ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปกันอีกที-แปดปีภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 2131 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
สรุปการสัมมนาแปดปีภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ความเป็นมาของการสัมมนา

คณะอนุกรรมการฯได้นำเสนอ โครงการสัมมนานี้ต่อคณะกรรมการแพทยสภา และได้รับการอนุมัติให้จัดสัมมนาขึ้น เมื่อวันที่ 12 มีนคม พ.ศ. 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้รับฟังปัญหา อุปสรรค ความสำเร็จหรือความเสี่ยง ของการดำเนินงานภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เพื่อจะได้เสนอให้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง ได้ปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพและระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้มี ประสิทธิภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน เหมาะสมกับงบประมาณ บุคลากร และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง

   เป็นที่น่าเสียดายว่า ในวันที่กำหนดจัดการสัมมนานั้น มีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติหรือที่ เรียกว่ากลุ่มนปช.หรือมีสัญลักษณ์คือ กลุ่มเสื้อแดง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้มาร่วมในการสัมมนา แต่วิทยากรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องหลักประกันสุขภาพทั้งหลาย อันได้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ต่างก็มาร่วมสัมมนากันจนเต็มห้องประชุม “ไพจิตร ปวะบุตร” ตึกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าสัมมนา 207 คน 

   นอกจากวิทยากรจะได้เสนอความคิดเห็นและข้อเท็จจริง ทั้งตัวเลขสถิติ และผลการวิเคราะห์วิจัยแล้ว ผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่างก็ได้ตั้งคำถามและเสนอแนวคิดอย่างกว้างขวาง ตลอดเวลาการสัมมนาตั้งแต่เวลา 8.30 น.จนถึงเวลา 16.30 น. ซึ่งผู้เขียนได้อยู่ร่วมการสัมมนาตลอดรายการ รวมทั้งได้ฟังการถอดเทปสัมมนาด้วย จึงอยากจะสรุปผลการสัมมนาโดยย่อ เอาแต่ใจความสำคัญมาเสนอให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมสัมมนา ได้ทราบเนื้อหาของการสัมมนาโดยครบถ้วน ทั้งจากวิทยากร และความเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาดังนี้

  นายสุกฤษฎิ์ กิติศรีวรพันธุ์ นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 เปรียบเหมือนเป็นเนื้องอกของกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่มีความเชื่อมโยงด้านการบังคับบัญชาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีกระทรวง สาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จริง แต่มีสิทธิออกเสียงเพียง 1 เสียงเท่ากับกรรมการคนอื่นๆ รัฐบาลหรือรัฐมนตรีจะสั่งการสปสช.ไม่ได้เลย เพราะไม่มีความเชื่อมโยงด้านอำนาจการบังคับบัญชา มีอำนาจแค่ “กำกับ ดูแล” สปสช.เท่านั้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจะทำภารกิจให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรได้

ฉะนั้นถ้ารัฐบาลมีนโยบายทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างไร สปสช.ก็อ้างได้ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้บัญญัติไว้ ทำให้สปสช.เป็นสิ่งแปลกปลอมในการบริหารบ้านเมือง เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข  นโยบายของรัฐบาล หรือทิศทางในการสาธารณสุขของประเทศ ไม่สามารถกำหนดได้จากฝ่ายการเมืองแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่มีอำนาจใดๆในสปสช.เลย 

แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ก็สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณของสปสช.ได้ ว่าการใช้เงินเป็นไปตามหลักการใด เป็นไปตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่ รวมทั้งระบบเงินเดือนของสปสช. รวมทั้งการแทรกแซงการทำงานของแพทย์ด้วย

นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการแพทยสภา ได้กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ประโยชน์กับประชาชน นับเป็นสิ่งที่ดี แต่หลักประกันนี้เองก็มีโรคแทรกซ้อน หรือมีผลตามมา เรียกว่า มีพิษมาก และรักษาแล้วไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ต้องกันเงินไว้ 1% ไว้จ่ายช่วยเหลือ อยากถามว่าเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่

นายสุกฤษฎิ์ ได้ให้ความเห็นว่า การจ่ายค่าชดเชยโดยไม่มีการพิสูจน์ในระบบบริการสาธารณสุขเป็นหลักเกณฑ์ไม่มีที่ใดในโลก

