ผู้เขียน หัวข้อ: หนุน สปสช.ผุด “คลินิกปอดเรื้อรังอุดกั้น” ครบวงจรใน รพ.ทั่วประเทศ  (อ่าน 967 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 อดีต รมว.สธ.ร่วมกับ สปสช. สธ. สมาคมอุรเวชช์ สสส. ดัน “คลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังครบวงจร” ใน รพ.ทั่วประเทศ เชื่อช่วยคนไข้เข้าถึงการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ลดอาการหนักและภาวะแทรกซ้อนจนต้องนอน รพ.
       
       ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบการดูแลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบครบวงจร เปิดเผยว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอย่างมาก จากการศึกษาพบว่า ทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 3 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาถึง 12,735 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.14 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) นอกจากนี้ยังมีค่าภาระทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ จำนวน 5,550 ล้านบาทต่อปี ทำให้โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็น 1 ใน 10 ของโรคเรื้อรังที่เป็นภาระต่อค่าใช้จ่ายสาธารณสุขของประเทศไทย
       
       ศ.นพ.สุชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรภาคีอื่นๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อ Nice COPD Clinic หรือ “คลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังครบวงจร” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในการสร้างมาตรฐานการดูแล โดยมุ่งหวังให้เกิดบริการตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคควรได้รับบริการดูแลรักษาตามมาตรฐานเพื่อลดอาการกำเริบและภาวะแทรกซ้อน ส่งผลถึงการลดอัตราการครองเตียงของผู้ป่วย ร่วมกับการฟื้นฟูสภาพเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นคนปกติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการดูแล รักษา ป้องกันโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ Nice COPD Clinic จะเริ่มดำเนินการในบางพื้นที่ในปี พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
       
       นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการรพ.ยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า รพ.ยางตลาดเป็น รพ.ชุมชน ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการจัดคลินิกบริการผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยมีที่มาจากการทบทวนผลการบริการผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่าผู้ป่วยต้องมา รพ.ด้วยอาการกำเริบทำให้ต้องนอน รพ. บางรายอาการหนักต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนาระบบบริการโดยการบูรณการ และต่อยอดบริการจากเครือข่ายคลินิกโรคหืด ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้วในการลดอัตราการรับเข้านอนโรงพยาบาล การจัดบริการตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการให้บริการเป็นทีม จากเดิมมีแพทย์เป็นผู้ดูแลคนเดียว โดยมีพยาบาลเป็นผู้ดูแลระบบบริการ เนื่องจากแพทย์หมุนเวียนบ่อย ให้บริการตรวจวินิจฉัยสมรรถภาพปอด มีบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยใช้อุปกรณ์แบบง่ายๆ ที่สามารถทำเองที่บ้านได้ จัดคลินิกอดบุหรี่ร่วมกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบจาก สสส. ให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี 100% ของผู้ป่วย บริการเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ที่บ้านโดยมีเครื่องที่รพ.ลงทุน และได้รับบริจาคจากผู้ป่วยรวมประมาณ 10 เครื่อง มีการตรวจสอบยาที่เหลือทุกครั้งที่มารับบริการและประเมินการใช้ยาสูดโดยเภสัชกร จัดเครือข่ายบริการกรณีต้องการการส่งต่อเพื่อรักษา บริการเครื่องพ่นยาใน สอ. รพ.สต.ที่มีพยาบาลประจำและอบรมความรู้ปีละครั้ง
       
       นพ.ชาญชัยกล่าวต่อว่า ผลจากการดำเนินการ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถลดอาการกำเริบที่ทำให้ต้องมารพ.ฉุกเฉินด้วยอาการหอบ และเข้าออก รพ.ซ้ำๆ เพราะไม่สามารถควบคุมอาการได้ จากการศึกษาข้อมูลที่ให้บริการในโรงพยาบาลยางตลาดเปรียบเทียบกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจำนวน 118 ราย ที่ได้รับบริการต่อเนื่อง ก่อนและหลังเข้าคลินิก 1 ปี พบว่า การรับเข้านอน รพ.ลดลงจาก 40 เหลือ 9 ครั้ง/ปี การมารับบริการที่ห้องฉุกเฉินลดลงจาก 238 เหลือ 49 ครั้ง/ปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถลดลงได้จากการรับเข้านอน รพ. จาก 182,000 บาท เหลือ 40,950 บาท/ปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 มกราคม 2555