ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพไทยที่สปสช.พยายามปกปิดและบิดเบือนความจริง  (อ่าน 4569 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด

สืบเนื่องจากการประชุมวิชาการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (Prince Mahidol Awards Conference) ที่มีประเทศต่างๆมาประชุม 40 ประเทศ และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเล่อร์ ได้ตกลงที่จะให้เงินสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทย ดำเนินการสร้างศูนย์ความร่วมมือกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน(1) โดยที่คิดว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชาชนได้รับการรักษาที่จำเป็น และงบประมาณไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายจนเป็นภาระในระยะยาว
  นับว่าการประชุมนี้ ประเทศไทยได้ทำให้หลายประเทศเข้าใจผิดว่าไทยประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนถึงกับจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของต่างประเทศ ก็นับว่าประเทศไทยได้รับชื่อเสียงและความชื่นชมในระดับหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีปัญหาอีกมากมายที่จะต้องแก้ไขในระบบหลักประกันสุขภาพของไทยดังนี้

1.งบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน

2. มีการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเชื่อเกินจริง ว่าจะได้รับการรักษาทุกโรค แต่ความจริงแล้วมีการจำกัดเรื่องการใช้ยาและการรักษาหลายอย่าง ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพประชาชน  เช่นการล้างไตทางหน้าท้อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและเป็นสาเหตุให้ตายเนื่องจากการติดเชื้อ การกำหนดยาขั้นต่ำในการรักษามะเร็ง ทำให้รักษาไม่หาย

3. สปสช.แบ่งเงินงบประมาณไปทำโครงการรักษาโรคเองโดยที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสปสช.ทำให้ประชาชนที่ป่วยจากอาการอื่นนอกเหนือโครงการนี้ต้องเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับการรักษาการเจ็บป่วยตามมาตรฐาน

4.สปสช.จ่ายเงินให้โรงพยาบาลน้อยกว่างบประมาณที่รัฐบาลกำหนด ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์จากงบประมาณที่น้อยกว่างบประมาณจริงที่ควรได้รับ

5.สปสช.อ้างว่า เป็นผู้เจรจาซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ในจำนวนมากจะช่วยให้ราคาถูกลง แต่ของราคาถูกบางอย่างก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน เช่น สเต็นท์ ที่ซื้อมาป็นจำนวนมาก หรือของราคาถูกบางอย่างก็อาจะกลายเป็นผลเสียแก่ผู้ป่วย เช่นเล็นส์แก้วตาเทียมที่อ้างว่าซื้อถูกๆ และเนื่องจากเล็นส์มีราคาถูกจึงเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยคือใช้ไปเพียง 4-5 ปี ก็ต้องมาผ่าตัดเปลี่ยนเล็นส์ใหม่ ในขณะที่เล็นส์คุณภาพดีมีมาตรฐานราคาอาจแพงกว่า แต่ใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องมาผ่าตัดเปลี่ยนใหม่  ประชาชนไม่ต้องลำบากมาผ่าตัดหลายครั้ง เป็นผลเสียต่อประชาชน

   ฉะนั้นการที่สปสช.รวบอำนาจในการซื้อยาและเครื่องมือแพทย์เอง ก็เพราะมีช่องทางที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน
 ทั้งนี้นายแพทย์ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีฐานะเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่มีบทบาทใดๆในการที่จะสะท้อนความจริงดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาของโรงพยาบาลและหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข กลับปล่อยให้แพทย์ผู้ปฏิบัติงานต้องรวมตัวกันออกมาสะท้อนปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ และเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาของผู้ปฏิบัติงาน แต่นพ.ไพจิตร ในฐานะปลัดกระทรวงและกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มิได้ดำเนินการแก้ไขหรือเสนอข้อแก้ไขใดๆทั้งสิ้น

  จึงเห็นว่านพ.ไพจิตร วราชิต บกพร่องต่อการปฏิบัติงานทั้งในตำแหน่งปลัดกระทรวงและตำแหน่งกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
 และต้องถามหาความรับผิดชอบของนายวิทยา บุรณะศิริ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าเหตุใดจึงไม่สั่งการให้นพ.ไพจิตร วราชิต แก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น
นอกจากข้อบกพร่องของสปสช.ดังกล่าวแล้ว จากผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยังได้ชี้ประเด็นความผิดของสปสช.ดังนี้

