ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายเปิดผนึกถึงนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง  (อ่าน 1524 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9754
    • ดูรายละเอียด
1 กุมภาพันธ์ 2555
เรื่อง  ขอทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การประเมินกองทุนหมุนเวียนดีเด่น
เรียน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
อ้างถึง 1.ข่าวที่อธิบดีกรมบัญชีกลางได้คัดเลือกให้สปสช.ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นอันดับ 1
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014147&#Opinion
2.  ปัญหาบัตรทองที่สปสช.ปกปิด-บิดเบือนhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000013004

   จากข่าวที่อ้างถึง(1)นั้น ได้อ้างว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้กล่าวว่ากรมบัญชีกลางได้คัดเลือกกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2554 และสปสช.ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลดีเด่น 3 ปีซ้อน

  ดิฉันอ่านข่าวนี้ด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น ที่สปสช.ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นที่ 1 ถึง 3 ปีซ้อน   ทั้งๆที่กรมบัญชีกลางได้ประเมินแล้วว่า
1.   บริหารกองทุนโดยไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด
2.   การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม
3.   การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
4.   การจัดส่วนงานและบุคลากรไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
5.   ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ครม.กำหนด 
6.   การใช้จ่ายงบกองทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
7.   การบริหารงบกองทุนรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด

     นอกจากประเด็นต่างๆดังกล่าวแล้ว การบริหารงบกองทุนที่ผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ  สปสช.ได้ทำการ “แบ่งเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”นี้ ไปทำโครงการรักษาโรคเฉพาะบางโรค เรียกว่า  Vertical program เป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท และเอาไปจัดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ โดยที่มิใช่อำนาจหน้าที่ของสปสช.ตาม  กฎหมาย ตามสิ่งที่อ้างถึง (2) โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งการบริหารจัดการของสปสช.นี้ทำให้เงินงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ได้เป็นตกถึงมือประชาชนที่ต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นอกจากนั้นสปสช.ยังกำหนดรายการยารักษามะเร็งและยารักษาเอดส์ ซึ่งทำให้แพทย์ไม่สามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และอาจมีผลให้อาการป่วยนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาได้ และถ้าแพทย์ไม่ทำตามกำหนดของสปสช. แล้ว สปสช.ก็จะไม่ยอมจ่ายเงินค่ารักษานั้น ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาจากกองทุนของสปสช. แต่สปสช.กลับมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า ขยายการรักษาไปครอบคลุมมากขึ้น แต่ไม่เคยกล่าวถึงคุณภาพของการรักษาหรือคุณภาพชีวิตประชาชน

 กล่าวโดยสรุปก็คือสปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลน้อยกว่าค่าหัวที่สปสช.ได้รับมาจากงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่บอกประชาชนว่ารักษาทุกโรค และประชาชนก็ตั้งความคาดหวังว่าจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ แต่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานก็รู้ว่ามีข้อจำกัดมากมายที่ไม่สามารถจะทำให้การรักษาผู้ป่วยมีคุณภาพมาตรฐานจากงบประมาณที่ไม่เหมาะสมจากการบริหารจัดการของสปสช.

 การที่กรมบัญชีกลางได้คัดเลือกว่าสปสช.มีผลงานในการบริหารกองทุนหมุนเวียนดีเด่น จึงทำให้เกิดคำถามว่า
1.   รายละเอียดในหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินกองทุนต่างๆของกรมบัญชีกลาง ได้มีการประเมินทั้งผู้รับผลการบริหารกองทุนในฝ่ายผู้ให้บริการสาธารณสุขรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ?
2.   กรมบัญชีกลางมีวิธีประเมินการทำงานของสปสช.อย่างรอบด้านหรือไม่? อย่างไร ? ได้ประเมินถึงผลลัพธ์จากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในด้านคุณภาพการรักษาไปพิจารณาด้วยหรือไม่?
3.   กรมบัญชีกลางได้สอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับภาระรักษาผู้ป่วยจากงบประมาณอันน้อยนิดที่ถูกสปสช.หักเอาไว้ ก่อนจะส่งถึงโรงพยาบาลหรือไม่
4.   กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบว่า การรักษาผู้ป่วยในระบบบัตรทอง มีคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ที่ดีหรือไม่? ในเมื่อมีงบประมาณไม่เพียงพอตามที่โรงพยาบาลหลายแห่งได้แสดงตัวเลขการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

     ทั้งนี้ ดิฉันในฐานะประชาชนไทยผู้เสียภาษีไปเป็นงบประมาณแผ่นดิน ขอใช้สิทธิ์สอบถามข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่า กรมบัญชีกลางได้ทำการประเมินการทำงานของสปสช.อย่างสุจริต โปร่งใส ตรงไปตรงมา และยึดหลักธรรมาภิบาลหรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือไม่ อย่างไร?

ขอให้อธิบดีกรมบัญชีกลางทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเร็ว เพื่อตอบข้อข้องใจต่อประชาชนโดยเปิดเผย
ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย