดไปนานแล้ว และไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ได้กลายเป็นเชื้อประจำถิ่นไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตตามท้องตลาดก็รวมเอาเชื้อนี้เข้าไว้ในเข็มเดียวกันแล้วด้วย  คนไทยส่วนใหญ่จึงอยากได้คำตอบจากประธานองค์การเภสัชกรรมก่อนที่จะสิ้นวาระในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ว่า

1)   เหตุใดต้องทดลองวัคซีนเชื้อเป็น ทั้ง ๆ ที่ใช้กับกลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการได้รับวัคซีนไม่ได้เป็นนานสองนาน
2)   ทำไมจึงต้องสร้างโรงงานวัคซีนที่ทับกวางแทนการปรับปรุงโรงงานวัคซีนสัตว์ของกรมปศุสัตว์มาเป็นโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่
3)   โรงงานวัคซีนนี้ใช้ที่ปรึกษา และเทคโนโลยีของประเทศใดกันแน่ระหว่าง จีน รัสเซีย หรือญี่ปุ่น
4)   ปริมาณที่โรงงานที่ทับกวางจะผลิตได้เท่าใด เพียงพอต่อความต้องการของประเทศหรือไม่ สร้างความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขได้จริงหรือไม่
5)    การสร้างโรงงานวัคซีนนี้คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ
6)   โรงงานนี้จะสร้างเสร็จหรือไม่ เมื่อใดกันแน่  และเมื่อใดคนไทยจะได้ใช้วัคซีนที่ปลอดภัยจากองค์การเภสัชกรรมหรือองค์การเภสัชกรรมเพียงแต่ทำให้ชาติเสียเงินไป 1,400 ล้านเท่านั้น

 เขียนโดย “คนอยากรู้เรื่องวัคซีน 2009”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กุมภาพันธ์ 2012, 21:47:45 โดย story »