ผู้เขียน หัวข้อ: หนังสือจากสมาพันธ์ฯถึงนายกรัฐมนตรี ๓ ฉบับ (๒๔ มกราคม ๒๕๕๕)  (อ่าน 1939 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด


สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย
ที่ สพศท. ๐๐๕/พิเศษ
๒๔     มกราคม     ๒๕๕๕

เรื่อง  ขอเรียกร้องให้เก็บเงิน  ๓๐  บาท เมื่อใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
เรียน  นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

สืบเนื่องจาก  พ.ศ.  ๒๕๔๕  ได้เริ่มใช้  “โครงการ  ๓๐  บาท  รักษาทุกโรค”  ของพรรคไทยรักไทย  เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี  ฯพณฯ  ดร.  ทักษิณ  ชินวัตร  เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง  ได้มีการเก็บเงินจากผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทองธรรมดา  ในการเข้ารับการรักษา  ครั้งละ  ๓๐  บาท  และให้สิทธิฟรีในผู้ที่ใช้บัตรทอง  ท.  ซึ่งได้แก่  ผู้สูงอายุ  เด็ก  ๐-๑๒  ปี  ผู้พิการ  พระภิกษุ  และผู้ยากไร้ที่มีบัตร  สปร.  เดิม  รวมทั้ง  อสม.  ทุกคนด้วย  ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี

เมื่อปลายปี  พ.ศ.  ๒๕๔๙  รัฐบาลคณะปฏิวัติโดย นายแพทย์มงคล  ณ  สงขลา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข  ได้ยกเลิกการจ่ายเงิน  ๓๐  บาท  ของผู้ป่วยบัตรทอง  และต่อมา  รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศให้บัตรทองรักษาฟรี  เกิดผลเสียคือ  ผู้ป่วยเข้ารับบริการล้นทะลักทุกโรงพยาบาล  จากผู้ป่วยนอก ประมาณ ๑๐๐ ล้านครั้งต่อปี ในปี  ๒๕๔๘  ไปเป็นประมาณ ๑๕๐ ล้านครั้งต่อปี  ในปี  ๒๕๕๓  ซึ่งเพิ่มภาระอย่างมากต่อโรงพยาบาลทุกแห่ง  เพราะเจ้าหน้าที่มีเท่าเดิม  และทำให้คิวรอตรวจและรักษาของผู้ที่ป่วยหนักยาวขึ้น  โรงพยาบาลได้พยายามจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น  ให้รองรับผู้ป่วยที่เพิ่ม แต่ก็ไม่พอ  ทำให้คุณภาพการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร  ดังนั้น  การที่รัฐบาลของท่าน  มีนโยบายที่จะเริ่มเก็บเงิน  ๓๐  บาทจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง  จะมีประโยชน์ดังนี้ 

๑.  ประชาชนจะยั้งคิดในการใช้สิทธิ์ที่เกินจำเป็น  ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง  ทำให้คิวรอตรวจรักษาสั้นลง 
๒.  ผู้ป่วยหนักจะได้รับบริการเร็วขึ้น  และมีเวลาดูแลมากขึ้น  ละเอียดขึ้น  มีคุณภาพการรักษามากขึ้นกว่าเดิม
๓.  โรงพยาบาลมีเงินมากขึ้น  สามารถนำไปซื้อยา และอุปกรณ์การแพทย์มาใช้รักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น
๔.  โรงพยาบาลมีเงินไปจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น  เพิ่มคุณภาพการรักษากว่าเดิม
๕.  รพสต.  และโรงพยาบาลขนาดเล็กมีเงินรายรับเพิ่มขึ้น  เพิ่มสภาพคล่องของระบบการเงินการคลัง  ใช้แก้ปัญหาต่างๆ  ได้มากขึ้น
๖.  แพทย์ และพยาบาลจะมีเวลารักษาผู้ป่วยแต่ละคนมากกว่าเดิม  ลดความเสี่ยงที่จะผิดพลาดในการรักษา

โดยให้การรักษาฟรีแก่ผู้ป่วยยากไร้ที่ใช้บัตรทอง  ท.  ประมาณ   ๒๐  กว่าล้านคน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีเงิน  (บัตรทองธรรมดา)  ได้ช่วยผู้ที่จนจริงเหล่านี้จากการที่ร่วมจ่าย  ๓๐  บาทเมื่อเข้ารับการรักษา  ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
   
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ดำเนินการต่อไปด้วย จักเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยิ่ง

                                                                           ขอแสดงความนับถือ

                                                                (แพทย์หญิงประชุมพร       บูรณ์เจริญ)
                                                              ประธานสมาพันธ์แพทย์  รพศ./รพท. (สพศท.)
...........................................................................................




สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย
ที่ สพศท. ๐๐๔/พิเศษ
๒๔     มกราคม     ๒๕๕๕

เรื่อง  ขอขยายเพดานเงินเยียวยามาตรา ๔๑ ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
เรียน  นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้นำมาใช้เป็นเวลาย่างเข้าปีที่๑๐ แล้ว  ได้มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการในสถานพยาบาล  แล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น  ดังนี้

“มาตรา  ๔๑  ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ  ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ  โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้  แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์  วิธีการ  และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”

จากการดำเนินการ  ๙  ปีที่ผ่านมา  ได้มีการกำหนดเงินเยียวยานี้ไว้ที่อัตรา   ๕๐,๐๐๐  บาท   ถึง ๒๐๐,๐๐๐  บาท  โดยคงอัตรานี้มาตลอด และให้ใช้กับผู้มีบัตรทองเท่านั้น  จึงทำให้มีผู้ร้องเรียนอยู่เนืองๆ ว่า  เงินเยียวยาไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะในรายที่พิการถาวรตลอดชีวิต  ทำให้เจ้าตัวและครอบครัวเดือดร้อนอย่างมาก  จนเกิดการขอให้มีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการเกิดขึ้น  ซึ่งส่งผลให้สังคมแพทย์ และผู้ป่วยแตกแยกอย่างรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน  โดยกลุ่มผู้เสียหายบอกว่า  ถ้าได้รับเงินเยียวยาเพียงพอตามสภาพเศรษฐกิจ  การขอให้มี  พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ  ก็ไม่จำเป็น  เพราะขบวนการการเยียวยาของมาตรา  ๔๑  ใน  พ.ร.บ. สปสช.  นี้  มีความครอบคลุมทุกพื้นที่และรวดเร็วอยู่แล้ว

ดังนั้น  สมาพันธ์แพทย์  รพศ./รพท. (สพศท.)  จึงขอให้ท่านและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ได้โปรดดำเนินการขยายเพดานอัตราการเยียวยาให้เพียงพอแก่ความจำเป็นของผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย (อาจเพิ่มอัตราได้ถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท  หรือ  ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท  ในกรณีที่จำเป็น)  เพราะเงินของมาตรา  ๔๑  นี้มีมากเพียงพอที่จะดำเนินการได้ในทันที  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  และนำมาซึ่งความพึงพอใจของผู้เสียหาย  และช่วยลดความขัดแย้งของผู้ป่วยและแพทย์ได้ด้วย  ทำให้สังคมสงบสุขทั่วหน้ากัน

ถ้าสามารถขยายความครอบคลุมไปจนถึงผู้ใช้สิทธิประกันสังคม  และสิทธิข้าราชการ โดยวิธีการใดก็ตามที่สามารถกระทำได้  ก็จะทำให้เกิดประโยชน์สุขถ้วนหน้าแก่คนไทยทุกคน  และพร้อมกันนี้  ขอให้ออกระเบียบว่าด้วยกฎเกณฑ์การจ่ายเงินและกำหนดวิธีการขั้นตอน การจ่ายเงินนี้ให้ครอบคลุมและเป็นธรรม  ชัดเจน  ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย
                                                                                                                                                         จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ดำเนินการต่อไปด้วย จักเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยิ่ง

                                                                         ขอแสดงความนับถือ

                                                                (แพทย์หญิงประชุมพร       บูรณ์เจริญ)
                                                              ประธานสมาพันธ์แพทย์  รพศ./รพท. (สพศท.)

................................................................................................




สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย
ที่ สพศท. ๐๐๓/พิเศษ
๒๔     มกราคม     ๒๕๕๕

เรื่อง  ขอเสนอให้ปลดกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กลุ่มผู้แทนองค์กรเอกชน  จำนวน ๕ คน
เรียน  นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

สืบเนื่องจากมีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กลุ่มผู้แทนองค์กรเอกชน  ได้แถลงข่าวว่าได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง  เพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  สปสช. ชุดใหม่  เหตุเนื่องจากการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิครั้งล่าสุด  มีองค์ประชุมไม่ครบ  ลงข่าวเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕นี้

