ผู้เขียน หัวข้อ: คนรุ่นใหม่รวมพลังลดอุบัติเหตุบนท้องถนน สสส.- พม.-สภาเด็กและเยาวชน-ภาคีเครือข่าย  (อ่าน 64 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10109
    • ดูรายละเอียด
เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญ ที่วันหนึ่งจะเติบโตไปเป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศชาติในภายภาคหน้าต่อไปได้ แต่มีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ได้ให้ข้อมูลว่าในปี พ.ศ. 2566 มีเด็กไทยเกิดใหม่เพียง 5.18 แสนคน และมีแนวโน้มเด็กเกิดใหม่แต่ละปีจะลดน้อยลงไปอีก ซึ่งด้วยการเกิดที่น้อยลงกลับถูกซ้ำเติมด้วยอุบัติเหตุทางถนนที่คร่าชีวิตเด็กและหนุ่มสาวไปปีละหลักหมื่นคน หมายความว่าในเด็กเกิดใหม่ 100 คน จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุโดยประมาณ 2-3 คน

จากข้อมูลโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาจนำมาซึ่งผลกระทบในการพัฒนาประเทศหลาย ๆ ด้าน เพราะไม่เพียงแต่การเกิดที่ลดน้อยลง แต่จำนวนประชากรกลับลดลงไปอีกจากปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทั้งนี้สถิติจากองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ยังพบอีกว่า ร้อยละ 20 เปอร์เซ็นของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน คือเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,498 คน เฉพาะเยาวชนอายุ 15-24 ปี พบเกิดอุบัติเหตุทางถนน 181,922 คน เสียชีวิต 3,004 คน ดังนั้นการทำให้เด็กและเยาวชนรวมถึงคนหนุ่มสาวไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกัน

ด้วยเหตุนี้เองสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จึงได้เปิดตัวโครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” (YOURS Empowerment through CYCT) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน ในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยลดความสูญเสียในเด็กและเยาวชนที่จะเกิดในอนาคต โดยนำร่องแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สระแก้ว ศรีสะเกษ หนองคาย น่าน ตาก และนครศรีธรรมราช

เปิดตัว โครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย”
สร้างเวทีดึงพลังเด็ก-เยาวชน เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ได้เผยถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ “เสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” ว่า การดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดนโยบายและแนวทางปฏิบัติงานที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ผ่านเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนผลักดันให้เรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของเยาวชนที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนในการแก้ไขปัญหา
“ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เกิดโครงการเด็กและเสริมพลังเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย เรามีการสูญเสียทางด้านชีวิตปีละเกือบ 20,000 คน สูญเสียทางด้านเศรษฐกิจปีละราวกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง”

“โดยโครงการฯ มีเป้าการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ คือ มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดข้อสั่งการและแนวปฏิบัติ เพื่อเอื้อให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในด้านความปลอดภัยทางท้องถนน รวมถึงพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างเสียงสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหา”

“เด็กและเยาวชนไทยถือเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญมากในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาทุกภาคฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เห็นความสำคัญในการดึงเด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ-จราจรในภาพรวม ดังนั้นจึงมีมติให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการด้านความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชนทุกจังหวัด ตรงนี้จะเป็นเวทีที่จะทำให้เด็กและเยาวชน สามารถเข้ามาผลักดัน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้” นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ กล่าว

พบเด็ก-เยาวชน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย
สสส.จับมือภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. ได้กล่าวถึงบทบาทของสสส.และการสนับสนุนโครงการเสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ว่า สสส. มีความตั้งใจทำงานร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด จากความเชื่อมั่นว่าสภาเด็กและเยาวชนจะเป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับเรื่องปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนนที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน ซึ่ง สสส. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาโดยตลอด และมองว่าความปลอดภัยทางถนนเป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย

“สสส. เราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุทางถนน เพราะเราอยากให้คนไทยมีอายุยืนยาว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 170,000 คน และช่วงอายุ 5-14 ปี, 15-29 ปี และ 30-44 ปี มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูง”

“จากสถานการณ์ตรงนี้ สสส. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย และสภาเด็กและเยาวชนทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สระแก้ว ศรีสะเกษ หนองคาย น่าน ตาก และนครศรีธรรมราช ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนน โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานทั้งระดับนโยบาย และระดับพื้นที่ ในการสะท้อนข้อมูลปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน โดยร่วมคิดวางแผน สื่อสารความเสี่ยง แก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยง และเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อลดความสูญเสียในเด็กและเยาวชน”

ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน
สร้างเกราะป้องกันให้เด็กมี Safety Mindset

