จากกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลรัฐ ในสังกัดกรมการแพทย์ (ย่านสาทร) แอบลักลอบขโมยรกเด็กและสายสะดือจากทารกหลังคลอด (ซึ่งต้องเป็นเลือดกรุ๊ปโอเท่านั้น) นำออกมาขาย ให้กับคลินิกเทคนิคการแพทย์แห่งหนึ่ง (ย่านจตุจักร) โดยคลินิกฯ แห่งนี้ ได้นำรกเด็กมาสกัดโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ส่วนสายสะดือนำมาสกัดเป็นสเต็มเซลล์ และจำหน่ายให้แก่คลินิกความงามและโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 100 แห่ง
ล่าสุด นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผอ.รพ.เลิดสิน รับมอบหมายจากกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ว่า ทางโรงพยาบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพยาบาลวิชาชีพท่านดังกล่าว เบื้องต้นทราบข้อมูลว่า พยาบาลวิชาชีพของโรงพยาบาล 1 ท่าน รับสารภาพว่า ได้นำรกเด็ก (ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อที่ทิ้งแล้ว) ออกไปจากโรงพยาบาล เนื่องจาก มีคนขอมาเป็นครั้งคราว เฉลี่ยประมาณปีละ 6-7 ชิ้น ส่วนประเด็นที่ว่า มีการนำรกไปทำอะไรต่อ ทางพยาบาลวิชาชีพท่านนี้ ไม่ให้คำตอบ และแจ้งว่า ไม่ทราบว่าผู้รับ นำไปทำอะไร"
ไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ ทนายสงกานต์ อัจฉริยทรัพย์ ถึงที่มาที่ไปในการพาผู้เสียหายมาร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 และพาไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจทำการสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ สน.พหลโยธิน กรณีบริษัทดังกล่าวลักลอบซื้อขายสายสะดือและรกเด็กจากพยาบาลวิชาชีพ และในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษระบุว่า บริษัทแห่งนี้ลักลอบผลิตสเต็มเซลล์ผิดกฎหมาย โดยขณะนี้ คดีอยู่ในกระบวนการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
จากการสัมภาษณ์ ทนายสงกานต์ ระบุว่า ผู้เสียหาย (กุ๊กไก่นามสมมุติ) ได้เข้ามาร้องทุกข์กับทนาย เล่าว่า ตนเองถูกนายจ้างกลั่นแกล้งหลังลาออกจากบริษัทแห่งหนึ่ง เนื่องจากนายจ้างกลัวว่า เธอจะนำความลับของบริษัทไปเปิดเผย
เราก็ถามว่า เปิดเผยเรื่องอะไร เขาก็บอกว่า ตัวของนายจ้างทำเกี่ยวกับเรื่องสเต็มเซลล์ คือนายจ้างได้ไปทำคอนแทคกับนางพยาบาลโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ที่เมื่อแม่เด็ก (เลือดกรุ๊ปโอ) คลอด พยาบาลก็จะเอาไปรกกับสายสะดือมาส่งที่บริษัทแห่งนี้ วิธีการส่งคือ พยาบาลจะห่อรกและสายสะดือใส่ถุง แล้วก็ส่งแมสเซนเจอร์มาที่บริษัท เพื่อเอามาผลิตสเต็มเซลล์ที่บริษัท
กุ๊กไก่ก็เล่าให้ฟังว่า แม่ยายของเจ้าของธุรกิจนี้ นามสกุลใหญ่ ใครๆ ก็รู้จักแน่ อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เป็นที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และภรรยาเจ้าของธุรกิจเป็นผู้พิพากษาด้วย กุ๊กไก่ก็กลัว เครียด จะฆ่าตัวตาย ทนายสงกานต์กล่าว
จากคำกล่าวอ้างของทนายสงกานต์ กรณีที่ว่า เจ้าของคลินิกมีแม่ยายเป็นถึงคนใหญ่คนโตในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ทีมข่าวจึงได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์และเพจของเว็บไซต์ของคลินิกดังกล่าว โดยได้รับการเปิดเผยและยืนยันชื่อของบริษัทและคลินิกแห่งนี้จาก พ.ต.ท.นพดล ดรศรีจันทร์ รองผู้กำกับการสอบสวน สน. พหลโยธิน พบข้อมูลดังนี้
บริษัทและคลินิกเทคนิคการแพทย์ดังกล่าว มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจนามสกุลเดียวกับอดีตข้าราชการระดับสูง โดยในเว็บไซต์ของบริษัทและคลินิก ได้อ้างโปรไฟล์นักเทคนิคการแพทย์หัวหน้าห้องแล็บ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้
เป็นที่ปรึกษาประจำกระทรวงสาธารณสุข
เป็นคณะกรรมการด้านการทดสอบและการสอบเทียบในห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เป็นคณะกรรมการด้านมาตรฐานคุณภาพ (ISO) ประจำกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เป็นผู้อำนวยการประจำสำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผู้อำนวยการประจำสำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับ 11 และ นักภูมิคุ้มกันวิทยา
เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทและคลินิก)
ไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงไปหา ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข (เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567) เพื่อสอบถามข้อมูลว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องที่เว็บไซต์ของคลินิกดังกล่าวอ้างว่า ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นถึงที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่
ธนกฤต ตอบว่า ยัง
ทั้งนี้ ธนกฤตได้เสริมว่า ถ้าหากมีข้อสงสัยก็ส่งมาให้กระทรวงฯ ตรวจสอบได้ ไม่มีปัญหาอะไร
จากการสืบค้นชื่อของนักเทคนิคการแพทย์หัวหน้าห้องแล็บ ที่อ้างตนว่าเป็นที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข พบว่า สามีของเธอเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและการเมืองในหลายบทบาท เช่น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อดีตกรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, อดีตรองอัยการสูงสุด, อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ทีมข่าวยังพบว่า ในเว็บไซต์ของคลินิกดังกล่าวได้มีการโฆษณาและประกาศขายสเต็มเซลล์จากสายสะดือและสารสกัดจากรกเด็กอย่างโจ่งแจ้ง
ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการยืนยันจาก นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว พบว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. โดยทำ อย. ได้ส่งเรื่องไปให้ทางตำรวจเพื่อรวบรวมสำนวนต่อไป
กรณีนี้ เราไปตรวจแล้วพบว่า มันเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. เราก็กล่าวโทษ ซึ่งเป็นโทษที่จะต้องจำคุก เราก็ทำเรื่องส่งให้กับตำรวจ บก.ปคบ. ไปแล้ว เพื่อให้ตำรวจก็เป็นคนรวบรวมสำนวนต่อ นพ.สุรโชค กล่าว
ข้อมูลจากกลุ่มตรวจสอบและปราบปราม การกระทำความผิดทางโซเชียล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบยาซึ่งมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นจำนวนมาก และมีการทำผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายกระทำความผิดดังนี้
ข้อหาผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตามมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ข้อหาผลิต หรือขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตามมาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 122
นอกจากนี้ ยังพบว่าคลินิกดังกล่าว มีการโฆษณาสถานพยาบาลที่มีข้อความหรือภาพที่โอ้อวดเกินความจริง หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากข้อมูลที่นำเสนอมา ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ไปทางเจ้าของคลินิกดังกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ที่พาดพิง แต่ทางคลินิกแจ้งว่า เจ้าของคลินิก ไม่สะดวกให้สัมภาษณ์
กรณีมีความคืบหน้า หรือมีข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จะรายงานต่อไป
อย. ยัน สเต็มคลินิกฉาว ไม่ขึ้นทะเบียน อย.
เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ของบริษัทและคลินิกที่โฆษณาอยู่ในเว็บไซต์ พบว่า ผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์จาก สายสะดือ และผลิตภัณฑ์จาก รกเด็ก ดังนี้
สเต็มเซลล์จากสายสะดือ
เนื้อหาในเอกสารของบริษัทระบุว่า ผลิตภัณฑ์สเต็มเซลล์สายสะดือ มีวิธีการใช้คือ นำไปฉีดในจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น ฉีดเข้าผิวหนัง ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และฉีดที่ข้อเข่าหรือไขข้อต่างๆ ในปริมาณที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมายการใช้งาน และมีการอวดอ้างสรรพคุณหลายประการ ดังภาพ
(ข้อมูลผลิตภัณฑ์ สเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็ก ในเอกสารของบริษัท และเว็บไซต์ของคลินิก)
โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) จากรกเด็ก
ผลิตภัณฑ์ความงามจากรกเด็กของบริษัทแห่งนี้มีหลายตัว และนำไปใช้อย่างหลากหลายรูปแบบ โดยบริษัทแห่งนี้โฆษณา ผลิตภัณฑ์นี้สกัดมาจาก รกเด็ก (Placenta) อย่างโจ่งแจ้ง และอวดอ้างคุณสมบัติที่ช่วยเรื่องผิวพรรณและร่างกายมากมายอาทิ ดังภาพ