มีหลาย ๆ อย่างที่เราพูดกันแบบไม่มีหลักเกณฑ์ เช่น กรณีที่จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่มารักษาพยาบาลแล้วได้ความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์  หลักเกณฑ์นี้ ไม่มีที่ไหนในโลก   ในสายตานักกฎหมายปฏิเสธเรื่องเหล่านี้  รัฐจะรับผิดก็ต่อเมื่อผิด    มีบางกรณีที่ต้องรับผิดโดยปราศจากความผิด   แต่ว่าไม่พิสูจน์เลยนั้นไม่มี   ถ้าท่านติดตามในขณะนี้  แนวความคิดจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขพยายามทำเรื่องเหล่านี้ขึ้น  จะเป็นปัญหาในอนาคต 

   เมื่อมีคำถามว่า แล้วจะแก้ไขอย่างไร นายสุกฤษฎิ์ บอกว่า ต้องยุบสปสช.มาเป็นเพียง “กรม” หนึ่งในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้สัมฤทธิ์ผล ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร

   นอ.(พิเศษ)นพ .อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา วิยากรคนต่อมาได้สรุปสถิติจำนวนบุคลากรและภาระงานของแพทย์ไทยว่า จำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องรับภาระทำงานบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในกระทรวงสาธารณสุข มี12,500 คน ในขณะที่จำนวนแพทย์อีกประมาณเกือบ 7,000 คนนั้นกำลังไปฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์หรือเป็นผู้บริหารในกระทรวงสาธารณ สุข(ไม่ได้ทำงานบริการทางการแพทย์แล้ว) ฉะนั้นจึงมีแพทย์ทำงานรับ ผิดชอบดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขอยู่เพียง 8.000 คนแต่ในขณะเดียวกันจำนวนประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลมีมากถึง 180-200 ล้านครั้ง ในระยะเวลา 1 ปี นับว่าแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานมากเกินไป

   นอกจากนั้น จำนวนแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขาก็ยังขาดแคลนมาก สูติแพทย์ทั้งประเทศมีอยู่ 2,200 คน ซึ่งเป็นแพทย์สาขาที่ถูกฟ้องมากที่สุด สาขาวิสัญญีทั้งประเทศมีเพียง 1,000 คน ฉะนั้นจึงไม่สามารถจะมีวิสัญญีแพทย์ประจำทำงานอยู่ครบทุกโรงพยาบาล

นายแพทย์สมศักดิ์  เจริญชัยปิยกุล   กรรมการแพทยสภา  และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยกรรมกระดูกโรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวว่าอยากจะชี้ประเด็นของอาจารย์อิทธิพรที่บอกว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์อยู่หมื่นสองพันห้าร้อย คน ตัวเลขสุดท้ายจริงๆ แล้วจะเห็นว่าคนที่ทำงานเป็นแพทย์รักษาคนไข้จริงๆ  จะมีประมาณแปดพันกว่าคนเท่านั้นเอง  นี่ คือประเด็นปัญหา เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหาร  อันที่สองที่ผมอยากชี้ประเด็นก็คือว่ามีผู้ไปเรียนแพทย์ประจำ บ้านอยู่ประมาณตามตามตัวเลขของอ.อิทธิพร สามพันแปดร้อยคน เป็นของกระทรวงพันเจ็ด ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง   ปัญหาก็คือว่าแพทยสภาจริงๆ สามารถส่งเรียนต่อได้มากกว่านี้  แต่ว่ากระทรวงส่วนใหญ่มักจะจำกัด  ต้นสังกัดที่จะให้แพทย์ไปเรียนต่อ ทำให้แพทย์ต้องลาออก มาฝึกอบรมโดยไม่มีต้นสังกัด และเมื่อจบการฝึกอบรมแล้ว ก็ไม่สามารถกลับเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะไม่มีตำแหน่งบรรจุ ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางอยู่ต่อไป

 ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อนงค์ เพียรกิจกรรม  กรรมการแพทยสภา ได้กล่าวว่าแพทย์ขาดแคลนทั้งแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง ส่วนระบบการบริการทางการแพทย์นั้น เมื่อก่อนมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยยากจนก็ได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาอยู่แล้ว บางครั้งก็ให้ค่ารถกลับบ้านอีกด้วย แต่ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ให้สิทธิทั้งคนจนและคนไม่จน แต่งบประมาณน้อย ผู้ป่วยต้องมาตามระเบียบการส่งต่อที่อาจจะล่าช้า บางทีก็ตาบอดเสียก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงเรียนแพทย์ การรักษามะเร็งก็ส่งมาช้า ทำให้รักษาไม่หาย

นายแพทย์สมพร โพธินาม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม    กล่าวว่าปัญหาการขาดแคลนแพทย์ใน บ้านเราเนื่องจากไม่มีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยตรง และมีการผลิตบัณฑิตแพทย์น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย เกาหลี หรือญี่ปุ่น นอกจากการมีแพทย์จบใหม่น้อยแล้ว เรายังมีปัญหาการกระจายแพทย์ให้ครอบคลุมทุกแห่งอีกด้วย

   ต่อมา รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ แห่งภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้บรรยายในหัวข้อการเงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวว่า การสร้างหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ ได้สร้างความเป็นธรรม และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของกลุ่มผู้ยากไร้ แต่กลไกการจ่ายเงินปลายปิด ในระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ โดยได้อ้างบทเรียนจากยุโรป และอเมริกา ที่มีการรักษาล่าช้าและส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ความเสี่ยงสูงหรือต้องใช้เงินมากในการรักษาไปยังที่อื่น รวมทั้งได้แสดงสถิติอัตราผู้ป่วยในปีพ.ศ. 2547 ที่เสียชีวิตในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอัตราส่วนสูงกว่าในระบบสวัสดิการ ข้าราชการหรือประกันสังคม

    ส่วนการจ่ายเงินในระบบปลายเปิดจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงกว่า เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในการใช้ทรัพยากรในการรักษาพยาบาล โดยได้เปรียบเทียบสถิติการใช้ทรัพยากรการรักษาพยาบาลเปรียบเทียบระหว่างผู้ ป่วย 3 กลุ่มคือผู้ป่วยบัตรทอง ผู้ป่วยในระบบประกันสังคม และผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอัตราตายสูงสุด และได้เปรียบเทียบการใช้ทรัพยากรด้านการรักษาพยาบาล พบว่าการใช้ยาราคาสูง การทำผ่าตัดคลอด (cesarian section) รวมทั้งการทำ laparoscopic cholecystectomy มีมากที่สุดในระบบสวัสดิการข้าราชการซึ่งเป็นการจ่ายเงินแบบปลายเปิด

   ต่อมาเป็นการอภิปรายเรื่อง แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัญหา อุปสรรค สิ่งท้าทายในการพัฒนา ความสำเร็จและความเสี่ยง โดยพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ผู้ดำเนินการอภิปรายได้เกริ่นนำว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งในส่วนผู้ “ซื้อ” บริการ ผู้“ให้” บริการ และผู้ “รับ” บริการ

  นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.ได้กล่าวว่า ความสำเร็จและความเสี่ยงของระบบหลักประกันสุขภาพก็คือ รัฐบาลให้งบประมาณ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบระบบบริการส่วน แพทยสภาเป็นผู้ดูแลกำกับมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนสปสช.เป็นฝ่ายบริหารในการซื้อบริการ โดยกล่าวว่างบประมาณของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในแปดปีเพิ่มจาก 27,612 ล้านบาทในปีเริ่มแรกมาเป็น 89,385 ล้านบาท(หักงบประมาณเงินเดือนออกแล้ว) เพิ่มขึ้นถึง 224% และอ้างว่าแนวโน้มเงินสดคงเหลือของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณ สุข(สปสธ) เพิ่มขึ้น ประชาชนและผู้ให้บริการก็มีความพึงพอใจ อัตราการใช้บริการของประชาชนทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในก็เพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ในอัตรา 32%ในปีพ.ศ. 2552 และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น ในอัตรา 23% และก็ได้อ้างถึงความครอบคลุมของการบริการทางการแพทย์หลายโครงการเช่นอัตรา ตายของผู้ป่วยเอดส์ลดลง การใช้จ่ายของครัวเรือนด้านสุขภาพลดลง มีแพทย์ลาออกจากราชการมากขึ้น มีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น