1. การใช้งบประมาณไม่ถูกต้องและไม่ประหยัด
1.1 การปรับขึ้นเงินเดือนของเลขาธิการสปสช.จาก เดือนละ 171.6000 บาทและเงินประจำตำแห่งเดือนละ 42,900 บาท เป็นเงินเดือนๆละ 200,000 บาทและเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.55 ไม่เป็นไปตามมติครม.
1.2 การจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการไม่เป็นไปตามมติครม. โดยสปสช.ให้ค่าตอบแทนเหมาจ่ายรายเดือน โดยประธานอนุกรรมการได้เดือนละ 20.000 บาท และอนุกรรมการได้เดือนละ 16,000 บาทซึ่งสูงกว่าที่ครม.กำหนดไว้โดยประธานอนุฯไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท และอนุฯไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท ซึ่งนับจากวันที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2547 ถึงเดือนมี.ค. 2553 (ที่สตง.ตรวจสอบ)สปสช.จ่ายค่าเบี้ยประชุมอนุกรรมการตรวจสอบสูงกว่าที่ครม.กำหนด ไป 3,105,000.00 บาท
1.3 สปสช.จ่ายเงินโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้างโดยไม่มีมติของคณะกรรมการ และยังจ่ายเงินให้ลูกจ้างภายนอกสปสช.อีกซึ่งนับว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม
1.4 การใช้จ่ายเงินบางรายการไม่ประหยัดและไม่เป็นไปตามประกาศของสปสช.เองได้แก่
1.4.1 ผู้ที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือรองผู้อำนวยการสำนัก  ต่างก็เดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งๆที่สปสช.ประกาศให้เฉพาะตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้นที่เดินทางโดยเครื่องบินได้
1.4.2 เบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารในการประชุมซ้ำซ้อน
1.5 การจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม กล่าวคือต่อสัญญาไปเรื่อยๆโดยไม่มีการประเมินผลงาน และจ้างในอัตราที่สูงมาก และยังจ้างอดีตเจ้าหน้าที่สปสช.มาเป็นที่ปรึกษาอีกด้วย บางรายก็ไม่มีการต่อสัญญาจ้างแต่ก็จ่ายเงินค่าจ้าง ทุกปี
1.5.1 สปสช.จ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง
1.5.2 การจัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน
1.5.3 สปสช.จ้างที่ปรึกษาทำหน้าที่บริหารระดับสูง เช่นเดียวกับเลขาธิการ รองเลขาธิการหรือผู้ช่วยเลขาธิการ ทั้งๆที่มีหน่วยงานและผู้ปฏิบัติรับผิดชอบภารกิจเหล่านั้นอยู่แล้ว แต่กำหนดให้ที่ปรึกษาทำงานเต็มเวลาเหมือนเจ้าหน้าที่สปสช.
1.5.4 เอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาสำหรับปีงบประมาณ 2551และ2552 ไม่สมบูรณ์

2. การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
2.1 การบริหารพัสดุของสปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและข้อบังคับที่กำหนดไว้ดังนี้
 2.1.1 การบริหารพัสดุของสปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
  2.1.1.1สปสช.ไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างให้สตง.ภายในเวลาที่กำหนด
  2.1.1.2 แผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วนตามประกาศสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบว่าสวปสช.จัดซื้อจัดจ้างจริงมากกว่ารายการตามแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินถึงร้อยละ 77.8
2.1.2 สปสช.ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2546 และคู่มือการจัดหาพัสดุ  ซึ่งอาจทำให้ซื้อพัสดุในราคาแพง
2.1.3 การให้เลขที่ใบสั่งซื้อไม่ครบทุกรายการ
2.2 การคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างในการจัดหาโดยวิธีการเปรียบเทียบราคา ด้วยการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด ทำให้ในบางกรณีผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญาโดยการต่อรองราคา ซึ่งเป็นการผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 การที่สปสช.เรียกผู้เสนอราคามาต่อรองทีละรายตามที่สปสช.กำหนดขึ้นมาเอง จึงขัดต่อหลักการจัดหาที่โปร่งใสและเป็นธรรม

3. การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
  วิเคราะห์ได้ว่าสปสช.อ้างว่าซื้อยาจำนวนมากได้ราคาถูกนั้น ความจริงก็คือ สปสช.ได้เงินตอบแทนจากการซื้อยาถึง 189,339,067.38 บาท และสปสช.เอาเงินนี้ไปเป็นสวัสดิการให้บุคลากรของ สปสช. ทั้งๆที่เงินนี้ควรนำไปใช้ประโยชน์แก่หน่วยบริการ(โรงพยาบาล) เนื่องจากเป็นการเอางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้แก่ประชาชน(ที่ต้องส่งให้โรงพยาบาลมาซื้อยา) เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการให้ประชาชน   

4.การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 โดยเลขาธิการสปสช.ไม่ได้นำเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทราบหรือพิจารณาใดๆ

5. ค่าใช้จ่ายบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification) จากการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สปสช.พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
   5.1สปสช.มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงเกินกว่าที่ครม.กำหนด โดยค่าใช้จ่ายสูงเกิน 30% ของเงินอุดหนุนประจำปี และค่าใช้จ่ายด้านบุลากรมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจ้างบุคลากรเกินกว่ากรอบอัตรากำลังที่คณะกรรมการกำหนด
   5.2มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไท่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification) โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านคุณวุฒิการศึกษา ได้แก่ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้ากลุ่มงาน

6. การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545
พบว่าในปี2552 เลขาธิการสปสช.ได้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95,235,000.00 บาทไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่มิใช่หน่วยบริการเพื่อดำเนินงานอื่นที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข

   วิจารณ์ นี่จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินจากสปสช.ไม่เต็มจำนวน จนโรงพยาบาลหลายร้อยแห่งกำลังจะเจ๊ง

7. การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด และจัดให้แก่หน่วยงานอื่นที่มิใช่หน่วยบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังแบ่งเป็นงบบริหารอีก 10% ( วิจารณ์ ทั้งๆที่สปสช.ได้รับงบบริหารอยู่แล้ว)ทำให้หน่วยบริการได้รับเงินงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

สรุป ระบบหลักประกันสุขภาพไทย ที่ได้ไปคุยโวโอ้อวดว่าประสบความสำเร็จให้ชาวโลกหลงชื่นชมนั้น ยังมีปัญหาข้อบกพร่องอีกมากมาย จากการบริหารงานผิดพลาด  การมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายมหาศาล การทุจริตคอรัปชั่น และการปล่อยปละละเลยของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในยุค พ.ศ. 2545- 2553 ที่ไม่กำกับดูแลการทำงานของเลขาธิการสปสช.

จึงไม่น่าสงสัยว่า ทำไมจึงมีกลุ่มคนอยากเป็นกรรมการ อนุกรรมการ และบุคลากรของสปสช.กันอย่างมากมาย เพราะกำหนดค่าตอบแทนสูงๆและขึ้นค่าตอบแทนกันเอง พอไม่ได้รับเลือกเป็นกรรมการและอนุกรรมการใหม่จึงออกมาบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีว่ามีคนจ้องจะล้มหลักประกันสุขภาพ และชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าประชาชนจะไม่ได้รับการรักษาเหมือนเดิม

  ทั้งนี้ข้อบกพร่องของเลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.ได้รับการท้วงติงและข้อเสนอแนะจากสตง.นานแล้ว แต่ยังไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด    

   จึงต้องถามหาความรับผิดชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายวิทยา บุรณะศิริ เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

1.   ได้ดำเนินการยุติการกระทำมิชอบของเลขาธิการสปสช.แล้วหรือไม่ อย่างไร

2.   ได้ดำเนินการสอบสวนและลงโทษเลขาธิการสปสช.และเรียกเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ผิดประเภท หรือผิดกฎหมายต่างๆ กลับคืนหรือไม่ อย่างไร?

3.   ถ้านายวิทยายังไม่ดำเนินการใดๆ ถือว่าละเว้นหน้าที่ มีความผิดอาญาม. 157หรือไม่ และครม.จะดำเนินการตรวจสอบนายวิทยาหรือไม่? อย่างไร? และเมื่อใด?

เอกสารอ้างอิง
(1)   http://www.prachatai.com/journal/2012/01/38967
(2)   ผลการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
 29 ม.ค. 55