ด้วยเหตุที่ประเทศไทยได้เกิดมหาอุทกภัยที่ผ่านมา  ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์บัตรทองจำนวนมากในหลายจังหวัดต้องอพยพไปอยู่ในที่ศูนย์พักพิง  ซึ่งอยู่นอกอำเภอหรือจังหวัดของตนเอง เป็นผลให้การใช้สิทธิ์บัตรทองจะไม่สะดวก  ขณะนั้น  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่  ได้มีการลาออกของผู้ทรงคุณวุฒิ  ด้านแพทย์แผนไทย๑  ท่าน    ซึ่งจะต้องมีการสรรหา  คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านนี้มาทดแทน  จึงจะได้คณะกรรมการครบทุกตำแหน่ง  และสามารถดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและสถานพยาบาลในพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างเต็มที่  ในเวลานั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพถึง  ๓  ครั้ง   กรรมการตามมาตรา ๑๓ กลุ่ม (๑) (๒) (๓) (๕) และ (๖) ได้มาร่วมประชุมถ้วนหน้า  เว้นก็แต่กรรมการตาม (๔) ซึ่งก็คือ ตัวแทนองค์กรเอกชน ได้แก่

๑.    นายแพทย์วิชัย   โชควิวัฒน      ตัวแทนด้านผู้สูงอายุ
๒.   นางสาวบุญยืน   ศิริธรรม           ตัวแทนด้านเกษตรกร
๓.   นางสุนทรี      เซ่งกี่               ตัวแทนด้านผู้ใช้แรงงาน
๔.   นายนิมิตร      เทียนอุดม        ตัวแทนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี
๕.   นายชูศักดิ์      จันทยานนท์     ตัวแทนด้านคนพิการ

ทั้ง ๕ ท่านนี้ไม่ได้มาร่วมประชุมทั้ง  ๓  ครั้ง  โดยมีข้ออ้างต่างๆ  กัน  ทั้งที่กรรมการท่านอื่นเกือบทุกท่าน  ต่างอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเช่นกัน  แต่ได้มาร่วมประชุมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทั้ง๓ครั้ง  เพื่อเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก  ๑  ท่านให้ครบ  และเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนและสถานพยาบาลที่กำลังเดือดร้อนแสนสาหัสในช่วงน้ำท่วมนั้น

แต่ตัวแทนองค์กรเอกชนทั้ง ๕  คนนี้ ไม่ได้มีใจนำพาผู้ที่เดือดร้อนทั้งหลายแม้แต่น้อย นอกจากจะไม่มาร่วมประชุมเพื่อช่วยประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว  ยังเอาเหตุที่ตนไม่เข้าประชุม  ทำให้องค์ประชุมไม่ครบถึง๓ครั้ง  มาเป็นเหตุฟ้องศาลปกครอง  ให้เพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  สปสช.  ชุดใหม่ เหตุเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ   

การกระทำดังกล่าวของกรรมการทั้ง ๕ คนซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากคณะกรรมการชุดเดิมย่อมทราบผลการกระทำนี้และเห็นได้ว่าเป็นการจงใจไม่มาประชุมเพื่อเอาเป็นเหตุอ้างอย่างหวังผล สำหรับนำไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหม่ติดขัดและเป็นเจตนาไม่บริสุทธิ์ต่อคณะกรรมการชุดใหม่ในปัจจุบัน  โดยไม่ใส่ใจต่อประชาชนผู้ที่ตนอ้างว่าเป็นตัวแทนเลยแม้แต่น้อยว่าจะได้รับผลเสียเดือดร้อนอย่างไรจากการกระทำของตน

การกระทำเช่นนี้เข้าข่ายบกพร่องต่อหน้าอย่างที่อย่างจงใจหรือหย่อนความสามารถอย่างมากตามมาตรา๑๖(๖)ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ออกจากตำแหน่งกรรมการได้   

สมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. จึงขอเสนอให้ท่านและคณะรัฐมนตรีดำเนินการพิจารณาไต่สวนและมีคำสั่งเสนอปลด กรรมการทั้ง๕ท่านนี้และให้ดำเนินการสรรหาตัวแทนองค์กรเอกชน ที่มีคุณสมบัติจริง และมีคุณธรรมสูงกว่านี้มาทำหน้าที่แทนเพื่อประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชน  ไม่ควรปล่อยให้ผู้แสวงประโยชน์และอำนาจเพื่อตนและพวกพ้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ประชาชนทำหน้าที่นี้ต่อไปอีกเพราะอาจเกิดเหตุอื่นๆจากบุคคลกลุ่มนี้ได้อีกในวันหน้า

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ดำเนินการต่อไปด้วย จักเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างยิ่ง

                                                                           ขอแสดงความนับถือ

                                                                (แพทย์หญิงประชุมพร       บูรณ์เจริญ)
                                                              ประธานสมาพันธ์แพทย์  รพศ./รพท. (สพศท.)
..........................................................................