บอร์ดสปสช.เห็นชอบข้อเสนอคกก.ควบคุมคุณภาพฯ ปรับระบบรักษาผู้ป่วยล้างไต หลังพบฟอกเลือดเสี่ยงเสียชีวิตสูง เคาะกลับใช้ PD first ล้างไตช่องท้องทางเลือกแรก พร้อมวางกลไก pre-authorization เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จัดระบบแรงจูงใจแพทย์ใหม่
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุม กล่าวว่า บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ปรับระบบผู้ป่วยล้างไต โดยเพิ่มสัดส่วนบริการล้างไตทางช่องท้องให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยรายใหม่ ควบคุมงบค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังให้ไม่เกินร้อยละ 12 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะเวลา 5 ปี ให้นำนโยบาย PD First กลับมาใช้ทันที เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย
บอร์ดสปสช.เห็นชอบปรับระบบรักษาผู้ป่วยล้างไต นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า บอร์ดสปสช.เห็นชอบในข้อเสนอ ที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ได้ส่งเรื่องให้บอร์ดสปสช.พิจารณา มีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ พบว่า การล้างไตทางเส้นเลือด หรือฟอกเลือด (HD) มีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการล้างไตทางหน้าท้อง (PD) จากอดีตที่มีการล้างไตทางหน้าท้องประมาณครึ่งหนึ่ง ตอนนี้ลดเหลือประมาณร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 เป็นการล้างไตทางเส้นเลือดหรือการฟอกเลือด และพบว่า เสียชีวิตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ล้างไตภายใน 90 วัน ซึ่งทางคณะกรรมการควบคุมฯ ไม่ได้แจ้งว่า สาเหตุเกิดจากอะไร
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการควบคุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอกลับมาว่า ขอให้ดูในบริการล้างไตอีกครั้ง ประกอบกับมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการมากขึ้น งบประมาณก็สูงขึ้นด้วย จึงมีข้อเสนอให้เน้นการทำอย่างไรให้ผู้ป่วยรายใหม่ลดลง เพราะในอดีตมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 10,000 คน แต่ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 16,000 คน ก็ต้องมีมาตรการให้ลดลง จึงต้องทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายที่ต้องรับบริการล้างไต ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี
เพิ่มสัดส่วนล้่งไตผ่านช่องท้องมากขึ้นส่วนเรื่องของนโยบายอยากให้กำหนดมาตรการ เพิ่มสัดส่วนการล้างไตทางหน้าท้องมากขึ้น คาดว่า ส่วนหนึ่งคณะกรรมการอาจกังวลว่า ผู้ป่วยไปแออัดแบบฟอกเลือด เกรงว่าการบริการจะไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ มีผลต่อการให้บริการหรือไม่ ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้น จึงอยากให้มีการแบ่งเบาไปใช้บริการล้างไตทางหน้าท้องด้วย
ปัจจุบันมีการล้างไตทางหน้าท้อง 2 ระบบ ได้แก่ 1. ล้างไตแบบเดิม และ 2. เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติหรือเครื่อง APD การมีนวัตกรรมใหม่ จะช่วยให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ต้องไปแออัด ทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันว่า ให้เอาประโยชน์ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จัดกลไกที่จะร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ดูว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมในการล้างไตรูปแบบใด แล้วให้บริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วย (pre-authorization) คือ การให้ความสำคัญในการเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
"จะไม่เหมือนในอดีตที่ให้ล้างไตทางหน้าท้องเป็นหลัก ไม่มีกระบวนการนี้ ดังนั้น ครั้งนี้จะเป็นกระบวนการใหม่ ที่ สปสช.ต้องไปจัดระบบ รวมถึงการดูเรื่องภาระงบประมาณในอนาคตด้วย แต่ยืนยันว่า ที่ประชุมยังเห็นความสำคัญ เมื่อไหร่ที่มีผู้ป่วยต้องใช้บริการ ยังยืนยันที่จะให้บริการ ถึงแม้ตัวเลขในปีงบประมาณนี้ เราจะเพิ่มจำนวนการปลูกถ่ายไตจำนวนมากด้วย" นพ.จเด็จ กล่าว
เลขาฯ กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยในที่ประชุม พิจารณาแล้วว่า กำหนดให้งบบริการบำบัดทดแทนไตเป็นแบบปิด (global budget) ควรเป็นงบปลายปิดในภาพรวม หากมีความจำเป็น พิสูจน์ได้ว่ามีผู้ป่วยมากขึ้น ก็จะมีกลไกในการดูแลงบประมาณให้เหมาะสม และไม่อยากให้คำว่า ปลายปิด เป็นการส่งสัญญาณว่า หากมีผู้ป่วยรายใหม่จะไม่ได้รับบริการ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น
ตั้งกลไกนโยบาย PD first ที่ประชุมยังมีการถกกันว่า ต้องควบคุมงบประมาณในรูปแบบอื่นอีกหรือไม่ แต่ในท้ายที่สุด ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ผู้ป่วยมีความจำเป็นก็ต้องใช้บริการ แม้งบประมาณจะมีข้อจำกัดอย่างมาก ยืนยันว่า ยังดูแลผู้ป่วยเต็มที่เหมือนเดิม ซึ่งข้อเสนอใช้คำว่า นำระบบ PD first กลับมาใช้โดยเร็วที่สุด แต่การนำนโยบาย PD first กลับมาอาจจะต้องมีกระบวนการ ซึ่งในอดีต ทุกคนต้องเข้าระบบล้างหน้าท้องก่อน แต่ครั้งนี้จะใช้คณะบุคคล ผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการ และมีคนที่มีความเป็นกลางมาช่วยพิจารณา (pre-authorization) ต้องมีการวางระบบในหลายส่วน อาจวางถึงระดับเขตและระดับพื้นที่ในการสร้างกลไก ให้เกิดความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
จัดระบบแรงจูงใจแพทย์ใหม่
"ทั้ง 2 ระบบ มีข้อดีและข้อเสีย ถ้ามองในเรื่องค่าใช้จ่ายทางอ้อม การล้างทางหน้าท้องถ้าทำได้ก็จะประหยัด จึงต้องดูความเหมาะสมมากกว่าพยาธิสภาพของโรค ในที่ประชุม ยังมีข้อเสนอเรื่องแรงจูงใจของแพทย์ เพราะมีแพทย์ส่วนหนึ่งไม่ได้มาดูผู้ป่วย แล้วรับค่าตอบแทน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพในการฟอกเลือด อาจเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย จึงต้องมีการจัดระบบอีกครั้ง หลังจากวันนี้คงต้องมีการดำเนินการ โดยคณะอนุกรรมการภายใต้กรรมการควบคุมฯ จะตั้งกลไกขึ้นมาส่วนหนึ่ง โดยจะทำงานร่วมกันในการสร้างกลไกขึ้นมา โดยเฉพาะกลไกที่จะร่วมกันพิจารณาตัดสิน ชวนผู้ป่วยพูดคุยว่าอะไรคือประโยชน์สูงสุด" นพ.จเด็จ กล่าว
4 พฤศจิกายน 2567
https://www.hfocus.org/content/2024/11/32155