ด้านนายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงพม. รวมถึงแนวทางในการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กและเยาวชนว่าเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงพม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน คือการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาเด็ก และเยาวชนทุกระดับในทุกจังหวัด ตั้งแต่สภาเด็กและเยาวชนตำบล/เทศบาล สภาเด็กและเยาวชนอำเภอ สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด สภาเด็กและเยาวชนเขต(กรุงเทพมหานคร) สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
“ภารกิจของทางกระทรวงพม. คือเรามีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับในทุกจังหวัด เพราะเด็กและเยาวชนเป็นหัวใจหลักที่เราให้ความสำคัญ โดยสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ มีสมาชิกอยู่กว่า 8,778 แห่ง มีสมาชิกมากกว่า 1 แสนคน”

“ส่วนในประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางถนน พม. จะส่งเสริมเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เด็กได้รับทราบความปลอดภัยของตัวเขาเอง ทั้งนี้ผมมีกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) หรือกองทุนเลขสวยที่สนับสนุนเด็กและเยาวชนในโครงการฯ นี้ด้วย”

“โดยเราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากภาคีหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาเด็กและเยาวชนจังหวัด แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ที่จะมาช่วยสร้างพลังให้เด็กสามารถที่จะประเมินความเสี่ยง เราได้หนุนเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน สะท้อนถึงปัญหาที่พบและร่วมแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงต้องการพลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกัน”

นายนิกร จำนง ยังได้กล่าวถึงมุมมองการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เด็กและเยาวชนอีกว่า“ผมมองว่าการสนับสนุนสภาพแวดล้อ มที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก คือ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็ก โดยปลูกฝังมาจากภายในตัวเขา ให้เด็กมี Safety Mindset หรือ กรอบคิดด้านความปลอดภัย เราต้องช่วยกันสร้างให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้และสามารถดูแลตัวเอง ดูแลคนในครอบครัว ดูแลเพื่อน ๆ ในโรงเรียน
รวมไปถึงดูแลชุมชน ดูแลจังหวัด และดูแลประเทศที่เขาอยู่ได้”

เสียงสะท้อนมุมมองจากเด็กและเยาวชน
ผลสำรวจพบว่า เด็ก-เยาวชน มองอุบัติเหตุเป็นเรื่องใกล้ตัว
กว่า 90% อยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน

นายสุธี ชุดชา รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยได้เผยข้อมูลจากการสำรวจมุมมองของเด็กและเยาวชน พบว่าเด็กส่วนใหญ่เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องใกล้ตัว โดย 88% มองว่าอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากความประมาท นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจเรื่องการการเคยพบเห็นอุบัติเหตุขณะเดินทางหรือไม่ ซึ่งกว่า 80% เคยพบเห็น และมีคนในครอบครัวหรือเพื่อนเคยเกิดอุบัติเหตุถึง 85% รวมถึงตัวเองเคยเกิดอุบัติเหตุกว่า 59% ทั้งนี้กว่า 93% ระบุว่า อยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกัน-ลดอุบัติเหตุทางถนน

“จากผลสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มองว่าอุบัติเหตุนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก ซึ่งตัวผมเองก็มองว่าเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากเช่นกัน เพราะอุบัติเหตุไม่สามารถบอกช่วงเวลาหรือบอกความเสียหายได้เลย และนอกจากจะใกล้ตัวแล้ว ยังทำให้เราสูญเสียมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กับตัวเองแต่อาจสูญเสียไปถึงคนที่เรารักได้”

“สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ผมมองว่าสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยไม่ได้ขับเคลื่อนเพียงลำพัง แต่เรายังมีสภาเด็กและเยาวชนรวม 8,778 แห่ง โดยสภาเด็กและเยาวชนจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แก้ไขปัญหาร่วมกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ประเด็นอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เราพยายามให้น้อง ๆ ช่วยกันขับเคลื่อนและเข้ามามีส่วนร่วม”

“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” เชื่อมั่นศักยภาพคนรุ่นใหม่ จะสร้างเสียงสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน จากระดับพื้นที่ไปสู่ระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติต่อไปได้

“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” เป็นสโลแกนที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน โดยนายสุธี กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้เด็กคิดสร้างสรรค์แนวทางที่อยากทำ ให้เด็กได้เป็นแกนนำที่จะขับเคลื่อนในสิ่งที่คิด ทำในสิ่งที่ต้องการ โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่ให้การสนับสนุน ให้ไอเดียหรือมุมมองแนวคิดของเด็ก ๆ ได้เกิดขึ้นจริง ที่ผ่านมาก็ได้ภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมสนับสนุน

เมื่อถามถึงความคาดหวังและผลลัพธ์ที่อยากให้เกิดขึ้น รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า ในนามสภาเด็กและเยาวชน ตนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและพลังของเครือข่ายสภาเด็กฯ ว่าจะสามารถร่วมพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่ ๆ ในการส่งเสริมความปลอดภัยให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้

“หลังจากนี้ก็จะมีจัดกิจกรรม จัดเวิร์คช้อปในพื้นที่ ให้น้อง ๆ ได้ตกผลึกว่าเขาอยากรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนในรูปแบบไหนอาจจะเป็นสื่อคลิปสั้น หรือการรณรงค์แคมเปญ เราก็จะพัฒนาโมเดล เหมือนเป็นสารตั้งต้นหนึ่งที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เป็นแกนนำและใช้บทบาทแกนนำในการทำงานในพื้นที่ เพื่อต่อยอดโครงการต่อไป ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ใน 8 จังหวัดนำร่อง โดยจะขับเคลื่อน วัดผล ยกระดับและขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงไปยังเวทีนานาชาติต่อไป”

สสส. หวังว่าโครงการฯ จะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจ
รวมถึงสร้างแกนนำคนรุ่นใหม่ เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน

สสส. หนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมา สสส. มีขอบเขตการดำเนินงานเรื่องการลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนมาโดยตลอด โดยการทำงานได้แก่ 1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนและเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย 2. สร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ยกตัวอย่างเช่น ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ป้องกันกลุ่มเสี่ยง อาทิ เด็กและเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว ค้นหาแนวทางกลยุทธ์การทำงาน/ นวัตกรรม เทคโนโลยี และดิจิทัลที่ส่งผลต่อการลดอุบัติเหตุทางถนน เป็นต้น

สสส. และภาคีเครือข่ายมีความมุ่งหวังอยากให้เกิด ..

1. เครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นแบบที่จะเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนงานด้านประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ เกิดการพูดหรือสะท้อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่และทำให้สังคมให้ความสำคัญและตระหนักมากขึ้น
2. เด็กและเยาวชนที่สามารถเป็นนักสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ (Policy Maker) ในประเด็นความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ที่สามารถผลักดันให้เกิดข้อสั่งการเพื่อแก้ไขสภาพแวดล้อมเสี่ยงหน้าโรงเรียนหรือชุมชน
3. เด็กและเยาวชนสามารถเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยทางถนนได้อย่างต่อเนื่องให้กับประเทศในรุ่นต่อไป



“โดย Step ต่อไป สสส. จะให้การสนับสนุนขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนด้านเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัยจากส่วนกลางสู่หน่วยงานท้องถิ่น เพิ่มทักษะความรู้ด้านการวิเคราะห์และสวบสวนการเกิดอุบัติเหตุ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย มีการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน มีการปลูกฝังการสร้างวินัยให้เด็กเล็ก และความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนส่งผ่านไปยังผู้ใหญ่ผู้ปกครอง เพราะมองว่าถ้าเด็กถูกปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ดี เด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันและสามารถปกป้องตนเองได้ ตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจคือการสวมหมวกนิรภัยในเด็กและเยาวชนมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจาก 7% เป็น 16% แสดงถึงว่ากระบวนการทำงานของหลาย ๆ เครือข่าย เริ่มมีเสียงตอบรับที่ดี”

“นอกจากนี้ สสส. ยังพัฒนาศักยภาพเยาวชน Gen Z ในสถานศึกษาให้มีความรู้และตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทำหน้าที่เป็นเยาวชนต้นแบบ พัฒนาความร่วมมือจังหวัดต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างแกนนำในบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น”

“สสส. คาดหวังว่าโครงการเสริมพลังเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยทางถนน ผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จะทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าใจถึงปัญหาการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะจะมีส่วนสำคัญในการสร้างการรณรงค์ สื่อสารตรงกับช่วงวัยของเขา และสามารถทำให้ในจังหวัดวิเคราะห์ข้อมูลได้ว่าปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่ที่พฤติกรรม นิสัย หรือสภาพแวดล้อม เด็กจะส่งเสียงสะท้อนออกมาได้ว่าในตำบล ในอำเภอ หรือในจังหวัดที่เขาอยู่นั้นได้ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนให้กับเขาอย่างไรบ้าง สำคัญที่สุด เด็กและเยาวชนต้องปลอดภัยทุกครั้งที่เดินทาง” นพ.พงศ์เทพ กล่าวทิ้งท้าย

5 พ.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์