เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงกรณีพบการระบาดของโรคไอกรน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่าสหรัฐอเมริกาพบการระบาดเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis และสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ดังนั้นหากพื้นใดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากก็จะไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาในพื้นที่ที่การครอบคลุมวัคซีนต่ำ เช่น พื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าว พื้นที่ติดขอบชายแดน บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่พบการระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการระบาดในเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย
แต่ครั้งนี้มีการพบเพิ่มขึ้นคือในวัยรุ่น ที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้วแต่ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้สามารถรับเชื้อได้ และมีอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ ลำคอ แต่อาการจะไม่มาก อย่างกรณีที่พบผู้ป่วยมากขึ้นในตอนนี้ อาจเกิดจากช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่คนไปรับวัคซีนโควิด-19 กันมาก แต่ได้รับวัคซีนพื้นฐานลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ทำให้โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน กลับมาพบมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 นพ.โสภณกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ได้ประกาศปิดเรียนถึง 15 วัน มีความน่ากังวลหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า อันนี้เป็นคนละกรณีกับการระบาดในพื้นที่ชายแดนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย แต่กรณีนี้พบว่าเป็นการติดเชื้อในเด็กโต ที่ได้รับวัคซีนแล้ว เมื่อรับเชื้อมาก็จะมีอาการน้อย เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ แต่เมื่อไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ถึงจะพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคไอกรน ทั้งนี้ การป่วยโรคไอกรนในเด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว มีโอกาสเสียชีวิตต่ำมาก เพียงแต่ยังติดเชื้อ ตรวจเจอเชื้อได้ โดยที่อาการป่วยน้อย
ถามต่อว่าสถานการณ์ระบาดในตอนนี้ ประชาชนจะต้องกังวลหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโรคไอกรนสามารถป้องกันได้เหมือนโรคติดต่อทางเดินหายใจ คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ใช้ของร่วมกัน ถ้ามีอาการป่วยให้รีบแยกตัวออกจากบุคคลอื่น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมตามที่เป็นข่าวนั้น ไม่ได้น่าห่วงมาก แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากพบว่าบุตรหลานมีอาการไม่สบายก็ขอให้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุการป่วยที่ชัดเจน นพ.โสภณกล่าว
13 พฤศจิกายน 2567
มติชน