บทวิเคราะห์: ความคิดเห็นแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ต่อ หลักสูตรแพทย์ศาสตรบัณฑิต และ โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
จากกรณี สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern)
ต่อหลักสูตรและชีวิตนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากนักศึกษาแพทย์ก่อนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ทางสมาพันธ์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ซึ่งจบหลักสูตรแพทย์ฯ แล้ว ว่ามีประสบการณ์และความคิดเห็น แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
ช่วงเวลาสำรวจ คือ 1 ก.ค. ถึง 30 ต.ค. 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 107 คน ทั้งที่ฝึกเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาล
ศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม แพทย์ใช้ทุนฯ ให้ข้อมูลว่า ขณะศึกษาอยู่ในคณะแพทย์มีจำนวนผู้ป่วยและหัตถการให้ฝึกฝนเพียงพอ 57% เมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ คิดว่าตนเองมีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 78 % และ สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ ต้องทำได้ด้วยตนเอง (พบ.1) ได้ครบ (ตามที่กำหนด) 70% โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Amniotomy, Intercostal drainage, Episiotomy, Removal of nail or nail fold, Neonatal resuscitation, Normal labor
เมื่อผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะแล้ว แพทย์ใช้ทุนฯ ตอบว่าความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพเพิ่ม
เป็น 91 % และสามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ ต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบเพิ่มเป็น 86% โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Amniotomy, Episiotomy, Intravenous fluid infusion
สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะแล้วต้องทำได้ด้วยตนเอง (พท.1) ได้ครบ (ตามที่กำหนด) เพียง 29% โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Tubal ligation & resection (postpartum), Venesection or central venous catheterization, Insertion of intrauterine contraceptive device แต่มีความมั่นใจปานกลางถึงมากในการดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้แก่ ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และ ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic heart disease) 96 98%
คิดว่าโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะมีประโยชน์มากถึงมากที่สุด 92% แต่ขณะฝึกอบรมในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อยู่ในกรอบของประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ (ทำงานนอกเวลาราชการไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์, เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่เกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน, ปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้องได้พักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง) เพียง 33%
ความเห็นเพิ่มเติมต่อหลักสูตรแพทย์และโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ได้แก่ ควรมีการจำกัดเวลาการทำงานของแพทย์
เพิ่มพูนทักษะ, โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะทำให้มีโอกาสฝึกฝนการตัดสินใจและการทำหัตถการ, บางครั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะต้องดูแลผู้ป่วยโดยไม่มีสตาฟดูแลอาจทำให้เกิดความผิดพลาด ความเครียด และถูกฟ้องร้อง, สตาฟที่ใจดีทำให้แพทย์ใช้ทุนทำงานด้วยความสบายใจ, ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ไม่ได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตนเองและฝึกทำหัตถการเพราะแพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้านเป็นผู้ทำ ได้เพียงช่วยหรือสังเกตการณ์, ติดภาระงานทำให้ไม่สามารถไปฝึกฝนหัตถการ
บทวิเคราะห์แพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 จบหลักสูตรแพทย์และผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะไม่นาน มีประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพแพทย์มาระยะหนึ่ง ทำให้สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรแพทย์ โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ และประสบการณ์การทำงาน ได้ตรงกับความเป็นจริงและเป็นปัจจุบัน
ข้อมูลจากแพทย์ใช้ทุนฯ พบว่า ขณะศึกษาในคณะแพทย์จำนวนผู้ป่วยและหัตถการเพียงพอให้ฝึกฝนเพียง 57% เมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ แล้ว มีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอเพียง 78% และสามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ แล้ว จะต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบเพียง 70% สอดคล้องกับ ผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย ที่คิดว่าตนเองมีความพร้อมทั้งด้านทฤษฎีและหัตถการเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพเพียง 43%
แม้โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะมีประโยชน์ช่วยให้แพทย์จบใหม่มีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอเพิ่มเป็น 91% และสามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ จะต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบเพิ่มเป็น 86% และยังทำให้แพทย์ใช้ทุนฯ มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก็ตาม แต่ยังมีแพทย์ที่ผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ที่ไม่มั่นใจในความรู้ทางด้านทฤษฎีอยู่อีก 9% ไม่สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าแพทย์จบใหม่จะต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบอีก 14% และไม่สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าแพทย์ที่ผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะแล้วต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบอีกถึง 71% โดยหัตถการที่ทำไม่ได้ล้วนเป็นหัตถการที่ต้องทำประจำหรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ปัญหาที่แพทย์จบใหม่บางส่วนไม่สามารถฝึกทำหัตถการได้ตามเกณฑ์ของแพทยสภา น่าจะเกิดจากจำนวนผู้ป่วยและหัตถการต่อนักศึกษาแพทย์ที่ลดลงเนื่องจากการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มทั้งแพทย์ทั่วไปและเฉพาะทาง การเร่งผลิตแพทย์ทั่วไปทำให้นักศึกษาแพทย์ต้องเฉลี่ยทรัพยากรในการผลิตกันเอง และการเร่งผลิตแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ประจำบ้านที่ยังไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนการดูแลผู้ป่วยและทำหัตถการขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสาขาตนเองอย่างเพียงพอขณะเป็นนักศึกษาแพทย์หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ก็ต้องใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อฝึกฝนเช่นกัน ทำให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ฝึกฝนอยู่ในสถานพยาบาลเดียวกันขาดแคลนทรัพยากรในการฝึกฝนยิ่งขึ้น ดังนั้นการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มไม่ว่าแพทย์ทั่วไปหรือเฉพาะทาง จะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรสำหรับนักศึกษาแพทย์และแพทย์เพิ่มพูนทักษะได้
แม้แพทยสภาพยายามแก้ปัญหาคุณภาพแพทย์ด้วยการจัดโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ และออกประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อลดภาระงาน สามารถเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม แต่แพทย์เพิ่มพูนทักษะส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะรับหน้าที่ให้การบริการด่านหน้าของสถานพยาบาล หากสถานพยาบาลนั้นมีแพทย์ประจำน้อยหรือได้รับแพทย์เพิ่มพูนทักษะจำนวนน้อย แล้วไม่มีการบริหารจัดการที่ดี แพทย์เพิ่มพูนทักษะก็ต้องรับภาระหนัก แต่การแก้ไขด้วยการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มจะกระทบต่อคุณภาพในการผลิต การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์บริการด่านหน้าจึงไม่ควรแก้ไขด้วยการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มเพียงประการเดียว แต่ควรใช้การบริหารจัดการ ได้แก่ การกระจายแพทย์ การมีส่วนร่วมในการให้บริการจากทั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์อื่นๆ รวมทั้งแพทย์ประจำด้วย
แพทย์ที่จบหลักสูตรแพทย์ฯหรือผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างหนัก 6-7 ปี ยังพบว่าส่วนหนึ่งไม่มั่นใจในการประกอบวิชาชีพ ดังนั้นหลักสูตรแพทย์ที่ลดระยะเวลาฝึกอบรมลง ทั้งหลักสูตรแพทย์ 4 ปี และหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ที่ต้องศึกษาสาขาอื่นระดับปริญญาโทในเวลาเดียวกัน ย่อมมีโอกาสประสบปัญหามากขึ้น แพทยสภาและคณะแพทย์ ควรพิจารณาว่าหลักสูตรดังกล่าวเหมาะสมหรือจำเป็นหรือไม่
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์เป็นจำนวนมาก ทำให้การเร่งผลิตแพทย์เพิ่มถูกมองว่าเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และมองว่าทรัพยากรในการผลิต คือ ผู้ป่วยและหัตถการมีไม่จำกัด ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนแพทย์บรรเทาลง ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่สามารถจะใช้เป็นทรัพยากรในการฝึกฝนต่อนักศึกษาแพทย์ไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยการเร่งผลิตแพทย์เพิ่มจึงไม่น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาล คณะแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ควรพิจารณาผลิตแพทย์โดยคำนึงถึงมาตรฐานการผลิต หาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่กระทบต่อคุณภาพแพทย์ ได้แก่ การแก้ปัญหาการลาออกของแพทย์ภาครัฐ การกระจายแพทย์ การบริหารจัดการแพทย์ภาครัฐ และการให้สถานพยาบาลเอกชนมีส่วนร่วมในการให้บริการมากขึ้น
สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปฯ
เอกสารอ้างอิง
1.สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป, ผลแบบสอบถาม ความคิดเห็นแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ต่อ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และ โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ, เวปไซต์สมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
2.สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป, ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์, เวปไซต์สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จาก
https://www.thaihospital.org/board2/index.php?PHPSESSID=1fg6hb1vii4hnvb1rmihnedt0o&topic=33113.03.แพทยสภา, ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่องเกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563
4.นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ และนพ.ยุทธนา ป้องโสม, แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะไปทางไหน?, Hfocus เจาะลึกสุขภาพ (7 มกราคม 2566) จาก
https://www.hfocus.org/content/2023/01/267585.แพทยสภา, ประกาศแพทยสภาที่ 46/2565 เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ
6.ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์, อดีตนายกแพทยสภา ขอนายกฯชะลอ-ทบทวนโครงการผลิตแพทย์, ประชาชาติ (17 เมษายน 2567)