และที่สำคัญ นพ.ประทีปได้กล่าวว่า ความเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุขและระบบบริการคือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเ เป็นผู้กำหนดนโยบาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้บริหารระบบ พ.ร.บงแผนและขั้นตอนกระจายอำนาข จะเป็นผู้ให้บริการสุขภาพ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด

ต่อมาน.ส.ชุมศรี พจนปรีชา รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้กล่าวว่า งบประมาณด้านการสาธารณสุข ภายหลังจากมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เพิ่มขึ้นมากถึง 12.46%ต่อปี ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินทั้งหมดของประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 7.63%ต่อปี ซึ่งจะทำให้เป็นภาระหนักต่องบประมาณแผ่นดินมากขึ้นในอนาคต เพราะคนไทยมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ประชาชนมีความคาดหวังมากขึ้น โดยที่ไม่มีส่วนร่วมจ่ายเลย

ต่อมานพ.สมชัย นิจพานิช ผู้อำนวยการกองประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีภาระงานเหมือนเดิม แต่งบประมาณต้องไปขอจากสปสช. แต่เงินที่ได้มานั้น ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่ายในการทำงาน ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสธ.ขาดทุนอยู่ 1,600 ล้านบาท

   นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาและนพ.ศิริชัย ศิลปอาชา จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้กล่าวว่าการให้บริการตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเหมือนเป็นโรงเจ แต่มีเงินไม่พอ ควรจะสร้างวินัยให้คนในชาติ ให้มีการออมเงินเพื่อมีส่วนร่วมจ่าย

ถึงตอนนี้ ประชาชนที่มาร่วมการสัมมนาได้แสดงความเห็นว่า ทำไมแพทย์ไม่ยินดีกับประชาชนหรือ ที่ได้รับสิทธิการรักษา แพทย์เห็นแก่เงินเกินไปหรือเปล่าที่เรียกร้องจะให้ประชาชนร่วมจ่าย ในที่สุดก็มีฝ่ายแพทย์ชี้แจงว่า ที่เราต้องการเงินเพิ่มก็เพราะงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่ายาและการรักษาที่เหมาะสม เพราะงบประมาณมีน้อย ส่วนการที่จะให้ประชาชนร่วมจ่าย ก็เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่า การตรวจรักษานั้นมีคุณค่า ต้องใช้เวลาของบุคลากรที่มีน้อย และใช้ยาและเวชภัณฑ์ ที่มีราคาค่าใช้จ่าย การที่ประชาชนมีส่วนร่วมจ่าย จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการอย่างเหมะสม ไม่ฟุ่มเฟือย เราก็จะมีเวลาทำงานบริการประชาชนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และผู้ป่วยทุกคน ก็จะได้รับยาและการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

 ต่อจากนั้นผู้อภิปรายแทบทุกคนและผู้ร่วมสัมมนา ที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นนพ.ประทีป เมฆประสาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียว นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ รองเลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย นพ.ไชยวัฒน์ ภูติยานันท์ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลเชียงคำ นส.พิกุล บัณฑิตพานิช พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เภสัชกรหญิงพัชรี ศิริศักดิ์ โรงพยาบาลฉะเชิงเทรา นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระพงศ์ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ และอีกหลายๆคน ต่างก็แสดงความเห็นไปในทางที่สอดคล้องกัน รวมทั้งสรุปความเห็นจากคำตอบแบบสอบถามที่แจกผู้เข้าสัมมนาดังนี้คือ

1. ควรแก้กฎหมายพ.ร.บ.หลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้การทำงานบริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว สามารถสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค และปฐมพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

2. ต้องปฏิรูประบบหลักประกัน สุขภาพและระบบบริการด้านสุขภาพ ทั้งในส่วนของการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร การจัดระบบบริการประชาชนให้มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัยจากระบบบริการด้านสุขภาพ ไม่ควรก้าวล่วงมาตรฐานการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพ

3. พัฒนาระบบการจัดสรรบุคลากร ทุกประเภทให้เหมาะสมกับภาระงาน ได้รับการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม เทียบได้กับราคาตลาดในสาขาและวิชาชีพเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีบุคลากรที่ดี มีจำนวนเพียงพอในการให้บริการด้านสุขภาพเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน