ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เพิ่ม‘สมุนไพร’ในบัญชียาหลักฯรวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช.ตามบริการที่กำหนด  (อ่าน 60 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10108
    • ดูรายละเอียด
วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นำประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 10/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.และผู้บริหาร สธ. เข้าร่วม

โดยก่อนการประชุมได้มีพิธีมอบโล่รางวัลแบบอย่างการดำเนินงานที่ดีด้านโรคไม่ติดต่อปี 2567 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัล NCD Clinic Plus Awards ผลงานดีเด่นระดับประเทศ ปี 2567 ประเภทโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลขนาดกลาง และโรงพยาบาลขนาดเล็ก รวม 9 รางวัล 2.รางวัลรูปแบบบริการ (Service Model) เชิงนวัตกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 3 รางวัล และ 3.รางวัลผลงานคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่เป็นผลงานดีเด่นระดับประเทศ ด้านการป้องกันควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 4 รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในระบบ มีเพียงร้อยละ 2.21 และพบปัญหาการเบิกจ่ายยาสมุนไพรในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขาดทุน ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบสนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพและทิศทางการขับเคลื่อนสมุนไพรในระดับประเทศ “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไป หาหมอ” ได้แก่
1.เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติทุกรายการ รวม 106 รายการ เบิกจ่ายจาก สปสช. แบบการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนด (Fee Schedule) และ
2.ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ในผู้ป่วย 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยตั้งเป้าปี 2568 เพิ่มมูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพร เป็น 1,500 ล้านบาท และ 3,000 ล้านบาท ในปี 2569

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า สำหรับ 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่
-กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ,
-ไข้หวัด/โควิด-19,
-ท้องอืด ท้องเฟ้อ,
-ท้องผูก/ริดสีดวงทวารหนัก,
-วิงเวียน/คลื่นไส้ อาเจียน,
-ชาจากอัมพฤกษ์-อัมพาต,
-ผิวหนัง/แผล,
-นอนไม่หลับ,
-ท้องเสีย (ไม่ติดเชื้อ) และ
-เบื่ออาหาร

ส่วนยาสมุนไพร 32 รายการ ได้แก่ ยาไพล (ครีม), เถาวัลย์เปรียง/สารสกัด/ยาสารสกัด เถาวัลย์เปรียงสูตรตำรับ 1 และสูตรตำรับ 2, ยาประคบ, ยาสหัศธารา, ยาปราบชมพูทวีป, ยาฟ้าทะลายโจร/สารสกัด, ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม สูตรตำรับ 1 และสูตรตำรับ 2, ประสะมะแว้ง, ยาธาตุอบเชย, ยาขมิ้นชัน, ยามะขามแขก,ยาผสมเพชรสังฆาต สูตร 1 และ สูตร 2, ยาขิง, ยาหอมนวโกศ, ยาว่านหางจระเข้, ยาเปลือกมังคุด, ยาพญายอ, ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาทำลายพระสุเมรุ, ยาศุขไสยาศน์, ยาน้ำมันกัญชา (THC) 2.0 mg/ml, ยาน้ำมันกัญชาทั้งห้า, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC มากกว่าหรือเท่ากับ 20:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา CBD:THC ในอัตราส่วน 1:1, ยาน้ำมันสารสกัดกัญชา (THC) ไม่เกิน 0.5 mg/drop /ไม่เกิน 3 mg/drop, ยาหอมเทพจิตร, ยากล้วย, ยาเหลืองปิดสมุทร, มะระขี้นก, ยาพริก และ ยาเขียวหอม

“ส่วนความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้จัดส่งข้อมูลการขอจัดตั้งกองทุนฯที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้กรมบัญชีกลางแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ พร้อมจัดทำกฎหมายลำดับรอง 27 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2567 ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา” นายสมศักดิ์ กล่าว

6 พฤศจิกายน 2567
มติชน