(ข้อมูลผลิตภัณฑ์ สเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็ก ในเอกสารของบริษัทและเว็บไซต์ของคลินิก)
(รายงานผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากรกเด็ก พร้อมลายเซ็นของหัวหน้าห้องแล็บที่อ้างตัวว่าเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กระทรวงสาธารณสุข และเกี่ยวข้องกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
ข้อมูลหน้าเว็บไซต์ของคลินิกดังกล่าว พบว่ายังปรากฏการโฆษณาผลิตภัณฑ์จาก รกเด็ก หลายชนิด ดังนี้
ผลิตภัณฑ์ความงามจากรกเด็ก มีอยู่ 2 รูปแบบ คือชนิดน้ำ (ฉีด) และชนิดผง
ผลิตภัณฑ์ความงามจากรกเด็ก มีอยู่ 6 แบบด้วยกัน แตกต่างกันที่ความเข้มข้นของโกรทแฟคเตอร์ โดยเริ่มต้นที่ 20 pg/mL.- 200 pg/mL. และอวดอ้างสรรพคุณด้านความงามและผิวพรรณหลายประการ
(ข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่สกัดจาก รกเด็ก ในเอกสารของบริษัท และเว็บไซต์ของคลินิก)
ผลิตภัณฑ์จากรกเด็ก เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน
ผลิตภัณฑ์นี้ หน้าเว็บไซต์ขายอยู่ในราคา 9,900 บาท โดยอวดอ้างสรรพคุณว่า เป็นสารสกัดจาก รกมนุษย์ (Human Placenta Extract) และอ้างว่า มีประโยชน์ด้านการปรับสมดุลฮอร์โมนและประโยชน์ด้านสุขภาพหลายประการ
ผลิตภัณฑ์จากรกเด็กเพื่อบำรุงเส้นผม
ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นแบบฉีดเข้าหนังศีรษะ โดยหน้าเว็บลงขายอยู่ที่ราคา 9,000 บาท อ้างว่า สกัดมาจาก รกบริสุทธิ์ เช่นกัน
จากการสืบค้นพบว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ เคยขึ้นทะเบียน อย. แต่ปัจจุบันพบว่า สถานะใบรับจดแจ้งได้ สิ้นอายุแล้ว
ผลิตภัณฑ์เอ็กโซโซม (Exosome)
บริษัทแห่งนี้ได้ออกผลิตภัณฑ์ที่สกัดจาก ถุงน้ำนอกเซลล์ต้นกำเนิด โดยตั้งราคาขายหน้าเว็บอยู่ที่ 19,900 บาท อวดอ้างสรรพคุณด้านผิวหน้ามากมาย
จากเอกสารของบริษัท พบว่า แล็บแห่งนี้ได้นำ น้ำเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งปัจจุบัน ไม่พบสินค้าตัวนี้อยู่ในหน้าเว็บไซต์แล้ว
ย้ำอีกครั้ง นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ไม่ได้ขึ้นทะเบียน อย. โดยทาง อย. ได้ส่งเรื่องไปให้ทางตำรวจเพื่อรวบรวมสำนวนต่อไป
ผลิตภัณฑ์รกเด็ก สายสะดือ ผิดกฎหมายอื้อ!
กรณีดังกล่าว สอดคล้องกับ นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผอ.รพ.เลิดสิน ที่ได้ให้ข้อมูลกับไทยรัฐออนไลน์ว่า จากการสอบสวนโดยคณะกรรมการสอบสวน ระบุว่า นางพยาบาลวิชาชีพคนดังกล่าว ได้เก็บรกและสายสะดือ ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อที่ ทิ้งแล้ว โดยการเก็บในลักษณะนี้ ไม่สามารถนำไปทำเป็นสเต็มเซลล์ได้แน่นอน
นอกจากนี้ สถาบันโรคผิวหนัง ยังได้ให้ความรู้ทางกฎหมายไว้ว่า การนำรกหรือสายสะดือมาสกัดเพื่อฉีดหน้าใสหรือชะลอแก่ ไม่ถือเป็นข้อบ่งชี้ ในการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ. 2565 และอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 ซึ่งได้วางหลักมิให้โฆษณาหรือโอ้อวดเกินความจริงในกิจการของสถานพยาบาล ต้องระวางโทษ
นอกจากนี้ หากมีการอ้างตนว่ามีความรู้ความชำนาญด้านสเต็มเซลล์โดยแพทย์ ซึ่งยังมิได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญตามที่แพทยสภารับรอง ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2552 อีกด้วย
กล่าวคือ การนำสเต็มเซลล์มาฉีดหรือการโฆษณา โดยฝ่าฝืนข้อบ่งชี้ย่อมมีความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข, พ.ร.บ. สถานพยาบาลและผิดมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพของแพทยสภา (อ้างอิงจาก ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ.2552)
สำหรับการนำรกหรือสายสะดือสกัดมาทำผลิตภัณฑ์ขายนั้น เนื่องจากสเต็มเซลล์จัดเป็นผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หากมีการผลิตและจำหน่ายต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์สกัดจากรกหรือสายสะดือที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อฉีดหน้าใสหรือชะลอวัย
ไขข้อข้องใจเรื่องสเต็มเซลล์ ดีจริงไหม!
นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผอ.รพ.เลิดสิน ได้มอบหมายให้สถาบันโรคผิวหนัง จัดทำข้อมูลความรู้เรื่องสเต็มเซลล์ เพื่อไขข้อข้องใจให้ประชาชน ที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และได้รับผลกระทบจากการโฆษณาไว้ ดังนี้
สเต็มเซลล์คืออะไร
สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ต้นกำเนิด มีความสามารถในการเป็นเซลล์ที่มีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆในร่างกายได้ ทำให้มีประโยชน์มากมายในทางการแพทย์และการวิจัย ด้วยคุณสมบัตินี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจสเต็มเซลล์ในการรักษาโรค
แต่อย่างไรก็ดี การวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ยังอยู่ใน ขั้นตอนเริ่มต้น และยังมีประเด็นทางจริยธรรมและกฎหมายที่ต้องพิจารณา นอกจากนี้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์อาจมีความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อ การปฏิเสธเซลล์ หรือการเกิดเนื้องอก และยังมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งแม้ว่าสเต็มเซลล์จะมีศักยภาพในการรักษาโรคต่างๆ ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและความเสี่ยงบางประการที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
สเต็มเซลล์ ใช้อย่างไรในทางการแพทย์
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ. ๒๕๖๕ ข้อที่ 4 ได้กำหนดการบริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ไว้ดังนี้
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในการรักษาโรคโลหิตวิทยา ตามที่แพทยสภารับรองหรือกำหนด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma), โรคโลหิตจางชนิด aplastic anemia, มะเร็งไขกระดูกชนิด multiple myeloma, ธาลัสซีเมีย, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด (primary immunodeficiency) และมะเร็งเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ
การใช้เซลล์ทางการแพทย์ตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือการรับรอง ตามที่แพทยสภาหรือทันตแพทยสภากำหนด
กล่าวได้ว่า ปัจจุบันมีโรคเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น ที่แพทยสภาอนุญาตให้นำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ในการรักษา ได้แก่ โรคทางโลหิตวิทยา และโรคทางกระจกตาและผิวดวงตา
สเต็มเซลล์รกและสายสะดือเด็ก ดีจริงไหม?
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า การนำ รกเด็ก มาสกัดเป็นโกรทแฟคเตอร์เพื่อฉีดหน้าใสนั้น มีงานวิจัยรองรับหรือไม่ และผิดกฎหมายอย่างไร
ทางสถาบันโรคผิวหนัง ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยเชิงประจักษ์ (ทั้งในระดับ controlled trial หรือ systematic review) ในการฉีดผิวหน้าเพื่อหวังผลให้หน้ากระจ่างใสหรือใช้รักษาโรคทางผิวหนังได้
รวมถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการรับรองจาก อย. ในการใช้สเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็กในการใช้เป็นสารฉีดเพื่อความงาม เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ เช่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัสเฉพาะที่ติดต่อทางระบบเลือด, เชื้อวัณโรคเทียม, ผื่นผิวหนังอักเสบ, ผื่นแพ้ผิวหนัง, มีรายงานอาจทำให้เกิดเส้นเลือดอักเสบใต้ผิวหนังได้จากสารสกัด, อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ผิวหนังในระยะยาวได้ ฯลฯ
สเต็มเซลล์รกและสายสะดือเด็ก ผิดกฎหมายอะไรบ้าง
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังไม่รับรองการใช้โกรทแฟคเตอร์หรือสเต็มเซลล์จากสายสะดือสำหรับการฉีดเข้าผิวหนัง การใช้สารที่ไม่ผ่านการรับรองขึ้นทะเบียน และการใช้ยาหรือเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงตามมา โดยจะเข้าข่ายตามความผิด ดังนี้
พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ฝ่าฝืนมาตรา 72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความสื่อถึงการนำไปฉีดเข้าสู่ผิวหนัง เข้าข่ายเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือขาย ฝ่าฝืน ม.6(1) ประกอบ ม.27(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.32 (3) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขายเครื่องสำอางที่ฉลากแสดงข้อความอันเป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ฝ่าฝืน ม.32 (4) ประกอบ ม.22 วรรคสอง (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
8 พย 2567
ไทยรัฐ