หมอ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายว่า (1) น. ผู้รู้, ผู้ชำนาญ, เช่น หมองู หมอนวด (2) น. ผู้ตรวจรักษาโรค เช่น หมอฟัน หมอเด็ก
โดย หมอ ในความหมายผู้ตรวจรักษาโรค ยังมีหมอจริงหมอปลอมปะปนกัน ใน แพทย์ในกรุงสยาม (สนองโอษฐ์สภากาชาดเล่ม 1 พ.ศ. 2465-2466) อ้างอิงตาม การแพทย์แผนไทย ของรัชดา โชติพานิช จำแนกลักษณะของวิชาไทยในอดีต ออกเป็น 11 ประเภท พอสรุปได้ คือ
1) หมอมีครู หมอที่รักษาด้วยวิธีการแผนโบราณ ซึ่งกว่าจะได้วิชาความรู้จากครู (หมอ) จะต้องติดตามจนครูพอใจ, เชื่อใจจึงจะถ่ายทอดวิชาให้
2) หมอมียา คือ บุคคลที่ได้ตำหรับยาขนานใดขนานหนึ่งเฉพาะรักษาโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง และยานั้นเป็นยาดีรักษาโรคนั้นๆ ได้ผลดีจริงๆ
3) หมอฝีหมอแผล ผู้ใช้วิธีการรักษาแบบเก่าด้วยยาและขี้ผึ้งยา
4) หมอนวด ให้การรักษาอาการและแก้ไขในทางเส้นประสาทและช่วยให้โลหิตเดิน
5) หมอผดุงครรภ์แผนโบราณ หรือ หมอตำแย นั่นเอง
6) หมอพยาบาล ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นคนพยาบาลตามวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน
7) หมอเวทมนตร์ ฆราวาสที่รักษาโรคด้วยน้ำมนต์ ด้วยอาคมเสกเป่า ทั้งที่ทำโดยความเชื่อสุจริต และที่ทำหลอกลวงประชาชน
หมอขายยา เภสัชกร หรือผู้ขายยาที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นหมอ หรือเรียกตนเองว่าหมอ
ส่วนหมออีก 3 ประเภทนั้น ขออ้างอิงบทความดังกล่าวที่อธิบายไว้ดังนี้ (สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)
9) หมอพลอยเปน ได้แก่ ผู้ที่เปนบุตร ภรรยา หรือคนใช้ของแพทย์ รับใช้สรอยนิดหน่อย เช่น ช่วยตำยา บดยา พันแผล แล้วก็เลยสมมตตนเป็นแพทย์โดยมิได้เล่าเรียนอไร
แพทย์แผนโบราณมักจะให้ภรรยาไปเยี่ยมไข้แทนตนแล้วเลยกลายเปนเที่ยวรักษา พอสามีตายลงก็เลยรับมรดกล่วมยาไปเที่ยวทำต่อไป พวกนี้ใช้ไม่ได้
ส่วนคนใช้นั้น มักเป็นคนของแพทย์ชาวต่างประเทศ นายเคยใช้สรอยให้ทำการล้างแผลบ้าง ก็เลยวางตนเป็นหมอ พวกนี้อันตรายมากกว่าให้คุณเพราะเขามิได้สอน อไรให้เลย
10) หมอเดา มีขึ้นในชั้นหลังซึ่งอยู่ๆ ไม่รู้จะทำกินอย่างไรก็เลย สมมตตนขึ้นเป็นหมอ พวกนี้กอร์ปด้วยอันตรายเปนอันมาก ช่างไม่คิดถึงชีวิตมนุษย์เลย เชื่อว่าเปนคนรกโลกแท้ที่เดียว
11) หมอลวง มีได้ทุกชนิดที่กล่าวแล้ว คือมีความรู้แสดงอภินิหาร หลอกคนให้เห็นอัศจรรย์เกินการ หรือไม่มีความรู้เลยทำอไรแปลกๆ ขึ้น ลวงประชาชนซึ่งปราศจากเล่าเรียนให้หลงเชื่อ เช่น แพทย์แผนโบราณสำแดงรู้วิธีการแผนปัจจุบันด้วย และทำเปนที่ใช้เครื่องตรวจฟังโดยไม่รู้ว่าอไรเลย และฟังกระทั่งแข้งขาข้อเท้าซึ่งไม่มีอไรจะได้ยิน
ส่วน หมอ แบบใด หรือจากหน่วยงานใด ในปัจจุบันจะเหมือนหรือต่างกับหมอ 11 ประเภทข้างต้นอย่างไร ท่านผู้อ่านโปรดวินิจฉัย
ข้อมูลจาก :
รัชดา โชติพานิช. การแพทย์แผนไทย ใน, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย, แพทยสภาจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม