ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.เร่งแก้ปมคลินิกไม่ส่งต่อ ‘ผู้ป่วยบัตรทอง’ ใน กทม. เล็งใช้มาตรการทาง กม.  (อ่าน 61 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10108
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการ สปสช. และ นายประเทือง เผ่าดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. นำคณะผู้บริหาร สปสช.ที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริการงานทะเบียน เป็นต้น ลงตรวจเยี่ยมฝ่ายบริหารงาน Contact Center เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ของประชาชนในพื้นที่เขต 13 กรุงเทพมหานคร ในกรณีใบส่งตัว

นพ.จเด็จกล่าวว่า ไปรับฟังปัญหาของคนหน้างาน สายด่วน สปสช.1330 ในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานโรงพยาบาลในกรณีที่ต้องส่งต่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งปัญหาที่พบ มีทั้งกรณีการอออกใบส่งตัวของคลินิกที่มีการออกหลักเกณฑ์ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขอใบส่งตัว อาทิ ต้องขอใบส่งตัวล่วงหน้า 1 เดือน หรือต้องขอก่อน 7 วัน การจำกัดระยะเวลาของการส่งตัว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายเดินทางเพิ่ม และมีผู้ป่วยหลายรายที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามนัดโดยจ่ายเงินเอง ทั้งที่เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการส่งต่อและใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่คลินิกยืนยันจะให้การรักษาผู้ป่วยเองทั้งที่เกินศักยภาพบริการทั้งเป็นโรคที่ต้องส่งตัวผู้ป่วย และการจำกัดการจ่ายยารักษาให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียง 7 วัน เป็นต้น

“ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลรับส่งต่อนั้น พบว่า ตามแนวทางการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในกรุงเทพฯ ของ สปสช. ที่กำหนดให้สายด่วน สปสช.1330 เป็นหน่วยที่ออกใบส่งตัวให้กับผู้ป่วยนั้น ปรากฏว่าเมื่อผู้ป่วยไปรับบริการยังมีโรงพยาบาลทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ปฏิเสธการส่งตัวผู้ป่วยอยู่ แม้ว่าทางสายด่วน สปสช.1330 จะได้มีการติดต่อประสานเพิ่มเติมไปแล้วหลายครั้งก็ตาม” นพ.จเด็จกล่าว และว่า จากปัญหาที่รับฟังนี้ มองว่ายังเป็นปัญหาที่ สปสช. สามารถจัดการได้ และมั่นใจ โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2568 ที่งบประมาณเพียงพอแน่นอน ซึ่ง สปสช. ได้จัดสรรงบไปที่คลินิกในอัตรา 79 บาทต่อประชากรต่อเดือน เมื่อคำนวณกับจำนวนประชากรอย่างน้อย 1 หมื่นคน คลินิกได้รับงบดำเนินการอย่างน้อย 8 แสนบาทต่อเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายค่าแพทย์ พยาบาล ค่ายาและอื่นๆ โดยรวมถึงค่าส่งต่อผู้ป่วยที่ 800 บาทต่อคนต่อครั้ง ซึ่งใช้ข้อมูลการจ่ายค่าส่งต่อผู้ป่วยที่สูงสูดอยู่ที่ 400,000 บาทต่อเดือน ก็ยังมีกำไร และเมื่อรวมกับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คลินิกก็จะมีรายได้เพิ่มเติมอีก ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมจะขอขยายรับประชากรสิทธิบัตรเพิ่มเติม เพราะมองแล้วว่าไม่ขาดทุน

เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีระบบสุขภาพมีความซับซ้อน และมีสายร้องทุกข์ร้องเรียนปัญหาการบริการสูงร้อยละ 80 ของสายที่เข้ามาทั้งหมด สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เบื้องต้นจะมีการพูดคุยกับคลินิก

“หากคลินิกไหนที่ยังเป็นปัญหาในการดูแลผู้ป่วย อาจต้องมีทีมเข้าไปแก้เป็นรายกรณี และ สปสช.ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปจัดการด้วย เพราะการที่ไม่ให้บริการ หรือไม่อำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และรวมถึงคลินิกที่ติดป้ายดำทวงเงิน ก็จะจัดการด้วยเช่นกัน เพราะ สปสช. ไม่ได้ค้างเงินคลินิก ขณะที่ในส่วนของโรงพยาบาล หากแห่งไหนที่ติดขัดไม่รับส่งต่อผู้ป่วย ก็จะให้ผู้บริหาร สปสช. พร้อมทีมไปเจราจา ขอย้ำว่า ผู้ป่วยที่สายด่วน สปสช. 1330 ส่งต่อไปนั้น ไม่ได้เป็นการส่งผู้ป่วยไปเพื่อขอรับบริการฟรี แต่ สปสช.มีเงินที่จะตามจ่ายค่ารักษาให้ โดยเป็นการเบิกจ่ายจากคลินิกต้นสังกัด จำนวน 800 บาท ส่วนที่เกินจากนั้น ให้เป็นการเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้” นพ.จเด็จกล่าว และว่า ส่วนปัญหาผู้ป่วยศรัทธาหมอ และไม่ยอมกลับไปรับบริการที่คลินิก ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถรักษาที่คลินิกได้ กรณีแบบนี้จะให้มีเจ้าหน้าที่ลงไปหน้างานที่โรงพยาบาล เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล เชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ อีก 1 เดือน จะมีการรับฟังเสียงสะท้อนจากทีมสายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

6 พฤศจิกายน 2567
มติชน